แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:1-3) { รับใช้พระเจ้า }



[แนวคิด] :
– เมื่อพระเยซูทรงทราบว่าพวกฟาริสีเริ่มอิจฉาพระองค์แล้ว พระองค์จึงออกจากยูเดียกลับไปกาลิลี

– พระเยซูกลัวพวกฟาริสีหรือ จึงต้องหลบกลับไปกาลิลี? ไม่น่าจะใช่ เพราะขนาดความตายพระองค์ยังไม่กลัวเลยมีหรือกลัวแค่ฟาริสีอิจฉา

– ที่กลับไปแคว้นกาลิลีเพราะ ยังไม่ถึงเวลาตาย เมื่อถึงเวลาแล้วจะกลับมาให้พวกเขาฆ่าเอง

[การประยุกต์ใช้] :
– การรับใช้พระเจ้า ไม่ใช่การทำอะไรแบบสุดโต่ง ไม่กลัวใคร ไม่เกรงใคร ไม่สนใจใคร ก็ฉันจะทำแบบนี้ แน่นอนเมื่อพระเจ้าสั่งให้ทำก็สมควรทำเช่นนั้น

– การรับใช้พระเจ้า เป็นมากกว่าการแสดงความกล้า แสดงความเก่ง แสดงความขยัน หรือแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์

– แต่การรับใช้พระเจ้า คือ การทำตามใจพระเจ้า ตามจังหวะเวลาที่พระเจ้าส่งสัญญาณแก่เรา ซึ่งบางครั้ง คนอาจดูถูกหรือตำหนิเรา เช่น ทำไมอ่อนแอแบบนี้ ทำไมขี้ขลาดแบบนี้ ทำไมรอช้าแบบนี้ ฯลฯ

“อย่างไรก็ดี การทำตามคำสั่งของพระเจ้า ในเวลาของพระองค์ คือ การรับใช้ที่แท้จริง”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:4-6) { เมืองสิคาร์ }



[แนวคิด] :
– พระเยซูกลับจากแคว้นยูเดีย เพื่อไปยังแคว้นกาลิลี ซึ่งต้องผ่านแคว้นสะมาเรีย (บ่อยครั้งยิวไม่อาจผ่านแคว้นสะมาเรียเพราะรังเกียจจึงยอมใช้ทางอ้อมไปทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนแทน)

– พระเยซูจงใจหยุดที่เมือง สิคาร์ เพื่อภารกิจสำคัญบางอย่าง

– เมืองสิคาร์ หรือเมืองเชเคม (ปฐก.33:18)

>>> ที่เมืองนี้ 1,000 กว่าปีก่อนเหตุการณ์นี้ ดีนาห์ ลูกสาวของยาโคบ[อิสราเอล] ถูกข่มขืน (ปฐก.34:2) ลูกสาวของอิสราเอลรับความอับอายและเจ็บปวด

>>> ที่เมืองนี้ ราว 1,000 ปีก่อนเหตุการณ์นี้ เยโรโบอัม ได้กบฏต่อเชื้อสายของดาวิด แยกตัวออกเป็นประเทศสะมาเรีย(1พกษ.12:1)

### ที่เมืองนี้ ในวันนั้น พระเยซูจงใจเสด็จมา เพื่อเยียวยาและช่วยกู้ ลูกสาวของอิสราเอลที่กำลังอับอายและเจ็บปวด(ยน.4:18)

### ที่เมืองนี้ในวันนั้น พระเยซูใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำชาวสะมาเรีย กลับเข้ามาสู่แผ่นดินของพระเจ้าอีกครั้ง(ยน.4:39)

[การประยุกต์ใช้] :
– แผนการของพระเจ้า ล้ำลึกและลึกซึ้งเกินกว่าเรามนุษย์จะคิดหรือเข้าใจได้

– ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับทุกคน มีแผนการที่สูงส่งของพระเจ้า ซ่อนอยู่ในนั้นเสมอ

– วันนี้ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา พระองค์มีแผนที่เกินความเข้าใจอยู่ในเหตุการณ์นั้น

– วันนี้ไม่ว่าเราเลือกจะทำอะไร พระเจ้าก็สามารถให้สิ่งนั้น ทำให้แผนการนิรันดร์ของพระเจ้าสำเร็จอยู่ดี

– ดังนั้น การเลือกที่ฉลาดที่สุด คือ เลือกทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:7) { ขอน้ำให้เราดื่มบ้าง }



[แนวคิด] :
– “ขอน้ำให้เราดื่มบ้าง” ช่างเป็นคำพูดที่เต็มไปด้วยความรัก เมตตา ถ่อม อ่อนสุภาพ ให้เกียรติและให้โอกาส

– วลีนี้คงไม่มีความหมายนัก หากเป็นการสนทนาของคนทั่วไป แต่ในตอนนี้ พระเยซู พระบุตรของพระเจ้าใหญ่ยิ่งสูงสุด ผู้ที่พระเจ้าทรงสร้างสิ่งสารพัดโดยทางพระองค์ กำลังพูดกับมนุษย์ผู้เป็นเพียงผงคลีดิน หนำซ้ำเป็นผู้หญิงที่อ่อนแอ แถมเป็นหญิงสะมาเรียที่คนยิวรังเกียจนักหนา และไม่ใช่หญิงสะมาเรียธรรมดา เป็นหญิงชั่วชาวสะมาเรีย มีผัวมา 5 คนแล้วและกำลังเป็นชู้กับสามีของคนอื่น ยิ่งไปกว่านั้นดูเหมือนความชั่วของนางเป็นที่โจษจันรู้กันทั่วเมืองของนางอีกด้วย

– “ขอน้ำให้เราดื่มบ้าง” พระเยซูเริ่มเอ่ยปากพูดกับหญิงนั้นก่อน

>>> พระองค์ไม่ถือว่าชาวสะมาเรียน่ารังเกียจ (พระองค์ไม่รังเกียจ)

>>> พระองค์ไม่รังเกียจหญิงชั่วคนนั้น (พระองค์ต้อนรับเธออย่างที่เธอเป็น)

>>> พระองค์ไม่สนใจ คนอื่นจะคิดอย่างไร พระองค์แคร์เธอมากกว่าคำติเตียน คำนินทาของผู้คน(พระองค์รักเมตตาเธอ)

>>> พระองค์ถ่อมพระทัยลง ขอความช่วยเหลือจากเธอ (พระองค์ถ่อมลงเพื่อเปิดโอกาสให้เธอสามารถเข้าถึงพระองค์ได้)

>>> พระองค์ขอ ไม่ได้สั่ง ทั้งที่มีสิทธิอำนาจสูงสุด (พระองค์ปฏิบัติต่อเธออย่างอ่อนโยนอ่อนสุภาพ)

>>> พระองค์ให้เกียรติเธอ ด้วยการขอความช่วยเหลือจากเธอ ทั้งที่ไม่จำเป็นเลยพระองค์เลี้ยงคน 5,000 คน ได้สบายๆ (พระองค์ปฏิบัติอย่างให้เกียรติ ต่อเธอผู้สมควรถูกดูถูก)

>>> พระองค์ให้โอกาสเธอ ให้สามารถทำอะไรให้แก่พระองค์ได้ ซึ่งมนุษย์เอ๋ย เจ้าจะทำอะไรให้กับพระเจ้าใหญ่ยิ่งสูงสุดได้เล่า (พระองค์ให้โอกาสเธอที่จะรับใช้พระองค์ ด้วยสิ่งเท่าที่เธอมี)

[การประยุกต์ใช้] :
–  วันนี้ไม่ว่าเราจะเป็นเช่นไร หรือในอดีตที่ผ่านมาเราได้ทำตัวชั่วช้าสักเพียงใด จงรู้เถิดว่า พระเยซูไม่รังเกียจเรา ทรงพร้อมที่จะต้อนรับเราอย่างที่เราเป็น พระองค์ปรารถนาที่จะทรงสำแดงความรักเมตตาต่อเรา พระองค์เปิดโอกาสให้เราเข้ามาหาพระองค์เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง  พระองค์พร้อมที่จะโอบกอดเราไว้ด้วยความอ่อนโยน ประทานเกียรติแก่เราแทนความอับอายที่เราสมควรจะได้รับ และพระองค์พร้อมที่จะให้เรามีโอกาสได้รับใช้พระองค์อีกครั้ง

“ขอน้ำให้เราดื่มบ้าง”….. “เชิญเถิดพระเจ้าข้า นี่คือทั้งหมดที่ข้าพระองค์มี ขอมอบแด่พระองค์”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:8-9) { เรียกให้สนใจ }



[แนวคิด] :
–  หญิงคนนั้น เกิดความสนใจ เนื่องจากพระเยซู ทำบางอย่าง เพื่อทำให้เธอสนใจ เพื่อว่าพระองค์จะสำแดงพระเมตตาแก่เธอ

(คนสะมาเรียคือลูกหลานของคนยิวที่ไปแต่งงานกับคนต่างชาติ ซึ่งคนยิวถือว่าเป็นพวกทรยศชาติ น่ารังเกียจ ด้วยเหตุนี้คนยิวจะไม่คุยกับคนสะมาเรีย ยิ่งขอน้ำดื่มจากหญิงสะมาเรียแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย)

[การประยุกต์ใช้] :
–  บ่อยครั้งที่พระเจ้าต้องอนุญาตให้เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในชีวิตของเรา เพื่อเรียกความสนใจของเรา ให้หันกลับไปที่พระองค์

– เพราะพระองค์ทรงรักเราและทรงทราบว่า ที่เดียวที่เราจะปลอดภัยและได้รับพระพร คือ ที่ต่อพระพักตร์ของพระองค์

“อาจเป็นไปได้ที่เหตุการณ์ที่เรากำลังเจอในวันนี้ เกิดขึ้นเพื่อเรียกเราให้หันกลับไปจดจ่อที่พระองค์ …เวลานี้เรารู้ตัวแล้ว รีบหันกลับไปสนใจจดจ่อที่พระองค์เถิด”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:10) { รู้ว่าเป็นใคร }



[แนวคิด] :
–  พระเยซูพูดกับหญิงนั้นว่า “ถ้าเธอรู้จริงๆว่า พระเยซูเป็นใคร เธอคงขอจากพระองค์”

[การประยุกต์ใช้] :
–  ถ้าเรารู้จริงๆว่า พระเยซูผู้สถิตอยู่กับเรา เป็นใคร เราคงจะขอจากพระองค์

– ถ้าเรารู้จริงๆว่า พระเยซู ทรงฤทธานุภาพมากเพียงใด เราคงจะขอจากพระองค์

– ถ้าเรารู้จริงๆว่า พระเยซู ทรงสติปัญญาล้ำเลิศมากเพียงใด เราคงจะทูลขอจากพระองค์

– ถ้าเรารู้จริงๆว่า พระเยซู ทรงรักเรามากเพียงใด เราคงจะทูลขอจากพระองค์

– ถ้าเรารู้จริงๆว่า พระเยซู ทรงแก้ปัญหาชีวิตของเราวันนี้ได้ เราคงจะทูลขอจากพระองค์

“วันนี้เรารู้จริงๆหรือเปล่าว่า พระเยซู เป็นใคร? เชิญมาร้องทูลต่อพระองค์เถิด”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:11) { ไม่เข้าใจแต่เชื่อใจ }



[แนวคิด] :
–  หญิงนั้นสงสัยในสิ่งที่พระเยซูพูดว่า จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าพระองค์ไม่มีถังตักและบ่อก็ลึกด้วย

– ความสงสัยนี้คล้ายกับที่นิโคเดมัสถาม ใน ยน.3:9 “เหตุ​การณ์​อย่าง​นี้​จะ​เป็น​ไป​ได้​อย่าง​ไร​?” ต่างกันที่ของนิโคเดมัส พระเยซูตำหนิ(ยน.3:10) แต่สำหรับหญิงนี้พระเยซูค่อยๆอธิบาย

– ข้อก่อนหน้านี้ พระเยซูบอกให้เธอขอต่อพระองค์ แต่เพราะความสงสัยว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงทำให้เธอยังลังเลอยู่ที่จะขอต่อพระองค์

[การประยุกต์ใช้] :
–  พระเยซูปฏิบัติต่อจิตที่บอบช้ำด้วยความอ่อนโยนเป็นพิเศษ

– อย่ายอมให้ความไม่เข้าใจว่า “สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร” ขัดขวางเรา ไม่ให้เราทูลขอต่อพระองค์

“ไม่เห็นจำเป็นต้องเข้าใจเลย แค่เชื่อใจก็พอแล้ว”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:12) { บ่อน้ำยาโคบเชียวนะ }



[แนวคิด] :

หญิงสะมาเรียที่บ่อน้ำ อาจจะกำลังคิดว่า
–  เนื่องจากพระเยซูไม่มีถังตัก และบ่อก็ลึก ดังนั้นถ้าพระเยซูจะเอาน้ำให้ฉัน คงต้องเอาจากบ่ออื่นเป็นแน่

– แต่เอะ!!! นี่บ่อน้ำของยาโคบ เชียวนะ

– บ่อนี้ยาโคบบรรพบุรุษของฉัน ผู้ที่ได้ปล้ำสู้กับพระเจ้า เป็นผู้สั่งให้ขุดเชียวนะ

– บ่อนี้แม้อิสราเอลจะตกเป็นทาสในอียิปต์ 400 ปี แล้วค่อยกลับมาที่นี่ แต่บ่อนี้ก็ยังอยู่เชียวนะ

– บ่อนี้คงอยู่ในสมัยดาวิด ซาโลมอน แม้ยามที่สะมาเรียแยกตัวออกจากยูดาห์ บ่อก็ยังอยู่นะ

– บ่อนี้แม้แต่ยามเมื่ออัสซีเรียบุกมาถล่มสะมาเรียจนยับเยินแล้วกวาดต้อนประชาชนเกือบทั้งหมดไปเป็นเชลยที่นีนะเวห์ แต่บ่อนี้ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม

– บ่อนี้ ยังอยู่เหมือนเดิม ยามปู่ย่าตาทวดของฉัน จะแต่งงานกับคนต่างชาติ ในแผ่นดินนี้

– บ่อนี้ยังอยู่เหมือนเดิม แม้อาณาจักรอัสซีเรียล่มสลาย อาณาจักรบาบิโลนล่มสลาย อาณาจักรมีเดียเปอร์เซียล่มสลาย อาณาจักรกรีกล่มสลาย ไปแล้วก็ตาม

– บ่อนี้ยังเหมือนเดิม แม้บัดนี้อาณาจักรโรมจะเข้าปกครองก็ตาม

– แล้วท่านผู้นี้ คิดว่าเขาเป็นใคร ยิ่งใหญ่มาจากไหน ที่จะสามารถให้น้ำแก่ฉัน ที่ดีกว่าน้ำจากบ่อยาโคบนี้ได้

– แล้วท่านผู้นี้ คิดว่าเขาเป็นใหญ่กว่าท่านยาโคบอีกหรือ? เพราะขนาดท่านยาโคบ ยังต้องพึ่งบ่อน้ำนี้เลย แม้แต่เมื่อท่านยาโคบจะดูแลครอบครัวหรือฝูงสัตว์ของท่าน ยังต้องพึ่งพาบ่อน้ำนี้เลย

– เป็นไปไม่ได้

[การประยุกต์ใช้] :
–  เมื่อผู้หญิงคนนี้มองแต่บ่อน้ำแบบเดิมๆ วิธีการแบบเดิมๆ ตามประสบการณ์และความเข้าใจของเธอ ดังนั้นวิ่งที่พระเยซูพูด จึงเป็นไม่ได้สำหรับเธอ

– สิ่งที่พระเยซูตรัสกับเรา จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน แต่อาจจะไม่ใช่ด้วยวิธีการที่เราคิดได้ ตามประสบการณ์เดิมๆของเรา พระองค์สามารถทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ด้วยวิธีและรูปแบบ ที่เกินกว่าความเข้าใจของเราได้

“กล้าเชื่อ พระเจ้าก็กล้าอวยพร”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:13) { ไม่เคยอิ่ม }



[แนวคิด] :

– พระเยซูตอบหญิงนั้นว่า “น้ำจากบ่อน้ำของยาโคบที่เธอแสนภาคภูมิใจนี้ ดับกระหายได้แค่ชั่วคราว ไม่อาจดับกระหายที่แท้จริงของมนุษย์ได้”

– พระเยซูพูดในมิติฝ่ายวิญญาณ

ผู้ที่ดื่มน้ำจากบ่อนี้ เพื่อดับกระหาย อาจดับกระหายฝ่ายร่างกายได้ก็จริง

แต่ในฝ่ายวิญญาณ มีความกระหายที่ไม่ว่าความพยายามใดๆของมนุษย์ หรือไม่ว่าด้วยสิ่งใดที่มนุษย์แสวงหาก็ไม่อาจดับกระหายในฝ่ายวิญญาณนี้ลงได้

 [การประยุกต์ใช้] :
–  วันนี้ สิ่งที่เราพยายามไขว่คว้าเพื่อให้ได้มา ลองคิดดูดีๆ ถ้าเราได้มาแล้ว จะทำให้เราพบกับชีวิตที่ครบบริบูรณ์จริงๆหรือเปล่า?

– ไม่ว่าสิ่งที่เรากำลังไล่ไขว่คว้านั้นจะเป็นอะไร ก็ไม่อาจทำให้เราอิ่มบริบูรณ์อย่างแท้จริงได้ นอกเสียจากเราจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพระคริสต์ในชีวิตประจำวันของเรา อย่างแท้จริง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:14) { ไม่กระหายอีกเลย }



[แนวคิด] :

– คนที่ดื่มน้ำที่พระเยซูให้ หมายถึง คนที่วางใจในพระเยซู(ยน.7:38)

– คนที่วางใจในพระเยซู จะไม่กระหายอีกเลย หมายถึง เขาจะอิ่มใจ ไม่จำเป็นต้องแสวงหาความสุขจากแหล่งอื่นใดอีก

– น้ำที่พระเยซูให้ ตอนแรกก็เหมือนเล็กน้อยแค่ให้น้ำเท่านั้น แต่ต่อมาจะกลายเป็นบ่อน้ำ ไม่ใช่แค่บ่อน้ำธรรมดา แต่เป็นบ่อน้ำพุ และไม่ใช่พลุ่งขึ้นมาแค่ชั่วคราว แต่พลุ่งอยู่ตลอดไป

– ประสบการณ์ในความอิ่มเอิบและสดชื่นในพระเยซูนั้น ยิ่งเขาใกล้พระองค์มากเท่าไหร่ ยิ่งนานวัน ก็จะยิ่งทวีความสดชื่น ชื่นบานและไม่กระหายหาสิ่งอื่นใดๆอีกเลยนอกจากพระองค์

 [การประยุกต์ใช้] :
–  วันนี้ เราดื่มน้ำที่พระเยซูให้หรือยัง? เราวางใจในพระเยซูหรือยัง?

– เราอาจจะเคยดื่มแล้ว แต่วันนี้ เราโยนทิ้งน้ำนั้นไปแล้วหรือเปล่า? เรายังคงวางใจในพระเยซูอยู่หรือไม่?

– วันนี้ เราเข้าใกล้พระองค์มากขึ้น จนน้ำที่ทำให้เราสดชื่นนั้น ทวีมากขึ้นจนพลุ่งขึ้นเป็นบ่อน้ำพุแล้วหรือยัง? หรือเรากำลังถอยห่างไปจากพระองค์ผู้เป็นแหล่งน้ำแห่งชีวิตไกลออกไปทุกที?

– พระ​เยซู​ทรง​ยืน​ขึ้น​และ​ทรง​ประ​กาศ​ว่า “ถ้า​ใคร​กระ​หาย ให้​คน​นั้น​มา​หา​เรา…”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:15) { คำขอแบบไม่เข้าใจ }



[แนวคิด] :

– หลังจากคุยกับพระเยซู มาพักใหญ่ และแล้วหญิงนั้นก็ เลือกทำสิ่งที่ถูกต้องที่สุดในชีวิต เท่าที่เธอเคยทำมา คือ “ทูลขอจากพระเยซู”

– เธอก็ทูลขอ แม้เธอยังไม่เข้าใจความหมายฝ่ายวิญญาณที่พระเยซูตรัสกับเธอจริงๆ เธอเข้าใจว่าพระเยซูช่วยให้เธอ ไม่ต้องมาตักน้ำในบ่อนี้อีก แต่พระเยซูก็ไม่ได้ทรงตำหนิเธอ

 [การประยุกต์ใช้] :
–  วันนี้ แม้ความเข้าใจในฝ่ายวิญญาณของเรายังไม่เข้าใจทั้งหมด หรือเราเพิ่งเข้าใจแค่เพียงนิดหน่อยเท่านั้น ถึงกระนั้นพระเยซูก็ยังคงพร้อมที่จะสดับคำร้องทูลของเรา อย่างเต็มใจ

– สำหรับหญิงคนนี้ เธอหวังว่า จะไม่ต้องมาตักน้ำที่บ่อนี้อีก เธอต้องแอบๆมาในยามที่ไม่มีใครเขามากัน คงเพราะเธออับอายที่ต้องมาเจอคนอื่นๆ (ปกติพวกผู้หญิงจะมาตักน้ำในตอนเช้าหรือเย็น เพราะแดดไม่ร้อนเกินไป)

– แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอ หลังจากเธอทูลขอต่อพระเยซู คือ เธอยังคงต้องมาตักน้ำที่นี่อีก แต่ไม่ต้องแอบๆมาอีกต่อไป เพราะตั้งแต่ ยน.4:39-42 เธอได้กลับมีความสัมพันธ์ดีกับชาวเมือง แถมยังถือว่าเป็นผู้มีพระคุณต่อชาวเมือง ที่ได้แนะนำพวกเขาให้พบกับพระเยซูอีกด้วย

– แม้คำทูลขอของเธอต่อพระเยซู ดูเหมือนไม่เข้าท่า เพราะไม่เข้าใจ ถึงกระนั้นพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยเมตตา ก็ยังทรงโปรดอวยพรเธอ ในสิ่งที่เกินกว่าที่เธอจะเข้าใจได้นั้น

“อย่ารอช้า ไม่ต้องหาคำสละสลวย ร้องทูลต่อพระองค์เถิด เดี๋ยวนี้”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:16) { โอกาสที่ทรงหยิบยื่นให้ }



[แนวคิด] :

– พระเยซูเริ่มกระบวนการซ่อมชีวิตของหญิงที่บ่อน้ำ ด้วยคำถามที่สะเทือนใจ แต่เต็มไปด้วยความปรารถนาดี “ไปเรียกสามีของเธอมา”

– พระเยซูหยิบยื่นโอกาสให้เธอ สารภาพ พูดและยอมรับความจริง ด้วยตัวของเธอเอง

– เพราะวิธีที่ง่ายที่สุด ที่จะให้พระเยซูเยียวยารักษา ก็คือเปิดเผยตัวจริงต่อพระองค์

 [การประยุกต์ใช้] :
–  วันนี้พระเยซูทรงพร้อมที่จะเยียวยารักษาเรา และวันนี้พระองค์หยิบยื่นโอกาสให้แก่เรา ที่จะเปิดเผยตัวจริงต่อพระองค์ บอกความอ่อนแอของเราต่อพระองค์ บอกความไม่เอาไหนของเราต่อพระองค์ บอกความผิดพลาดพลั้งไปของเราต่อพระองค์

– วันนี้ เราไม่ต้องไปถึงบ่อน้ำยาโคบเพื่อจะเปิดเผยตัวจริงต่อพระองค์ เพียงแค่ก้มศรีษะ หลับตาแล้วถ่อมใจลง บอกต่อพระองค์ พระองค์ทรงพร้อมแล้วที่จะเยียวยาเรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:17) { ทรงแสนอ่อนโยน }



[แนวคิด] :

– เมื่อหญิงที่บ่อน้ำได้ยินประโยคที่สะเทือนใจ “ไปเรียกสามีของเจ้ามาที่นี่เถิด” นางคงคิดสารพัดว่าจะตอบอย่างไรดี

[นางอาจจะคิดว่าอยากบอกให้ท่านผู้นี้รู้ว่า สามีคนแรกเขาทำกับเธอเจ็บปวดขนาดไหนที่ทิ้งเธอไป แล้วคนที่สองนั้นเลวแค่ไหนเธอถึงต้องทิ้งเขาไป แล้วยังคนที่สาม คนที่สี่ คนที่ห้าอีก โอ้ย!!!สารพัด และอาจอยากจะบอกว่า ที่วันนี้เธอเป็นชู้กับสามีคนอื่นเนี่ย มันไม่ใช่ความผิดของเธอเลย ฯลฯ]

– นางจึงตอบว่า “ดิฉันไม่มีสามีค่ะ”

– ดูเผินๆ ดูเหมือนนาง จะพูดโกหกนะ มีสามีมาตั้งเยอะแล้วยังบอกว่าไม่มีอีก

[ถ้าเป็นบางคนอาจจะตอบกลับนางว่า “นางตอแหล ไม่ต้องมาโกหกเลย ฉันรู้แกมีสามีมาตั้ง 5 คนแล้ว”]

– แต่พระเยซูผู้แสนประเสริฐ แสนอ่อนโยน ตอบแก่เธอว่า “เธอพูดถูกแล้ว…” ช่างเป็นประโยคที่อ่อนโยนอะไรเช่นนี้ ต่อหัวใจที่บอบช้ำของเธอ

– เธอตอบได้ไม่เข้าท่าเอาเสียเลยสำหรับประโยคที่แสนจะพูดยากนี้(ลองเป็นเธอดูบ้างสิ แล้วจะเข้าใจว่าพูดยากขนาดไหน) แต่พระเยซูกลับมองเห็นส่วนดีของเธอในประโยคที่ไม่เข้าท่านี้  จนกล่าวออกมาด้วยท่าทีที่แสนเป็นมิตร “เธอพูดถูกแล้ว…”

– พระเยซูรู้จักความบอบช้ำ ความเจ็บช้ำในหัวใจของเธอ พระเยซูทรงเข้าใจเธอ

[การประยุกต์ใช้] :
–  เมื่อเข้ามาเฝ้าพระเยซู ไม่ต้องกังวลว่า จะพูดได้ดีหรือพูดได้ไม่เข้าท่า ไม่ว่าเราจะเป็นเช่นไร เมื่อเราเข้ามาหาพระองค์อย่างจริงใจ พระองค์ทรงเข้าใจเรา และพระองค์เต็มใจที่จะปฏิบัติต่อเราอย่างอ่อนโยนที่สุด

“วันนี้ ถ้าอยากร้องไห้ ถ้าอยากระบายความในใจ ถ้าอยากฟ้อง ถ้าอยากร้องทูล อย่ารอช้าเชิญมาหาพระเยซูทรงผู้อ่อนโยนเถิด”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:18) { เปิดเผยตัวจริง }



[แนวคิด] :

– ทำไมพระเยซูผู้แสนอ่อนโยน จึงพูดประโยคสะเทือนใจหญิงที่บ่อน้ำถึงเพียงนี้? “เธอ​มี​สามี​ถึง​ห้า​คน​แล้ว และ​คน​ที่​มี​อยู่​เดี๋ยว​นี้​ก็​ไม่​ใช่​สามี​ของ​เธอ”

– นั่นก็เพราะพระองค์เมตตาเธอ หากเธอต้องการรับการเปลี่ยนแปลงจากพระองค์ เธอต้องเปิดเผยตัวจริงต่อพระองค์ แต่สำหรับเธอในเวลานั้นคงยากที่จะทำเช่นนั้น พระองค์จึงช่วยให้ง่ายขึ้นโดยการเป็นผู้ที่พูดให้เสียเอง

– แล้วตามด้วยประโยคที่เป็นมิตรว่า “เรื่องนี้เธอพูดจริง”

[ผมค่อนข้างมั่นใจว่า พระเยซูพูดกับเธอด้วยท่าทีที่อ่อนโยน จนเธอสัมผัสได้ ซึ่งสังเกตได้จากประโยคต่อๆมา เธอไม่ได้แสดงความรู้สึกว่าถูกโทษ จนปิดตัวเอง แล้วรีบผละออกมา แต่กลับสนทนากับพระองค์ต่อไปในเรื่องที่เธอต้องการทราบ]

[การประยุกต์ใช้] :
–  หากเราต้องการให้พระเยซูเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา เราจำเป็นต้องยอมรับความอ่อนแอของเรา และเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเรา ให้มากที่สุด เพื่อพระองค์จะสามารถเข้ามาเยียวยาส่วนลึกที่สุดในหัวใจของเราได้

– คงมีหลายเรื่องที่ยากเหลือเกินที่เราจะยอมรับมันได้ หรือแม้แต่จะทูลต่อพระองค์ก็ยากเหลือเกิน เพราะเราไม่อยากนึกถึงมันเลย (เหมือนหญิงนั้นไม่อยากนึกถึงอดีตอันขมขื่นของเธอ)แต่ไม่ต้องห่วง พระเยซูทรงเข้าใจเราและรู้จักเราอย่างดี พระองค์เองจะช่วยเรา ให้เราสามารถเปิดใจต่อพระองค์ได้ ขอเพียงเรามีใจปรารถนาเช่นนั้นก็เพียงพอ

“ข้าแต่พระเยซู ขอทรงช่วยข้าพระองค์เพื่อข้าพระองค์จะสามารถเปิดเผยความอ่อนแอทั้งสิ้นของข้าพระองค์ต่อพระองค์ และขอเชิญสร้างข้าพระองค์ขึ้นใหม่เถิด”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:19) { พระเยซูเป็นใคร? }



[แนวคิด] :

– หลังจากสนทนากับพระเยซูสักพัก หญิงที่บ่อน้ำ จึงสรุปได้ว่า พระเยซูต้องเป็นผู้เผยพระวจนะจากพระเจ้าเป็นแน่

– เพราะพระองค์รู้เรื่องของเธอ ทั้งที่เพิ่งจะพบกัน และเมื่อรู้แล้วพระองค์ก็ไม่ซ้ำเติมเหมือนอย่างคนอื่นๆในเมืองที่ก็รู้เรื่องของเธอเช่นกัน

– เธอรู้ว่าพระเยซูเป็นใคร จากประสบการณ์ที่เธอมีกับพระเยซู

– เนื่องจากประสบการณ์อันจำกัดที่เธอมีต่อพระเยซู ขณะนี้เธอจึงพบว่าพระเยซูเป็นผู้เผยพระวจนะ แต่ต่อมา(ข้อ29)เมื่อมีประสบการณ์กับพระเยซูมากขึ้น เธอจึงพบว่า พระเยซูคือพระคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอด

[การประยุกต์ใช้] :
–  วันนี้ เรารู้ไหมว่า พระเยซูเป็นใคร?

– ไม่ใช่จากคำบอกของคนอื่น หรือของอาจารย์ท่านไหน หรือจากหนังสือเล่มใดๆ แต่จากประสบการณ์ที่เรามีกับพระเยซู จะบอกกับจิตใต้สำนึกว่าเรา “พระเยซูเป็นใคร?”

– ไม่มีทางลัดสำหรับการมีประสบการณ์กับพระเยซู เราจำเป็นต้องใช้เวลากับพระองค์ จึงจะมีประสบการณ์กับพระองค์

“วันนี้เราใช้เวลากับพระเยซูมากเพียงใด?”

“การมีประสบการณ์กับพระเยซู จะเป็นตัวกำหนดว่า พระเยซูเป็นใครในชีวิตของเรา”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:20) { ปัญหาคาใจ }



[แนวคิด] :

– เมืองสิคาร์อยู่เชิงเขาเกราซิม ซึ่งยาโคบเคยสร้าง​แท่น​บูชา​ที่​นั่น (ปฐก. 33:20) ชาวสะมาเรียเชื่อว่า การนมัสการที่ภูเขานี้เป็นการนมัสการที่แท้จริง แต่ชาวยิวเชื่อต้องเป็นที่ภูเขาศิโยน ที่ตั้งของเยรูซาเล็ม

– ในเมื่อหญิงที่บ่อน้ำเชื่อว่า พระเยซูเป็นผู้เผยพระวจนะจากพระเจ้า เธอจึงถามความคิดเห็นจากพระองค์ว่า “ใครถูกกันแน่”

– สิ่งที่เธอสงสัยนี้ เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เธอไม่อาจยอมรับว่า พระมาซีฮา(พระคริสต์)จะมาจากพวกยิว นั่นก็คือ ไม่มีทางยอมรับได้ว่า “พระเยซูเป็นพระมาซีฮา”

– แต่เมื่อนางทูลถามพระองค์ อุปสรรคนั้นจึงถูกขจัดออกไป

[การประยุกต์ใช้] :
–  วันนี้ เรามีคำถามคาใจอะไรบ้างไหม ที่เป็นอุปสรรคขวางกั้น ไม่ให้เรารู้จักกับพระเยซูได้ลึกซึ้งมากยิ่งกว่านี้ ?

– “ทำไม พระเจ้าต้องปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับฉันด้วย?”

– “ทำไม คนที่ฉันรักต้องเจอเรื่องแบบนี้?”

– “ตอนนั้น พระเจ้าอยู่ที่ไหน?”

– ฯลฯ

– อย่ายอมปล่อยมันไว้คาใจ จนกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้น ไม่ให้รู้จักกับพระเยซูมากยิ่งขึ้น เชิญนำมาทูลต่อพระองค์อย่างจริงใจ แล้วพระองค์เองจะเป็นผู้จัดการกับปัญหาคาใจเหล่านั้นให้เรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:21) { ไม่สำคัญ }



[แนวคิด] :

– พระเยซูชี้ให้หญิงที่บ่อน้ำเห็นว่า มนุษย์คิดอย่างหนึ่ง แต่พระเจ้ามีแผนอีกแบบหนึ่ง

– ยิวและสะมาเรียเถียงกันว่า การนมัสการที่ถูกต้องที่สุด คือที่ไหน ที่ภูเขาเกราซิมของชาวสะมาเรียนี้ หรือ ที่เยรูซาเล็มของชาวยิว

– แต่พระเยซูเฉลยให้นางฟัง ด้วยคำตอบที่นางไม่อยากจะเชื่อ คือ ผิดทั้งคู่ การนมัสการที่ถูกต้องไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่อย่างที่พวกยิวและพวกสะมาเรียคิดกัน

[การประยุกต์ใช้] :
–  วันนี้ เราอาจจะขัดแย้งกับบางคนด้วยสาเหตุของมุมมองบางอย่างที่แตกต่างกัน เราควรสำรวจตัวเองดูว่า เรากำลังมองเหมือนอย่างที่พระเจ้ามองหรือไม่?

– บางอย่างมนุษย์คิดว่าสำคัญ แต่เป็นเรื่องไร้สาระในสายพระเนตรของพระเจ้า

– บางอย่างมนุษย์คิดว่า ไม่สำคัญนัก แต่สำคัญยิ่งยวดในสายพระเนตรของพระองค์

“ความรัก ความเชื่อ ความหวัง การกระทำใดๆที่ไม่สอดคล้องหรือส่งเสริม 3 สิ่งนี้ ล้วนแต่ไร้ค่าทั้งสิ้น”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:22) { ไม่รู้จัก }



[แนวคิด] :

– พระเยซูพูดกับหญิงที่บ่อน้ำอย่างอ่อนโยน มีเมตตา ไม่ตำหนิ ให้โอกาส แต่ในขณะเดียวกันก็ยืนยันในความจริงอย่างหนักแน่นในข้อนี้

– หญิงสะมาเรียไม่เชื่อ บรรดาผู้เผยพระวจนะที่มาจากยิว เพราะพวกยิวผู้เกลียดชังชาวสะมาเรีย

– ในเมื่อชาวสะมาเรียไม่รับข่าวสารจากคนของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่สามารถรู้จักกับพระเจ้าผู้ที่พวกเขามนัสการได้

– พระเยซู บอกความจริงนางอย่างตรงไปตรงมา ว่า นางไม่รู้จักผู้ที่นางนมัสการ แต่พวกยิวรู้จัก เพราะว่าพระมาซีฮาจะเป็นคนยิว

[การประยุกต์ใช้] :
–  ในการเป็นพยาน การสอน การกล่าวเรื่องราวของพระเจ้า แม้ว่าจำเป็นต้องเต็มไปได้ความรักและอ่อนสุภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยืนยันในความถูกต้อง ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับความคิดที่ขัดแย้งกับพระคำของพระเจ้า

– คนสะมาเรีย ไม่ยอมรับ ผู้สื่อสารของพระเจ้า ทำให้พวกเขาไม่อาจรู้จักกับพระเจ้าที่พวกเขานมัสการได้  

– วันนี้ พระเจ้าส่งสารมากมายมาถึงเราทั้งหลาย ผ่านทางพระวจนะของพระองค์ ขอให้เราเปิดใจต่อพระวจนะของพระองค์ ใส่ใจต่อพระวจนะของพระองค์ เพื่อเราจะสามารถรู้จักกับพระเจ้าผู้ที่เรานมัสการได้มากขึ้นทุกวันๆ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:23) { นมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง }



[แนวคิด] :

– “แต่​วาระ​นั้น​ใกล้​เข้า​มา​แล้ว และ​บัด​นี้​ก็​ถึง​แล้ว” แสดงว่าก่อนหน้านี้ ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่เคยมีการนมัสการแบบใหม่นี้มาก่อนเลย

– ก่อนหน้านี้พวกยิวคิดว่านมัสการที่แท้จริงคือนมัสการที่เยรูซาเล็ม พวกสะมาเรียคิดว่านมัสการที่แท้จริงคือนมัสการที่ภูเขาเกราซิม

– แต่การนมัสการแบบใหม่นี้ไม่เกี่ยวข้องกับสถานที่ เป็นการนมัสการที่พระเยซูกล่าวถึง ว่าเป็นการนมัสการอย่างแท้จริง ที่พระบิดาแสวงหาคนที่นมัสการเช่นนั้น

– คือ การนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง

– นมัสการด้วยจิตวิญญาณ (รม. 12:1) คือ การ​ถวาย​ตัว​​แด่​พระเจ้า เพื่อ​เป็น​เครื่อง​บูชา​อัน​บริ​สุทธิ์​ที่​มี​ชีวิต และ​เป็น​ที่​พอ​พระ​ทัย​พระ​เจ้า

– นมัสการด้วยความจริง คือ (ยน. 14:6) พระ​เยซู​ ทรงเป็นทางแห่ง​ความ​จริง ที่จะทำให้เรามา​ถึง​พระ​บิดา​ได้

– ก่อนหน้านี้ จิตวิญญาณของเราตายเพราะบาป เราจึงไม่มีทางนมัสการด้วยจิตวิญญาณได้ แต่บัดนี้โดยทางพระเยซูคริสต์ จิตวิญญาณเรากลับมีชีวิตขึ้น(1คร. 15:45) เราจึงสามารถนมัสการด้วยจิตวิญญาณได้ ด้วยการถวายตัวของเราแด่พระเจ้า(รม. 12:1)

– ก่อนหน้านี้ การนมัสการด้วยการถวายเครื่องบูชาเป็นเพียงแบบจำลอง(เงา)ของการนมัสการของจริง บัดนี้ของจริงจากสวรรค์มาแล้ว คือพระเยซูคริสต์(ฮบ.9:23) ดังนั้นเราจึงสามารถรับการชำระบาปจนสามารถเข้าเฝ้าพระเจ้าได้อย่างใกล้ชิด โดยผ่านทางพระเยซูผู้เป็นความจริง(ยน. 14:6)

[การประยุกต์ใช้] :
–  วันนี้ พระบิดากำลังแสวงหาว่า มีใครบ้างไหมที่จะนมัสการพระเจ้าอย่างแท้จริง ด้วยการ ถวายตัวแด่พระเยซู ให้พระเยซูเป็นเจ้าของชีวิตในทุกพื้นที่ของเขาอย่างแท้จริง แล้วเข้ามาเฝ้าต่อพระพักตร์พระเจ้าเสมอตลอดเวลาโดยทางพระเยซูคริสต์  (ฮบ. 10:19 …มี​ใจ​กล้า​ที่​จะ​เข้า​ไป​ใน​สถาน​ศักดิ์​สิทธิ์​โดย​พระ​โล​หิต​ของ​พระ​เยซู)

“เราฝึกฝนการนมัสการอย่างแท้จริง ได้โดย ถวายตัวบ่อยๆ คิดถึงพระเจ้าบ่อยๆ คุยกับพระองค์ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:24) { พระเจ้าเป็นพระวิญญาณ }



[แนวคิด] :

เหตุผล 2 ประการ ที่เราต้องนมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณและความจริง คือ

  1. พระเจ้าแสวงหาคนเช่นนั้นนมัสการพระองค์ (ข้อ23)
  2. พระเจ้าเป็นพระวิญญาณ(ข้อ24)

เนื่องจากพระเจ้าเป็นพระวิญญาณ การเข้าถึงพระเจ้าอย่างแท้จริง จึงเป็นเรื่องฝ่ายวิญญาณ ซึ่งต้องอาศัยจิตวิญญาณที่มีชีวิต

โดยการที่พระเยซู ตายไถ่บาปของเรา จิตวิญญาณของเราจึงเปรียบเสมือนรับโทษตายเพราะบาปไปแล้ว(ค่าจ้างของบาปคือความตาย รม.3:23) และโดยการช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้ทำให้พระคริสต์เป็นขึ้นมาจากความตาย จึงทำให้จิตวิญญาณของเรากลับมีชีวิตขึ้น จนสามารถเชื่อมต่อสัมพันธ์กับพระบิดาได้

การมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า(การนมัสการที่แท้จริง) จึงเกิดได้ในผู้เชื่อวางใจในพระเยซู และผู้นั้นให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ควบคุมครองชีวิตของเขา

[การประยุกต์ใช้] :
–  เข้าเฝ้าพระเจ้า ไม่ได้ใช้สมอง แต่ใช้หัวใจ ด้วยการช่วเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์

– จริงใจ และ ถ่อมใจ พระวิญญาณจะสอนเราเอง ว่า ควรอธิษฐานอะไรอย่างไร เมื่อไหร่คสรพูด เมื่อไหร่ควรหยุดฟัง

– พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้ทรงเชี่ยวชาญอย่างที่สุด ในการนำเราไปเฝ้าพระบิดา ดังนั้นปล่อยให้เป็นงานของมืออาชีพอย่างพระวิญญาณบริสุทธิ์เถิด

ภาคปฏิบัติ ง่ายๆ อธิษฐานอย่างจริงใจและถ่อมใจ ว่า

“ข้าแต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ ขอเชิญสอนข้าพระองค์ ในการเข้าเฝ้าพระบิดาด้วยเถิด”

จากนั้น ก็เริ่มอธิษฐานอะไรบางอย่าง ขณะที่เรากำลังอธิษฐานสิ่งนั้นอยู่ พระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้สถิตในเรา จะเริ่มดลใจเราต่อเองว่า ควรอธิษฐานอะไร อย่างไร

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:25) { ดิฉันทราบว่า }



[แนวคิด] :

– หญิงผู้ซึ่งเป็นที่รังเกียจของชาวสะมาเรีย ซึ่งชาวสะมาเรียเป็นที่น่ารังเกียจของชาวยิว ดูเหมือนคำพูดของนาง จะดูมีปัญญามากกว่านิโคเดมัส ผู้เป็นอาจารย์ของพวกยิวเสียอีก(ยน. 3:10)

– ผู้หญิงในสมัยนั้นน้อยคนนักที่จะได้รับการศึกษา แต่นางกลับทราบเรื่องพระเมสสิยาห์ อย่างดีทีเดียว

– นั่นชี้ให้เห็นว่า เธอเป็นคนหนึ่งที่แสวงหา และ รอคอย การเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ ด้วยใจจดจ่อ

– และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่พระเยซู จงใจเดินมาที่หมู่บ้านสะมาเรียแห่งนี้ เพื่อมาตามหา หญิงที่สังคมรังเกียจ แต่พระองค์ทรงรักผู้นี้

– พระองค์เสด็จมา เยี่ยมเยียน ผู้ที่แสวงหาและรอคอยพระองค์

[การประยุกต์ใช้] :
– วันนี้ เราสนใจ เสาะแสวงหาที่จะรู้จักกับพระองค์มากเพียงใด?

– ยรม. 29:13 เจ้า​จะ​แสวง​หา​เรา​และ​พบ​เรา​เมื่อ​เจ้า​แสวง​หา​เรา​ด้วย​สิ้น​สุด​ใจ​ของ​เจ้า’

– วันนี้ พระเยซูกำลังมาหาเรา แล้วเรากำลังเสาะแสวงหาหาอะไรอยู่?

– วันนี้ เราหิวกระหาย ที่จะได้รู้จักกับพระเจ้ามากเพียงใด?

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:26) { เราอยู่นี่แล้ว }



[แนวคิด] :

– หญิงที่บ่อน้ำรอคอยที่จะได้พบกับพระเมสสิยาห์ บัดนี้ผู้ที่เธอรอคอยมานาน กำลังอยู่ต่อหน้าเธอ กำลังพูดกับเธออยู่

– ในพระคัมภีร์มีเพียงไม่กี่คนที่ เนื้อหาที่พวกเขาสนทนากับพระเยซู ถูกบันทึกไว้มากเท่ากับเนื้อหาที่ได้ทรงสนทนากับหญิงคนนี้ และดูเหมือนว่าพระองค์สนทนากับเธอนานทีเดียว (บางคนแค่ “เราพอใจแล้ว จงหายเถิด” , “จงยกแคร่ของเจ้าเดินไปเถิด” เป็นต้น)

– หญิงคนนี้ ในวันนี้เธอคงรู้ตัวแล้วว่า พระองค์ปฏิบัติต่อเธอพิเศษเพียงใด

[การประยุกต์ใช้] :
– คนที่กำลังรอคอยการช่วยกู้ พระผู้ช่วยอยู่ใกล้มากกว่าที่เราคิด

– คนที่กำลังรอคอยคำตอบ พระเยซูเป็นคำตอบของท่าน

– คนที่กำลังรอคอยปาฏิหารย์ พระองค์ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์อยู่ต่อหน้าท่านแล้ว

– คนที่กำลังแสวงหาที่จะพบกับพระเจ้า พระองค์อยู่ที่นี่แล้ว

– “ก้มศีรษะ หลับตาลง อธิษฐานด้วยความเชื่ออย่างไม่สงสัยเลยว่า พระองค์กำลังอยู่ที่นี่ พร้อมที่จะสนทนากับเราอยู่    เริ่มสนทนากับพระองค์ดั่งประหนึ่งว่า พระเยซูกำลังอยู่ต่อหน้าเรา เต็มใจคอยฟังทุกคำที่เราจะพูดกับพระองค์”

– แล้วท่านจะได้ยินเสียงพระองค์ตรัสกับท่านว่า “เราอยู่นี่แล้ว”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:27) { พระองค์ไม่สน }



[แนวคิด] :

– เมื่อสาวกกลับมาพวกเขาพบความประหลาดใจมาก เมื่อเห็นพระเยซูสนทนากับผู้หญิงในที่สาธารณะ ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วอาจารย์ชาวยิวจะไม่ทำอย่างนั้น ยิ่งไปกว่านั้นนางเป็นชาวสะมาเรีย ที่เป็นที่น่ารังเกียจสำหรับยิวอีกด้วย

– เหตุผลเดียวที่ทำให้พระอาจารย์ยอมแหกกฏไปคุยกับผู้หญิง และยอมลดตัวไปคุยกับชาวสะมาเรีย ก็น่าจะเป็นเพราะ พระอาจารย์คงต้องการอะไรเป็นพิเศษจากนางเป็นแน่

– เรื่องนี้สร้างความสงสัยจนประหลาดใจ แต่ก็ไม่มีใครกล้าถามพระเยซู แม้แต่เปโตรผู้ถามแบบไม่คิดเสมอ ก็ยังไม่กล้าถาม

– เพราะว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เกี่ยวพันถึงเกียรติและความน่านับถือของพระเยซูเลยทีเดียว ที่พระองค์ลดตัวลงไปพูดคุยกับหญิงสะมาเรียในที่สาธารณะเช่นนี้

– ซึ่งเรื่องนี้ มีหรือพระเยซูจะไม่รู้?

– พระองค์ทรงทราบ แต่พระองค์ไม่สนใจกฏเกณฑ์ไร้สาระเหล่านั้น พระองค์มาที่นี่เพื่อตามหาลูกสาวที่รักของพระเจ้า ผู้แสวงหาพระเจ้าแต่ไม่พบ ผู้กำลังเผชิญกับความอัปยศ น่าขายหน้า และสิ้นหวัง

[การประยุกต์ใช้] :
– เราสำคัญมากในสายพระเนตรของพระองค์ พระองค์ไม่ยอมให้กฏเกณฑ์ทางศาสนาที่ไร้สาระ มาขวางกั้นพระองค์ พระองค์เสด็จมาหาเรา

– หญิงคนนั้น ไม่ต้องกลายเป็นยิวก่อน

– หญิงคนนั้น ไม่ต้องกลายเป็นคนดีก่อน

– นางเป็นอย่างที่นางเป็นนั่นแหละ แล้วพระเยซูก็เสด็จมาเพื่อช่วยนาง

– วันนี้ เราไม่ต้องเป็นคนดีก่อน เราไม่ต้องเลิกนั่น เลิกนี่ ให้ได้ก่อน จึงจะพบพระเยซูได้

– “ใช่ ศาสนาอาจจะบอกเช่นนั้น” แต่พระเยซูไม่สน วันนี้พระองค์เสด็จมาหาลูกของพระองค์ เพื่อจะทรงช่วยลูกของพระองค์

– “ลูกชาย/ลูกสาว ที่รักของพระเจ้าเอ๋ย เชิญร้องทูลต่อพระองค์ในวันนี้เถิด พระองค์ข้ามทุกกฏของศาสนา เพื่อมาหาเราแล้ว”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:28) { ทิ้งหม้อน้ำ }



[แนวคิด] :

– หญิงที่บ่อน้ำ ก่อนหน้านี้สิ่งที่สำคัญมากของเธอคือ หม้อน้ำ เพราะเธอมาที่นี่เพื่อจะมาเอาน้ำ

– มาถึงตอนนี้ มีบางสิ่งสำคัญกว่าหม้อน้ำของเธอ เสียแล้ว นั่นก็คือ การไปบอกผู้อื่นเรื่องพระเมสสิยาห์ที่เธอได้พบ

– เมื่อเธอให้ความสำคัญแก่ข่าวประเสริฐ มากกว่า สิ่งที่เธอเคยคิดว่าสำคัญ เมื่อนั้นเธอผู้ที่สังคมรังเกียจได้กลับกลายเป็น นักประกาศคนสำคัญที่นำคนมากมายมาถึงพระเยซูคริสต์

[การประยุกต์ใช้] :
– วันนี้ อะไรบ้างที่เราถือว่ามันสำคัญมากสำหรับชีวิตของเรา?

– สิ่งนั้น เป็นอุปสรรคถ่วงไม่ให้เรา รับใช้พระเจ้าหรือไม่?

– หญิงคนนั้น ยอมทิ้งหม้อน้ำไว้ เพื่อจะได้รับใช้พระเจ้า

– วันนี้ เรายอมจ่ายราคาอะไรบ้าง เพื่อเราจะสามารถรับใช้พระเจ้าได้มากยิ่งขึ้น?

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:29) { จากความอับอายกลับกลายเป็นพร }



[แนวคิด] :

– เมื่อหญิงที่บ่อน้ำพบกับพระเยซู ชีวิตเธอเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

– เธอมาตักน้ำกลางวัน(ไม่ใช่เช้าหรือเย็นเหมือนคนอื่นๆ) เพราะเธอไม่อยากเจอใคร เธออับอายในสิ่งที่เธอได้ทำลงไป

– บัดนี้ ความอับอายของเธอกลับกลายเป็นพระพรยิ่งใหญ่สู่ผู้คนมากมาย เธอไม่อายแล้ว เธอเข้าไปหาชาวบ้าน แล้วใช้เรื่องความน่าอายของเธอเป็นสะพานบอกชาวบ้านให้รู้จักกับพระคริสต์

– “พวกคุณรู้ไหม ท่านผู้นี้ รู้ว่าฉันมีสามีมา 5 คนแล้ว ทั้งที่ยังไม่เคยพบฉันมาก่อนเลย”

– สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ไม่มีใครรังเกียจหรือตำหนิเธอ ในความอับอายของเธอ เพราะความสนใจทั้งหมด พุ่งเลยเรื่องเล็กๆน้อยๆของเธอไปหมดแล้ว ทุกคนสนใจแต่พระคริสต์

[การประยุกต์ใช้] :
– ในอดีตที่ผ่านมา เราอาจผิดพลาด อย่างน่าเจ็บปวด น่าอับอาย สักเพียงใดก็ตาม เมื่อเรายอมจำนนต่อพระเจ้า ให้พระเจ้าทรงใช้เรา พระองค์สามารถทำให้อดีตที่น่าอับอายของเราเป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้าได้ (โดยเราไม่ต้องรับผลของความอับอายนั้นอีก)

– ไม่ได้หมายความว่า เราต้องไปเล่าเรื่องเลวร้ายในอดีตของเราให้คนอื่นๆฟังให้หมด แต่หมายถึง สิ่งเลวร้ายของเราในอดีต เมื่ออยู่ในพระหัตถ์ของพระคริสต์ พระองค์สามารถใช้มัน เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง พัฒนาตัวเรา ให้กลายเป็น พระพรที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนมากมายได้

– “เมื่อเปิดเผยความอับอายต่อพระคริสต์ มอบถวายชีวิตแด่พระองค์ พระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ สามารถใช้มันเปลี่ยนชีวิตของเรา ให้กลายเป็นพระพรได้”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:30) { จงใจไม่เข้าเมือง }



[แนวคิด] :

– พวกเขาออกจากเมืองมาหา นั่นคือพระเยซูไม่ได้เข้าไปในเมือง ทั้งที่เมืองอยู่ไม่ไกล เพราะสาวกเข้าไปซื้ออาหารในเมือง(ข้อ8) แล้วก็กลับมาในเวลาไม่นานนัก ไม่ได้ข้ามวัน

– ทำไม มีคนเป็นอันมาก(ข้อ39)หิวกระหายพระเจ้า อยู่ในเมืองสิคาร์ แต่พระเยซูไม่ได้ไปหาพวกเขา แต่กลับมาหาหญิงไร้ค่า น่าเหยียดหยาม คนหนึ่งที่บ่อน้ำ?

– เพราะว่าพระองค์ประสงค์ให้เกียรติหญิงที่ไร้เกียรติผู้นี้ ได้มีโอกาสร่วมงานกับพระเจ้าผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด นำชาวสะมาเรียมากมาย มารู้จักกับพระองค์

[การประยุกต์ใช้] :
– วันนี้ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เคยผิดพลาดพลั้งสักเพียงใด ผู้อื่นจะมองดูเราว่าด้อยค่าสักเพียงใดก็ตาม แต่พระเยซูได้ทรงประทานเกียรตินี้แก่เราด้วย คือ ได้ชื่อว่าร่วมงานกับพระเจ้าเพื่อนำคนมากมายกลับมาหาพระเจ้า

– พระองค์จงใจเลือกเรา ให้รับเชื่อคนแรกในครอบครัว คนแรกในที่ทำงาน คนเดียวในบริเวณแถวบ้าน เพื่อพระองค์จะทรงให้เราร่วมงานกับพระองค์ นำคนเหล่านั้นมารู้จักกับพระองค์

“วันนี้ เราทำอย่างไร กับเกียรติที่พระเจ้าทรงประทานแก่เรานี้”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:31-33) { อาหารที่ไม่รู้จัก }



[แนวคิด] :

– สาวกรู้ว่าพระเยซูคงทั้งหิวและเหนื่อยล้า พวกเขาจึง ภูมิใจเสนอสิ่งที่จะทำให้พระองค์อิ่มและสดชื่น ได้แก่ อาหารที่พวกเขาเข้าไปในเมืองซื้อมาให้

– แต่พระเยซูสอนสาวกว่า สิ่งที่ทำให้พระองค์อิ่มและสดชื่นจริงๆ ไม่ใช่อาหารเหล่านี้ แต่เป็นอาหารสวรรค์ ที่พวกเขายังไม่เข้าใจในเวลานั้น

– สาวกจึงสงสัย มีใครทำให้พระองค์อิ่มแล้วหรือ ไม่น่าจะมีนี่นา ซึ่งความจริงมี ก็คือ หญิงที่บ่อน้ำทำให้พระองค์อิ่ม เมื่อพระองค์ได้กระทำตามพระทัยพระบิดา มาตามหาลูกสาวสุดที่รักของพระองค์กลับบ้าน

[การประยุกต์ใช้] :
– วันนี้ เราอาจทุ่มเทเต็มที่ในการทำบางอย่างเพื่อพระเจ้า แต่คำถามที่เราควรถามตนเองอยู่เสมอคือ “สิ่งที่เรากำลังวันนี้ พระเยซูชื่นใจหรือเปล่า?”

– การทำงานรับใช้หลายอย่างอาจดูมีคุณค่ามากในสายตาของมนุษย์ แต่การรับใช้ที่มีคุณค่าที่แท้จริงในสายพระเนตรของพระเจ้า คือการสำแดงความรักต่อผู้อื่นเพราะเหตุความรักที่เรามีต่อพระเยซู นั่นเอง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:34) { อาหารของพระเยซู }



[แนวคิด] :

– อาหารทำให้มีชีวิต ทำให้มีกำลัง

– สิ่งที่เป็นแหล่งกำลัง และ ทำให้พระเยซูดำเนินชีวิตอยู่ในโลก ก็คือ การทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า และ ทำให้งานของพระเจ้าสำเร็จ

– หลักการก็คือ ถ้าปราศจากการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ชีวิตก็จะไร้ชีวิต ไร้ค่า เหมือนศพเดินได้ ไม่มีทางมีชีวิตชีวาที่แท้จริงได้

[การประยุกต์ใช้] :
– วันนี้ อะไรเป็นแหล่งกำลังของเรา? เรารู้สึกสดชื่น มีกำลังเมื่อเราทำสิ่งใด?

– สิ่งนั้นแหละ เรียกได้ว่าเป็นอาหารของเรา

– เรากำลังทานอาหารชนิดเดียวกับพระเยซูหรือเปล่า? หรือชนิดเดียวกับโลกนี้?

– วว. 3:20 “นี่​แน่ะ เรา​ยืน​เคาะ​อยู่​ที่​ประตู ถ้า​ใคร​ได้​ยิน​เสียง​ของ​เรา​และ​เปิด​ประตู เรา​จะ​เข้า​ไป​หา​เขา​และ​จะ​รับ​ประ​ทาน​อา​หาร​ร่วม​กับ​เขา และ​เขา​จะ​รับ​ประ​ทาน​อา​หาร​ร่วม​กับ​เรา”

– เชิญมาทานอาหารโต๊ะเดียวกันกับพระเยซูกันเถิด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:35) { มองต่างมุม }



[แนวคิด] :

– ในมุมมองของการปลูกข้าว ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวต้องรออีก 4 เดือน นับจากเวลานั้น

– แต่มุมมองของการปลูกพืชฝ่ายวิญญาณ บัดนี้เป็นเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวแล้ว ถึงเวลาที่จะรวบรวมคนของพระเจ้า กลับมาสู่พระองค์แล้ว

(ในอีกไม่กี่ข้อต่อมา สาวกกำลังจะได้เห็นการเก็บเกี่ยวฝ่ายวิญญาณครั้งใหญ่ในเมืองของชาวสะมาเรีย)

[การประยุกต์ใช้] :
– วันนี้ เมื่อพูดถึงการเก็บเกี่ยวฝ่ายวิญญาณ การนำคนมาหาพระเยซู เราอาจจะคิดว่า “ยังไม่ถึงเวลา” “เรายังไม่พร้อม” “เรายังไม่เก่ง” “เราทำไม่ได้” “เราทำไม่เป็น”

– คำถาม : ไม่ทราบว่า พระเยซูเห็นด้วยกับความคิดของเราหรือเปล่า?

– ถ้าเรา รู้แล้วว่า เราคิดไม่เหมือนพระเยซู จงกลับใจด่วน

– “เมื่อเรา เริ่มลงมือทำสิ่งที่สอดคล้องกับความคิดของพระเยซู พระองค์จะสนับสนุนเรา และประทานสิ่งที่จำเป็นอย่างเพียงพอในการทำสิ่งนั้นอย่างแน่นอน”

– “ทุ่ง​นา​เหลือง​อร่าม​และ​ถึง​เวลา​เกี่ยว​แล้ว”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:36) { เวลาแห่งการเก็บเกี่ยว }



[แนวคิด] :

– พระเยซูกำลังบอกสาวกว่า ถึงเวลาแล้วสำหรับการนำคนเข้ามาในแผ่นดินของพระเจ้า

– ก่อนหน้าที่บรรดาผู้เผยพระวจนะทั้งหลายพยากรณ์ถึงการเสด็จมาของพระมาซีฮา เพื่อช่วยคนอิสราเอลให้รอด บัดนี้ถึงเวลาแห่งความรอดนั้นแล้ว

– แล้วในที่สุด ทั้งคนในอดีตและพวกสาวกของพระเยซู ก็จะชื่นชมยินดีในการเก็บเกี่ยวใหญ่นี้ร่วมกัน

[การประยุกต์ใช้] :
– วันนี้ เป็นเวลาแห่งการเก็บเกี่ยว จิตวิญญาณของผู้คนให้เข้ามาในแผ่นดินของพระเจ้าแล้ว

– สภษ. 10:5 “…​บุตร​ชาย​ผู้​หลับ​ใน​ฤดู​เกี่ยว​ก็​นำ​ความ​อับ​อาย​มา”

– นี่เป็นเวลาแห่งการเก็บเกี่ยว ใครที่ยังเอื่อยเฉื่อย ยังสะลึมสะลือ ยังนอนหลับอยู่ ตื่นได้แล้ว ก่อนที่ความอับอายจะมาถึง

– ในวันนั้น จะเป็นวันแห่งความชื่นชมยินดี หรือ วันแห่งความน่าละอายใจ ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราในวันนี้

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:37) { คนหว่าน-คนเกี่ยว }



[แนวคิด] :

– พระเยซูอ้างถึงสุภาษิตของกรีก เกี่ยวกับการหว่านและการเก็บเกี่ยว ตามประสบการณ์ของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับความจริงในฝ่ายวิญญาณ

– อีกไม่นานสาวกจะเก็บเกี่ยวคนมากมายเข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้า แต่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ เกิดจากการหว่านพระคำของพระเจ้าในผู้คนมากมายโดยบรรดาผู้เผยพระวจนะในอดีต

– ไม่มีใครอยู่ดีๆก็รับเชื่อ โดยปราศจากใครสักคนหนึ่งได้หว่านเรื่องพระเจ้าในชีวิตของเขาเอาไว้

[การประยุกต์ใช้] :
– วันนี้ สามารถทำอะไรบางอย่าง เพื่อเป็นการหว่านเมล็ดแห่งข่าวประเสริฐ ลงในจิตใจของผู้คน โดยเฉพาะคนที่เรารัก เมื่อหว่านวันนี้อาจจะไม่ได้เห็นผลอะไร แต่จงรู้เถิดว่า สักวันหนึ่งเมื่อเมล็ดแห่งความเชื่อนี้ เจริญเติบโต พระเจ้าจะใช้บางคนมาเก็บเกี่ยวจิตวิญญาณของเขาเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าเอง

– หน้าที่สำคัญของเราวันนี้ คือ ต้องเริ่มหว่าน

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:38) { ร่วมตรากตรำ }



[แนวคิด] :

– ผู้เผยพระวจนะในอดีต หว่าน หงาดเหงื่อ เลือด และชีวิต เพื่อเตรียมจิตใจของคนให้พร้อมสำหรับการเข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้า

– เมื่อมาถึงสมัยของสาวก ถึงเวลาแล้ว ที่จะนำคนเข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้า ผ่านทางการเชื่อวางใจในพระเยซู พระผู้ช่วยให้รอด

– ดูเหมือนสาวก ไม่ได้ตรากตรำเท่ากับพวกผู้เผยพระวจนะ แต่ในฝ่ายวิญญาณเมื่อเขาเก็บเกี่ยวคนเข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้า ก็ถือว่า พวกเขามีส่วนในการตรากตรำเดียวกันกับพวกผู้เผยพระวจนะในอดีต

[การประยุกต์ใช้] :
– การเสียสละ หงาดเหงื่อ ตรากตรำ เลือด และชีวิต ของบรรดามิชชันนารีและผู้รับใช้พระเจ้ามากมาย ที่ในอดีตที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ประเทศไทยพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวครั้งใหญ่

– โดยภาพรวม ทัศนคติของคนไทยต่อคริสตศาสนาเป็นในแง่บวกส่วนใหญ่ ซึ่งเกิดจากการสำแดงความรัก การเสียสละ การช่วยเหลือสังคม การประกาศข่าวประเสริฐ ของบรรดาเหล่าผู้รับใช้พระเจ้าในอดีตที่ผ่านมา

– วันนี้เราอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวครั้งใหญ่ ขณะที่สังคมกำลังสิ้นหวัง ระบบหรือองค์กรต่างๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นความหวัง กลับทำให้คนไทยผิดหวัง ความยากลำบาก ความขัดสน การอับจนหนทาง แผ่แพร่ไปทั่วในทุกสังคม

– ท่ามกลางสังคมที่สิ้นหวังนี้ พระเยซูพระเจ้าผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด ผู้ทรงสร้าง ผู้ครอบครอง ผู้ควบคุมทุกสิ่ง เป็นความหวังเดียวของพวกเขา

– เชิญเราทั้งหลาย มาร่วมการตรากตรำของบรรดาผู้รับใช้ในอดีตที่ผ่าน โดยร่วมกับเก็บเกี่ยว นำคนไทยมาพบกับพระเยซูคริสต์ผู้เป็นความหวังเดียวของเขา

– พูดเรื่องของพระเยซูให้กับพวกเขาได้รับรู้ หรือ ใช้สื่อต่างๆเท่าประตูเปิดออก ส่งต่อคำเทศนา คำสอน พระคำของพระเจ้า ไปยังคนเหล่านั้น

– นั่นอาจจะเป็นการหว่าน เพื่อคนในอนาคตจะเก็ยเกี่ยว หรือ อาจจะเป็นการเก็บโดยการกระทำของเราในครั้งที่ก็เป็นได้

[น่าเศร้าที่คริสเตียนจำนวนไม่น้อย ส่งโน่นนี่นั่น ให้เพื่อนฝูงมากมาย แต่ไม่ยอมส่งเรื่องราวของพระเยซูให้พวกเขาเลยแม้แต่น้อย ด้วยความกลัวว่า เขาจะหาว่า เราเคร่งศาสนา บ้าพระเยซู…ซึ่งแท้จริงการถูกมองว่าเป็นเช่นนั้น เป็นเกียรติและศุกดิ์ศรียิ่งใหญ่สำหรับเราทั้งหลาย]

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:39) { คำพยานเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ }



[แนวคิด] :

– โดยคำพยานของหญิงที่สังคมดูถูก คนหนึ่ง ทำให้คนในเมืองจำนวนมากวางใจในพระองค์

– ตามหลักการและเหตุผลแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ ที่ชาวสะมาเรียที่เกลียดยิว จะวางใจในอาจารย์ชาวยิว โดยคำพูดของหญิงผู้ไม่น่าเชื่อถือคนหนึ่ง ทั้งที่พวกเขายังไม่ได้พบเจออาจารย์ท่านนั้นเลย

[การประยุกต์ใช้] :
– การที่คนจะเปิดใจต่อข่าวประเสริฐ ไม่ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ ตามหลักการหรือเหตุผลใดๆทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่กับมีใครบ้างไหม ที่กล้าพอ(ไม่มัวแต่ขี้ขลาด) ที่จะเป็นพยานถึงสิ่งที่พระเจ้าทำในชีวิตของเขา แก่ใครบางคน

– วันนี้ หน้าที่ของเราคือกล่าวคำพยานถึงสิ่งที่พระเยซูทรงทำแก่เรา ที่เหลือเป็นหน้าที่ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่จะทำให้ถ้อยคำนั้นเกิดผลเป็นพร ใช้ชีวิตของคนที่ได้ยินได้ฟังคำพยานของเรานั้น

– วว. 12:11 “พวก​เขา​ชนะ​พญา​มาร​ด้วย​พระ​โล​หิต​ของ​พระ​เมษ​โป​ดก และ​ด้วย​คำ​พยาน​ของ​พวก​เขา​เอง และพวก​เขา​ไม่​ได้​รัก​ตัว​กลัว​ตาย”

– สิ่งที่หญิงนั้นทำแม้เพียงเล็กน้อย แต่ต่อมาเกิดผลอันยิ่งใหญ่เปลี่ยนแปลงชีวิตของคนทั้งเมืองไปตลอดกาล

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:40) { เหตุผลร้อยแปด }



[แนวคิด] :

– พวกยิวรังเกียจชาวสะมาเรีย ถึงขนาดยอมเดินอ้อมดีกว่าต้องเดินผ่านเมืองของพวกเขา บัดนี้พวกสะมาเรียเชิญพระเยซูให้ประทับกับพวกเขา

– ถ้าพระเยซูไป พวกยิวจะคิดอย่างไรกับพระองค์ อีกหน่อยพระองค์ต้องไปประกาศกับพวกยิวเป็นหลัก พวกเขาอาจจะพลอยรังเกียจพระองค์ไปด้วย หรืออาจถึงขนาดไม่ยอมฟังพระองค์อีกก็เป็นได้

– ดูเหมือนมีเหตุผลดีๆมากมายที่พระเยซู ไม่ควรไปพักกับพวกสะมาเรีย แต่พระเยซูไม่คำนึงถึงว่าใครจะคิดอย่างไร เหตุผลร้อยแปดจะเป็นอย่างไร พระองค์มุ่งทำสิ่งเดียวคือ ​ทำ​ตาม​พระ​ประสงค์​ของ​พระบิดา​และ​ทำ​ให้​งาน​ของ​พระ​องค์​สำ​เร็จ (ยน. 4:34)

– งานนั้นคือ “เรา​ไม่​ได้​รับ​ใช้​มา​หา​ใคร เว้น​แต่​แกะ​หลง​ของ​วงศ์​วาน​อิส​รา​เอล” มธ. 15:24

– คนยิวไม่นับสะมาเรียเป็นวงศ์วานของอิสราเอล แต่พระเจ้านับ พระเยซูไม่สนใจว่าคนคิดอย่างไร แต่ใส่พระทัยว่าพระบิดาทรงคิดเช่นไร

– พระเยซูจึงไปประทับกับชาวสะมาเรีย 2 วัน

[การประยุกต์ใช้] :
– อาจจะมีเหตุผลร้อยแปด ที่กีดขวางไม่ให้เราประกาศกับคนเหล่านั้น

“เขาคงไม่เชื่อหรอก” , “เขาไม่สนใจหรอก” , “เขาเป็นคนละประเภทกับเรา เราเข้าถึงยาก” , “เขาไม่ชอบเรา เขาคงไม่ฟังเราหรอก” , “เขาเป็นผู้ใหญ่กว่าเรามาก เขาคงไม่ฟังเรา” , “คนอื่นจะคิดอย่างไร ถ้าเราไปพูดเรื่องพระเจ้ากับเขา” , “เราก็ยังพูดไม่ค่อยเก่งเลย” ,  ฯลฯ

– โยนเหตุผลไร้สาระพวกนี้ทิ้งไปซะ แล้วถามพระบิดา วันนี้ พระองค์อยากให้เราทำอย่างไรกับเขาเหล่านั้นบ้าง…แล้วพระวิญญาณจะตรัสในจิตใจของเรา…จากนั้น เชื่อฟัง แล้ว ลงมือทำตาม

– ใครจะคิดอย่างไรก็เราก็ช่างเขา ไม่สำคัญ พระบิดารู้สึกอย่างไรกับการกระทำของเราในวันนี้ต่างหากที่สำคัญ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:41) { วางใจเพราะพระคำ }



[แนวคิด] :

-ก่อนหน้านี้คนจำนวนมาก วางใจในพระเยซูเพราะถ้อยคำของหญิงที่บ่อน้ำ(ยน. 4:39) แต่เมื่อพระเยซูพักกับพวกเขา 2 วัน ก็มีคนวางใจในพระเยซูเพิ่มมากขึ้น เพราะได้ยินคำตรัสของพระเยซูด้วยตัวของพวกเขาเอง

– คำพยานเป็นสิ่งที่ดีที่จะนำคนมาหาพระเจ้า แต่เมื่อคำพยานนั้นทำงานร่วมกับพระคำของพระเจ้าก็จะยิ่งทวีผลขึ้นอีกอย่างมากมาย

[การประยุกต์ใช้] :
– การมีประสบการณ์กับพระเจ้าเป็นสิ่งที่ดี แต่การมีประสบการณ์กับพระคำของพระเจ้า เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ สำหรับการเพิ่มความเชื่อวางใจในพระเจ้า

– อ่านพระคำ ฝึกทำตาม สังเกตผลที่เกิดขึ้น >>> นำไปสู่การมีประสบการณ์กับพระคำของพระเจ้า ซึ่งจะมีผลให้ความเชื่อเราของเราเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:42) { ขอบคุณหญิงที่บ่อน้ำ }



[แนวคิด] : (ได้ความลึกซึ้งมากมาย สรุปย่อๆเป็น 3 ประเด็น)

A. การพัฒนาของความเชื่อ

– ความเชื่ออาจเริ่มต้นด้วยการได้ยินคนอื่นพูด แต่จะหยั่งรากยั่งยืน เมื่อเรามีประสบการณ์กับพระเยซูด้วยตัวของเราเอง

B.มนุษย์กับพระเจ้ามองไม่เห็นเหมือนกัน

– ชาวสะมาเรียที่พวกยิวไม่ถือว่าเป็นวงศ์วานอิสราเอลแต่พระเจ้าทรงถือว่าเขาเป็น

– พระเยซูอยู่ในเมืองของชาวสะมาเรียเพียง 2 วัน พวกเขาก็รับว่า “พระเยซู​เป็น​พระ​ผู้​ช่วย​โลก​ให้​รอด​ที่​แท้​จริง”

-แต่สำหรับพวกยิว พระเยซูทรงทำอัศจรรย์ท่ามกลางพวกเขา 3 ปี พวกเขากลับร้องว่า “ขอ​เชิญ​พระ​คริสต์​กษัตริย์​แห่ง​อิส​รา​เอล​ลง​มา​จาก​กาง​เขน​เดี๋ยว​นี้​เถอะ พวก​เรา​จะ​ได้​เห็น​และ​เชื่อ…” มก. 15:32

C. หญิงที่บ่อน้ำ

– “พวก​เขา​พูด​กับ​หญิง​คน​นั้น​ว่า…” ก่อนหน้านี้ เธอต้องแอบๆมาที่บ่อน้ำตอนกลางวัน เพราะอับอายและไม่อยากเจอใคร แต่วันนี้เธออยู่ท่ามกลางชาวเมืองอย่างเปิดเผย และเป็นเพื่อนของชาวเมือง เธอยู่ที่นั่น ชาวเมืองกำลังสนทนากับเธอ และดูเหมือนชาวเมืองจะจดจำได้ว่าเธอเป็นผู้มีบุญคุณต่อพวกเขา ที่นำพวกเขามาให้พบกับพระผู้ช่วยที่แท้จริง

– ชีวิตของหญิงผู้น่าอับอาย เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเธอได้พบกับพระเยซูจริงๆ

[การประยุกต์ใช้]
– วันนี้ พระเยซูเป็นใครในชีวิตของเรา?

– วันนี้ เราได้พบกับพระเยซูอย่างแท้จริงหรือยัง?

– ถ้าเราใช้เวลาสนทนากับพระองค์มากขึ้น ตั้งใจฟังสิ่งที่พระองค์พยายามตรัสกับเราในวันนี้ให้มากขึ้น ชีวิตของเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน

– แล้วชีวิตที่ดูเหมือนไร้ค่า ไร้ความหมายของเรา จะกลายเป็นพระพรยิ่งใหญ่ต่อผู้คนมากมาย

– หญิงสะมาเรียที่บ่อน้ำคนนั้นจะรู้ไหมน้อ? ว่า เพราะชีวิตของเธอ เป็นเหตุให้ 2,000 ปีต่อมา ผมขอบคุณพระเจ้ามากมาย

“ขอบคุณพระเจ้า” และ “ขอบคุณหญิงที่บ่อน้ำคนนั้นครับ”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:43) { ก้าวต่อไป }



[แนวคิด] :

– แม้ว่า งานประกาศกำลังเกิดผลมากมายในเมืองสิคาร์ แต่ก็จำเป็นต้องจากไป เมื่อมีสิ่งอื่นบางอย่างที่พระเจ้าประสงค์จะให้พระองค์ทรงกระทำ

– พระเยซูกลับสู่เส้นทางที่ตั้งใจไว้แต่แรก ไปยังแคว้นกาลิลี (ยน. 4:3)

[การประยุกต์ใช้]
– การเกิดผลหรือไม่  การเกิดผลมากหรือน้อย ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่า เราควรจะเลิกหรือทำสิ่งนี้ต่อไป ขณะที่เรากำลังทำบางสิ่งแด่พระเจ้า(รับใช้พระเจ้า) เราควรคอยถามพระเจ้าอยู่เสมอ ว่า “พระองค์ทรงประสงค์ให้เราทำอะไร อย่างไรต่อไป”

– ซึ่งบ่อยครั้ง คำตอบอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคาดคิด แต่จะไปสำคัญอะไร เพราะเราไม่ได้กำลังรับใช้ให้เกิดผล แต่กำลังรับใช้เพื่อให้พระเจ้าของเราพอพระทัย

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:44) { ไม่ได้รับการต้อนรับ }



[แนวคิด] :

– เมื่อพระเยซูเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี แต่พระองค์ผ่านเลยเมืองนาซาเร็ธไปเมืองอื่น (ยน. 4:46) เพราะที่นาซาเร็ธพวกเขาปฏิเสธพระองค์(มธ. 13:57)

– แม้ที่เมืองนี้ไม่ต้อนรับพระองค์ แต่ก็มีอีกหลายเมืองที่ยินดีต้อนรับพระองค์

[การประยุกต์ใช้] :
– เมื่อเรารับใช้พระเจ้า จะไม่ใช่ทุกคนยอมรับเรา และอาจถึงกับต่อต้านเราด้วยซ้ำไป อย่ายอมให้การปฏิเสธของคนบางคนขัดขวางไม่ให้เรารับใช้พระเจ้า เพราะยังมีอีกหลายคนที่ยินดีต้อนรับ และได้รับพรในการรับใช้พระเจ้าของเรา

– เมื่อประตูหนึ่งปิดในการรับใช้พระเจ้า ให้สังเกตดีๆเพราะมีอีกประตูหนึ่งกำลังเปิดออก

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:45) { เกิดผลดีในเวลาต่อมา }



[แนวคิด] :

– พระเยซูทำหมายสำคัญหลายประการ ในช่วงเทศกาลปัสกา ที่กรุงเยรูซาเล็ม แคว้นยูเดีย(ยน. 2:23) ซึ่งมีคนจำนวนมากจากแคว้นกาลิลีไปในงานเทศกาลนั้นด้วย

– การทำพระราชกิจของพระเยซู ในแคว้นยูเดีย ก่อนหน้านี้ กลับส่งผลดีอย่างมากในการทำพระราชกิจในแคว้นกาลิลีในช่วงเวลาต่อมา

[การประยุกต์ใช้] :
– การรับใช้พระเจ้าอย่างสัตย์ซื่อ ตามจังหวะและโอกาสที่พระเจ้าประทานให้ในวันนี้ อาจจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการรับใช้ของเราในอนาคตก็เป็นได้

– สัตย์ซื่อในสิ่งที่พระเจ้ามอบโอกาสแก่เราในวันนี้ แล้วพระองค์ผู้ทรงสัตย์ซื่อจะทรงกระทำให้ มันเกิดผลดีมากมายในวันหน้า

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:46) { ยินดีต้อนรับพระเยซู }



[แนวคิด] :

– พระเยซูไม่แวะเมืองนาซาเร็ธ พระองค์ไปหมู่บ้านคานา และกำลังจะทำการอัศจรรย์ในเมืองคาเปอรนาอูมซึ่งห่างจากหมู่บ้านคานาเป็นระยะเดินทางประมาณ 1 วัน

– วันนี้เป็นครั้งแรกที่ผมสังเกตเห็นสิ่งนี้ คือ พระเยซูไม่ไปเมืองที่ไม่ต้อนรับพระองค์ (นาซาเร็ธ , เมืองของสะมาเรียบางเมืองที่ไม่ต้อนรับพระองค์ ลก.9:51-58) และพระองค์จะทำการอัศจรรย์ในที่ที่มีคนหิวกระหายอยากให้พระองค์ทำอัศจรรย์

[การประยุกต์ใช้] :
– พระเยซูจะทำอัศจรรย์ในชีวิตของเรา เมื่อเรายินดีต้อนรับพระองค์อย่างจริงใจ ปรารถนาความช่วยเหลือจากพระองค์อย่างแท้จริง

– วันนี้ เรายินดีต้อนรับพระองค์เข้ามาในชีวิตจริงๆหรือเปล่า?

– เราสบายใจจริงๆหรือ ที่จะปล่อยให้พระองค์ควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างในชีวิตของเราด้วยพระองค์เอง?

– คนที่ไม่ต้อนรับพระองค์ พระองค์จะผ่านเลยไป คนที่หิวกระหายหาพระองค์ พระองค์จะไม่ละทิ้งเขาเลย

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:47) { เดิมพันแสนแพง…แต่คุ้ม }



[แนวคิด] :

– ข้าราชการ ​เป็นเจ้าหน้าที่​ของ​กษัตริย์​เฮโรด ​อัน​ทิพาส (ลก. ​3:1​) ​กษัตริย์ผู้ปกครอง​แคว้น​กา​ลิ​ลี​และ​เพอ​เรีย​ ซึ่งกษัตริย์นี้​อยู่​ภายใต้​อำนาจ​ของ​โรมันอีกที

– ขณะที่ลูกของเขาใกล้จะตาย เขาควรอยู่ใกล้ๆลูก ต่อให้มีหมอเก่งขนาดไหน ด้วยตำแหน่งหน้าที่ของเขาส่งคนใช้ไปเชิญมาก็ได้

– เขาคงเชื่อว่าพระเยซู เป็นทางออกเดียว จึงลงทุนเดินทางมาที่หมู่บ้านคานาระหว่างเดินทางประมาณ 1 วัน (สังเกตจาก ยน.4:52 เขาเดินทางกลับบ้านใช้เวลา 1 วัน) เดินทางไปกลับก็ใช้เวลา 2 วันแล้ว ถ้าพระเยซูรักษาไม่ได้ เขาอาจจะไม่ได้เห็นหน้าลูกเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้

– เขาเดิมพันด้วยราคาแสนแพง เพื่อจะมาขอความช่วยเหลือจากพระเยซู ทั้งที่เขาเพียงแต่ได้ยินข่าวของพระเยซูเท่านั้น

[การประยุกต์ใช้] :
– วันนี้ เราต้องการความช่วยเหลือจากพระเยซูจริงๆหรือเปล่า?

– วันนี้ เราคิดว่าพระเยซูเป็นทางออกเดียวของเราหรือยัง หรือยังมีทางอื่นอีกหากพระองค์ไม่ช่วย?

– วันนี้ เรายอมลงทุน ยอมเสี่ยง ที่จะพึ่งพระองค์แต่เพียงผู้เดียว อย่างไว้วางใจ หรือเปล่า?

– เป็นไรเป็นกัน “ฉันจะไว้วางใจในพระองค์สุดหัวใจ สำหรับการช่วยกู้ที่จะมาถึงฉัน”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:48) { เชื่อไม่พอ }



[แนวคิด] :

– พระเยซูไม่ได้บอกว่า ข้าราชการคนนี้ไม่มีความเชื่อเลย แต่บอกว่า เขามีความเชื่อไม่พอ

– การที่เขาเดินทางมาถึงหมู่บ้านคานา และมาขอให้พระเยซูช่วยลูกของเขา แสดงว่าเขามีความเชื่อ

– แต่ความเชื่อของเขาไม่พอ เพราะแทนที่เขาจะมอบเรื่องลูกของเขาให้พระเยซูจัดการ เขากลับขอให้พระเยซูไปยังคาเปอรนาอูม(ยน.4:49) เขาไม่เชื่อว่าพระเยซูสามารถทำได้ โดยไม่ต้องเดินทางไป

– ข้อนี้พระเยซูไม่ได้หมายถึงแค่ข้าราชการนี้เท่านั้น แต่รวมถึงคนอื่นๆในกาลิลีด้วย ที่ไม่ยอมเชื่อ จนกว่าจะได้เห็นการอัศจรรย์

[การประยุกต์ใช้] :
– วันนี้ ต้องรอให้เกิดอะไรขึ้นก่อนบ้าง เราถึงจะยอมเชื่อวางใจในพระเยซู?

– เรากล้าเชื่อวางใจในพระเยซู ทั้งที่ยังไม่เห็นการอัศจรรย์หรือไม่?

– แค่พระคำของพระเจ้าบอกเอาไว้ เพียงพอไหม ที่เราจะเชื่อวางใจในพระองค์ สำหรับเหตุการณ์วันนี้?

– หรือต้องรอจนกว่าพระเยซูทำอัศจรรย์บางอย่าง เปลี่ยนแปลงสถานการณ์บางอย่างก่อน เราจึงจะยอมวางใจในพระองค์ได้?

– แม้วันนี้ ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ฉันยังจะขอเลือก ไว้วางใจในพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:49) { ใครเป็นเจ้านายกันแน่? }



[แนวคิด] :

–   ข้าราชการพูดแปลกๆ “องค์พระผู้เป็นเจ้า หรือ เจ้านายครับ ” 

“1. เจ้านายต้องเสด็จไป

2. เจ้านายต้องไปเร็วๆ 

3.ถ้าเจ้านายไม่ไปในเวลาที่ผมบอก เจ้านายจะช่วยเด็กไม่ได้”

– ฟังแล้ว งง นิดหน่อย ใครเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้ากันแน่

– ข้าราชการคนนี้ เชื่อว่าพระเยซูรักษาลูกเขาได้ แต่ไม่เชื่อ 3 อย่าง

>>> ไม่เชื่อว่าพระเยซูสามารถรักษาลูกเขาจากหมู่บ้านคานาได้

>>> ไม่เชื่อเวลาของพระเยซูเหมาะสมที่สุด

>>> ไม่เชื่อว่า ถ้าลูกเขาตายแล้ว พระองค์จะสามารถช่วยให้ลูกเขาเป็นขึ้นจากตายได้

[การประยุกต์ใช้] :
– วันนี้ เราเรียกพระเยซูว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า แล้ว เราปฏิบัติต่อพระองค์สมดังที่พระองค์ทรงเป็นเจ้านายในชีวิตของเราหรือเหล่า?

– เรามอบสิทธิเด็ดขาดแด่พระเยซู ในการกำหนดวิธีการ และเวลาที่จะให้สิ่งใดเกิดหรือไม่เกิดในชีวิตของเรา หรือไม่?

– กล้าเชื่อไหม พระองค์ช่วยเราได้ โดยวิธีการและเวลาของพระองค์ แม้ว่ามันไม่สอดคล้องกับ วิธีการและเวลาที่เราคิดไว้ก็ตาม

– บางคนคิดว่า พระเยซูต้องช่วยให้ขายดีเท่านั้น จึงจะแก้ปัญหาของเราได้ แต่บางทีพระเยซู อาจมีวิธีที่ต่างออกไป

– บางคนอาจคิดว่า ต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เท่านั้น สถานการณ์ในชีวิตของเขาจึงจะเปลี่ยนได้ แต่บางทีพระเยซูอาจใช้วิธีการอื่นก็ได้

“ไม่เห็นต้องเข้าใจ แค่เชื่อใจ ก็เพียงพอ”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:50) { คำตรัสที่เต็มไปด้วยพระเมตตา }



[แนวคิด] :

–   “กลับไปเถิด” มอบเรื่องที่ท่านกังวลไว้ให้เราจัดการเอง

– พระเยซูไม่เพียงแต่เยียวยาลูกของเขา แต่ยังทรงแก้ไขความไม่เชื่อของเขาอีกด้วย

– เขามาหาพระองค์แบบมีความเชื่อที่บกพร่อง พระเยซูไม่ได้ปฏิเสธเขา พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า “เพราะเจ้าเชื่อไม่สมบูรณ์ ดังนั้นเราไม่ช่วยเจ้าหรอก”

– แต่ด้วยพระเมตตาของพระเยซู พระองค์ช่วยเขา ขณะเดียวกันก็ช่วยเขาให้พัฒนาความเชื่อของเขาให้สมบูรณ์ไปในตัวด้วย โดยการไม่ไปกับเขาตามที่เขาคาดหวัง แต่ให้โอกาสเขาใช้ความเชื่อ กลับไปแต่ลำพังด้วยความเชื่อในคำตรัสของพระเยซู

[การประยุกต์ใช้] :
– เมื่อเรามาหาพระเยซู ด้วยจริงใจ พระองค์จะไม่ปฏิเสธเรา แม้ความเชื่อของเรายังไม่สมบูรณ์

– แต่ด้วยพระเมตตาของพระเยซู พระองค์รักเรามากจนไม่อาจยอมให้เรามีความไม่เชื่ออยู่ในใจของเรา พระองค์มักจะใช้เหตุการณ์บางอย่างเพื่อให้เราใช้ความเชื่อ เพื่อจะผ่านสถานการณ์นั้นอย่างสง่างาม

– วันนี้ ถ้าดูเหมือนพระเจ้าไม่ได้ตอบคำอธิษฐานของเราตามที่เราคาด ไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะไม่ช่วยเรา แต่เป็นไปได้ว่า พระองค์ประสงค์จะใช้เหตุการณ์ในครั้งนี้ พัฒนาความเชื่อของเราให้เติบโตขึ้นอีกขั้น

– โดย มอบเรื่องที่เรากำลังกังวลนั้น ให้พระองค์จัดการ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:51) { เร็วกว่าที่คิด }



[แนวคิด] :

– เมื่อข้าราชการเริ่มใช้ความเชื่อ เดินทางกลับบ้านตามที่พระเยซูบอก คงคาดว่าเมื่อกลับไปถึงบ้าน คงจะได้ยินข่าวดีอะไรบางอย่าง

– แต่ปรากฏว่า ข่าวดีมาเร็วกว่าที่เขาคิด เขายังไม่ทันถึงบ้านทาสของเขาก็นำข่าวดีมาถึงเขาระหว่างทางแล้ว

[การประยุกต์ใช้] :
– เมื่อเราเริ่มเชื่อฟังพระเจ้า คำตอบก็เริ่มออกเดินทางมาหาเราแล้ว

– เมื่อเราเริ่มทำตามที่พระเจ้าบอก คำตอบจะมาถึงเราเร็วยิ่งกว่าที่เราคิดเสียอีก

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.4:52) { คำตอบเกิดขึ้นตั้งแต่ทรงตรัส }



[แนวคิด] :

– เมื่อข้าราชการนั้น ถามพวกทาสที่มาพบ ถึงเวลาที่ลูกของเขาหาย พวกทาสตอบได้อย่างเจาะจง เป็นเสียงเดียวกัน ว่า “บ่ายโมงเมื่อวานนี้” แสดงว่าการหายโรคของเด็กนั้น เกิดขึ้นแบบฉับพลัน ไม่ใช่ค่อยๆดีขึ้นทีละนิด

 – ซึ่งเวลาที่หายป่วยนั้น คือ เวลาที่พระเยซูตรัสว่า “ลูก​ของ​ท่าน​จะ​ไม่​ตาย” (ยน.4:50)

>>> ถาม : คำร้องทูลของข้าราชการนั้น ได้รับคำตอบตั้งแต่เมื่อไหร่?

>>> ตอบ : ตั้งแต่เมื่อพระเยซูตรัส…สรรเสริญพระเจ้า

(เพียงแต่ในเวลานั้นข้าราชการคนนั้น ยังไม่ถึงเวลาที่จะรับรู้เท่านั้นเอง)

[การประยุกต์ใช้] :
ถาม : เมื่อเราร้องทูลต่อพระเยซูด้วยความเชื่อ เราได้รับคำตอบเมื่อไหร่?

ตอบ : ตั้งแต่เมื่อพระเยซูตรัส

>>> พระเยซูตรัสเมื่อไหร่ ว่าจะช่วยเรา?

>>> พระองค์ตรัสไว้นานนับพันปีแล้ว

“…เราจะให้ท่านหายเหนื่อยเป็นสุข” มธ.11:28<