แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:1 ) { ยังไม่ถึงเวลา }

แนวคิด :

– หลังจากพระเยซูทำการอัศจรรย์เลี้ยงฝูงชนด้วยขนมปัง 5 ก้อน กับ ปลา 2 ตัว ให้เบธไซดา และ อธิบายเรื่องอาหารแห่งชีวิตกับพวกยิวในคาเปอรนาอูมแล้ว

– พระเยซูก็เสด็จไปยังที่ต่างๆในแคว้นกาลิลี(ตอนเหนือของอิสราเอล) เพื่อประกาศ เทศนา สั่งสอน

– แต่พระองค์ไม่ไปที่แคว้นยูเดีย(ตอนใต้ของอิสราเอล) เพราะพระองค์ทรงทราบว่าพวกยิวที่ยูเดีย  กำลังหาโอกาสฆ่าพระองค์

– เหตุที่พระเยซูไม่ไป ไม่ใช่เพราะกลัวตาย เนื่องจากพระเยซูเสด็จมาบังเกิดในโลกนี้ ก็เพื่อ เต็มใจตายเพื่อมนุษย์ทั้งปวง อยู่แล้ว

– เหตุที่ไม่ไป เพราะ พระบิดามีเวลาของพระองค์ และขณะนั้นยังไม่ถึงเวลาของพระบิดาที่กำหนดไว้ ที่จะให้พระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งปวง

การประยุกต์ใช้ :

– พระเจ้ามีเวลาของพระองค์ เป็นเวลาที่ดีที่สุด เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด

– บ่อยครั้ง เวลาของพระเจ้า มักไม่ตรงกับ เวลาแห่งใจปรารถนาของเรา

– แม้เราจะทำสิ่งที่ใช่ แต่ในเวลาที่ไม่ใช่ ก็จะไม่สามารถเกิดผลอย่างดีเลิศ อย่างที่ควรจะเป็น

– พระเยซูวางแบบอย่างไว้ในเรื่องนี้อย่างชัดเจน พระองค์รอคอยเวลาของพระเจ้า เพื่อจะกระทำตามน้ำพระทัยของพระองค์

– ผู้ที่ปรารถนาจะกระทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสังเกตและรับรู้สัญญาณและกระทำตามจังหวะ แห่งเวลาของพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:2 ) { ใกล้เวลาต้องตัดสินใจ }

แนวคิด :

– ​เทศกาล​อยู่​เพิง​เป็นเทศกาลระลึก​ถึง​เวลา​ที่​ชน​ชาติ​อิสราเอล​เดินทาง​วนเวียน​อยู่​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร

– เทศกาลนี้อยู่ห่างจากเทศกาลปัสกา ใน 6:4 อยู่ประมาณ 6 เดือน หมายความว่า จากข้อ 6:4 ถึงข้อนี้ กินเวลาประมาณ 6 เดือน

– ​เทศกาล​ที่​พวก​ยิวจะ​ใช้​กิ่ง​ไม้​และ​ใบไม้​มา​ทำ​เป็น​เพิง​ที่​พัก ​และจะพัก​อาศัย​อยู่​ใน​นั้น ​7 ​วัน แล้วใน​วันที่ ​8 ​จะ​มี​การ​ฉลอง​ใหญ่ (ลนต. ​23:36​)

– ตามบัญญัติของโมเสส ชายชาวยิวต้องมาเฝ้าพระเจ้าใน 3 เทศกาลใหญ่ ซึ่งเทศกาลนี้เป็นหนึ่งในเทศกาลเหล่านั้น

– ​(ฉธบ. 16:16) “ผู้​ชาย​ของ​ท่าน​ทุก​คน​จะ​ต้อง​เข้า​มา​เฝ้า​พระ​ยาห์​เวห์​พระ​เจ้า​ของ​ท่าน​ปี​ละ​สาม​ครั้ง ณ สถาน​ที่​ซึ่ง​พระ​องค์​จะ​ทรง​เลือก​ไว้​ใน​เทศ​กาล​กิน​ขนม​ปัง​ไร้​เชื้อ เทศ​กาล​สัปดาห์ และ​เทศ​กาล​อยู่​เพิง อย่า​ให้​เขา​ไป​เข้า​เฝ้า​พระ​ยาห์​เวห์​มือ​เปล่า”

– พระเยซูยังไม่อยากไปกรุงเยรูซาเล็ม แต่ ธรรมบัญญัติบอกว่าต้องไป วันที่ต้องตัดสินใจใกล้เข้ามาแล้ว

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อเราทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น หรือ ทุกอย่างจะราบรื่นเป็นไปตามที่เราตั้งใจเสมอไป

– ดังนั้นอุปสรรค ความขัดแย้ง การไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่า วันนี้เรากำลังทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าอยู่หรือไม่

– อย่าใช้อุปสรรค เป็นตัวตัดสินใจ เมื่อใกล้เวลาที่ต้องตัดสินใจ

– พระวิญญาณบริสุทธิ์ และ พระคำของพระเจ้า ต่างหากที่จะเป็นตัวชี้วัดว่า วันนี้เรากำลังอยู่ในหนทางแห่งน้ำพระทัยของพระเจ้าในชีวิตของเราหรือไม่

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:3 ) { การยอมรับจากมนุษย์ }

แนวคิด :

– ขณะที่พระเยซูอยู่ในแคว้นกาลิลี เมื่อใกล้เทศกาลอยู่เพิง พวกน้องๆก็มาพูดกับพระองค์

– พวกน้องๆของพระเยซู น่าจะหมายถึง ยากอบ โยเซฟ ซีโมน และยูดาส (ใน มธ. 13:55) อาจรวมถึงน้องสาวบางคนด้วย(มธ. 13:56)

– พวกเขาพูดด้วยท่าทีเคลือบแคลง(ยน. 7:5)  แกมไม่พอใจพระเยซู ก่อนหน้านี้ ก่อนที่พระเยซูจะประกาศตัวว่าเป็นพระมาซีฮา ดูเหมือนว่าพระองค์กับน้องๆมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน (ยน. 2:12)

– บัดนี้ความสัมพันธ์ดูห่างเหิน เย็นชา และเต็มด้วยการตำหนิ เสียดสี

– ดังคำพยากรณ์ใน สดด. 69:8 “ข้า​พระ​องค์​กลาย​เป็น​แขก​แปลก​หน้า​สำ​หรับ​พี่​น้อง และ​เป็น​คน​ต่าง​ด้าว​สำ​หรับ​บุตร​ทั้ง​หลาย​ของ​มาร​ดา”

– พวกน้องๆ บอกกับพระเยซูว่า “จงออกจากที่นี่…” ตามไวยากรณ์ภาษากรีก เป็นสำนวนที่ไม่สุภาพที่จะพูดกับพี่ชายเช่นนั้น

[แถม สำหรับนักศึกษาพระคัมภีร์ วลีนี้เป็น Second aorist active imperative]

– พวกน้องๆบอกให้พระเยซูไปแคว้นยูเดีย ที่ที่คนกำลังหาทางฆ่าพระเยซู ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกสาวกของพระองค์ที่นั่นซึ่งมีมาก(ยน. 2:23, ยน. 4:1) จะได้เห็นการอัศจรรย์ของพระองค์ พระองค์อยากดังนักจะได้ดังสมใจ(ดูข้อ 4)

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อพระเยซูทำตามพระประสงค์ของพระบิดา สิ่งที่พระองค์ได้รับคือ การเข้าใจผิด การดูถูกดูแคลน ทั้งจากพวกยิว และจากคนที่พระองค์ทรงรักมาก(น้องๆ)

– ดังนั้นการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า เราไม่อาจคาดหวังการยอมรับหรือเสียงตบมือจากมนุษย์ได้

– ก่อนหน้านี้น้องๆยังสัมพันธ์ดีกับพระเยซู แต่ไม่กี่เดือนต่อมาก็ ดูถูก ตำหนิ เสียดสีพระเยซู

– หากเราให้ การยอมรับ การชมเชย การตำหนิ การปฏิเสธ ของคนรอบข้าง มีผลต่อชีวิตของเรา ชีวิตเราจะไม่มีทางมีความสุขที่ยั่งยืนได้เลย เพราะว่าคนรอบข้างของเราเปลี่ยนไปทุกวัน

– จงให้ความสุขของเรา ตั้งอยู่บนการที่พระเจ้าทรงพอพระทัยในชีวิตของเรา เพราะนั่นจะเป็นฐานที่มั่นคงแข็งแรงที่สุดในชีวิตของเรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:4 ) { ถูกเข้าใจผิด }

แนวคิด :

– พวกน้องๆ ไม่เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮา อย่างที่พระเยซูบอก เขาคิดว่าที่พระเยซูพูดและทำสิ่งต่างๆนั้น เพราะพระองค์อยากดัง

– พวกเขาจึงพูดกับพระเยซูว่า ถ้าอยากดังจริงๆ ก็ให้ไปที่แคว้นยูเดียสิ มีคนนิยมชอบพระองค์เยอะนี่นาที่นั่น จะได้ดังสมใจ

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อเรารับใช้พระเจ้า อาจมีคนเข้าใจผิด อาจมีคนมองเราผิดไป แต่นั่นก็ไม่ใช่สาระสำคัญ

– มนุษย์มองเราอย่างไรไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่พระเจ้าทรงมองเราอย่างไร นั่นต่างหากที่สำคัญ

– อย่ายอมให้ การถูกเข้าใจผิดเรา มายับยั้งเรา ในการกระทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:5 ) { แม้แต่คนใกล้ชิดที่สุด }

แนวคิด :

– ณ วันนั้น เหตุเพราะพระเยซูกระทำตามใจของพระบิดา คนทั้งหลายจึงเกลียดชัง ดูถูก ดูหมิ่นพระเยซู รวมทั้งคนที่ใกล้กับพระเยซูมากที่สุด อย่างพวกน้องๆก็ยังพูดไม่ดีกับพระเยซู และไม่วางใจในพระเยซู

– ผู้คนรอบข้างคงพูดถึงพระเยซูว่า “ดูสิขนาดน้องๆของเขายังไม่เชื่อเขา ยังไม่วางใจในเขาเลย เขามีหน้ามีเรียกให้คนอื่นวางใจเขาอีกหรือเนี่ย”

– แม้ในวันนี้น้องๆจะไม่เชื่อ ไม่วางใจในพระเยซู แต่ต่อมาภายหลังเขาก็หันกลับมายอมรับพระองค์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และดำเนินชีวิตเป็นสาวกของพระองค์ อาจไม่ใช่ทั้งหมดแต่อย่างที่แน่ๆมีอย่างน้อย 1 คน คือ ยากอบ

– (กท. 1:19) แต่​ว่า​ข้าพ​เจ้า​ไม่​ได้​พบ​อัคร​ทูต​คน​อื่น​เลย นอก​จาก​ยา​กอบ น้อง​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ในการทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า อาจจะมีคนมากมายไม่เห็นด้วย หลายคนอาจต่อต้าน ขัดขวาง หรือแม้แต่คนที่ใกล้ชิดที่สุดของเรา ก็อาจไม่เข้าใจเรา

– ถ้าเราอยู่ในสภาวะเช่นนั้น จงรีบมาทูลต่อพระเยซู พระองค์ทรงเข้าใจเราอย่างดีที่สุด เพราะพระองค์เองก็เคยเผชิญสถานการณ์เช่นนั้นเหมือนกัน

– แม้คนไม่เข้าใจ คนต่อต้าน ขัดขวาง แต่พระเยซูยังคงทำตามน้ำพระทัยของพระบิดาต่อไป และในท้ายที่สุดคนเหล่านั้นก็เข้าใจความจริง และหันมาติดตามพระเยซู

– ในทำนองเดียวกัน หากเรายังคงสัตย์ซื่อทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าต่อไป สักวันหนึ่ง อีกไม่นานเกินไปนัก คนเหล่านั้นจะเข้าใจความจริงอย่างแน่นอน

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:6 ) { ยังไม่ถึงเวลา }

แนวคิด :

– เมื่อพวกน้องๆบอกให้พระเยซูไปยังแคว้นยูเดีย พระเยซูตอบพวกเขาว่า เวลาที่พระองค์จะสำแดงตัวยังมาไม่ถึง จึงยังไม่ใช่เวลาที่จะยังยูเดียในตอนนี้

– เพราะพระเยซูกำลังทำตามน้ำพระทัยของพระบิดา สิ่งที่พระเยซูทรงทำจึงเป็นที่เกลียดชังต่อคนที่อยู่ฝ่ายโลก(ข้อ7) คนเหล่านั้นจึงหาโอกาสจะฆ่าพระองค์ ดังนั้นการเปิดเผยตัวเองของพระองค์จึงอ่อนไหวต่อสถานการณ์มาก พระองค์ต้องรอกระทำตามเวลาของพระบิดาเท่านั้น ไม่ใช่ตามใจปรารถนาของตนเอง

– แต่สำหรับพวกเขา โลกไม่ได้เกลียดชังพวกเขา ดังนั้นเวลาที่เขาจะไปยูเดีย จะไปเมื่อใดก็ได้

การประยุกต์ใช้ :

– การทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า มีความยากและอันตรายอยู่รอบข้าง จากศัตรูของคริสเตียน ที่จะขัดขวางเรา ไม่ให้เราสามารถทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าได้

– ศัตรูเหล่านั้น ได้แก่ มารซาตาน , เนื้อหนังของเรา และโลกนี้

– ทางเดียวที่เราจะสามารถทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ คือ ทำตามอย่างพระเยซู ด้วยการ ทำทุกอย่างตามจังหวะเวลาของพระเจ้า

– ด้วยการ ทูลถามพระเจ้าเสมอ ทูลขอการทรงนำเสมอในทุกๆการตัดสินใจ เพื่อเราจะอยู่ตรงจุดศูนย์กลางแห่งน้ำพระทัยของพระเจ้าเสมอ ในทุกการกระทำของเรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:7 ) { ถูกโลกเกลียด }

แนวคิด :

– พระเยซูตรัสกับพวกน้องๆของพระองค์ว่า ระบบของโลกนี้ไม่มีสาเหตุที่จะต้องเกลียดพวกเขา เพราะพวกเขามีความคิดและหลักการเดียวกันกับวิธีแห่งโลกนี้

– แต่โลกเกลียดชังพระเยซู เพราะว่า มีความคิดและหลักการที่ขัดแย้งกับระบบของโลก และชีวิตของพระเยซูยิ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบของโลกนั้นชั่วร้าย

การประยุกต์ใช้ :

– ถ้าเราทำตามวิถีแห่งโลกนี้ คนในโลกนี้ก็จะชมเรา ยกย่องเรา เช่น “โอ้ว!!!นายนี่โกหกได้แนบเนียนจริงๆ นับถือๆ”

– แต่ถ้าเราทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า เราสามารถคาดหวังได้เลยว่า ในไม่ช้า เราจะถูกตำหนิ และถูกเกลียดชัง “ทำไมแกมันโง่ขนาดนี้วะ ทำแบบนี้เมื่อไหร่จะรวยวะ”

– วันนี้ ถ้าเราตามน้ำพระทัยของพระเจ้า แล้วถูกเกลียดหรือถูกตำหนิ จงภูมิใจเพราะเราได้มีโอกาสแบกกางเขนแบบเดียวกันกับพระเยซูแล้ว

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:8 ) { ทำตามกำหนดเวลา }

แนวคิด :

– พวกน้องๆบอกให้พระเยซูขึ้นยังเยรูซาเล็ม เพื่อร่วมเทศกาลอยู่เพิง เพราะตามความคิดของพวกเขา ถ้าพระเยซูอยากดัง นี่เป็นโอกาสทองที่จะดังสมใจ

– พระเยซูตอบพวกเขาว่า นั่นยังไม่ถึงเวลาของพระองค์ ที่จะขึ้นไปในขณะนั้น

– ในสายตาของมนุษย์ นั่นน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะขึ้นไปร่วมงานเทศกาล แต่ในสายพระเนตรของพระเจ้า พระองค์มีเวลาที่เหมาะสมกว่านั้น

การประยุกต์ใช้ :

– “เพราะ​ฟ้า​สวรรค์​สูง​กว่า​แผ่น​ดิน​โลก​อย่างไร ทาง​ของ​เรา​ก็​สูง​กว่า​ทาง​ของ​พวกเจ้า และ​ความ​คิด​ของ​เรา​ก็​สูง​กว่า​ความ​คิด​ของ​เจ้า​อย่าง​นั้น” (อสย. 55:9)

– บ่อยครั้งที่เราคิดว่า นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว ควรต้องเกิดขึ้นเวลานี้ ถ้าเกิดช้ากว่านี้จะไม่ทันการณ์แล้วนะ

– แต่พระเจ้ามีแผนการที่ลึกซึ้งเกินกว่าที่เราจะคิดได้ จงวางใจในพระองค์

– พระเยซูทรงทำทุกสิ่ง รวมถึงการไปหรือไม่ไปที่ใดๆ โดยการทรงนำของพระวิญญาณสุทธิ์ เพื่อจะทำตามพระทัยของพระบิดา

– เราทั้งหลายมีพระวิญญาณบริสุทธิ์ สถิตอยู่ภายในเรา พระองค์ประสงค์ที่จะสอน นำทาง นำพา ชีวิตของเราไปตามทางแห่งน้ำพระทัยของพระเจ้าเช่นกัน

– ไม่ว่าจะคิด หรือ จะทำสิ่งใด จงปรึกษาพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:9 ) { ยังอยู่ต่อไป }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูบอกให้พวกน้องๆขึ้นไปงานเทศกาลแต่พระองค์ยังไม่ไป เพราะเหตุผลบางอย่างแล้ว หลังจากนั้นพระเยซูก็อยู่ที่แคว้นกาลิลีต่อไปอีกระยะหนึ่ง

– พระองค์อยู่ต่อที่แคว้นกาลิลี ทั้งที่คนจำนวนมากกำลังไปที่แคว้นยูเดีย ซึ่งมองตามหลักการและเหตุผลของมนุษย์แล้ว พระองค์เหมาะมากที่จะไปประกาศเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าที่นั่น เพราะจะมีคนได้ยินมากมายเลยทีเดียว และงานเทศกาลก็มีแค่เพียงไม่กี่วัน สมควรรีบขึ้นไปโดยเร็ว จะได้มีเวลาประกาศได้หลายๆวันอย่างเต็มที่

– แต่พระเยซู อยู่ต่อไป ไม่ไปที่นั่น จนกว่าพระบิดาจะบอกให้ไป

การประยุกต์ใช้ :

– บ่อยครั้งที่เราคิดไปเองว่า ต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง ไม่อาจอยู่ที่เดิมนี้ ตำแหน่งเดิมนี้ บทบาทเดิมนี้ ต่อไปอีกได้แล้ว

– เราคิดไปว่า หากเราก้าวออกไปทำอะไรบางอย่าง มันต้องดีกว่านี้แน่ๆ

– แต่ส่วนใหญ่ วิธีคิดของพระเจ้าไม่เหมือนวิธีคิดของมนุษย์

– “เพราะ​ความ​คิด​ของ​เรา​ไม่​ใช่​ความ​คิด​ของ​เจ้า และ​ทาง​ของ​พวกเจ้า​ก็ไม่​ใช่​ทาง​ของ​เรา” พระ​ยาห์​เวห์​ตรัส​ดัง​นี้​แหละ(อสย. 55:8)

– จงรอคอยพระเจ้า จงถามพระเจ้า แล้ว รอคอยสัญญาณจากพระองค์

– “แต่​ส่วนเจ้า จง​กลับ​มา​หา​พระ​เจ้า​ของ​เจ้า จง​รัก​ษา​ความ​เมต​ตา​และ​ความ​ยุติ​ธรรม และ​จง​รอ​คอย​พระ​เจ้า​ของ​เจ้า​อยู่​เสมอ” (ฮชย. 12:6)

– “…​คน​ที่​เร่ง​เท้า​ก็​มัก​ผิด​พลาด” (สภษ. 19:2)

– จงเรียนรู้ที่จะ ถาม สังเกต รับรู้สัญญาณจากพระเจ้า รอคอยพระองค์ แล้วพระองค์จะทรงนำเราไปในวิถีราบรื่น เกิดผล และเป็นพร ในเวลาของพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:10 ) { จงสงบ ในเวลาที่ควรสงบ }

แนวคิด :

– พระเยซูบอกพวกน้องๆว่ายังไม่ขึ้นไปในงานเทศกาล แต่หลังจากพวกน้องๆไปแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปด้วย

– พระเยซูจงใจเสด็จไปอย่างเงียบๆ ไม่เอิกเกริก ไม่ใช่เพราะพระองค์กลัวพวกยิว  อีกไม่กี่เดือนหลังจากนี้ช่วงเทศกาลปัสกาพระองค์ก็จะเสด็จเข้าเยรูซาเล็มอย่างเปิดเผย

– แต่เพราะว่าพระองค์ตามวาระ ตามจังหวะ ที่พระบิดาทรงกำหนดไว้

– ไม่ใช่กลัวตาย แต่เพราะว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะตาย

– การไปครั้งนี้พระองค์ไม่เปิดเผยพระองค์เอง จนกระทั่งถึงกลางเทศกาล(ข้อ14)

การประยุกต์ใช้ :

– การรับใช้พระเจ้าไม่ใช่การทำอะไรเยอะๆ ไม่ใช่การทำอย่างไรให้มีคนรับรู้หรือได้ยินหรือรับรู้สิ่งที่เราทำ เราสอน หรือ เราเทศนา ให้มากที่สุด

– แต่เป็นการทำตามจังหวะเวลาของพระเจ้า

– บางครั้งพระเจ้าให้เงียบ ให้สงบ ให้นิ่ง เราก็ไม่ควรวิ่ง ไม่ควรพยายามทำโน่นทำนี่ ควรคอยสังเกต คอยฟังสัญญาณและการทรงนำจากพระเจ้าว่า เวลานี้พระองค์ประสงค์ให้เราทำอย่างไร

– มีเวลาที่สมควรทำอย่างเปิดเผย แต่การเปิดเผยในช่วงที่ยังไม่ถีงเวลา มักจะสร้างปัญหามากกว่าเป็นประโยชน์

– จงทำตามจังหวะของพระเจ้า

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:11 ) { มองหาพระเยซู }

แนวคิด :

– พวกยิวในข้อนี้ ไม่ได้หมายถึง ฝูงชน(ข้อ12) หรือ ชาวกรุงเยรูซาเล็ม(ข้อ25) แต่หมายถึง ผู้นำยิวในเยรูซาเล็ม

– พวกเขามองหาพระเยซู เพราะคาดหวังว่าพระเยซูต้องมาในงานเทศกาลสำคัญนี้แน่ เพราะเป็นธรรมบัญญัติสั่งว่าให้ผู้ชายทุกคนมาร่วมงานเทศกาล

– พวกเราไม่ได้ถามว่า “เยซูชาวนาซาเร็ธ อยู่ที่ไหน?” แต่ ถามว่า “คน​นั้น​อยู่​ที่​ไหน?” ในพระคัมภีร์หลายครั้ง พบสำนวนแบบนี้เมื่อกล่าวถึงบางคนที่คนพูดกำลังมุ่งร้ายคนนั้น เช่น

> พี่ๆของโยเซฟไม่ได้เรียกเขาว่า โยเซฟ แต่เรียกว่า “เจ้าช่างฝัน”

>> (ปฐก. 37:19) พวก​เขา​พูด​กัน​ว่า “ดูนี่ เจ้า​ช่าง​ฝัน​กำลัง​มา​แล้ว

> ซาอูลไม่ได้เรียกชื่อดาวิด แต่เรียกว่า บุตรของเจสซี

>> (1ซมอ. 20:27) …​ซาอูล​ก็​ตรัส​กับ​โย​นา​ธาน​ราช​บุตร​ของ​พระ​องค์​ว่า “ทำไม​บุตร​เจสซี​ไม่​ได้​มา​รับ​ประ​ทาน​อาหาร ทั้ง​วาน​นี้​และ​วัน​นี้”

– ท่าทีของพวกยิวกำลังมองหาพระเยซูด้วยมุ่งร้ายต่อพระเยซู

การประยุกต์ใช้ :

– บางคนมาหาพระเยซู เพราะอยากรู้จักพระองค์ อยากให้พระองค์ช่วย ปรารถนาให้พระเยซูเป็นเจ้านายและผู้ช่วยในชีวิตของเขา คนเหล่านั้นจะไม่ผิดหวังเลย

“…​ผู้​ที่มา​หา​เรา เรา​ก็​จะ​ไม่​ทิ้ง​เขา​เลย​” (ยน. 6:37)

– แต่บางคนมาหาพระเยซู ด้วยแรงจูงใจที่ไม่ถูกต้อง เช่น เพื่อจับผิด , เพื่อหาประโยชน์ในธุรกิจการค้าของเขา , เพื่อหาแฟน , เพื่อใช้พระเยซูเป็นเครื่องมือทำให้แผนการของเขาสำเร็จ คนเหล่านั้นแม้เขาจะได้พบกับพระเยซู แต่พวกเขาก็ยังจะไม่ได้รับพระพรจากการพบพระเยซูอยู่ดี

– วันนี้อะไรเป็นแรงจูงใจของเรา ในการแสวงหาพระเยซู?

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:12 ) { พระเยซูคือใคร? }

แนวคิด :

– ขณะที่พวกยิวกำลังมองหาพระเยซู ฝูงชนก็พุดคุยเรื่องของพระเยซูกันอย่างมากมาย

– แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ

>> กลุ่มหนึ่งคิดว่าพระองค์ดี อย่างน้อยก็เป็นคนดี

>> อีกกลุ่มคิดว่าพระองค์ชั่ว หรือพยายามบอกคนอื่นว่าพระองค์ชั่ว

– แต่ทั้งสองกลุ่ม ไม่ถูกทั้งคู่ เพราะพวกเขาพยายามคิดว่าพระเยซูเป็นใคร โดยไม่มีประสบการณ์เป็นส่วนตัวกับพระเยซู

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ พระเยซูคือใครสำหรับชีวิตของเรา?

– เราไม่มีทางตอบคำถามได้ถูกต้องอย่างจริงใจได้ จนกว่าเราจะมีประสบการณ์กับพระเยซู ในฐานะนั้นๆในชีวิตของเรา

– พระเยซูทรงเป็นแพทย์ผู้ประเสริฐ ผู้ทรงเยียวยารักษา ร่างกาย จิตใจ และวิญญาณของเรา
– พระเยซูทรงเป็นความสว่าง ผู้นำเราออกจากความมืดมิด และมืดมนของชีวิต

– พระเยซูทรงเป็นสหายเลิศ ผู้อยู่เคียงข้างและไม่เคอทอดทิ้งเราเลย ไม่ว่าเราจะไม่เอาไหนสักเพียงใด

– พระเยซูทรงเป็น………………………………… (ช่องว่างนี้สำหรับคุณ)

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:13 ) { ไม่กล้าพูดอย่างเปิดเผย }

แนวคิด :

– คนเหล่านั้นในเยรูซาเล็มไม่กล้าพูดถึงเรื่องของพระเยซู อย่างเปิดเผยเพราะกลัวพวกยิว เนื่องจากคนเหล่านั้นไม่อยากให้พวกยิวคิดว่าพวกเขาเกี่ยวข้องใดๆกับพระเยซู

– พวกเขารู้ว่าผู้นำศาสนาของยิวเกลียดชังพระเยซู พวกเขาจึงไม่อยากเกี่ยวข้องกลัวว่าอาจโดนพาดพิง โดนลูกหลงได้

การประยุกต์ใช้ :

– พวกคนเหล่านั้นไม่กล้าพูดเรื่องของพระเยซูอย่างเปิดเผย เพราะพวกเขาไม่ได้มีประสบการณ์กับพระเยซูจริงๆ

– มีคนกลุ่มหนึ่งที่กล้า พูดเรื่องพระเยซู อย่างเปิดเผย

>> คงไม่ใช่เหล่าสาวกช่วงก่อนพระเยซูถูกตรึง เพราะตอนพระเยซูถูกจับพวกเขาหนีกันไปหมด แม้เปโตรจะตามไปดู ในที่สุดก็ปฏิเสธ ไม่ยอมรับว่ารู้จักพระเยซูถึง 3 ครั้ง ดังนั้นการรู้จัก รู้เรื่องราว ได้ฟังคำสอน เห็นการอัศจรรย์ ก็ไม่ได้ทำให้ใครสักคนกล้าพูดเรื่องพระเยซูอย่างเปิดเผย

>> ไม่น่าจะใช่เหล่าสาวกช่วงหลังจากที่พระเยซูเป็นขึ้นมาจากความตาย เพราะหลังจากนั้น พวกเขายังหลบๆแอบอธิษฐานกันในห้องชั้นบนอย่างลับๆ ดัง

นั้น การรู้ว่าพระเยซูเป็นขึ้นมาจากความตายแล้วก็ดูเหมือนยังไม่พอให้คนเหล่านั้นกล้าพูดเรื่องพระเยซูอย่างเปิดเผย

>>>> แต่เป็นบรรดาสาวกผู้เชื่อวางใจในพระเยซู หลังจากที่พระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จลงมาในกิจการ บทที่2 เพราะตั้งแต่นั้นมาสาวกทั้งกล้าพูดถึงเรื่องพระเยซูอย่างเปิดเผยไม่กลัวแม้กระทั่งความตาย ดังนั้นผู้เดียวที่จะทรงช่วยเราทั้งหลายให้กล้าพูดเรื่องของพระเยซูอย่างกล้าหาญ อย่างเปิดเผย อย่างไม่กลัวเกรงใคร ก็คือพระวิญญาณบริสุทธิ์

– วันนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์เติมเต็มในชีวิตของคุณแล้วหรือยัง? หรือก็คือ วันนี้ ในชีวิตของเรายอมจำนนต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จริงๆแล้วหรือยัง?

– เราสามารถสังเกตตัวเอง ในเรื่องนี้ได้จาก ความกล้าพูดเรื่องของพระเยซูอย่างเปิดเผย

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:14 ) { ทำเมื่อถึงเวลา }

แนวคิด :

– ก่อนหน้านี้พระเยซูบอกกับพวกน้องๆว่ายังไม่ขึ้นมาในงานเทศกาล เพราะยังไม่ถึงเวลาของพระองค์

– พอถึงกลางเทศกาล(ซึ่งน่าจะเป็นวันที่4 ของ 8 วันเทศกาลอยู่เพิง) พระเยซูก็เริ่มเปิดเผยพระองค์เอง และเริ่มสั่งสอนในพระวิหารที่เยรูซาเล็ม

– พระองค์มีเหตุผลของพระองค์ จึงรอจนถึงวันนี้ แล้วค่อยเปิดเผยพระองค์ในงานเทศกาล เราไม่อาจเข้าใจได้ แต่เรารู้ได้ว่า พระเยซูทำตามจังหวะเวลาของพระบิดา

– พระเยซูสั่งสอนอย่างเปิดเผยในพระวิหาร ทั้งๆที่ทรงรู้พวกยิวคอยหาโอกาสที่จะฆ่าพระองค์ แต่นั่นก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้พระองค์งดสั่งสอนในพระวิหาร

– เหตุผลเดียวที่พระเยซูไม่ปรากฏตัวก่อนหน้านี้คือ ยังไม่ถึงเวลาที่พระบิดากำหนดไว้

การประยุกต์ใช้ :

– แบบอย่างของการรับใช้ของพระเยซู คือ การชอบหรือไม่ชอบ การสนับสนุนหรือการต่อต้าน ของมนุษย์ ไม่มีผลต่อพระองค์ในการตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไร

– พระองค์ทำสิ่งเดียว คือ ทำตามน้ำพระทัยของพระบิดา

– วันนี้ เราสามารถทำตามพระทัยพระบิดาได้ โดยการอ่านพระคำอย่างถ่อมใจ แล้วยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสำแดงพระทัยของพระบิดาให้แก่เรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:15 ) { สิ่งบดบังพระคำ }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูทรงสอน พวกยิวประหลาดใจกันใหญ่ ไม่ใช่เพราะตื่นเต้นดีใจ ได้ยินคำสอนพระธรรมที่แสนวิเศษ แต่เพราะไม่รู้ว่าพระเยซูไปเรียนจากที่ไหนมา ทำไมถึงสอนเก่ง สอนดีกว่าพวกเขาได้

– เพราะความเย่อหยิ่งของพวกเขา ปิดบังตาใจของเขา ทำให้ไม่ได้รับพระพรจากพระคำของพระเจ้าที่ได้ยิน พวกเขาสนใจ ชื่อเสียงและการยอมรับ มากกว่า ความเข้าใจในพระคำของพระเจ้า

– เขามัวแต่สนใจว่า แย่แล้ว!!! มีคนเก่งกว่าฉันแล้ว เขาไปเรียนมาจากไหน

– โดยปกติ ก่อนที่​คนยิว​ จะ​เป็น​อาจารย์ ​จะต้อง​เรียน​จาก​อาจารย์​ท่าน​อื่นมา​ก่อน ​เช่น ​อ.เปาโล เรียนจาก กามาลิเอล (กจ. ​22:3​) หรืออาจารย์ที่เก่งมักเรียนจากโรงเรียนศาสนศาสตร์ของรับบี ในกรุงเยรูซาเล็ม แต่พระเยซูไม่ได้เรียนจากอาจารย์เหล่านั้นเลย

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้เมื่อเรารับฟังพระคำของพระเจ้า มีอะไรปิดบังเรา ไม่ให้ได้รับพระพรจากพระคำขอพระเจ้า อยู่บ้าง? จงเอามันออกไปเสีย

> อาจจะเป็น ความคิดว่า “จะเอาไปสอนต่อใครดี จะสอนต่ออย่างไรดี จะเอาไปแชร์ที่ไหนดี”

> อาจจะเป็น ความคิดว่า “โอ้ว!!! พวกนี้เรารู้แล้ว เคยได้ยินแล้ว เคยอ่านมาแล้ว”

> อาจจะเป็น ความคิดว่า “ไอ้คนที่พูดเป็นใครกัน? เราเก่ง ฉลาด และเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณมากกว่าเขาตั้งเยอะ”

> อาจจะเป็น ความคิดว่า “เรื่องนี้ก็ดีนะ แต่มันไม่เกี่ยวกับฉันหรอก”

> อาจจะเป็น ความคิดว่า “มันยากเกินไป ฉันคงทำไม่ได้หรอก พระคำตอนนี้”

เป็นต้น

– สิ่งที่บดบังพระคำของพระเจ้า ไม่ว่ามันเป็นอะไร โยนมันทิ้งไป แล้วถ่อมใจลง เปิดใจต่อพระคำของพระเจ้า นำมาใช้ในชีวิต แล้วประตูพระพรแห่งการทำตามพระคำของพระเจ้า จะเปิดอ้าออกสำหรับเรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:16 ) { มาจากพระบิดา }

แนวคิด :

– พระเยซูตอบข้อสงสัยของข้อ 15 ว่า คำสอนของพระองค์ที่พวกเขาได้ยินนั้น ไม่ได้เริ่มต้นมาจากพระองค์เอง แต่เริ่มมาจากพระบิดา ทรงมอบมาให้พระองค์กล่าว

– ไม่จำเป็นต้องมีครูที่เป็นมนุษย์สอนพระองค์ แต่พระบิดาทรงมอบคำสอนนี้แด่พระองค์ พระองค์มาเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระบิดาเท่านั้น รวมทั้งสอนเฉพาะสิ่งที่พระบิดาให้สอนเท่านั้น

– เคล็ดลับสำคัญ(ซึ่งจะกล่าวในข้อต่อมา) คือ เพราะพระเยซูมาเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระบิดา พระเยซูจึงรับรู้ว่าพระบิดาต้องการสิ่งใด

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ คำสอนของเรา มาจากไหน? ริเริ่ม มาจากความคิดของเราเอง หรือมาจากพระบิดา

– พระเยซูวางแบบอย่างให้แก่เรา คือ พระองค์สอน เฉพาะสิ่งที่พระบิดาให้สอน

– เราก็ควรทำเช่นนั้นเหมือนกัน (จะทำอย่างไร เฉลยอยู่ในข้อถัดไป)

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:17 ) { เคล็ดลับรู้ใจพระเจ้า }

แนวคิด :

– พระเยซูให้เคล็ดลับสำคัญ ที่จะสามารถแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นมาจากพระเจ้า หรือ มนุษย์คิดเอง หรือ ตัวเองคิดไปเอง คือ…

– ถ้าใครตั้งใจที่จะทำตามความตั้งใจของพระเจ้า จะรู้ใจพระเจ้าได้

– “ตั้งใจ” ในข้อนี้ในภาษาเดิมเป็นปัจจุบันกาล แปลว่า ตั้งใจวันนี้เลย

– “จะรู้” ในข้อนี้ในภาษาเดิมเป็นอนาคตกาล แปลว่า อาจจะยังไม่รู้ ณ ตอนนี้แต่ต่อไปจะรู้อย่างแน่นอน

การประยุกต์ใช้ :

– หากเราตั้งใจอย่างจริงใจ ที่จะไม่ทำตามใจของตนเอง แต่จะทำตามใจของพระเจ้า พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงเปิดเผยให้เรารู้อย่างแน่นอนว่า อะไรคือความตั้งใจของพระเจ้าที่อยากให้เราทำ

– ตั้งใจอย่างจริงใจ จะรู้น้ำพระทัย

– “ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์ตั้งใจ จะทำตามใจพระองค์ ไม่ตามใจของตนเอง ขอทรงสอนข้าพระองค์ด้วยเถิด ว่า ครั้งนี้ข้าพระองค์ควรทำเช่นใด”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:18 ) { ถวายเกียรติแด่พระเจ้า }

แนวคิด :

– พระเยซูกล่าวถึง วิธีง่ายๆที่จะแยกแยะ คน 2 ประเภท

1. คนที่พูดตามใจของตนเอง ซึ่งเป็นคนหลอกลวง เป็นผู้สอนที่เต็มไปด้วยการอธรรม

2. คนที่พูดตามพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งเป็นคนจริง(สัตย์ซื่อ พูดจริงทำจริง) เป็นผู้สอนที่ปราศจากการอธรรม

– วิธีแยะแยะ คือ เขาแสวงหาเกียรติให้กับตนเอง หรือ แสวงหาที่จะถวายเกียรติแด่พระเจ้า

– พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี สอนธรรมบัญญัติและพิธีกรรมทางศาสนามากมาย เพื่อให้ตนเองได้รับการยกย่อง

– พระเยซูสอนสิ่งที่เป็นพระประสงค์ของพระบิดา ซึ่งจะทำให้พระบิดาได้รับพระเกียรติ (ในบทนี้ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าพระเยซูทรงสอนอะไร แค่บอกว่า เมื่อสอนแล้ว พวกยิวพากันประหลาดใจว่า ทำไมสอนได้ดีขนาดนี้ ในข้อ 15)

การประยุกต์ใช้ :

– ง่ายนิดเดียวที่จะสังเกตได้ว่า วันนี้สิ่งที่เราทำ เราทำตามพระประสงค์ของพระบิดา หรือ เราทำตามใจของตัวเราเอง

– สังเกตได้ด้วยคำถามง่ายๆว่า “การกระทำนี้ใครได้รับเกียรติ?”

– แต่ก่อนที่จะด่วนสรุปว่า เราทำเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า ควรพิจารณาลึกเข้าไปในจิตใจของตนเองก่อนว่า

“เราทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าจริงหรือ?”

– ถ้าสิ่งที่เราทำวันนี้ แทนที่คนจะชม แต่ คนด่า เรายังจะทำต่อไปอีกไหม?

– ถ้าสิ่งที่เราทำวันนี้ แทนที่คนจะตบมือให้ แต่ คนกลับดูถูก เหยีดหยาม เรายังจะทำต่อไปอีกหรือไม่?

– สิ่งที่เราทำวันนี้ ผู้คนที่รับรู้ เขาตบมือให้ใคร? พระเจ้า หรือ ตัวเรา

– “ผู้ที่ทำเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า ผู้นั้นแหละเป็นผู้กระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:19 ) { ภูมิใจแต่ไม่ทำตาม }

แนวคิด :

– พวกยิวภาคภูมิใจว่ามีบัญญัติของโมเสส พวกยิวเห็นพระเยซูรักษาโรคในวันสะบาโต พวกเขาคิดว่าผิดบัญญัติของโมเสส ดังนั้นพวกเขาจึงหาทางที่จะฆ่าพระเยซู(ยน.5:15,18)

– พระเยซูทรงตำหนิพวกเขาว่า เขาภูมิใจที่พวกเขามีบัญญัติของโมเสส แต่ พวกเขากลับไม่ทำตามบัญญัติของโมเสสนั้น (อยพ.20:13 อย่าฆ่าคน) พวกเขาพยายามจะฆ่าพระเยซู เพราะเหตุพระเยซู มีความคิดเรื่องบัญญติของพระเจ้าแตกต่างจากพวกเขา

การประยุกต์ใช้ :

– เป็นการดีที่เราได้อ่านพระคัมภีร์ เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่เรามีพระคำของพระเจ้า

– แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ การกระทำตามพระคำของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของเรา

– วันนี้ เราได้ทำอะไรบ้าง ที่เป็นการประพฤติตามพระคำของพระเจ้าในชีวิต?

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:20 ) { ตอบสนองคำเตือน }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูตำหนิพวกเขาว่า ภูมิใจในบัญญัติโมเสส แต่ไม่ยอมทำตามบัญญัตินั้น แทนที่พวกเขาจำรับฟัง สำนึก สารภาพบาป กลับใจ

-พวกเขากลับตำหนิพระเยซู ว่า เป็นคนมีผีสิง (หรือหมายถึง เป็นคนบ้า คนเสียสติ อย่างใน ยน.10:20)

– เหตุผลที่พวกเขาตำหนิพระเยซู เช่นนั้น เพราะพระเยซูพูดว่า “พวกท่านหาโอกาสฆ่าเราทำไม?” ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่รู้แผนการปองร้ายพระเยซูเนื่องจากเขาเป็นยิวมาจากที่อื่นเช่นจากกาลิลี หรือ อาจจะเป็นเพราะแกล้งไม่รู้เพื่อจะพูดเฉไฉออกไปเนื่องจากในข้อ 13 บอกว่า “​ไม่​มี​ใคร​กล้า​พูด​ถึง​พระ​องค์​อย่าง​เปิด​เผย​เพราะ​กลัว​พวก​ยิว” ดังนั้นพวกเขาน่าจะรู้ จึงกลัวพวกยิว

– อย่างไรก็ตามประเด็นในข้อนี้คือ เมื่อถูกเตือน แทนที่จะกลับใจ กลับไปหาช่องตำหนิคนอื่น เช่นนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อได้รับคำเตือน

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ หากเราได้รับคำเตือนจากพระเจ้า โดยทางหนึ่งทางใด (จากพระคำของพระองค์ จากการฟังคำเทศนา จากพี่น้องคริสเตียน) อย่าให้เราพยายามหาข้อแก้ตัว หรือ โทษนั่นโทษนี่ โทษคนอื่นสารพัด แต่ให้เราถ่อมตัวลง สารภาพต่อพระเจ้า แล้วรับการอภัย ขอกำลังจากพระองค์ที่จะปรับปรุงตัว แล้วเริ่มต้นใหม่

– คำเตือนจะเป็นประโยชน์หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับท่าทีที่เราตอบสนองต่อคำเตือนนั้น

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:21 ) { ไม่รู้จึงเข้าใจผิด }

แนวคิด :

– พระเยซูตอบฝูงชนว่า พระเยซูทำแค่สิ่งเดียว คือรักษาโรคคนป่วยมา 38 ปีที่สระเบธซาธา ในวันสะบาโต(ยน.5:1) เพียงแค่นั้นพวกเขาก็ประหลาดใจกันมากมายว่า “ทำไมชายคนนี้กล้าดียังไง ที่ทำการรักษาโรคในวันสะบาโต?”

– เหตุที่พวกเขาประหลาดใจ เพราะพวกเขาไม่เข้าใจหัวใจของพระเจ้าจริงๆว่าพระองค์ประสงค์อะไร ซึ่งพระเยซูกำลังจะกล่าวอธิบายเรื่องนี้ในข้อต่อๆมา

การประยุกต์ใช้ :

– หากเราไม่เข้าใจ หรือไม่ใส่ใจในพระลักษณะของพระเจ้า เมื่อเราเห็นสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำ แทนที่เราจะยกย่องสรรเสริญพระเจ้า เราอาจจะตอบสนองในทิศทางตรงกันข้ามแทนก็เป็นได้

– เช่น ถ้าเราไม่รู้ว่า พระเจ้ารักเราจริงๆ เมื่อพระองค์อนุญาตให้เราต้องสูญเสียบางอย่างไป หรือเผชิญกับสถานการณ์บางอย่าง เราก็โกรธพระเจ้าว่า “ทำไมให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับเรา” เป็นต้น

– เราสามารถเรียนรู้พระลักษณะของพระเจ้าได้ จากพระคำของพระองค์ เมื่ออ่านพระคำลองค้นดูให้พบสิ ว่า พระเจ้าของเรามีพระลักษณะ มีนิสัย เช่นใด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:22 ) { บางอย่างสำคัญกว่า }

แนวคิด :

– พระเยซูชี้ให้ฝูงชนแห็นว่า พวกเขาไม่เข้าใจความหมายของธรรมบัญญัติจริงๆ

– โมเสสสั่งให้เข้าสุหนัตเด็กชายทุกคนเมื่ออายุได้ 8 วัน “ใน​วัน​ที่​แปด​ให้​ตัด​หนัง​ปลาย​องค​ชาต​ของ​เด็ก​นั้น เพื่อ​เข้า​สุหนัต” (ลนต. 12:3)

– ซึ่งคำสั่งนี้ไม่ใช่ของโมเสส แต่มีมาก่อนโมเสสตั้งแต่สมัยอับราฮัมแล้ว “นี่​เป็น​พันธ​สัญ​ญา​ของ​เรา​ซึ่ง​พวก​เจ้า​จะ​ต้อง​รักษา​ระหว่าง​เรา​กับ​พวก​เจ้า และ​เชื้อ​สาย​ต่อ​มา​ของ​เจ้า คือ​ผู้​ชาย​ทุก​คน​จะ​ต้อง​เข้า​สุหนัต” (ปฐก. 17:10)

– แต่เมื่อทำตามคำสั่งนี้ จะมีเด็กบางคนที่อายุ 8 วัน ในวันสะบาโต แสดงว่า เขาจะเข้าสุหนัตเด็กนั้นในวันสะบาโต

– หมายความว่า มีบางอย่างสำคัญกว่า การถือรักษากฏของวันสะบาโตอย่างเคร่งครัด

– พันธสัญญาของพระเจ้า สำคัญกว่า ธรรมบัญญัติ

การประยุกต์ใช้ :

– มีบางอย่างสำคัญกว่าบางอย่าง

– การถือรักษากฏกติกาแบบไม่ยืดยุ่นให้สอดคล้องกับพระลักษณะของพระเจ้า กฏกติกานั้นจะไร้ชีวิต แล้วแทนที่กติกานั้นจะเป็นพระพร กลับสร้างความหายให้เกิดขึ้นแทน

– เช่น พวกเขาพยายามรักษากฏวันสะบาโต จนไม่พอใจที่พระเยซูสำแดงความรักของพระเจ้า รักษาคนป่วยในวันสะบาโตนั้น

– ในทำนองเดียวกัน การพยายามปฏิบัติตามกฏกติกาของคริสตศาสนาอย่างเคร่งครัด โดยละเลย ไม่ใส่ใจต่อพระลักษณะของพระเจ้า ต่อพระประสงค์ของพระเจ้า อาจทำให้เราสร้างปัญหาแทนที่จะเป็นท่อพระพร

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:23 ) { โกรธเราทำไม? }

แนวคิด :

– พระเยซูอธิบายแก่ฝูงชนว่า พวกเขาเองยังรู้ว่า ในวันสะบาโต สิ่งจำเป็นบางอย่างก็อนุญาตให้ทำได้ พวกเขาเข้าสุหนัตเด็กในวันสะบาโต เพื่อรักษากฏแห่งการเข้าสุหนัตเอาไว้

– แล้วทำไมเขากลับมาโกรธพระเยซู เมื่อพระเยซูรักษาคนในวันสะบาโต เพื่อรักษากฏแห่งความรักและพระเมตตา เอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งในสายพระเนตรของพระเจ้า

– สำหรับพระเจ้าแล้วการสำแดงความรักเมตตา และ การรู้ใจพระเจ้า สำคัญและมีค่า มากยิ่งกว่าพิธีกรรมทั้งหลาย แม้แต่การถวายเครื่องบูชา

– “เพราะ​เรา​ประ​สงค์​ความ​เมต​ตา ไม่​ประ​สงค์​เครื่อง​สัตว​บูชา เรา​ประ​สงค์​ให้​รู้จัก​พระ​เจ้า ยิ่ง​กว่า​ประ​สงค์​เครื่อง​บูชา​เผา​ทั้ง​ตัว” (ฮชย. 6:6)

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ การกระทำใดๆของเรา ที่เราคิดว่า กำลังทำเพื่อพระเจ้า กำลังทำเพื่อรับใช้พระเจ้า การกระทำเหล่านั้นเราทำด้วยความรักและเมตตาต่อผู้อื่นอยู่หรือไม่?

– ระวัง อย่าเป็นเหมือนคนเหล่านั้น ที่สนใจแต่กฏบัญญัติ แต่กลับละเลยกฏที่สำคัญกว่า คือ กฏแห่งความรักและเมตตา

– วันนี้ เราทำอะไรบ้าง ที่สอดคล้องกับ กฏแห่งความรักและเมตตาของพระเจ้า?

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:24 ) { พิจารณาอย่างเป็นธรรม }

แนวคิด :

– พระเยซูบอกกับฝูงชน ให้พวกเขาอย่าเพิ่งเชื่อตามที่ธรรมาจารย์และฟาริสีบอกว่า การรักษาโรคในวันสะบาโตเป็นสิ่งที่ผิด

– แต่ให้พิจารณาตามพระคำของพระเจ้า อย่างใจเป็นธรรม ก็จะเข้าใจความจริง

– เพราะในวันสะบาโต การเข้าสุหนัตเด็กก็ยังสามารถทำได้ ยิ่งกว่านั้นการสำแดงความรักและเมตตาต่อผู้อื่นยิ่งสมควรยิ่งกว่านั้นมากสักเพียงใด

การประยุกต์ใช้ :

– การฟังคำสอน ฟังคำแนะนำ เป็นสิ่งที่ดี แต่ เราไม่ควรเชื่อทั้งหมดในทันที

– เราควรพิจารณาตรวจสอบคำสอนเหล่านั้น ด้วยพระคำของพระเจ้า อย่างใจเป็นกลาง และขอความเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อเราให้เข้าใจเรื่องนั้น แบบตรงกับหัวใจของพระบิดา

– หลักการง่ายๆจากพระคัมภีร์คือ

“อย่า​ดู​หมิ่น​ถ้อย​คำ​ของ​ผู้​เผย​พระ​วจนะ จง​พิ​สูจน์​ทุก​สิ่ง สิ่ง​ที่​ดี​นั้น​จง​ยึด​ถือ​ไว้​ให้​มั่น”(1ธส. 5:20-21)

>> สรุปคือ ไม่ดูหมิ่น แต่ยังไม่เชื่อทันที ขอพิสูจน์ตรวจสอบด้วยพระคำของพระเจ้าก่อน ถ้าจริง ถ้าดี จงยึดเอาไว้ให้มั่น ถ้าไม่จริง ไม่ดี ก็โยนมันทิ้งไป แล้วลืมมันไปซะ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:25 ) { สนใจผิดเป้า }

แนวคิด :

– ชาวกรุงเยรูซาเล็ม เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นคนกลุ่ม คนละกลุ่มกับฝูงชนใน ยน. 7:20 (ฝูง​ชน​ตอบ​ว่า “ท่าน​มี​ผี​สิง​อยู่ ใคร​กัน​ที่​หา​โอ​กาส​จะ​ฆ่า​ท่าน?”)

– ฝูงชนที่มาจากที่อื่นไม่รู้ความมุ่งร้ายของผู้นำยิวที่จะฆ่าพระเยซู แต่ชาวเยรูซาเล็มรู้เรื่องนี้

– น่าประหลาดที่คนเหล่านี้ สามารถสังเกต ล่วงรู้ความประสงค์ของพวกยิวที่แอบวางแผนเพื่อจะหาโอกาสฆ่าพระเยซู แต่พวกเขากลับไม่สังเกต ไม่รับรู้ แผนการของพระเจ้าที่เปิดเผยอย่างชัดเจนว่า พระเยซูทรงเป็นพระมาซีฮา ผู้มาช่วยชนชาติของพระองค์ให้รอด

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ เราสามารถสังเกตและรับรู้ สถานการณ์ต่างๆรอบข้างได้ เช่น ช่วงนี้ของแพงขึ้นนะ ช่วงนี้เงินหายากจริง ช่วงนี้หุ้นกำลังขึ้น ช่วงนี้น้ำมันกำลังลง โดยใช้ความสามารถในการสังเกตและวิเคราะห์ของเราแต่ละคน

– วันนี้ถ้าเราใช้ความสามารถอย่างเดียวกัน และความตั้งใจพอสมควร เราจะสังเกตแผนการแห่งน้ำพระทัยของพระเจ้า ที่พระเจ้าพยายามเปิดเผยแก่เราอย่างแน่นอน เพราะพระเจ้าเองประสงค์ที่จะสำแดงน้ำพระทัยของพระองค์แก่บุตรทั้งหลายของพระองค์เสมอ

– ชาวเยรูซาเล็มเหล่านั้นสนใจผิดเป้า พวกเขาสนใจว่าพวกผู้นำยิวคิดอะไร มากกว่าสนใจว่าพระเจ้าประสงค์สิ่งใด พวกเขาจึงไม่สังเกตเห็นพระประสงค์ของพระเจ้า

– วันนี้ เราสนใจที่จะรู้พระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเรา มากพอจนเริ่มลงทุน สังเกตและรับรู้แล้วหรือยัง?

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:26 ) { คนอื่นคิดอย่างไรไม่สำคัญ }

แนวคิด :

– ชาวเยรูซาเล็มกล่าวว่า “พระเยซูอยู่นี่ พระเยซูกำลังพูดอยู่อย่างเปิดเผย”

– ช่างน่าแปลก คนที่พูดเช่นนั้น พวกเขาอยู่ที่นั่น พวกเขาอยู่ใกล้พระองค์ พวกเขาได้ยินสิ่งที่พระองค์ตรัส แต่พวกเขาไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงใดๆเลย

– เพราะพวกเขาไม่ใส่ใจในสิ่งที่พระเยซูตรัส แต่พวกเขามัวแต่สนใจว่า พวกผู้ใหญ่จะคิดอย่างไร

– พวกเขาไม่พยายามจะเปิดใจแล้วรับรู้ด้วยตนเอง ว่าพระเยซูคือพระคริสต์จริงหรือไม่ พวกเขาสนใจแต่ว่า พวกผู้ใหญ่จะบอกว่า พระเยซูเป็นคริสต์ใช่หรือไม่

การประยุกต์ใช้ :

– ทุกวันนี้ เราอาจไปโบสถ์ เราอาจจะฟังคำเทศนา เราอาจจะอ่านพระคัมภีร์ และเราก็รู้ว่า พระเยซูทรงอยู่ที่นี่ เรารู้ได้ว่าพระองค์กำลังตรัสอยู่ ถึงกระนั้นอาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นในชีวิตของเราก็ได้ หากเราไม่เอาใจใส่ในสิ่งที่พระองค์กำลังตรัสนั้น

– การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นเป็นสิ่งที่ดี เพื่อจะรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไรเกี่ยวกับพระเยซู แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ความคิดเห็นของเราเองว่า พระเยซูทรงเป็นผู้ใดในชีวิตของเรา

– การเรียน การรับฟังจากผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การมีประสบการณ์กับพระเยซูในชีวิตของเราแต่ละวัน

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:27 ) { คิดว่าเข้าใจถูก แต่ผิด }

แนวคิด :

  • ชาวเยรูซาเล็มคิดว่า พระเยซูไม่น่าจะเป็นพระคริสต์ เพราะพวกเขาเข้าใจว่า ถ้าพระองค์เป็นพระคริสต์ต้องไม่รู้ที่มา
  • แต่พวกเขารู้ว่าพระเยซู มาจากนาซาเร็ธ ดังนั้น จึงสรุปว่าพระองค์ไม่ใช่พระคริสต์
  • พวกยิวเชื่อว่า พระคริสต์จะเกิดที่เบธเลเฮ็ม(มธ. 2:5-6 , ยน. 7:42) แล้วจะซ่อนตัวไว้ จนถึงเวลาเหมาะสม จะปรากฏตัวขึ้นแบบไม่รู้ที่มา [ข้อมูลจาก Commentary and Critical Notes on the Bible ของ Adam Clarke’s]
  • ซึ่งเป็นการ​เข้าใจ​ผิด ​​พระคัมภีร์เดิม​ได้​​พยากรณ์​ถึง​พระคริสต์ ​ว่า​จะ​เติบโต​ขึ้น​ใน​แคว้น​นัฟทาลี​และ​แคว้น​เศบูลุน (อสย. ​9:1-2​) ซึ่งก็คือ แคว้นกาลิลีในสมัยของพระเยซูนั่นเอง
  • พวกเขาประเมินพระเยซูด้วย มุมมอง และ สติปัญญาของมนุษย์ จึงไม่อาจพบความจริง ไม่อาจรู้จักกับพระเยซูได้อย่างแท้จริง

การประยุกต์ใช้ :

– การรู้จักกับพระเจ้า เกิดจากประสบการณ์เมื่อเราเชื่อฟังพระคำของพระองค์ แล้วเราจะมีประสบการณ์ ได้รู้จักกับพระองค์มากขึ้นเรื่อยๆ

– บ่อยครั้งการเชื่อฟังพระคำของพระเจ้า อาจดูขัดกับหลักการ ขัดกับความเข้าใจเดิมๆของเราอะไรบางอย่าง อย่ายอมให้สิ่งเหล่านั้นมาขัดขวางไม่ให้เราเชื่อฟังพระคำของพระองค์ได้

– ชาวเยรูซาเล็มยึดความเข้าใจผิดๆ พวกเขาจึงไม่อาจรู้จักพระองค์จริง

– พวกเขาคิดว่า พระคริสต์ต้องไม่รู้ที่มา ซึ่งนั่นเข้าใจผิด ยิ่งกว่านั้น เขารู้ว่าพระเยซูมาจากไหน นั่นก็ผิดอีก แท้จริงพวกเขาไม่รู้เลยว่า พระเยซูมาจากสรรค์

– ถึงแม้ว่าเรายังไม่เข้าใจ100%  แต่เราก็สามารถเชื่อฟัง100%ได้

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:28 ) { เข้าใจผิดคิดว่ารู้จัก }

แนวคิด :

– ขณะนั้น พระเยซูกำลังทรงสั่งสอนในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม และชาวเยรูซาเล็มกำลังคิดว่า พระองค์ไม่น่าจะเป็นพระคริสต์ เพราะพวกเขารู้จักที่มาของพระองค์ว่ามาจากนาซาเร็ธ

– พระเยซูจึงประกาศด้วยเสียงดัง ว่า  พวกท่านคิดว่า รู้จักเราแต่ความจริงพวกท่านยังไม่รู้จัก พวกท่านคิดว่ารู้ว่ามาจากไหน มาจากนาซาเร็ธ แต่ความจริงท่านไม่รู้ว่าเรามาจากไหนจริงๆ

– พระเยซูอธิบายว่า พระองค์มาจากพระบิดา และการมานี้พระองค์ไม่ได้มาโดยภารการ แต่มาโดยพระบิดาทรงใช้มา

– พระบิดาผู้สัตย์จริง ทรงรักษาคำสัญญาของพระองค์ในพระคัมภีร์เดิม จึงส่งพระเยซูมาเพื่อทำให้พระสัญญานั้นสำเร็จทางพระเยซู

– ส่วนพวกเขา อวดอ้างและคิดว่ารู้จักกับพระบิดา แต่ความจริงแล้วพวกเขาไม่รู้จักเอาเสียเลย

การประยุกต์ใช้ :

– ชาวเยรูซาเล็ม คิดว่า รู้จักพระเยซูดีแล้ว แต่พวกเขาไม่รู้อะไรเลย

– พวกเขาคิดว่า รู้จักบิดาแล้ว แต่พวกเขาไม่รู้จักเลย

– วันนี้ เรารู้จักกับพระเยซูจริงๆแล้วหรือยัง หรือว่าเราเพียงคิดไปเองว่าเรารู้จักพระองค์แล้ว

– ชาวเยรูซาเล็ม ไม่เชื่อและไม่ใส่ใจคำตรัสของพระเยซู พวกเขาจึงไม่รู้จักพระเยซูจริงๆ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่รู้จักพระบิดาด้วย เพราะพระเยซูมาสำแดงพระบิดา

– เราสามารถรู้จักกับพระเยซูได้ โดยการเอาใจใส่และเชื่อฟังพระคำของพระองค์ และโดยความเชื่อที่สำแดงออกเป็นการกระทำเหล่านั้น จะทำให้เรารู้จักกับพระเยซูในชีวิตประจำวันของเรา และจะรู้จักพระบิดาผ่านทางการรู้จักพระเยซูนั่นเอง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:29 ) { รู้จักพระเจ้า }

แนวคิด :

– พระเยซูประกาศในพระวิหาร บอกกับผู้คนในเยรูซาเล็ม ว่า พวกเขาไม่รู้จักกับพระบิดา แต่พระเยซูทรงรู้จัก

– พระเยซูรู้จักพระบิดา ก็เพราะว่า พระเยซูมาจากพระบิดา พระองค์เป็นพระบุตรองค์เดียวของพระบิดา ที่พระบิดาส่งมาเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์ที่ทรงสัญญาไว้สำเร็จ

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูเป็นผู้เดียวที่รู้จักพระบิดา

– พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ เราไม่อาจจะเข้าใจ หรือรู้จักกับพระเจ้าได้ด้วยกายเนื้อหนังของเรา

– แต่เพราะพระเยซูมาบังเกิดเป็นเนื้อหนัง เราจึงสามารถรู้จัก และเข้าใจพระเจ้าได้ ผ่านทางการรู้จักและเข้าใจพระลักษณะของพระเยซูเมื่อพระองค์อยู่ในโลกนี้

– การอ่านพระคำของพระเจ้า เพื่อให้รู้จักนิสัย มุมมอง และท่าทีของพระเยซู ต่อสิ่งต่างๆ จะทำให้เราเข้าใจพระเจ้าได้ว่า พระองค์ทรงมีพระลักษณะเช่นใด

– เราไม่มีทางรู้จักพระเจ้าผู้เป็นพระวิญญาณได้ แต่พระเยซูรู้จัก ดังนั้นเมื่อเราต้อนรับพระเยซูเข้าในจิตใจ เราจึงสัมผัสและรู้จักกับพระเจ้าได้ และเมื่อเราอ่านแล้วทำตามถ้อยคำของพระเยซู เราจึงสามารถเข้าใจพระองค์ได้ โดยการช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้ทรงสถิตภายในเรา

– มารู้จักกับพระเจ้ามากขึ้น โดยการให้พระองค์ครอบครองในหัวใจ แล้วอ่านและกระทำตามพระคำของพระองค์กันเถิด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:30 ) { ยังไม่ถึงเวลา }

แนวคิด :

– พวกยิวอยากจับพระเยซู

– แต่ไม่มีใครลงมือจับพระเยซู ดูเผินๆอาจเป็นเพราะกลัวฝูงชน (“เขา​อยาก​จะ​จับ​พระ​องค์ แต่​กลัว​ฝูง​ชน เพราะ​เขา​ทั้ง​หลาย​ถือ​ว่า​พระ​องค์​เป็น​ผู้​เผย​พระ​วจนะ” มธ. 21:46)

– แต่เหตุผลสำคัญที่ยังไม่มีใครจับพระเยซู ก็เพราะเวลากำหนดของการถูกจับของพระองค์ยังมาไม่ถึง

การประยุกต์ใช้ :

– พระเจ้าทรงมีวาระสำหรับทุกสิ่ง มีฤดูกาลสำหรับทุกอย่าง (ดังใน ปญจ. 3:1)

– ถ้าไม่ถึงวาระ ต่อให้มนุษย์จะพยายามมากเพียงใด มันก็จะไม่เกิดขึ้น

– “… ผู้​ทรง​เปิด​แล้ว​จะ​ไม่​มี​ใคร​ปิด​ได้ ผู้​ทรง​ปิด​แล้ว​จะ​ไม่​มี​ใคร​เปิด​ได้​…” (วว. 3:7)

– วันนี้ไม่ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับเรา ถ้ายังไม่ถึงเวลาของมัน ยังไงมันก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าถึงเวลาที่พระเจ้ากำหนดไว้ ไม่ว่ามนุษย์จะพยายามขัดขวางยังไง มันก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี

– ดังนั้น ให้เราวางทุกสิ่งต่อพระเจ้า ด้วยความไว้วางใจในวาระและเวลาของพระองค์ ผู้ทรงรักและหวังดีต่อเรากันเถิด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:31 ) { หยั่งความเชื่อบนพระคำ}

แนวคิด :

– ในกรุงเยรูซาเล็มช่วงเวลานั้น มีบางคนอยากจะฆ่าพระเยซู บางคนยังสงสัยพระเยซู และมีหลายคนเชื่อวางใจในพระเยซู

– เหตุที่พวกเขาเชื่อ เพราะว่า พวกเขาได้เห็นหมายสำคัญมากมายที่พระเยซูได้ทรงกระทำ แต่ไม่ได้บันทึกไว้ในพระคัมภีร์

– ดังที่ยอห์นกล่าวไว้ว่า “มี​อีก​หลาย​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​ได้​ทรง​กระทำ ถ้า​จะ​เขียน​ไว้​ให้​หมด​ทุก​สิ่ง ข้าพเจ้า​คาด​ว่า แม้​หมด​ทั้ง​โลก​ก็​น่าจะ​ไม่​พอ​ไว้​หนังสือ​ที่​จะ​เขียน​นั้น​” (ยน. 21:25)

– พวกเขาได้เห็นการอัศจรรย์ดังที่พวกเขาคาดหวังว่า พระมาซีฮาจะมาทำการอัศจรรย์เช่นนั้น

– ดังที่อิสยาห์ได้พยากรณ์ไว้ ใน อสย. 35:5-6 “แล้ว​ตา​ของ​คน​ตา​บอด​จะ​ได้​เห็น และ​หู​ของ​คน​หู​หนวก​จะ​ได้​ยิน คน​ง่อย​จะ​กระ​โดด​อย่าง​กวาง และ​ลิ้น​ของ​คน​ใบ้​จะ​โห่​ร้อง​ยินดี…”

– พวกเขาจึงรู้ว่าพระเยซู คือ พระมาซีฮา

– น่าสนใจที่ พวกผู้นำยิวและประชาชนคนอื่นๆก็ได้เห็นเหมือนกัน แต่พวกเขาไม่ได้วางใจในพระเยซู แสดงว่าการเห็นหมายสำคัญไม่ได้เป็นตัวรับประกันว่า คนที่เห็นจะเชื่อวางใจในพระเยซู เฉพาะคนที่เห็นแล้วใส่ใจในคำตรัสของพระเจ้าเท่านั้น จึงจะเกิดความเชื่อในพระเยซู

การประยุกต์ใช้ :

– การอัศจรรย์ไม่ได้ทำให้เราเกิดความเชื่อ จนกว่าเราได้นำการอัศจรรย์นั้นมาเชื่อมเข้ากับพระคำของพระเจ้า แล้วความเชื่อที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่ได้เชื่อในการอัศจรรย์แต่เชื่อในพระคำของพระเจ้า

– ยกตัวอย่าง เมื่อเราอธิษฐานแล้วได้รับคำตอบ เราก็นำเหตุการณ์ที่ได้รับคำตอบอย่างอัศจรรย์มาเทียบกับพระคำของพระเจ้า เช่น (ยก. 5:16) “…คำ​วิง​วอน​ของ​ผู้​ชอบ​ธรรม​นั้น​มี​พลัง​มาก​และ​เกิด​ผล” จริงๆด้วยพระคำเป็นความจริง > ความเชื่อในพระคำก็เพิ่มทวีขึ้น

– อีกตัวอย่าง เมื่อเราได้รับการช่วยกู้อย่างอัศจรรย์ ก็เอาไปเทียบ (รม. 8:28) “เรา​รู้​ว่า​เหตุ​การณ์​ทุก​อย่าง​ร่วม​กัน​ก่อ​ผล​ดี​แก่​คน​ที่​รัก​พระ​เจ้า …” โอ้ว!!! จริงๆด้วยพระคำเป็นความจริง > ความเชื่อในพระคำก็เพิ่มทวีขึ้น

– แถมอีกตัวอย่าง เมื่อเราจนปัญหาหาทางออกไม่เจอ ก็อธิษฐาน แล้วก็พบทางออก ก็นำไปเทียบกับ (ยก. 1:5) “แต่​ถ้า​ใคร​ใน​พวก​ท่าน​ขาด​สติ​ปัญ​ญา ให้​คน​นั้น​ทูล​ขอ​จาก​พระ​เจ้า​ผู้​ประ​ทาน​ให้​กับ​ทุก​คน​ด้วย​พระ​ทัย​กว้าง​ขวาง​และ​ไม่​ทรง​ตำหนิ แล้ว​เขา​ก็​จะ​ได้​รับ​ตาม​ที่​ทูล​ขอ” โอ้ว!!! จริงๆด้วยพระคำเป็นความจริง > ความเชื่อในพระคำก็เพิ่มทวีขึ้น

– การฝึกฝนทำเช่นนี้ ความเชื่อของเราจะหยั่งรากลึกบนพระคำของพระเจ้า ไม่ใช่แค่บนการอัศจรรย์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:32 ) { อิจฉาจนตาบอด }

แนวคิด :

– เมื่อพวกฟาริสีได้ยินประชาชนพูดกันเรื่องพระเยซู และเริ่มมีหลายคนเชื่อว่า พระเยซูคือพระคริสต์ เพราะสิ่งที่พระเยซูทรงทำ สอดคล้องกับคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์เดิม

– แทนที่พวกเขาจะเริ่มคิดทบทวน ค้นดูในพระคัมภีร์ ซึ่งความจริงพวกเขามีความชำนาญพระคัมภีร์มากกว่าประชาชนมากมายนัก

– แต่พวกเขากลับสนใจอย่างอื่นแทน คือสนใจชื่อเสียงและอำนาจของพวกเขา พวกเขาเริ่มกลัวจะที่สูญเสียความนิยมจากประชาชน ไปให้พระเยซู

– ดังนั้นเขาจึงนำเรื่องไปฟ้องสภาแซนเฮดริน(สภาสูงของยิว) พวกมหาปุโรหิตและพวกฟาริสี ในสภาแซนเฮดริน จึงส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพระวิหาร มาจับตัวพระเยซู

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อประชาชนบางคนเห็นการอัศจรรย์และได้ยินคำสอนของพระเยซู พวกเขาวางใจในพระเยซู

– แต่เมื่อพวกฟาริสี ได้เห็นและได้ยิน พวกเขาส่งคนมาจับพระเยซู

– สิ่งที่ปิดบังตาใจของพวกฟาริสีไม่ให้พวกขาเชื่อวางใจในพระเยซู ทั้งที่พวกเขารู้พระคัมภีร์มากกว่าประชาชน ก็คือ ค่านิยมแห่งโลกนี้ ชื่อเสียงที่โลกนี้มอบให้

– พวกเขากลัวสูญเสียมันไป จนก่อให้เกิดความอิจฉา แล้วตาใจของเขาก็มืดบอดไป

– พวกเขา ฟังแล้วฟังเล่าแต่ไม่ได้ยิน ดูแล้วดูเล่าแต่ไม่เห็น พบแล้วพบเล่าแต่ก็ไม่เข้าใจ

– ขอพระเจ้าทรงเปิดตาใจของเรา ให้มองเห็นว่า มีสิ่งใดบ้าง ที่เป็นกับดักแห่งโลกนี้ ที่พวกมันพยายามบิดบังตาใจของเรา ไม่ให้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ให้เข้าใจ สิ่งที่พระเจ้าประสงค์ที่จะพูดกับเราผ่านทางพระคำของพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:33 ) { จุดหมายปลายทาง }

แนวคิด :

– พระเยซูตรัสกับประชาชนว่า จะอยู่กับพวกเขาอีกไม่นาน เพราะพระองค์ทราบว่า อีกประมาณ 6 เดือน พระองค์จะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และหลังจากเป็นขึ้นมาจากความตาย พระองค์จะเสด็จกลับไปหาพระบิดาอีกครั้ง

– สิ่งที่นอกจากจะเป็นการยืนยันว่า พระองค์มาจากพระบิดาแล้ว ยังเป็นการชี้ให้เห็นชัดว่า พระเยซูทรงทราบภารกิจของพระองค์เป็นอย่างดีว่าเสด็จมาในโลกนี้ทำไม และทรงทราบจุดหมายปลายทางของพระองค์ว่า เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว พระองค์จะไปที่ไหนต่อไป

การประยุกต์ใช้ :

– หากเราตระหนักถึงภารกิจของเราในโลกนี้ คือ การถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าและนำคนกลับมาหาพระองค์ และ รู้ว่าจุดหมายปลายทางของเราคือ เมืองสวรรค์

– สิ่งเหล่านี้ จะช่วยให้เราใช้ชีวิตอันแสนสั้นของเรา ทำอย่างที่พระเยซูทรงกระทำ คือ ทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ตลอดวันคืนของชีวิต

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:34 ) { จงแสวงหาพระองค์ เมื่อยังมีโอกาส }

แนวคิด :

– พระเยซูกล่าวถึงในอนาคต เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้ว เมื่อกองทัพโรมบุกมาทำลายเยรูซาเล็ม(ใน ค.ศ.70) พวกเขาจะแสวงหาการช่วยกู้จากพระมาซีฮา แต่พวกเขาจะไม่พบพระองค์ และเพราะพวกเขาไม่เชื่อพวกเขาจึงไม่สามารถเข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้าได้

การประยุกต์ใช้ :

– (อสย. 55:6) จง​แสวง​หา​พระ​ยาห์​เวห์ ขณะ​ที่​จะ​พบ​พระ​องค์​ได้ จง​ทูล​พระ​องค์ ขณะ​ที่​พระ​องค์​ทรง​อยู่​ใกล้

– มีวาระสำหรับทุกสิ่ง นี่เป็นเวลาที่พวกยิว จะพบกับพระมาซีฮา เพราะพระเยซูเสด็จมาอยู่ท่ามกลางพวกเขา แต่พวกเขากลับปฏิเสธพระองค์ ไม่เชื่อวางใจในพระองค์

– แต่เมื่อเวลามาถึง เมื่อพวกเขาเผชิญหายนะ ตอนนั้นพวกเขาจะแสวงหาพระองค์ก็สายเกินไปแล้ว

– วันนี้ เป็นเวลาที่เหมาะที่สุดที่เราจะแสวงหาพระองค์ จะใกล้ชิดพระองค์ เพื่อว่าเมื่อวันแห่งความยากลำบากมาถึง เราจะสามารถเผชิญกับมันอย่างปราศจากความหวาดกลัว

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:35 ) { เข้าใจผิด เพราะไม่เชื่อ }

แนวคิด :

– ก่อนหน้านี้พระเยซูบอกว่า พระองค์เป็นพระคริสต์ มาจากพระบิดา แล้วจะกลับไปหาพระบิดา

– แต่พวกผู้นำชาวยิว ฟังยังไงก็ไม่เข้าใจ ว่าพระองค์จะไปที่ไหนเขาจะหาไม่พบ เหตุที่เขาไม่เข้าใจก็เพราะว่า เขาไม่เชื่อในสิ่งที่พระเยซูตรัส ว่าพระองค์มาจากพระบิดา

– พวกเขาคาดเดา อย่างเข้าใจผิดว่า พระเยซูจะไปหาคนยิวที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ เช่นในอียิปต์ , ในเอเชียน้อย , ในโรม หรือในเมืองต่างๆบริเวณเมดิเตอร์เรเนี่ยน เนื่องจากเมืองเหล่านี้มีธรรมศาลาชองชาวยิว พวกเขาเดาตามประสบการณ์และข้อมูลของพวกเขา จึงเดาผิด

– บ้างก็เดาผิดว่า พระเยซูคงจะประสบความล้มเหลวในการสอนชาวยิวอย่างเขา คงเปลี่ยนเป้าหมายไปสอนพวกกรีก

การประยุกต์ใช้ :

– หากเราใช้ประสบการณ์ ข้อมูล หรือ ความรู้ที่เรามี เพื่อเข้าใจ สิ่งที่พระเยซูตรัส โดยปราศจากความเชื่อในคำตรัสของพระองค์ เราไม่มีทางเข้าใจ สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสได้

– หากจะเข้าใจคำตรัสของพระเจ้า ต้องเริ่มจากเชื่อทุกถ้อยคำในพระคำของพระเจ้าก่อน แล้วโดยความเชื่อนั้น จะเปิดประตูให้แก่เรา เพื่อจะเข้าใจพระคำของพระองค์

– วันนี้ เราเชื่ออย่างแท้จริงหรือไม่ ว่า พระคำของพระเจ้าเป็นคำจริงทุกคำ

– เช่น เชื่อไหมว่า “…บุคคล​ที่​วางใจ​ใน​พระ​เจ้า​ก็​ปลอดภัย” (สภษ. 29:25) ถ้าเชื่อจริงเมื่อใดที่เราอยากจะปลอดภัย เราจะวางใจในพระเจ้า

– วันใดที่เราเริ่มเชื่อพระคำของพระเจ้า ตอนใดๆอย่างแท้จริง ความเข้าใจพระคำของพระเจ้าตอนนั้นก็จะเกิดขึ้นกับเราอย่างแท้จริง เพราะเป็นจริงในชีวิตของเรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:36 ) { ไม่เชื่อ จึงไม่อาจเข้าใจ }

แนวคิด :

– นอกจากพวกยิวจะเข้าใจผิด คาดเดาแบบผิดๆเพราะไม่เชื่อสิ่งที่พระเยซูตรัสแล้ว (ข้อ35) โดยความไม่เชื่อนั้น แม้เมื่อพวกเขาพยายามที่จะเข้าใจสิ่งที่พระเยซูตรัส พวกเขาก็ไม่เข้าใจอยู่ดี

– พวกเขาฟังได้ยินชัดเจน ทบทวนสิ่งที่พระเยซูตรัสได้อย่างถูกต้องด้วยซ้ำ แต่พวกเขาไม่เชื่อว่าพระเยซูมาจากพระบิดา พวกเขาจึงไม่เข้าใจ

การประยุกต์ใช้ :

– ไม่ว่าเราจะอ่านพระคัมภีร์ ฟังพระคำ หรือแม้แต่ท่องพระคำ มากสักเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าเราไม่เชื่อในพระคำนั้นๆ เราก็ไม่อาจจะเข้าใจพระคำตอนนั้นจริงๆได้เลย

– แต่ความเชื่อที่พูดถึงนี้ ไม่ได้ขึ้นกับว่า เราพูดว่า”เราเชื่อ” แต่ ขึ้นกับว่าเราเชื่อจริงๆหรือไม่

– ความเชื่อแท้ จะสำแดงออกมาเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับความเชื่อเสมอ

– เช่น เมื่อเราขาดสิ่งทั้งปวงใดๆก็ตาม เราทำเช่นไร? เราแสวงหาสิ่งทั้งปวงที่ขาดนั้น หรือ เราแสวงหาพระเจ้า

(มธ. 6:33) แต่​พวก​ท่าน​จง​แสวง​หา​แผ่น​ดิน​ของ​พระ​เจ้า และ​ความ​ชอบ​ธรรม​ของ​พระ​องค์​ก่อน แล้ว​พระ​องค์​จะ​ทรง​เพิ่ม​เติม​สิ่ง​ทั้งปวง​นี้​ให้

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:37 ) { เชิญมาหาเรา }

แนวคิด :

– วันที่ 8 ของงานเทศกาล (ลนต. 23:36) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานเทศกาล ถือว่าเป็นวันสำคัญ

– ​ในวันนั้นจะ​มี​พิธี​ตัก​น้ำ โดย​พวก​ปุโรหิต​จะ​ตัก​น้ำ​จาก​สระ​สิโล​อัม ​นำ​ไป​ให้​มหา​ปุโรหิตใน​พระวิหาร ​แล้ว​มหาปุโรกิตจะ​เท​น้ำ​นั้น​ลง​บน​แท่น​บูชา

– แล้วคณะ​นักร้อง​จะ​ร้องเพลง​ จาก อสย. ​12:3​ ว่า ​“ท่าน​ทั้งหลาย​จะ​ตัก​น้ำ​จาก​บ่อน้ำ​แห่ง​ความ​รอด​ด้วย​ความ​ชื่นบาน”​

– ชาวยิวเชื่อว่า เมื่อ​พระ​เมส​สิ​ยาห์​เสด็จ​มา​ใน​อนาคต ​​พระองค์​จะ​ทรง​เท​พระวิญญาณ​ลง​มา​ด้วย ​

– ในวันนั้น พระเยซูยืนขึ้น ซึ่งปกติธรรมาจารย์จะนั่งสั่งสอน แต่พระเยซูยืนเพื่อเรียกให้คนสนใจ แล้วพระองค์ประกาศด้วยเสียงดัง ต่อหน้าคนนับพัน ว่า

– “ผู้ใดหิวกระหายฝ่ายวิญญาณ เชิญมาหาพระองค์ เพื่อจะได้รับความอิ่มใจที่แท้จริง”

การประยุกต์ใช้ :

– คนที่กำลัง เครียด เต็มด้วยความกดดัน ไร้ความสุข จิตใจที่แห้งผาก

จิตใจที่ไร้ชีวิต เชิญมาหาพระเยซู

– เราจะไปหาช่องทางอื่นเพื่อดับกระหายฝ่ายจิตใจและจิตวิญญาณ อีกนานสักเท่าใด

– เร็วๆ อย่ารอช้า รีบมาตามคำเชิญของพระเยซู

– มาหาพระองค์ทันที ร้องทูลทุกสิ่งต่อพระองค์

– ส่งตรงจากหัวใจของเรา สู่พระทัยของพระเยซู

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:38 ) { แม่น้ำดำรงชีวิต }

แนวคิด :

– คนที่มาหาพระเยซูและวางใจ จะมีแม่น้ำดำรงชีวิตไหลออกมาจากภายในผู้นั้น คือ ผู้นั้นจะมีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ภายใน และผลของพระวิญญาณจะปรากฏออกมาจากชีวิตผู้นั้นแบบไม่มีวันหมดสิ้น

– ดื่มน้ำที่พระเยซูให้ ด้วยการวางใจในพระเยซู คือ ยอมรับว่าพระองค์เป็นพระมาซีฮา และวางใจพระเยซูในความรอด

– ผู้นั้นจะไม่ใช่ แค่พบน้ำดำรงชีวิต แต่ผู้นั้นจะมีน้ำนั้นอยู่ในตัวเลยทีเดียว และไม่ใช่น้ำเพียงเล็กน้อยแต่มากมายจนเป็นดังแม่น้ำในตัวเขา และมากมายจนไหลล้นออกมาสู้ภายนอกจนผู้คนเห็นและสัมผัสได้

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ ถ้าเราจะตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ว่าจะเชื่ออย่างไม่สงสัยแม้แต่เพียงเล็กน้อย ว่า โดยทางพระเยซู ผู้ที่เราต้อนรับเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นจอมเจ้านายของเรา

โดยทางพระองค์นั้น

>> บาปของเราทั้งสิ้นได้รับการอภัยแล้ว พระเจ้ายกโทษบาปทั้งสิ้นของเราแล้ว

>> เราไม่จำเป็นต้องรับโทษบาปอีกต่อไป

>> เราเป็นคนบริสุทธิ์และเป็นคนชอบธรรมแล้ว เราหมดจดไร้ ไร้ตำหนิร้อยรอยมลทินใดๆแล้ว

>> เราเป็นบุตรที่รักของพระเจ้าแล้ว เราเป็นบุตรที่พระเจ้าทรงโปรดปรานแล้ว

>> เราเป็นที่สถิตของพระวิญญาณของพระเจ้าแล้ว พระองค์ทรงสถิตกับเราและจะไม่มีวันทิ้งเราเลย

>> ชื่อของเราได้ถูกจดไว้ในสวรรค์แล้ว ความตายจึงไม่ใช่สิ่งน่ากลัวสำหรับเราอีกต่อไป แต่เป็นประตูนำเรากลับสู่สง่าราศีจำเพาะพระพักตร์พระบิดา

– วันนี้ เราวางใจในพระเยซูสำหรับความรอดของเรา อย่างแท้จริงแล้วหรือยัง?

– ผู้ที่วางใจอย่างแท้จริง ผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ จะพรั่งพรู ออกมาจากชีวิตของเขาแบบไม่มีวันหมดสิ้น….สรรเสริญพระเจ้า

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:39 ) { พระวิญญาณทรงสถิต }

แนวคิด :

– พระเยซูทรงสัญญาว่า คนที่มาหาพระองค์ และวางใจในพระองค์สำหรับความรอดของเขา นั่นคือ วางใจว่าพระเยซูทรงเป็นพระมาซีฮา

– ผู้นั้นจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตกับเขาตลอดไป

– ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นหลังจากพระเยซูได้รับพระเกียรติจากพระบิดา เมื่อพระเยซูทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นจากความตายแล้วเสด็จขึ้นสู่สวรรค์

การประยุกต์ใช้ :

– หากเราวางใจในพระเยซูสำหรับความรอดของเรา พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงสถิตอยู่กับเรา

– และการทรงสถิตของพระวิญญาณบริสุทธิ์นี้ จะทำให้ชีวิตของเรา มีผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ปรากฏในชีวิตของเรา ออกจากภายในอย่างเป็นธรรมชาติ

– วันนี้มีน้ำแห่งชีวิตไหลออกมาจากชีวิตของเราบ้างหรือไม่?

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:40 ) { หูหนวก ตาบอด เพราะไม่เชื่อ }

แนวคิด :

– หลังที่ประชาชนได้ยินถ้อยคำที่พระเยซูกล่าว ว่าจะประทานแม่น้ำดำรงชีวิตแก่คนที่วางใจในพระองค์

– พวกเขาบางคนก็เริ่มคิดไปว่า พระเยซูเป็นผู้เผยพระวจนะที่โมเสสพูดถึงเป็นแน่ แต่ไม่ใช่พระมาซีฮา

– โมเสสกล่าว ใน ฉธบ. 18:15 ว่า “พระ​ยาห์​เวห์​พระ​เจ้า​ของ​ท่าน​จะ​โปรด​ให้​ผู้​เผย​พระ​วจนะ​เช่น​เดียว​กับ​ข้าพ​เจ้า​นี้​เกิด​ขึ้น​ใน​หมู่​พวก​ท่าน​จาก​พี่​น้อง​ของ​ท่าน พวก​ท่าน​จง​เชื่อ​ฟัง​เขา”

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูทรงทำหมายสำคัญอัศจรรย์มากมาย ทรงประกาศอย่างชัดเจนว่า พระองค์เป็นพระมาซีฮา ที่พวกเขารอคอย

– แต่คนเหล่านั้นหูหนวก>ฟังแล้วฟังเล่าแต่ไม่ได้ยิน ตาบอด>ดูแล้วดูเล่าแต่ก็ไม่เห็น เพราะพวกเขาไม่เชื่อ พวกเขาจึงไม่อาจมีประสบการณ์กับพระเยซู ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตของพวกเขา

– วันนี้ สิ่งที่พระเยซูตรัส และ สิ่งที่พระเยซูทรงกระทำ ในชีวิตของเรา มากเพียงพอหรือยัง ที่เราจะยอมเชื่อวางใจในพระองค์อย่างสุดใจ ในทุกเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเรา รวมทั้งการรอดพ้นบาปของเราด้วย

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:41 ) { บ้างก็เชื่อ บ้างก็ไม่ }

แนวคิด :

– หลังจากได้ยินคำตรัสของพระเยซู มีบางคนยอมรับว่าพระเยซูคือพระคริสต์ แต่ขณะเดียวกันก็มีบางคนไม่ยอมรับ โดยให้เหตุผลว่า พระคริสต์จะไม่มาจากกาลิลี

– ซึ่งพวกเขา​เข้าใจ​ผิด ​ความ​จริง​พระคัมภีร์​​ได้​​พยากรณ์​ถึง​พระคริสต์​ว่า​จะ​เติบโต​ขึ้น​ใน​แคว้น​นัฟทาลี​และ​แคว้น​เศบูลุน (​คือ​แคว้น​กา​ลิ​ลี​ใน​สมัย​ของ​พระเยซู​ นั่นเอง) (อสย. ​9:1-2​)

การประยุกต์ใช้ :

– ท่ามกลางคนไม่เชื่อ ก็มีคนเชื่อ

– ท่ามกลางคนเชื่อ ก็มีคนไม่เชื่อ

– คนทั้งสองกลุ่มได้ยินเหมือนกัน ได้เห็นเหมือนกัน แต่ผลลัพธ์ของพวกเขาไม่เหมือนกัน

– ท่ามกลางคนที่ไปคริสตจักร ได้ยินเรื่องของพระเจ้า รวมทั้งอาจเรียกตนเองว่าเป็นคริสเตียน อาจจะมีทั้งคนที่เชื่อ และคนที่ไม่เชื่ออยู่ด้วยกัน

– สิ่งที่จะวัดความเชื่อของแต่ละคน จึงไม่ใช่การไปคริสตจักร หรือการได้ยินคำสอน แต่เป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่ได้ยินนั้น

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:42 ) { เข้าใจผิด เพราะคิดว่าเข้าใจ }

แนวคิด :

– คนยิวเข้าใจผิดว่า มคา. 5:2 หมายความว่า พระคริสต์ต้องเป็นชาวเบธเลเฮ็ม (บ้านเกิดของดาวิด)

– ซึ่งความจริงแล้ว พระคัมภีร์หมายถึง พระคริสต์ต้องเกิดที่บ้านเบธเลเฮ็ม ซึ่งชายในรุ่นราวคราวเดียวกับพระเยซู ที่เกิดในบ้านเบธเลเฮ็มเมื่อ 32ปีก่อน มีแต่พระเยซูผู้เดียวเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะนอกนั้นเฮโรดมหาราช สั่งฆ่าหมดแล้ว(มธ.2:16)

– และถ้านับตามลำดับพงศ์พันธุ์แบบมนุษย์ พระเยซูก็ถือว่าเป็นเชื้อสายของดาวิด (มธ.1:6-16)

– จึงสรุปได้ว่า มีบางคนไม่เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮา เพราะเขาคิดว่าเขาเข้าใจอย่างถูกต้อง อย่างลึกซึ้ง แต่ความจริงเขาเข้าใจผิด

การประยุกต์ใช้ :

– การพยายามวิเคราะห์ ทำความเข้าใจ เรื่องของพระเจ้า ด้วยสติปัญญาของมนุษย์ มีแต่จะเข้าใจผิดพลาดและคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เพราะ ทางของพระเจ้าสูงส่งกว่าทางของมนุษย์มากมายนัก

– วิธีที่ง่ายกว่านั้น ก็คือ ก็แค่เชื่อที่พระเยซูบอก แล้วต่อมาภายหลังก็จะเข้าใจเอง

– ตัวอย่างเช่น เปาโล ก็ได้เข้าใจในเวลาต่อมาหลังจากเขาเชื่อ ว่า พระเยซูมาจากเชื้อสายของดาวิด

(กจ. 13:23) “และ​จาก​เชื้อ​สาย​ของ​ดา​วิด​นี้ พระ​เจ้า​ประ​ทาน​ผู้​ช่วย​ให้​รอด​คือ​พระ​เยซู​ผู้​ทรง​บัง​เกิด​มา​เพื่อ​ชน​ชาติ​อิส​รา​เอล​ตาม​พระ​สัญ​ญา​ของ​พระ​องค์”

– วันนี้ถึงแม้ว่าเราอาจจะยังไม่เข้าใจ หลายสิ่งที่พระเยซูได้สั่งหรือบอกเอาไว้ ก็ไม่เห็นจะเป็นไร ก็แค่เชื่อ แล้วเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม พระองค์จะทรงประทานความเข้าใจให้แก่เราเป็นแน่

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.7:43 ) { ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา }

แนวคิด :

– ทัศนคติที่แตกต่างต่อคำสอนของพระเยซู ทำให้พวกประชาชนขัดแย้งกัน แตกออกเป็นกลุ่มๆ

– พวกเขาได้เห็น และได้ยินสิ่งเดียวกัน ที่พระเยซูได้ทรงกระทำและตรัส แต่ตอบสนองไม่เหมือนกัน

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้เมื่อเราได้ยินพระวจนะของพระเจ้า เราจะมีทัศนคติต่อพระคำนั้นอย่างไร จะส่งผลต่อการตอบสนองของเรา ต่อพระคำตอนนั้นๆ

– เช่น “ฟังหูไว้หู” , “ฟังแล้วก็น่าสนใจดีนะ” , “ไม่จริงฉันไม่เชื่อ” , “ใช่แล้วฉันเห็นด้วย ต้องเป็นจริงแน่นอน” , ฯลฯ

– อย่างไรก็ดี การเห็นด้วยกับพระคำ จนเชื่อฟังทำตามพระคำนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า เราจะไม่พบกับความขัดแย้ง

– ดังนั้นเมื่อทำตามพระคำแล้วเกิดความขัดแย้งกับบางคน ไม่ต้องตกใจ เป็นเรื่องธรรมดา ขอเพียงเรายังคงยึดมั่นและเชื่อฟัง กระทำตามพระคำต่อไป ในไม่ช้ากาลเวลาจะพิสูจน์เองว่า เราสิ่งที่เรายืนหยัดนั้นถูกต้องแล้ว