แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:1) { ลาซารัสป่วย }

แนวคิด :

– ลาซารัส ชายที่พระพระเยซูทรงรัก(ข้อ5) ป่วย

– เขาป่วยที่ เบธานี ทางตะวันออกของภูเขามะกอกเทศ ซึ่งคนละที่กับ เบธานี ใน ยน.1:28 และ ยน.10:40 ซึ่งอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน

– เขาเป็นน้องชายของ มารธาและมารีย์ ผู้ที่พระองค์ทรงรัก(ข้อ5)

– ถึงแม้ว่า พระเยซูทรงรักพวกเขา แต่เหตุการณ์ที่ดูเหมือนไม่ดีก็ยังเกิดขึ้นกับพวกเขาอยู่ดี แต่เหตุการณ์ที่ดูเหมือนไม่ดีวันนี้ จะนำมาซึ่งการถวายเกียรติแด่พระเจ้า รวมถึงการทำให้แผนการไถ่ทางพระเยซูสำเร็จเพราะพวกยิวอิจฉาอย่างยิ่ง

– และเหตุการณ์นี้ทำให้ชื่อของลาซารัสชายธรรมดาคนหนึ่งในปาเลสไตน์ เป็นที่รู้จักของคนนับพันล้านคนทั่วโลกตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูทรงรักเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีสิ่งใดๆที่ดูเหมือนไม่ดีเกิดขึ้นกับเราเลย

– แต่ที่รู้และแน่ใจได้เลย ก็คือว่า ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนที่พระเยซูทรงรัก จะนำมาซึ่งการถวายเกียรติพระเจ้า และนำพระพรยิ่งใหญ่มาสู่ผู้นั้น

– พระเยซูผู้ทรงรักเราอย่างที่สุด จะเปลี่ยนสถานการณ์ของเราในวันนี้ ให้กลายเป็นพระพรยิ่งใหญ่สำหรับเราและแผ่นดินของพระเจ้า

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:2) { มารีย์ผู้โด่งดัง }

แนวคิด :

– เรื่องของมารีย์ที่เอาน้ำหอมชะโลมพระเยซู เกิดขึ้นใน ยน.12 แต่ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ในบทนี้ เนื่องจาก ยอห์นได้เขียนพระธรรมยอห์นนี้ หลายปีหลังจากเหตุการณ์ทั้งสองได้เกิดขึ้น ซึ่งในช่วงเวลาที่ยอห์นเขียนนั้น เรื่องราวของสิ่งที่มารีย์ได้ทำ ได้เลื่องลือไปทุกแห่งที่ข่าวประเสริฐได้ประกาศไปแล้ว ตามที่พระเยซูได้บอกไว้

– (มธ. 26:13) “เรา​บอก​ความ​จริง​กับ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ว่า สิ่ง​ที่​หญิง​คน​นี้​ทำ​จะ​ถูก​กล่าว​ขวัญ​ถึง​ทั่ว​โลก​ที่​มี​การ​ประ​กาศ​ข่าว​ประ​เสริฐ​นี้ เพื่อ​เป็น​การ​ระ​ลึก​ถึง​นาง”

– มารีย์ผู้นี้ เธอปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้ฟังสิ่งที่พระเยซูสอน และได้อยู่ใกล้ชิดกับพระเยซู (ลก. 10:39) การป่วยของน้องชายเธอในครั้งนี้ นำความเสียใจมาสู่เธอ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหตุให้พระเยซูมาเยี่ยมเยียนเธอ แล้วเปลี่ยนความเสียใจนั้นให้กลายเป็นความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง

การประยุกต์ใช้ :

– สิ่งที่มารีย์ทำให้ แด่พระเยซูอย่างสุดกำลัง อย่างสุดใจ กลายเป็นสิ่งที่ทำให้คนทั้งหลายนับพันล้านคนทั่วโลก ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รู้จักเธอและรู้สิ่งที่เธอได้ทำพื่อพระองค์

– เมื่อเราทำสิ่งใดด้วยความรักแด่พระเยซู พระองค์ผู้ทรงสัตย์ซื่อจะทำให้สิ่งนั้นเกิดผลเป็นพรยิ่งกว่าที่เราจะคิดหรือจินตนาการได้

– การป่วยของลาซารัส นำความโศกเศร้ามาสู่มารีย์ แต่เมื่อพระเยซูมาเยี่ยมเธอ ความโศกเศร้านั้นถูกเปลี่ยนเป็นความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง

– สิ่งที่ทำให้เราโศกศร้าในวันนี้ ถ้าเราใช้มันเป็นโอกาสที่จะใกล้ชิดกับพระเยซูมากขึ้น พระเยซูจะทรงเปลี่ยนความโศกเศร้านั้นให้กลายเป็นความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:3) { ทูลต่อพระเยซู }

แนวคิด :

– มารธาและมารีย์ ให้คนส่งข่าวเรื่องการป่วยของลาซารัส ไปยังพระเยซู เหตุที่พวกเธอไม่ได้ไปด้วยตัวเอง คงเป็นเพราะข้อจำกัดบางอย่างเช่นเธอเป็นผู้หญิงไม่เหมาะสมที่จะเดินทางไกลออกไปจากบ้าน หรืออาจเพราะต้องคอยดูแลน้องชายที่ป่วย

– ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถึงแม้พวกเธอไม่สามารถไปหาพระเยซูได้ แต่พวกเธอก็ไม่ได้ใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่บอกให้พระเยซูรู้ พวกเธอคงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้พระเยซูรับทราบถึงปัญหาที่พวกเธอกำลังประสบ

– เพราะพวกเธอเชื่อว่า ถ้าเรื่องนี้ไปถึงพระเยซู ปัญหาของพวกเธอจะได้รับการคลี่คลาย

– พวกเธอส่งข้อความถึงพระเยซู ด้วยข้อความที่อ่อนสุภาพและไว้ใจพระเยซู

– พวกเธอไม่ได้บอกว่า เชิญพระองค์มาเร็วๆเข้า รีบมา มาวางมือให้ลาซารัสที่พระองค์ทรงรักให้เขาหายป่วย

– พวกเธอเพียงแต่แจ้งปัญหาของพวกเธอให้พระเยซูทรงทราบ สุดแล้วแต่พระองค์จะทำการประการใด ตามแต่พระทัยของพระองค์

– ด้วยท่าทีของพวกเธอเช่นนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้จึงนำพระพรยิ่งใหญ่ มาสู่ครอบครัวของเธอ และเป็นพระพรแก่คนทั่วโลกมากมาย

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ เราได้ทูลปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น ต่อพระเยซูแล้วหรือยัง?

– อย่ายอมให้ข้ออ้างใดๆ มาเป็นอุปสรรคขวางกั้นเราไม่ให้ทูลต่อพระองค์ – เมื่อเราทูลต่อพระองค์แล้ว ที่เหลือก็เพียงแค่วางใจ มอบให้พระองค์จัดการด้วยวิธีการของพระองค์ ในเวลาของพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:4) { โรคนี้ไม่ใช่เพื่อตาย }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูทรงได้ยินข่าว จากผู้สื่อสารที่มารธาและมารีย์ส่งมา ว่า “ลาซารัสป่วย” 

– พระเยซูจึงตรัสกับเขาและพวกสาวกของพระองค์ ว่า โรคที่ลาซารัสเป็นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อให้ลาซารัสต้องตายจากโลกนี้ไป แต่ เกิดขึ้นเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า แล้วพระบิดาจะประทานเกียรตินั้นแด่พระเยซู เพื่อยืนยันว่าพระเยซูเป็นพระบุตรของพระเจ้า

– แม้พระเยซูตรัสว่า โรคนี้จะไม่ถึงตาย แต่ในข้อ14 พระเยซูอธิบายให้สาวกฟังว่า ลาซารัสตายแล้ว อย่างไรก็ดีถ้อยคำของพระเยซู ก็จะสำเร็จอยู่ดี คือ ลาซาราไม่ต้องตายจากโลกนี้ไปเพราะโรคนี้

การประยุกต์ใช้ :

– สิ่งที่พระเยซูตรัสมันจะสำเร็จเป็นจริงอย่างแน่นอน

– แม้บางชั่วขณะดูเหมือนว่า หมดหวังแล้ว สัญญาของพระเจ้าคงไม่เป็นจริงแล้ว เหมือนลาซารัสที่ตายไปแล้ว แต่พระเจ้าทรงฤทธิ์ที่จะทำให้สัญญาของพระองค์เป็นจริงได้อย่างแน่นอน เหมือนลาซารัสที่ตายแล้วก็ยังไม่ต้องตายจากโลกนี้ไปเพราะโรคนี้อยู่ดี

– โรคที่เกิดขึ้น กับลาซารัสนี้ เป็นเหตุให้พระเยซูได้รับเกียรติผ่านชีวิตของเขา และสุดท้ายเขาก็ไม่ได้เสียอะไรเลย แต่ได้ประสบการณ์ยิ่งใหญ่จากพระเจ้า

– เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราวันนี้ หากเรามอบให้พระเยซูเป็นผู้จัดการเหตุการณ์นี้เอง เหตุการณ์นี้จะถวายเกียรติแด่พระเจ้า และจะไม่สร้างความเสียหายให้แก่เรา แต่ชีวิตของเราจะได้รับพระพรยิ่งใหญ่แทน

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:5) { ถึงแม้จะรัก }

แนวคิด :

–  ข้อสั้นๆนี้บอกว่า พระเยซูทรงรักมารธา , มารีย์ และลาซารัส

– สิ่งที่กล่าวถึงในข้อนี้ก็เพื่อจะอธิบายเนื้อหาที่กำลังตามมาว่า ทั้งหมดที่ทำไปนั้น ไม่ใช่เพราะไม่รัก พระองค์ทรงรักพวกเขา แต่การทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าย่อมสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด

– พระเยซูทรงวางแบบอย่าง อย่างชัดเจนในเรื่องนี้ ถึงแม้รัก แต่การทำตามพระประสงค์ของพระบิดาสำคัญยิ่งกว่า

– พระเยซูไปช้าอีกตั้ง 2 วัน(ข้อ 6) ทำให้มารธา และ มารีย์ ผู้ที่พระองค์ทรงรักต้องร้องไห้เพิ่มอีกตั้ง 2 วัน ซึ่งการร้องไห้ของพวกนางนี้ ถ้าเลือกได้พระองค์ก็คงไม่อยากให้พวกนางร้องไห้ (ข้อ 33)

– การตายของลาซารัส นี้ทำให้พระเยซูต้องสะเทือนพระทัย เป็นทุกข์ และร้องไห้ (ข้อ 32-33) เพราะพระองค์เห็นผู้ที่พระองค์ทรงรักต้องร้องไห้

– ถึงกระนั้นพระเยซูก็ยังเลือกทำตามพระทัยของพระบิดา

– พระเยซูเชื่อฟังพระบิดา ซึ่งดูเหมือนทำให้คนที่รักต้องเสียใจมากขึ้น แต่ในที่สุดแล้วกลับเป็นให้คนที่พระองค์ทรงรักเต็มเปี่ยมด้วยความชื่นชมยินดีมากที่สุดในชีวิต

การประยุกต์ใช้ :

– เป็นการดีที่จะรักผู้อื่น รักคนที่เรารัก แต่การเชื่อฟัง ทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ย่อมสำคัญมากยิ่งกว่าเสมอ

– หากการเชื่อฟังพระเจ้าของเรา ดูเหมือนทำให้คนที่เรารักต้องเสียใจ หรือผิดหวัง ขอให้เรายังคงเดินต่อไปในการเชื่อฟังนั้น เพราะในที่สุดแล้วการเชื่อฟังของเราจะนำความชื่นชมยินดีใหญ่ยิ่งมาสู่ตัวเราและคนที่เรารักนั้น

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:6) { ยอมให้เข้าใจผิด }

แนวคิด :

– เบธาบารา หรือ เบธานี ที่พระเยซูประทับอยู่นี้ (ยน. 1:28 , ยน.10:40,) อยู่ห่างจากเบธานี บ้านของลาซารัส ประมาณ 60 กว่า ก.ม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 วัน

–  ดูเหมือนว่าลาซารัสจะตาย ตั้งแต่เมื่อผู้ส่งข่าวเริ่มออกเดินทางมาแล้ว ซึ่งพระเยซูทรงทราบล่วงหน้าแล้ว(ข้อ11)

– เมื่อพระเยซู ยังรออยู่ที่เดิม 2 วัน + เดินทางอีก 1 วัน พอไปถึง ลาซารัสจึงตายไป 4 วันแล้ว (ข้อ 39)

– นั่นแสดงว่า ถึงแม้พระเยซูออกเดินทางทันที เมื่อพระเยซูไปถึง ลาซารัสก็ตายมา 2 วันแล้วอยู่ดี

– พระเยซู เลือกอยู่ต่อที่เดิม รอไปอีก 2 วัน ซึ่งเป็นการกระทำที่คนรอบข้างไม่เข้าใจ และคงจะเข้าใจผิดพระเยซูด้วย

>> มารธา มารีย์ อาจคิดว่า พระเยซูไม่รักพวกเขา ทั้งที่พระเยซูทรงรัก(ข้อ5)

>> พวกสาวก คงคิดว่า พระเยซูกลัวตาย กลัวพวกยิวฆ่า (สังเกตได้จาก ข้อ 8 และ ข้อ16)

– แม้ว่าการทำตามพระทัยพระบิดา จะทำให้คนที่พระองค์ทรงรักเข้าใจผิดพระองค์ แต่พระเยซูยังคงเลือกเชื่อฟังและทำตามน้ำพระทัยพระเจ้าอยู่

– และสุดท้ายผลของการเชื่อฟังก็นำการถวายเกียรติยิ่งใหญ่แด่พระเจ้า และนำพระพรมาสู่ผู้ที่พระองค์ทรงรัก

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูวางแบบอย่างแก่เราไว้ ไม่ว่าใครจะเข้าใจผิด ไม่ว่าใครจะคิดกับเราอย่างไร เราก็ยังจะเชื่อฟังพระเจ้าอยู่ดี

– เมื่อเราเชื่อฟัง วันนี้คนอาจไม่เข้าใจเรา แต่ในที่สุดแล้วการเชื่อฟังของเราจะนำมาซึ่งการถวายเกียรติแด่พระเจ้า และนำพระพรมาสู่ผู้ที่เรารัก

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:7) { เชื่อฟังแม้อันตราย }

แนวคิด :

– ในวันที่ 3 หลังจากผู้ส่งสารได้แจ้งพระเยซู เรื่องการป่วยของลาซารัส ก็ถึงเวลาของพระองค์แล้ว พระเยซูจึงบอกกับพวกสาวกว่า ให้กลับไปยังแคว้นยูเดียอีกครั้ง

– ก่อนหน้านี้ไม่นานพระเยซูหลบการจับกุมของพวกยิวในแค้วนยูเดีย(ยน.10:39) แล้วมาอยู่ที่ เบธานี หรือ เบธาบารา ใกล้แม่น้ำจอร์แดน (ยน.10:40)

– การตัดสินใจกลับไปแคว้นยูเดียครั้งนี้อันตรายมาก อาจถูกจับได้

– และก็เป็นจริงดังนั้น เพราะเมื่อพระเยซูเสด็จไปแคว้นยูเดียครั้งนี้ พระองค์ไม่ได้กลับออกมาอีกเลย จนถึงการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระองค์กลับออกมาอีกครั้งเมื่อทรงเป็นขึ้นมาจากความตายแล้วเลย

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซู ยังคงเชื่อฟังพระเจ้า ทั้งที่รู้ว่าภยันอันตรายอยู่ข้างหน้า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า พระองค์ตั้งใจเชื่อฟังจนกระทั่งความมรณาที่กางเขนอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะอันตรายหรือไม่อย่างไร พระองค์ก็ยังคงจะเชื่อฟังอยู่ดี

– วันนี้ การเชื่อฟังของเรา ต้องเสี่ยงภัยมากสักเพียงใด? มากถึงกับชีวิตหรือไม่? ขอให้เราผู้มอบถวายชีวิตของเราแด่พระเยซูแล้ว จงตัดสินใจที่จะเชื่อฟัง ในวันนี้เถิด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:8) { ปัจจัยในการตัดสินใจ }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูตรัสว่ากำลังจะไปหาลาซารัส ในแคว้นยูเดีย พวกสาวกจึงเตือนพระองค์ว่า เมื่อไม่กี่วันก่อน ในเยรูซาเล็ม แคว้นยูเดีย พวก​ยิวพยายามเอา​หิน​ขว้าง​พระ​องค์​ให้​ตาย (ยน. 10:31) ดังนั้นการกลับไปยังแคว้นยูเดียในช่วงเวลานี้ จึงไม่น่าจะเป็นความคิดที่ดี

– ในมุมมองของสาวก สวัสดิภาพและความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจ

– แต่ในมุมมองของพระเยซู สวัสดิภาพและความปลอดภัย ไม่ใช่สาระในการประกอบการตัดสินใจ เพราะไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นพระองค์ก็ตั้งใจจะเชื่อฟังพระบิดา จนกระทั่งความมรณาที่กางเขนอยู่แล้ว

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้เราใช้อะไรเป็นมาตรฐานในการตัดสินใจ สวัสดิภาพและความเจริญก้าวหน้าของชีวิต หรือ การทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า?

– ชีวิตของเราควรให้การทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในทุกการตัดสินใจ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:9) { ทำในเวลาที่ควรทำ }

แนวคิด :

– พระเยซูทรงตอบพวกสาวก ที่ทักท้วงพระเยซูเรื่องไปยังแคว้นยูเดีย ว่า นี่เป็นเวลาที่ควรจะไป เพราะเป็นเวลากลางวัน ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบว่า นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว

– คนยิวแบ่งกลางวันและกลางคืน ออกเป็นช่วงละ 12 ชั่วโมงเท่าๆกัน

– เมื่อเดินในเวลากลางวัน แม้จะมีอุปสรรคก็สามารถเห็นได้ และผ่านมันไปได้

– เมื่อดำเนินตามพระเจ้า ตามเวลาของพระเจ้า เราจะสามารถทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้ แม้จะมีอุปสรรคขัดขวางก็ตาม

การประยุกต์ใช้ :

– ทุกอย่างมีวาระของมัน เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วไม่ทำ ต่อไปภายหน้าแม้อยากจะทำก็จะทำไม่ได้ หรือทำแล้วจะไม่ได้ผลดีอย่างที่ควรจะเป็น

– วันนี้ หากพระเจ้าเปิดประตูให้แก่เรา เพื่อจะนำข่าวประเสริฐแห่งความรอดไปยังคนใดคนหนึ่ง อย่ามัวรีรอ รอช้า เพราะว่าประตูนั้นจะไม่ได้เปิดอยู่ตลอดไป

– จงทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ในขณะที่ยังมีโอกาสอยู่

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:10) { ไม่มีความสว่างในตัวเอง }

แนวคิด :

– พระเยซูบอกกับพวกสาวกว่า ถ้าเดินในเวลาที่เหมาะสม ในเวลาของพระเจ้าจะไม่สะดุด แม้ว่าจะมีอุปสรรคขัดขวางก็ตาม

– แต่ถ้าเดินในเวลาที่ไม่เหมาะสม ไม่ใช่เวลาของพระเจ้า คือเดินเอง ไม่สนใจสัญญาณจากพระเจ้า คนนั้นจะสะดุด เพราะความสว่างไม่ได้ไปกับเขา และในตัวเขาเองก็ไม่มีความสว่างด้วย

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อเราทำตามการทรงนำจากพระเจ้า ทุกอย่างจะเกิดผลดี แม้มีอุปสรรค

– เมื่อเราทำตามใจของตนเอง ไม่สนใจการทรงนำจากพระเจ้า เดินไปโดยไม่สนใจว่าความสว่างจะไปด้วยหรือไม่ จะสะดุดล้มลง เพราะว่าในตัวของเราเองไม่มีความสว่างในตัวเอง

– เดินตามพระเจ้าจะปลอดภัย เดินไปเองจะล้มลง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว (ยน.11:11) {พระเยซูทรงทราบ}

แนวคิด

– พระเยซูบอกกับสาวกว่าลาซาลัสตายแล้วและพระองค์กำลังจะไปปลุกให้เขาฟื้นขึ้นมา

การประยุกต์ใช้

– ลาซารัสอยู่ห่างออกไปกว่า 60 กิโลเมตร แต่พระเยซูก็ทรงทราบสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา และพระองค์ก็เสด็จไปช่วยเขา- ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด วันนี้พระเยซูทรงสถิตอยู่กับเรา พระองค์ทรงทราบอย่างแน่นอนว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับเรา และพระองค์จะทรงเสด็จมาช่วยเราอย่างแน่นอน

พระเยซูทรงรู้จักสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา
และพระองค์จะทรงช่วยเรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:12) { “ไม่” องค์พระผู้เป็นเจ้า }

แนวคิด :

– ตามความเข้าใจของชาวยิว การนอนหลับของผู้ป่วย เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอาการที่กำลังค่อยๆดีขึ้นของผู้ป่วย

– ข้อก่อนหน้านี้ พระเยซูบอกพวกสาวก ให้ไปแคว้นยูเดียด้วยกันกับพระองค์ (ข้อ 7)

– แต่พวกสาวกทักท้วง ว่าความคิดของพระองค์ไม่เข้าท่า เพราะว่าอันตรายเกินไปที่จะเข้าไปในแคว้นยูเดีย ที่มีคนจ้องจะฆ่าพระเยซูอยู่ที่นั่น

– พระเยซูจึงบอกว่า จะไปเพื่อปลุกลาซารัส ที่ตายไปแล้ว

– แต่พวกสาวกเข้าใจว่า ลาซารัสแค่หลับ ดังนั้นเดี๋ยวเขาก็จะหายแล้ว ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงให้เหตุผล เพื่อที่จะไม่ทำตามคำสั่งของพระเยซู ว่า “เดี๋ยวลาซารัสก็หายแล้ว”

– ช่างน่าขำ ที่พวกสาวก เรียกพระเยซูว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แล้วตามด้วยประโยคที่มีความหมายว่า “ฉันจะไม่เชื่อฟังพระองค์”

การประยุกต์ใช้ :

– ตามเหตุผลของมนุษย์แล้ว ไปแคว้นยูเดียอันตรายเกินไป และ ลาซารัสก็กำลังดีขึ้นแล้ว ด้วยเหตุนี้ ไม่จำเป็นต้องทำตามไอเดียของพระเยซูเลย

– เหตุผลของมนุษย์ ไม่ว่าดีสักเพียงใด ก็ไม่อาจมาใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าได้

– ถ้าพระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าสำหรับแล้ว เราต้องไม่พูดว่า “ไม่”กับพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:13) { กระจ่างได้ด้วยความเชื่อ }

แนวคิด :

– พระเยซูพูดถึงลาซารัสว่าตายแล้ว และพระองค์กำลังจะปลุก ให้ฟื้นขึ้น(ข้อ12) แต่พวกสาวกเข้าใจผิด คิดว่าพระเยซูพูดถึงการนอนหลับของลาซารัส

– พวกสาวกไม่ได้สังเกตประโยคที่พระเยซูพูดให้ดี พระเยซูบอกว่า ลาซารัสหลับอยู่และพระองค์กำลังจะไปปลุก

– ถ้าแค่นอนหลับธรรมดา ทำไมพระเยซูต้องเดินทางตั้งไกลเพื่อไปปลุกด้วย ดังนั้นจึงน่าจะหมายถึงความตายของลาซารัสมากกว่า

– เป็นไปได้ว่า พวกสาวกอาจคิดเช่นนี้ คือ ถ้าลาซารัสตายแล้ว กว่าพวกเราจะไปถึงก็ตายไปหลายวันแล้ว พระเยซูจะปลุกได้ยังไง ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะหมายถึง ลาซารัสตายแล้ว คงหมายถึงลาซารัสหลับเป็นแน่

– สำหรับพวกสาวกเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้คนตายไปหลายวันแล้วฟื้นขึ้นมาอีก แม้พวกเขาบางคนเคยเห็นพระเยซูทำให้คนตายฟื้นขึ้นมาแล้ว เช่น ลูกชายของหญิงม่ายที่นาอิน(ลก.7:14) หรือ ลูกสาวของไยรัส(ลก.8:54) แต่สองคนนั้นเพิ่งตายไม่นาน แต่กรณีนี้ ถ้าลาซารัสตายแล้ว กว่าจะไปถึงคงตายมาหลายวันแล้ว จึงถือว่าเป็นคนละกรณีกัน

– แต่ความจริงแล้ว การทำให้คนที่ตายไปหลายวันแล้ว ฟื้นขึ้นมาอีก ก็ง่ายเหมือนกับการปลุกคนที่หลับให้ตื่นขึ้น

การประยุกต์ใช้ :

– มีความไม่เชื่อของเรา บางอย่าง ที่ปิดบังตาใจของเรา ทำให้เราไม่อาจเข้าใจพระคำของพระเจ้าได้อย่างกระจ่างชัด

– เราสามารถเข้าใจพระคำของพระเจ้าได้อย่างกระจ่างด้วยความเชื่อ

– ขจัดความไม่เชื่อออกไปแล้ว เราจะเข้าใจพระคำของพระเจ้าได้กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:14) { เราสามารถเข้าใจได้ }

แนวคิด :

– เมื่อพวกสาวกไม่เข้าใจ ภาษาภาพพจน์ที่พระเยซูตรัสเกี่ยวกับลาซารัส พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาอีก แบบเรียบง่าย ว่า “ลาซารัสตายแล้ว”

– เมื่อพวกสาวกไม่เข้าใจ พระองค์ไม่ได้ทรงตำหนิ แต่พระองค์เองเป็นผู้ทำให้พวกเขาเข้าใจ ในสิ่งที่พระองค์ประสงค์จะบอกกับพวกเขา

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อเราไม่เข้าใจน้ำพระทัยของพระเจ้า หรือ สิ่งที่พระเจ้าทรงตรัสกับเรา พระองค์เองจะเป็นผู้ทำให้เราเข้าใจ

– พระองค์ทรงรู้จักเราแต่ละคนเป็นอย่างดี พระองค์รู้ดีว่า จะบอกกับเราอย่างไร เราจึงจะเข้าใจ

– นั่นคือ การสื่อสารจากพระเจ้า มาถึงเรานั้น เราจะสามารถรับรู้และเข้าใจได้เสมอ ขอเพียงเราปรารถนาจะรับรู้จริงๆ

– เราสามารถรู้น้ำพระทัยของพระเจ้าได้เสมอ ถ้าเราปรารถนาจะรู้จริงๆ แล้วเปิดใจออกรับรู้การสื่อสารจากพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:15) { แผนการสูงส่ง }

แนวคิด :

– พระเยซูอธิบายให้พวกสาวกฟังว่า ลาซารัสตายแล้ว(ข้อ14) และพระเยซูจงใจไม่อยู่ที่นั่น เพื่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะทำให้พวกสาวกมีความเชื่อ

– พระเยซู ไม่ได้ไปทันทีตามคำเชิญของ มารธาและมารีย์ ไม่ใช่เพราะพระเยซูไม่รักพวกเขา แต่เพราะพระเยซูมีวัตถุประสงค์ที่สูงส่งมากกว่าที่พวกเขาคิด

– พระเยซูอยู่ต่ออีก 2 วัน ก่อนเดินทางไป เพราะพระองค์ประสงค์จะปลูกฝังความเชื่อให้แก่พวกสาวก ก่อนเวลาที่พระเยซูจะสิ้นพระชนม์ที่กำลังจะมาถึง

– แล้วพอถึงเวลาที่เหมาะสม พระเยซูก็บอกให้พวกสาวกไปแคว้นยูเดียพร้อมกันกับพระองค์

การประยุกต์ใช้ :

– แผนของพระเจ้า สูงส่งและลึกซึ้งเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ ในมิติของเรา

– พระเยซู อยู่ต่อ 2 วัน ดูราวกับว่า พระองค์ไม่สนใจความเจ็บป่วยของลาซารัสและความทุกข์ใจของมารธา มารีย์

– ตอนนี้พระเยซู กำลังจะพาพวกสาวกไปแคว้นยูเดีย ดูราวกับว่า พระองค์ไม่สนใจความปลอดภัยของชีวิตของพวกสาวก

– แต่ทั้งสองเหตุการณ์ พระองค์ทรงรักพวกเขา ทรงห่วงใยพวกเขา เพียงแต่แผนการของพระเจ้าสูงส่งเกินกว่าที่พวกเขาจะคิดหรือเข้าใจได้

– วันนี้ สิ่งที่พระเจ้าอนุญาตให้เกิดขึ้นกับเรา พระองค์มีแผนการที่ดีเลิศ และสูงส่งมากกว่าที่เราจะเข้าใจได้  ให้เราเชื่อใจในพระองค์ผู้ทรงรักเราเถิด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:16) { สายตาแห่งความไม่เชื่อ }

แนวคิด :

– พระคัมภีร์กล่าวถึงโธมัสด้วย ชื่อทั้งภาษาฮีบรู(โธมัส) และภาษากรีก(ดิดุโมส แปลว่า แฝด เขาคงมีพี่น้องฝาแฝด) ซึ่งกล่าวถึงทั้งสองชื่อแบบนี้ อีก 2 ครั้งด้วย ใน ยน. 20:24 และ ยน. 21:2

– โธมัส ดูเหมือนจะมีจุดอ่อนในเรื่องการขาดความเชื่อ ขี้สงสัย จนพระเยซูตรัสกับเขาว่า “อย่า​สง​สัย​เลย แต่​จง​เชื่อ” (ยน. 20:27)

– ในคำพูดของโธมัส ในข้อนี้ เขาคิดว่า พระเยซูกำลังนำตัวเองเข้าไปสู่อันตรายถึงชีวิต

– เขาจึงบอกกับเพื่อนสาวกว่า อย่าให้พวกเราทิ้งพระองค์ ให้เราตามพระองค์ไป แล้วไปตายร่วมกันกับพระองค์ด้วยกัน

– สำหรับโธมัส เขารู้ดีและมีประสบการณ์ว่า พระเยซูทรงช่วยชีวิตพวกเขาจากพายุอันแรงกล้าได้ แต่ครั้งนี้มันไม่ใช่พายุ พระเยซูคงไม่สามารถช่วยพวกเขาให้รอดพ้นความตายได้เป็นแน่

การประยุกต์ใช้ :

– ความไม่เชื่อ จะขวางกั้นไม่ให้เราเห็น สิ่งดีที่พระเจ้ากำลังทรงกระทำเพื่อเรา

– พระเยซู กำลังจะไปแคว้นยูเดียเพื่อประโยชน์ของพวกสาวก(ข้อ15) แต่เพราะความสงสัยทำให้โธมัสมองเห็นว่า พระเยซูกำลังนำสิ่งร้าย หายนะ มาสู่พระองค์เองและพวกเขา

– ให้เรามองสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญวันนี้ ด้วยสายตาแห่งความสงสัย ความไม่เชื่อ เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจผิดว่า เหตุการณ์นี้กำลังนำสิ่งร้ายมาสู่ชีวิตของเรา

– ให้เรามองสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญวันนี้ ด้วยสายตาแห่งความเชื่อ โดยเชื่อมั่นว่า พระเจ้าจะทรงทำให้เหตุการณ์นี้เป็นพระพรสำหรับชีวิตของเราอย่างแน่นอน

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:17) { พระเจ้าไม่เคยมาสาย }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูและพวกสาวกมาถึงบ้านของลาซารัส ที่เบธานี ลาซารัสก็ถูกเอาไปฝังเสียแล้ว 4 วันก่อนหน้านั้น

– ดูเหมือนพระเยซูมาช้าไป พระเยซูมาไม่ทันเวลา ในสายตาของมารธา มารีย์ และคนอื่นๆ

– แต่ความจริงพระองค์มาถึงในเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ เวลาของพระเจ้า

การประยุกต์ใช้ :

– สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญวันนี้ เราอาจกำลังคิดว่า พระเจ้ามาช้า หรือ บางทีอาจจะคิดว่าพระเจ้ามาสายเกินไปเสียแล้ว ทุกอย่างสายเกินแก้แล้ว

– แต่พระเจ้าไม่เคยมาสาย เพียงแต่พระองค์มีเวลาของพระองค์ ซึ่งไม่ตรงกับใจของเราเท่านั้นเอง

– พระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อ จะมาทันเวลาเสมอ ในเวลาของพระองค์ ไม่ใช่เวลาของเรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:18) { เบธานี }

แนวคิด :

– เบธานี หมู่บ้านเล็กๆ ไม่สำคัญอะไรเลย อยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็ม ทางทิศตะวันออก ราว 3 กม. (เหมือนเดินจากบ้านไปหน้าปากซอย แล้วเลยไปอีกหน่อยเท่านั้นเอง)

– หมู่บ้านเล็กๆ ไม่สำคัญนี้ ตำแหน่งที่ตั้งมีความสำคัญมากสำหรับแผนการไถ่ของพระเยซู

– เนื่องจากห่างจากเยรูซาเล็มไม่มาก เมื่อลาซารัสเสียชีวิต เพื่อนๆของครอบครัวนี้ ที่เป็นพวกยิวในเยรูซาเล็ม พอทราบข่าวจึงพากันมาเยี่ยมมารธา มารีย์ ได้ (ข้อ19)

– และเมื่อพวกเห็นการอัศจรรย์ที่พระเยซูทำกับลาซารัส ทำให้พวกยิวบางคน สามารถรีบกลับไปแจ้งพวกฟาริสีได้ในทันที(ข้อ 46) จนเป็นเหตุให้ความอิจฉาที่พวกฟาริสีมีต่อพระเยซู ถึงขีดสุด นำมาซึ่งการวางแผนการฆ่าพระเยซู (ข้อ 53)

การประยุกต์ใช้ :

– เบธานี หมู่บ้านที่ไม่มีความสำคัญใดๆ มันคงไม่รู้ว่าทำไมมันต้องตั้งยู่ห่างจาก เยรซาเล็มแค่ 3 กม.

– แต่ทั้งหมดอยู่ในแผนการของพระเจ้า

– เมื่อพระเยซูทรงใช้ หมู่บ้านเล็กๆที่ไม่สำคัญนี้ กลับเป็นหมู่บ้านที่สำคัญมากต่อมนุษยชาติ และเรื่องของหมู่บ้านนี้ก็ถูกกล่าวขานสู่คนหลายพันล้านคนทั่วโลก ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

– ชีวิตของคนที่ไม่สำคัญอย่างเรา หากให้พระเยซูทรงใช้จะเป็นชีวิตที่สำคัญต่อแผนการของพระเจ้า และจะเป็นพระพรแก่ผู้คนมากมาย

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:19) { กำลังดำเนินตามแผนการอยู่ }

แนวคิด :

– พวกยิวจากเยรูซาเล็มมาหามารธาและมารีย์ เพื่อปลอบโยนพวกนาง

– โดยปกติ ชาวยิวสมัยนั้น มักมาอยู่กับญาติผู้เสียชีวิตเพื่อปลอบประโลมใจ ประมาณ 7 วัน (เหมือนกับ ใน 1ซมอ. 31:13 เป็นต้น)

– พวกยิวที่มาเหล่านี้บางคน จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการอิจฉาพระเยซู จนนำไปสู่การจับกุมและประหารชีวิตพระเยซู ในเวลาต่อมา

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อเหตุการณ์กำลังดำเนินไป สู่แผนการของพระเจ้า บางช่วงเวลาก็เป็นเวลาแห่งความโศกเศร้า เหตุการณ์ทุกอย่างดูเหมือน เป็นไปตามที่ควรจะเป็นของมัน ไม่มีวี่แววของการอัศจรรย์ใดๆเกิดขึ้น แต่ถึงกระนั้น พระเจ้าก็กำลังดำเนินตามแผนการแห่งน้ำพระทัยของพระองค์อยู่ แม้เราจะไม่เห็นก็ตาม

– เมื่อเหตุการณ์ดูเหมือนไม่มีอะไรดีขึ้น ขอให้เรารู้ว่าและมั่นใจได้ว่า พระเจ้ายังคงกำลังดำเนินตามแผนการแห่งน้ำพระทัยอันดีเลิศของพระองค์อยู่ …. กรุณารอสักครู่

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:20) { ในที่สุดก็เสด็จมา }

แนวคิด :

– เมื่อมารธาทราบว่า พระเยซูเสด็จมาแล้ว ด้วยบุคคลิกที่กระตือรือร้นของเธอ (ลก. 10:40) เธอจะรีบออกไปหาพระเยซูอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนเธอจะลืมบอกมารีย์ว่าพระเยซูเสด็จมาแล้ว

– สังเกตได้จากใน ยน. 11:28 … มารธา​ก็​กลับ​ไป​เรียก​มา​รีย์​น้อง​สาว กระ​ซิบ​ว่า “อา​จารย์​เสด็จ​มา​แล้ว​…” ดูเหมือนมารธาเพิ่งบอกมารีย์ในข้อ 28 นี้

– การรีบออกไปของมารธาจนลืมบอกมารีย์นี้ ชี้ให้เห็นว่า นางกำลังรอคอยการมาของพระเยซูอย่างจดจ่อ

– มารีย์กำลังนั่งอยู่  การโศกเศร้าของชาวยิวสมัยนั้นแสดงออกด้วยการนั่ง เช่น นหม. 1:4 “เมื่อ​ข้าพ​เจ้า​ได้​ยิน​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้ ข้าพ​เจ้า​ก็​นั่ง​ลง​ร้อง​ไห้​โศก​เศร้า​อยู่​หลาย​วัน…” ชี้ให้เห็นว่าพวกนางกำลังโศกเศร้าอย่างยิ่ง

– ทั้งที่พวกนางกำลังรอพระเยซูด้วยใจจดจ่อ และ กำลังโศกเศร้า แต่พระเยซูเองกลับจงใจมาหา พวกนาง ล่าช้า ไปถึง 2 วัน

การประยุกต์ใช้ :

– บางครั้งขณะที่เรากำลังรอคอยการช่วยกู้ของพระเยซูด้วยใจจดจ่อ แต่การช่วยเหลือจากพระเยซูก็ยังไม่มาสักที

– บางครั้งเรากำลังโศกเศร้า แต่ดูเหมือนพระเยซูทรงอยู่ห่างไกลจากเราเหลือเกิน

– อย่างไรก็ดีพระเยซู รู้เวลาของพระองค์ เพราะทรงทราบดีว่า เวลาใด และอะไรที่เกิดขึ้นกับเรานั้น ที่จะเป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับเรา

– แล้วในที่สุด พระเยซูก็เสด็จมาหามารธาและมารีย์ ในเวลาของพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:21) { ถ้าพระองค์อยู่ที่นี่ }

แนวคิด :

– เมื่อมารธามาพบกับพระเยซู จึงพูดกับพระเยซู ว่า ถ้าพระเยซูอยู่ตอนลาซารัสป่วย พระเยซูทรงฤทธิ์สามารถช่วยให้เขารอดตาย หายป่วยได้เป็นแน่

– เมื่อมารีย์มาพบกับพระเยซู นางก็พูดประโยคเดียวกันนี้ ใน ยน. 11:32

– ประโยคนี้ มีความเชื่อ แต่ก็ผสมด้วยความอ่อนแอ

– มารธาเชื่อในฤทธานุภาพของพระเยซู ว่า พระเยซูทรงฤทธิ์สามารถรักษาโรคได้ทุกชนิด แต่เธอสงสัยในเวลาของพระเยซู ว่า การมาของพระเยซูน่าจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม น่าจะมาเร็วกว่านี้

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ เราอาจเชื่อในฤทธานุภาพของพระเจ้า ว่าพระเจ้าทรงช่วยเราได้ เปลี่ยนสถานการณ์ในชีวิตของเราได้

– แต่เป็นไปได้ว่า เราไม่ได้วางใจในพระสติปัญญาของพระเจ้า

– เราคิดว่า ถ้าพระเจ้าจะแก้ปัญหานี้ ต้องแก้ด้วยวิธีแบบนี้เท่านั้น แก้ตอนนี้เท่านั้น

– แต่พระเจ้าทรงมีสติปัญญาเลิศล้ำกว่าเรามากนัก พระองค์มีวิธีการของพระองค์ ที่เกินกว่าที่เราจะสามารถเข้าใจได้ พระองค์ไม่จำเป็นต้องช่วยเราด้วยวิธีการที่เราคิดนั้น

– จงเชื่อในฤทธานุภาพของพระเจ้า และ วางใจในพระสติปัญญาของพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:22) { แค่รู้ไม่พอ }

แนวคิด :

– มารธาบอกกับพระเยซูว่า นางทราบว่า ไม่ว่าพระเยซูทูลขออะไรก็ตามต่อพระบิดา พระบิดาจะทรงประทานให้เกิดขึ้น รวมทั้งสิ่งที่พระเยซูจะขอในเวลานี้ด้วย

– ฟังแล้วช่างเป็นคำพูดที่เต็มไปด้วยความเชื่อ แต่ดูเหมือนว่า นางเพียงแค่ทราบ แต่ยังไม่ได้เชื่ออย่างนั้นทั้งหมด

– นางน่าจะหมายถึงว่า เมื่อพระเยซูทูลขอพระบิดา ลาซารัสจะเป็นขึ้นมาในวันสุดท้าย (ข้อ 24)

– แต่ดูเหมือนนาง ยังไม่เชื่อว่า ถ้าพระเยซูทูลขอให้ลาซารัสฟื้นวันนี้ มันจะเกิดขึ้น

– สังเกตได้จาก ใน ยน. 11:39 พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “จง​เอา​หิน​ออก​เสีย” มารธา​จึง​ทูล​พระ​องค์​ว่า “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ศพ​คง​จะ​มี​กลิ่น​เหม็น​แล้ว เพราะ​ว่า​น้อง​ตาย​มา​สี่​วัน​แล้ว”

การประยุกต์ใช้ :

– เป็นการดีที่เรารู้ว่า พระเจ้ายิ่งใหญ่ พระเจ้าทรงฤทธานุภาพสูงสุด พระเจ้าทรงทำได้ทุกสิ่ง

– แต่การรู้ก็เรื่องหนึ่ง การเชื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

– เราอาจจะรู้ แต่เราไม่เชื่อ ก็เป็นไปได้

– วันนี้ ไม่ขึ้นกับว่า เรารู้มากแค่ไหนว่า พระเจ้าทรงช่วยกู้เราได้ แต่ขึ้นกับว่าเราเชื่อแค่ไหนว่า พระเจ้าทรงสามารถช่วยเราได้

– ดังที่พระเยซู ตรัสกับมารธาว่า ยน. 11:40 “เรา​บอก​เธอ​แล้ว​ไม่​ใช่​หรือ​ว่า  ถ้า​เธอ​เชื่อ ก็​จะ​ได้​เห็น​ความ​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​พระ​เจ้า?”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:23) { ไม่ได้รับเต็มที่ }

แนวคิด :

– พระเยซูทรงปลอบโยน มารธา ด้วยคำสัญญาว่า น้องของนางจะเป็นขึ้นมาอีก

– พระเยซูหมายถึง ลาซารัสจะเป็นขึ้นมาในวันนี้ แต่ มารธาเข้าใจว่าหมายถึง จะเป็นขึ้นมาในวันสุดท้าย(ข้อ 24)

– ดังนั้นคำปลอบโยนของพระเยซู จึงไม่ได้ทำให้นางหายจากความโศกเศร้า ในวันนี้

การประยุกต์ใช้ :

– เพราะมารธาใช้ความจำกัดของตนเอง มองดูพระสัญญาของพระเจ้า ผู้ไร้ขีดจำกัด จึงทำให้ พระสัญญานั้น ไม่ได้การปลอบโยนมาสู่เธออย่างเต็มที่

– วันนี้ เมื่อเราอ่าน เมื่อเราระลึกถึง พระสัญญาของพระเจ้า อย่าให้เรามองด้วยความจำกัดของเรา แต่ให้มองด้วยความเชื่อในฤทธานุภาพอันไร้ขีดจำกัดของพระเจ้า

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:24) { ตั้งความหวังต่ำไป }

แนวคิด :

– คนยิวมีความเชื่อเกี่ยวกับ การเป็นขึ้นมาจากความตาย 2 แบบ

– แบบพวกฟาริสี เชื่อว่าคนที่เชื่อในพระเจ้าทุกคนจะเป็นขึ้นมาจากความตายในวันสุดท้าย เมื่อโลกถึงกาลอวสาน มารธาอยู่ในกลุ่มความเชื่อแบบนี้

– อีกแบบ คือ แบบพวกสะดูสี ไม่เชื่อว่าการเป็นขึ้นมาจากความตายจะมีจริง

– เมื่อพระเยซู พยายามบอกมารธาว่า ลาซารัสจะถูกเรียกให้ฟื้นขึ้นจากความตาย(ข้อ23) ดูเหมือนสิ่งนั้นจะเกินความคาดหวังของมารธา ด้วยเหตุนี้เธอจึงเข้าใจคำตรัสของพระเยซู ว่า น่าจะหมายถึง พระเยซูบอกว่ายังไง วันสุดท้ายลาซารัสก็จะฟื้นจากความตายเหมือนคนยิวทั้งหลายนั่นแหละ

การประยุกต์ใช้ :

– เหตุที่มารธา ไม่อาจเข้าใจความหมายที่พระเยซูพยายามสื่อกับนาง ก็เพราะว่านางคาดหวังจากพระเยซู ต่ำเกินไป

– วันนี้ เราคาดหวังจากพระเยซู มากแค่ไหน?

– บางคนไม่กล้าหวังสูงจากพระเยซู เพราะกลัวจะผิดหวัง

– แต่ใครก็ตามที่ตั้งความหวังในพระเยซูไว้สูง บนพื้นฐานจากพระคำ จากคำตรัสของพระเยซู เขาจะไม่มีวันผิดหวังเลย

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:25) { วางใจพระเยซู }

แนวคิด :

– พระเยซูทรงเป็นการเป็นขึ้นมาจากความตาย หมายความว่า  พระเยซูทรงเป็นแหล่งแห่งการเป็นขึ้นมาจากความตาย พระองค์มีสิทธิอำนาจในการให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นขึ้นมาจากความตายได้

– ดังใน ยน. 5:21 “เพราะ​พระ​บิดา​ทรง​ทำ​ให้​คน​ที่​ตาย​แล้ว​เป็น​ขึ้น​มา​และ​ประ​ทาน​ชีวิต​ให้​อย่าง​ไร พระ​บุตร​ก็​จะ​ให้​ชีวิต​แก่​คน​ที่​ท่าน​ปรารถ​นา​จะ​ให้​อย่าง​นั้น”

– พระเยซูทรงเป็นชีวิต หมายความว่า “พระ​องค์​ทรง​เป็น​แหล่ง​ชีวิต”(ยน. 1:4) ผู้ที่จะมีชีวิตในพระเจ้าได้ก็โดยทางพระเยซูเท่านั้น

– ด้วยเหตุนี้ คนที่วางใจในพระเยซู แม้เขาจะตายจากโลกนี้ไป แต่เขาจะไม่จมดิ่งลงในความตายนิรันดร์ แต่จะถูกกลืนเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์

การประยุกต์ใช้ :

– เราจะมีชีวิตในพระเจ้าได้อย่างแท้จริง ก็ด้วยการวางใจในพระเยซูเท่านั้น

– ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราดำเนินชีวิตแบบไม่ค่อยจะวางใจในพระเยซู พระลักษณะของพระเจ้าจึงไม่ได้ปรากฏในชีวิตของเราในช่วงนั้นๆ

– เมื่อเราวางใจในพระเยซู ไม่มีอะไรที่น่ากลัวอีกต่อไป แม้แต่ความตายก็ไม่สามารถพรากชีวิตในพระเจ้าไปจากเราได้เลย

– ให้เราตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะวางใจในพระเยซูอย่างสุดใจอีกครั้ง สำหรับเหตุการณ์ในวันนี้ เพื่อพระลักษณะของพระเจ้าจะปรากฏในชีวิตของเรา ท่ามกลางสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:26) { เธอเชื่อหรือไม่? }

แนวคิด :

– พระเยซูตรัสกับมารธา ว่า ผู้ที่วางใจในพระองค์จะมีชีวิต(ข้อ 25)

– ในข้อนี้พระเยซูตรัสต่อไปว่า ผู้ที่มีชีวิต(ซึ่งเกิดจากการวางใจในพระองค์) ถ้าผู้นั้นวางใจในพระองค์ต่อไป เขาจะไม่พบกับความตายนิรันดร์เลย

– มารธาพูดกับพระเยซูว่า เธอทราบ ถึง 2 ครั้ง (ข้อ 22 และ 24) แต่พระเยซูไม่ได้ถามเธอว่า เธอทราบหรือไม่ แต่ ถามว่า เธอเชื่อหรือไม่

การประยุกต์ใช้ :

– คนที่วางใจในพระเยซู ความตายสำหรับคนนั้น ก็เป็นเพียง การเปลี่ยนสู่สถานะที่ดีกว่าเท่านั้นเอง ไม่ใช่สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวเลย

– ถ้าเราเชื่อจริงๆ ว่า พระเยซูไม่โกหก พระเยซูพูดความจริง เราจะไม่กลัวแม้กระทั่งความตาย

– ไม่สำคัญว่าเราทราบมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคือ เราเชื่อในสิ่งที่เราทราบแล้วนั้นมากเพียงใด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:27) { พระเยซูทรงเป็นพระมาซีฮา }

แนวคิด :

– มารธา ประกาศความเชื่อของเธอ และ ยอมรับพระเยซูทรงเป็นพระมาซีฮา

– มีหลายคนที่พูดเช่นนี้ เช่น

> อันดรู ใน ยน. 1:41 “เรา​พบ​พระ​เมส​สิ​ยาห์​แล้ว” ​(ซึ่ง​แปล​ว่า​พระ​คริสต์) ,

> ยอห์นผู้ให้บัพติศมา ในยน. 1:34 “พระ​องค์​นี้​แหละ​เป็น​พระ​บุตร​ของ​พระ​เจ้า”

> ซีโมน​เป​โตร ใน มธ. 16:16 ​ “พระ​องค์​เป็น​พระ​คริสต์​พระ​บุตร​ของ​พระ​เจ้า​ผู้​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่”

– แต่ดูเหมือนไม่มีใครพูดได้เจาะจงชัดเจน เท่ากับมารธาที่พูดในครั้งนี้

– เมื่อพระเยซูถามมารธาว่า เชื่อไหม ว่าคนที่วางใจในพระองค์ จะไม่ตายแต่จะมีชีวิต(ข้อ 26)

– เธอตอบว่า “เชื่อ” เธอเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น เพราะเธอเชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเธอ

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อมารธา เชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า ดังนั้นเธอจึงเชื่ออย่างมั่นใจว่า สิ่งที่พระเยซูเกิดขึ้นเป็นจริงอย่างแน่นอน

– วันนี้ เราเชื่อจริงๆหรือเปล่าว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดของเรา ผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ?

– ถ้าเราเชื่อจริงๆ ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า ก็จงเชื่อในคำสัญญาที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ในพระคำของพระเจ้าเถิด ว่า มันจะเกิดขึ้นเป็นจริงในชีวิตของเราอย่างแน่นอน

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:28) { การกระทำด้วยความรัก }

แนวคิด :

– ในข้อเรียบง่ายนี้ เราเห็นอย่างน้อย 3 อย่าง ที่ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ตอนนั้นมากยิ่งขึ้น

1. มารธา ดีใจมากที่พระเยซูมาหาพวกเธอ แม้ยามนั้นเธอกำลังทุกข์มากอยู่ก็ตาม เธอดีใจมากจึงรีบออกไปพบพระองค์ จนลืมบอกมารีย์

2. ในครอบครัว มารธาและมารีย์ เมื่อพูดถึงพระเยซู พวกเขาเรียกพระองค์ว่า “พระอาจารย์” ดูเหมือนจะเป็นพระอาจารย์เดียวที่พวกเขานับถือ เพราะมารธาแค่บอกว่าพระอาจารย์มา มารีย์ก็รู้ทันทีว่าหมายถึง พระเยซู

มธ. 23:10 “อย่า​ให้​ใคร​เรียก​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ว่า ‘บรม​ครู’ เพราะ​ว่า​บรม​ครู​ของ​พวก​ท่าน​มี​เพียง​ผู้​เดียว​คือ​พระ​คริสต์”

3. มารธาก็ทราบดีว่า พระเยซูกำลังตกอยู่ในอันตรายจากการปองร้ายของพวกยิว จึงพยายามปกป้องพระเยซู ด้วยการกระซิบเบาๆ เพื่อไม่ให้พวกยิวที่มาจากเยรูซาเล็มรู้ว่า พระเยซูมา

การประยุกต์ใช้ :

– มารธา และ มารีย์ รัก ยกย่อง และให้เกียรติพระเยซู และพวกเธอแสดงออกด้วยการพยายามทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อพระองค์

– แม้การพยายามปกป้องพระเยซูของมารธา ด้วยการกระซิบเบาๆ ไม่ได้ช่วย กันพวกยิวออกจากพระเยซูได้ ในที่สุดพวกยิวก็ตามออกมาอยู่ดี (ข้อ 31) แต่การกระทำของเธอก็แสดงให้เห็นถึงความรักที่มีต่อพระเยซู

– ท่ามกลางสถานการณ์ที่โศกเศร้าเสียใจ มารธาก็ยังไม่หยุดแสดงออกเป็นการกระทำที่มีความรักและเคารพต่อพระเยซู

– วันนี้ไม่ว่าสถานการณ์ของเรากำลังเป็นเช่นไรก็ตาม จงยังคงแสดงออกเป็นการกระทำที่สำแดงว่า เรารักพระเยซู

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:29) { ตอบสนองอย่างไร? }

แนวคิด :

– เมื่อมารีย์ได้ยินว่า พระเยซูมาแล้ว พระเยซูทรงเรียกหาเธอ พระเยซูต้องการพบเธอ

– เธอก็ลืมทุกสิ่ง แม้แต่ความศกเศร้าของเธอ แล้วรีบออกไปหาพระเยซูทันที

– ซึ่งท่าทีนี้ เป็นท่าทีเดียวกันกับมารธาพี่สาวของเธอ ก่อนหน้า

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ พระเยซูมาแล้ว พระเยซูทรงเรียกหาเรา พระเยซูต้องการจะพบกับเรา

– เราจะตอบสนองอย่างไร?

– เราจะนั่งจมอยู่กับความเครียด ความทุกข์ ความโศก ความวิตกกังวล ของเราในวันนี้ต่อไป หรือเราจะรีบลุกขึ้นไปพบพระองค์ในทันที

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:30) { มีเหตุผลของพระองค์ }

แนวคิด :

– เมื่อมารธากลับเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อไปเรียกมารีย์ พระเยซูไม่ได้เข้าไปในหมูบ้านแต่รออยู่ที่เดิมนั้น

– คนยิวจะไม่ฝังศพในเมืองหรือในหมู่บ้าน เป็นไปได้ว่า เหตุที่พระเยซูไม่เข้าไปในหมู่บ้าน ก็เพื่อเตรียมไป เรียกลาซารัสให้ฟื้นจากความตายที่อุโมงค์ฝังศพนั้น

– อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ พระองค์คงอยากพูดคุยกับมารธาและมารีย์ เป็นส่วนตัว เพื่อเล้าโลมใจของพวกเธอ จึงไม่ประสงค์เข้าไปในหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยผู้คนที่กำลังโศกเศร้าและคร่ำครวญ

– อย่างไรก็ดี ไม่เห็นจะสำคัญเลยว่า ทำไมพระองค์จึงไม่เข้าไปในหมู่บ้าน เพียงแต่เราทราบว่าพระองค์มีเหตุผลของพระองค์ นั่นก็เพียงพอแล้ว

– เหมือนมารธาและมารีย์ ไม่ได้ ถามพระองค์ว่า ทำไมพระองค์ไม่เข้าไปในหมู่บ้าน?

การประยุกต์ใช้ :

– บางอย่างที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของเราในวันนี้ เราอาจยังไม่เข้าใจ แต่ให้เรารู้เถิดว่า พระองค์มีเหตุผลของพระองค์ที่ทรงกระทำเช่นนั้น

– วันนี้แม้ยังไม่เข้าใจ ว่า เหตุใดพระองค์อนุญาตให้สิ่งนี้เกิดขึ้น แต่จงไว้ใจว่าพระองค์มีเหตุผลที่ดีเลิศสำหรับการกระทำเช่นนั้นเสมอ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:31) { ผิดแผน }

แนวคิด :

– มารธาพยายามปกป้องพระเยซู ไม่ให้พวกยิวที่มาจากกรุงเยรูซาเล็มรู้ว่า พระเยซูมา  ด้วยการกระซิบเบาๆ บอกกับมารีย์ เรื่องพระเยซู(ข้อ 28)

– มารีย์ก็เช่นกัน เธอรีบออกไปหาพระเยซูแบบเงียบๆ ไม่บอกใคร

– แต่ดูเหมือนความพยายามของเธอทั้งสอง ไม่ได้ผล พวกยิวก็ลุกตามมารีย์ออกไปอยู่ดี และพวกเขาก็พบพระเยซูในที่สุด

– มารธา และ มารีย์ ทำอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ความจริงคือ พระเจ้ามีแผนที่ประเสริฐกว่านั้นมากนัก นั่นคือ พวกยิวจะเห็นลาซารัสเป็นขึ้นมาจากความตายแล้วจะนำข่าวนี้ไปบอกพวกฟาริสีทำให้พวกฟาริสีอิจฉา จนวางแผนที่จะฆ่าพระเยซูในเวลาต่อมา(ข้อ 53)

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อเราทำอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ผลออกมาไม่ได้เป็นดังที่เราคาด ก็ขอให้เราไว้วางใจในพระองค์

– พระเจ้าจงใจให้ผลมันออกมาเช่นนี้ เพราะพระองค์ทรงมีวัตถุประสงค์พิเศษบางอย่างสำหรับเรื่องนี้

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:32) { ยังคงถวายเกียรติ }

แนวคิด :

– เมื่อมารีย์มาพบกับพระเยซู เธอก้มกราบที่พระบาทของพระเยซู เป็นการให้เกียรติและเทิดทูนพระองค์ ต่อหน้าต่อตาของพวกยิว

– ดูเหมือนมารธา ไม่ได้ทำเช่นนั้น(พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าเธอทำ) เป็นไปได้ว่า เพราะมารีย์ฟังคำสอนของพระเยซู และอยู่ใกล้ชิดพระเยซูมากกว่า บ่อยกว่ามารธา (ลก.10:39) จึงสำแดงความรัก ความยำเกรงต่อพระเยซูมากกว่า

– มารีย์ พูดกับพระเยซู เหมือนประโยคที่เหมือนกับมารธาพูดกับพระองค์ (ข้อ 21) เป็นไปได้ว่า พี่น้องคู่นี้คงได้คุยประโยคนี้ด้วยกัน ก่อนที่พระเยซูจะมาถึง

– นอกจากประโยคดังกล่าวแล้ว มารีย์ก็ไม่ได้พูดอะไรอีก นอกจากร้องไห้อย่างเดียว(ข้อ 33)

การประยุกต์ใช้ :

– ผู้ที่ผูกพันกับพระเยซูมาก ก็จะถวายเกียรติแด่พระองค์มาก

– แม้มารีย์กำลังเสียใจมาก ก็ยังมาพบพระเยซู และเมื่อพบพระเยซูเธอก็ยังถวายเกียรติแด่พระเยซู

– ท่ามกลางสถานการณ์ของเราในวันนี้ เรายังถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าอยู่หรือไม่?

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:33) { ทรงสะเทือนพระทัย }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูทรงเห็นมารีย์ร้องไห้ที่พระบาทของพระเยซู รวมทั้งคนอื่นๆที่ตามมาร้องไห้ด้วย(อาจร้องตามธรรมเนียม หรือ ร้องด้วยความเสียใจ ไม่อาจทราบได้) เหตุการณ์นี้ทำให้พระเยซูสะเทือนพระทัย และโศกเศร้าเนื่องจากสงสารเธอ

– พระเยซู ไม่ได้โศกเศร้าสะเทือนใจ เพราะทุกข์ใจแก้ปัญหาไม่ได้ พระองค์ทรงรู้ว่าพระองค์กำลังจะแก้ไขอย่างไร แต่พระองค์โศกเศร้าสะเทือนใจ เพราะรักมารีย์

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อเรานำเรื่องราวของเรา มาร้องไห้ ที่พระบาทพระเยซู พระองค์จะไม่มีวันเมินเฉย พระองค์ทรงรับรู้ความรู้สึกของเรา และเมตตาสงสารเรา

– น้ำตาที่นำมาหาพระเยซู พระองค์ไม่ดูถูก แต่จะทรงเห็นใจและเมตตาเสมอ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:34) { ถามทั้งที่รู้ }

แนวคิด :

– พระเยซูทรงถามว่า เอาศพของลาซารัสไปไว้ที่ไหน?

– เหตุที่พระเยซูทรงถาม ไม่น่าจะเพราะว่าพระองค์ไม่รู้ว่าศพนั้นอยู่ที่ไหน แต่น่าจะเพราะว่าพระองค์อยากให้มารธา มารีย์ และพวกยิวที่ตามมา พากันไปที่อุโมงค์ฝังศพด้วยกัน เพื่อให้แผนการของพระองค์ ที่จะทำให้ลาซารัสเป็นขึ้นมาจากความตาย แล้วนำไปสู่การจับกุมและประหารชีวิตพระเยซูในที่สุด

การประยุกต์ใช้ :

– ไม่ว่าพระเยซูทรงทำอะไร พระองค์ทรงทราบว่าพระองค์ทรงทำสิ่งนั้นเพื่ออะไรเสมอ

– เมื่อพระองค์ทรงกระทำสิ่งใดแก่ชีวิตของเรา พระองค์ทรงทราบดีว่าพระองค์กำลังทรงทำอะไร และพระองค์ทรงจะทำให้น้ำพระทัยของพระเจ้าสำเร็จในชีวิตของเรา ผ่านเหตุการณ์นั้นๆ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:35) { พระเยซูร้องไห้ }

แนวคิด :

– ข้อนี้เป็นข้อที่สั้นที่สุดในพระคัมภีร์ แต่ สำคัญมากและแสดงออกถึงความรักของพระเยซูอย่างชัดเจน

– ทำไมพระเยซูจึงร้องไห้?

– พระเยซูไม่ได้ร้องไห้ เพราะ เสียใจที่มาช้าไป หรือ เสียใจที่ทรงช่วยลาซารัสไม่ได้

– พระเยซูมาในเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้ว และพระองค์ทรงรู้ว่าพระองค์ทรงช่วยลาซารัสได้

– พระเยซูร้องไห้ ก็เพราะพระองค์ทรงรักและสงสารมารีย์ มารธา ไม่ใช่เพราะทรงช่วยพวกเธอไม่ได้แต่เพราะทรงรักพวกเธอ

– สังเกตได้จากอีกครั้งที่บันทึกว่าพระเยซูร้องไห้ คือ ใน ลก. 19:41 “…ทรง​กัน​แสง​สงสาร​กรุง​นั้น”

การประยุกต์ใช้ :

– ข้อนี้เปิดเผยความจริงให้เรารู้ว่า เมื่อเรา ผู้ที่พระเยซูทรงรัก ร้องไห้หรือโศกเศร้าเสียใจ นั้น พระเยซูทรงร่วมความรู้สึกกับเราด้วย

– เป็นไปได้ว่า บ่อยครั้งที่ เราร้องไห้แต่ลำพัง พระเยซูก็กำลังทรงร้องไห้กับเราด้วย ไม่ใช่เพราะพระองค์ช่วยเราไม่ได้ แต่เพราะพระองค์รักและสงสารเรา

– จากนี้ไปวันใดที่เราร้องไห้ พึงระลึกว่า เราไม่ได้ร้องไห้อยู่เพียงลำพัง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:36) { พระเยซูทรงรัก }

แนวคิด :

– เมื่อพวกยิวเห็นพระเยซูร้องไห้ พวกเขาคิดว่าพระเยซูร้องไห้ เพราะช่วยลาซารัสไม่ได้ จนเขาตายไป (สังเกตจาก คำว่า “เขา” เป็นคำเพศชายในภาษากรีก และ คำพูดของพวกเขาในข้อ 37)

– แต่ความจริงพระเยซูร้องไห้ เพราะสงสารมารีย์ มารธา

– พวกเขาไม่เข้าใจพระองค์ เพราะพวกเขาไม่รู้จักฤทธานุภาพของพระองค์

– เมื่อพวกยิวเห็นพระเยซูร้องไห้ เพราะการตายของลาซารัส พวกเขาก็พูดว่า “ดูสิว่า ท่านรักเขามากเพียงใด” ถ้าหากพวกเขาได้รู้ว่า ต่อมาพระเยซูทรงสละพระโลหิตของพระองค์ จนกระทั่งชีวิตของพระองค์เอง เพื่อช่วยลาซารัส ให้พ้นจากนรก พวกเขาจะคิดอย่างไร?

– พวกยิวคิดว่า พระเยซูทำแค่นั้นรักมากแล้ว แต่พระเยซูทรงรักมากยิ่งกว่านั้นอีกมากมายนัก

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ ให้เราพิจารณาดูตามความเป็นจริงในชีวิตของเรา ว่า “ดูสิ พระเยซูทรงรักเรามากเพียงใด”

– พวกยิว ไม่รู้จักพระเยซูจริงๆ จึงเข้าใจได้เพียงเล็กน้อย

– แต่เรารู้จักพระองค์ ให้เราพิจารณาดูความรักของพรเยซูที่มีต่อเถิด

– “ดูสิ พระยซูทรงรักฉันมากเพียงใด”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:37) { ดูถูกพระเยซู }

แนวคิด :

– ในข้อ 36 พวกยิวบางคน พูดอย่างประทับใจที่เห็นพระเยซูร้องไห้เพื่อลาซารัส

– แต่ในข้อนี้ มีพวกยิวบางคน พูดเพื่อกล่าวโทษพระเยซู ว่า ที่ลาซารัสตาย ก็เพราะพระเยซูไม่มีปัญญาช่วยเขาให้หายป่วยได้

– พวกเขากล่าวโทษพระเยซู ว่า พระองค์มาช้าเกินไป และพระองค์ไม่มีฤทธิ์เดชพอที่จะช่วยได้

– ซึ่งความจริงแล้วพวกเขาเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง พระเยซูมาในเวลาที่เหมาะสมแล้ว และพระเยซูทรงฤทธิ์ที่จะช่วยลาซารัสได้แม้เขาตายไปแล้วก็ตาม

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ เรามองดูพระเยซูอย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่?

– เราดูหมิ่นพระองค์ ด้วยการหวาดวิตก หวั่นไหว เพราะเราไม่แน่ใจว่าพระเยซูช่วยเราได้ หรือคิดว่าพระเยซูคงจะมาช้าเกินไป

– หรือ เราถวายเกียรติแด่พระเยซู ด้วยการเชื่อวางใจในพระองค์ อย่างไม่หวั่นไหว เพราะเรารู้แน่ว่าพระเยซูทรงช่วยเราได้แน่และการช่วยเหลือของพระองค์จะมาทันเวลาอย่างแน่นอน

– การวางใจในพระเยซู เป็นการถวายเกียรติแด่พระเยซูอย่างสูง และการไม่วางใจ เป็นการถูกดูพระองค์อย่างยิ่ง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:38) { หินปิดปากอุโมงค์ }

แนวคิด :

– พระเยซูทรงสะเทือนใจอีก คงเพราะเห็นความโศกเศร้าของมารีย์และมารธา ที่พระองค์ทรงรัก

– แม้กำลังสะเทือนพระทัย พระองค์ก็ไม่ละเลยภารกิจสำคัญที่พระองค์ต้องทำ คือไปที่อุโมงค์ฝังศพของลาซารัส

– ตามธรรมเนียมยิวในสมัยนั้น เขาจะเก็บศพของผู้ตาย เอาไว้ในอุโมงค์ ซึ่งอาจเป็นอุโมงค์ธรรมชาติ หรือที่มนุษย์สกัดขึ้นก็ได้ แล้วจะเอาหินมาปิดปากอุโมงค์ไว้ เพื่อป้องกันสัตว์ป่าเข้าไป และเพื่อง่ายต่อการเคลื่อนย้ายเมื่อต้องการเข้าไป

การประยุกต์ใช้ :

– หินที่ปิดปากอุโมงค์นั้น ตามปกติมีไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าเข้าไป แต่บัดนี้เมื่อพระเยซูเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้ หินนั้นกลับ ขวางกั้นไม่ให้ลาซารัสออกมา จนในข้อต่อมาพระเยซูต้องบอกให้เอาหินออกเสีย

– สิ่งเราทำตามปกติเป็นประจำที่ผ่านมานั้น บางครั้งกลับกลายเป็นอุปสรรค ที่ขวางกั้นไม่ให้เราได้เห็นการอัศจรรย์ที่พระเยซูกำลังทำในชีวิตเราได้

– การฟังคำสั่งของพระเยซู จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า การทำตามธรรมเนียมปฏิบัติตามที่เคยทำมา

– จงคอยฟังพระเยซูในแต่ละวันของชีวิต เพื่อจะทราบว่าอะไรเป็นก้อนหินที่ปิดปากอุโมงค์อยู่ในขณะนี้

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:39) { จงเอาหินออกเสีย }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูมาถึงที่อุโมงค์ฝังศพลาซารัส พระองค์สั่งให้ เอาหินออก

– สิ่งที่พระเยซูสั่งให้มารธา มารีย์ ทำนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย

– เพราะธรรมเนียมยิวในช่วงเวลานั้น(ซึ่งต่อมามีบันทึกไว้ในทัลมุด) ห้ามไม่ให้เปิดอุโมงค์ฝังศพหลังจากปิดด้วยก้อนหินแล้ว ยกเว้นมีเหตุจำเป็นจริงๆ (อ้างอิงจาก Commentary Critical and Explanatory on the Whole Bible)

– มารธาพี่สาวของผู้ตาย ซึ่งมีสิทธิบอกให้เปิดอุโมงค์ จึงทักท้วงพระเยซูว่า ไม่ควรจะเปิดอุโมงค์ เพราะป่านนี้ศพคงมีกลิ่นเหม็นแล้ว

– มารธา ไม่เข้าใจ เหตุผลที่พระเยซูสั่งเช่นนั้น และ เธอเองก็มีเหตุผลที่ดีของเธอด้วย ที่จะไม่ต้องเชื่อฟังคำสั่งของพระเยซู

– ในข้อนี้ บันทึกว่า มารธาเรียกพระเยซูว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (จอมเจ้านายของข้าพเจ้า) แล้วตามด้วยเหตุผลที่ขอไม่เชื่อฟัง องค์พระผู้เป็นเจ้า

– เหตุการณ์เหมือนที่เขียนบทเฝ้าเดี่ยวใน ยน.11:12 (ไม่  องค์พระผู้เป็นเจ้า)

การประยุกต์ใช้ :

– บางครั้งการเชื่อฟังพระเยซู ดูเหมือนไม่ค่อยสมเหตุสมผล หรือขัดแย้งกับความคิด สติปัญญา หรือแผนการอันแยบยลของเรา

– แต่การเชื่อฟัง จะนำมาซึ่งพระพรยิ่งใหญ่ในชีวิตของ

– เมื่อพระเยซูให้เปิดอุโมงค์ แล้วกลิ่นเหม็นมันฟุ้งออกมา เราก็ไม่ต้องรับผิดชอบ พระองค์ทรงรับผิดชอบเอง เพราะเราทำตามคำสั่งของพระองค์

– จงให้พระคำของพระเจ้า มีสิทธิอยู่เหนือความคิดและเหตุผลของเรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:40) { ถ้าเจ้าเชื่อ }

แนวคิด :

– มารธาสงสัยว่า พระเยซูจะให้เปิดอุโมงค์ฝังศพไปทำไม (ข้อ39)

– พระเยซูไม่ได้ตอบข้อสงสัยของเธอ ด้วยการให้เหตุผลต่างๆนานาเพื่อให้เธอยอมเชื่อฟัง

– แต่พระเยซูให้เธอระลึกถึงสิ่งพระเยซูเคยบอกกับเธอ

– พระเยซูกลับท้าทายความเชื่อของเธอ ให้เธอเพียงแต่เชื่อแล้วลงมือทำตามที่พระองค์ทรงสั่งก็พอ โดยไม่จำเป็นต้องรู้เหตุผล ที่ให้เปิดอุโมงค์ฝังศพ

– พระเยซูบอกเธอว่า เพียงแต่เธอเชื่อแล้วลงมือทำตาม เธอจะได้เห็นสง่าราศีของพระเจ้า(ข้อนี้ในภาษาเดิมให้คำว่า “สง่าราศี”) คือได้เห็นฤทธานุภาพและความดีเลิศของพระเจ้า ท่ามกลางสถานการณ์นี้

การประยุกต์ใช้ :

– สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ หากเราเชื่อวางใจในพระเยซู แล้วทำตามคำแนะนำในพระวจนะของพระองค์ เราจะเห็นฤทธานุภาพของพระเจ้า และความดีเลิศประเสริฐของพระองค์ในเหตุการณ์เหล่านั้น

– เหตุการณ์ในวันนี้จะถวายเกียรติแด่พระเจ้า ขอเพียงแต่เราจะรักษาความเชื่อวางใจในพระองค์เอาไว้ให้มั่นเท่านั้นเอง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:41) { ขอบคุณด้วยความเชื่อ }

แนวคิด :

– เมื่อมารธายอมเชื่อฟังพระองค์ โดยให้เอาหินที่ปิดอุโมงค์ฝังศพของลาซารัสออก

– พระเยซูก็แหงนหน้าขึ้นต่อฟ้าสวรรค์ ซึ่งเป็นท่าทางในการอธิษฐานต่อพระเจ้า รูปแบบหนึ่ง

– พระเยซูอธิษฐานขอบคุณต่อพระบิดา ที่จะตอบในสิ่งที่พระเยซูอธิษฐาน เกี่ยวกับการให้ลาซารัสฟื้นขึ้นมาจากความตาย

– ก่อนหน้านี้ ใน ยน. 11:4 ​พระ​เยซู​ ตรัส​ว่า “โรค​นี้​จะ​ไม่​ถึง​ตาย แต่​เกิด​ขึ้น​เพื่อ​เชิด​ชู​พระ​เกียรติ​ของ​พระ​เจ้า เพื่อ​ให้​พระ​บุตร​ของ​พระ​องค์​ได้​รับ​เกียรติ​เพราะ​โรค​นี้”

– การที่พระเยซูทรงแหงนหน้าอธิษฐานต่อพระบิดาเช่นนี้ เพื่อให้คนที่เห็นเหตุการณ์รู้ว่า ลาซารัสเป็นขึ้นมาจากความตายนั้น เป็นฤทธิ์อำนาจของพระบิดา ที่ทรงกระทำผ่านพระบุตร ซึ่งสอดคล้องกับที่พระเยซูตรัสใน ยน. 11:4

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อมารธาเริ่มเชื่อฟัง การอัศจรรย์ก็เริ่มต้นขึ้น

– การขอบพระคุณพระเจ้า สามารถทำด้วยความเชื่อ แม้สิ่งนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่เพราะความเชื่อจึงเป็นเหมือนกับว่าสิ่งนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว

– การขอบคุณพระเจ้า เป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า เพราะเป็นการประกาศว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นผลงานของพระเจ้า ไม่ใช่ของเราเอง

– ให้เราขอบคุณพระเจ้า สำหรับเหตุการณ์ในวันนี้ ด้วยความเชื่อ เพราะเรารู้ว่าพระเจ้าจะทรงเป็นผู้กระทำให้มันเกิดเป็นผลดี

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:42) { คำอธิษฐานแบบพ่อลูก }

แนวคิด :

– พระเยซูทรงอธิษฐานที่หน้าอุโมงค์ฝังศพของลาซารัส ว่า ขอบคุณพระบิดาที่ทรงฟังพระองค์ พระองค์ทรงทราบอย่างไม่สงสัยเลยว่า พระบิดาจะทรงตอบทุกคำขอของพระองค์ (รวมทั้งคำขอในสวน​เกท​เสมนี ด้วย)

– ข้อนี้เป็นบทสนทนาระหว่างพ่อ-ลูก พระบุตรเล่าอธิบายให้พระบิดาฟัง ถึงเหตุที่พระบุตรต้องทำเช่นนั้น คือ การที่พระบุตรอธิษฐานขอบคุณพระบิดาที่ทรงฟัง ออกมาให้คนอื่นได้ยิน

– คำอธิษฐานแบบพ่อลูกนี้ จะพบอีกครั้ง ใน ยน.17 และในสวน​เกท​เสมนี

– ทำไมพระเยซูต้องบอกพระบิดาด้วยในเมื่อพระบิดาทรงทราบทุกสิ่งอยู่แล้ว?

– ก็เพราะเป็นความสัมพันธ์อันสนิทสนม และให้เกียรติกัน จึงเล่าและอธิบายให้กันฟัง

การประยุกต์ใช้ :

– เราสามารถอธิษฐานแบบพ่อลูก นี้ กับพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ได้

– ด้วยการเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราให้พระบิดาฟัง ด้วยการอธิบายสิ่งที่เราได้ทำลงไปให้พระบิดาฟัง

– มาอธิษฐานกับคุยพระบิดา แบบพ่อลูกกันเถิด ด้วยการระบายความในใจ และอธิบายสิ่งที่เราทำในวันนี้ ไม่ว่าสิ่งดีๆ หรือแย่ๆ ต่อพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:43) { ลาซารัสออกมาเถิด }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูอธิษฐานกับพระบิดาแล้ว พระเยซูจึงร้องเสียงดัง ว่า ลาซารัส ออกมาเถิด

– พระเยซูสั่งด้วยสิทธิอำนาจ ด้วยเสียงอันดัง

– ใน อสย. 8:19 พูดถึง พวกคนทรงหรือพ่อมดว่า “…​คน​ทรง​หรือ​พ่อมด​แม่มด​ผู้​ร้อง​เสียง​จ้อก​แจ้ก​และ​เสียง​พึม​พำ”…” แต่พระเยซูทำแตกต่างกัน

– ในพระคัมภีร์ บันทึกว่า พระเยซูทรงร้องเสียงดังแบบนี้ อีกแค่เหตุการณ์เดียว คือ บนไม้กางเขน

– มธ. 27:46 พอ​เวลา​ประ​มาณ​บ่าย​สาม​โมง พระ​เยซู​ทรง​ร้อง​เสียง​ดัง​ว่า “เอลี เอลี ลา​มา​สะ​บัก​ธานี” แปล​ว่า “พระ​เจ้า​ของ​ข้า​พระ​องค์ พระ​เจ้า​ของ​ข้า​พระ​องค์ ทำไม​พระ​องค์​ทรง​ทอดทิ้ง​ข้า​พระ​องค์​เสีย?” 

– มธ. 27:50 และ​พระ​เยซู​ทรง​ร้อง​เสียงดัง​อีก​ครั้ง​หนึ่ง แล้ว​สิ้น​พระ​ชนม์

– การร้องเสียงดังของพระองค์ เป็นการประกาศให้คนที่อยู่ใกล้ได้รับทราบ

– และอะไรที่พระเจ้าประกาศนั้น มันก็เกิดขึ้น รวมทั้งลาซารัส ก็ออกมาตามที่พระเยซูประกาศนั้น

การประยุกต์ใช้ :

– สิ่งที่พระเยซูตรัส มันจะเกิดขึ้น

– สิ่งที่พระวจนะกล่าวไว้ มันจะเป็นจริง

– เมื่อพระเยซู เรียกให้ลาซารัสออกมา ทั้งที่เป็นไปไม่ได้ตามความเข้าใจของมนุษย์เพราะเขาตายแล้ว แต่ในที่สุดแล้วเขาก็ออกมาจริงๆ

– สิ่งที่พระเจ้าสัญญากับเราในพระวจนะของพระองค์ แม้วันนี้เรายังไม่เห็น และมันเป็นไปไม่ได้ตามความคิดของเรา แต่ในที่สุดมันจะเกิดขึ้นตามคำตรัสของพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:44) { งานยาก งานง่าย }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูตะโกนให้ลาซารัสออกมา เขาก็เป็นขึ้นจากความตายและออกมา

– แล้วพระเยซูจึงบอกให้คนที่อยู่ที่นั่นแกะผ้าเพื่อปล่อยลาซารัส เพราะการฝังศพของยิวจะมีการเอาผ้ามาพันรอบตัวศพเอาไว้

– สิ่งที่คนทั้งหลายทำ ร่วมกับพระเยซูเพื่อให้ลาซารัสผู้ตายไป 4 วันแล้ว กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง คือ เอาหินปิดปากอุโมงค์ออก และ แกะผ้าที่พันตัวลาซารัสออก เท่านั้นเอง

– พระเยซูทรงทำในส่วนที่มนุษย์ทำไม่ได้ ขณะเดียวกันพระองค์ยินดีให้มนุษย์ร่วมงานกับพระองค์ในส่วนที่พวกเขาทำได้

การประยุกต์ใช้ :

– สถานการณ์ของเราในวันนี้ วิธีแก้ไข ก็เพียงนำเรื่องนั้นมาทูลต่อพระเยซู

– แล้วทำในส่วที่เราทำได้อย่างเต็มที่ ตามคำสั่งและวิธีการในพระคำของพระเจ้า

– จากนั้นก็แค่รอคอยอย่างวางใจ รอให้พระเยซูทำในส่วนของพระองค์ ในเวลาที่พระองค์รู้ว่าเหมาะสมที่สุด เท่านั้นเอง

– งานยากๆคือ แก้ปัญหา พระเยซูทำให้เอง งานง่ายๆ คือ อธิษฐานแล้ววางใจ อันนี้เราต้องทำเอง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:45) { เป็นพระพรยิ่งใหญ่ }

แนวคิด :

– พวกยิวหลายคนที่มาจากเยรูซาเล็ม เพื่อมาปลอบประโลมใจ มารธาและมารีย์ และ พวกเขาตามมาคอยเป็นเพื่อนพวกเธอ จนมาถึงอุโมงค์ฝังศพของลาซารัส

– เมื่อพวกเขาได้เห็นการอัศจรรย์ยิ่งใหญ่ พระเยซูทรงทำให้ลาซารัสที่ตายไป 4 วันแล้ว ฟื้นขึ้นมาจากความตาย

– พวกเขาจึงเชื่อว่า พระเยซูทรงเป็นพระมาซีฮา และวางใจในพระเยซู

– มาถึงจุดนี้ มารธา มารีย์ และแม้แต่ลาซารัสเอง คงจะดีใจอย่างยิ่ง ที่เหตุการณ์ร้ายสำหรับพวกเขา กลับกลายเป็นดี และยังนำพระพรยิ่งใหญ่มาสู่เพื่อนฝูงมากมายของพวกเขา

การประยุกต์ใช้ :

– พวกยิวเหล่านั้น มาเพื่อให้ แต่เขาเองกลับได้รับสิ่งที่ยิ่งใหญ่

– เมื่อเราทำสิ่งที่ดี ด้วยท่าทีที่ถูกต้อง พระเจ้าจะทรงให้สิ่งที่เราได้ทำไปนั้นกลับเป็นพระพรสำหรับชีวิตของเราเอง

– ช่วงลาซารัสตาย เป็นช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้า เสียใจสำหรับมารธาและมารีย์ แต่เมื่อเวลาแห่งการช่วยกู้ของพระเจ้ามาถึง เหตุการณ์นั้น กลับนำพระพรยิ่งใหญ่มาสู่พวกเธอและคนรอบข้างของพวกเธอ

– วันนี้ เราอาจอยู่ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ให้เราอดทนรอคอย เมื่อเวลาแห่งการช่วยกู้จากพระเจ้ามาถึงเหตุการณ์วันนี้จะกลับกลายเป็นพระพรยิ่งใหญ่ทั้งต่อตัวเราเองและต่อคนรอบข้าง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.11:46) { ตอบสนองอย่างไร? }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูทำอัศจรรย์ยิ่งใหญ่ ต่อหน้าต่อตาพวกยิว มีการตอบสนอง 2 แบบ

– แบบแรก เชื่อ แล้วกลับใจ หันมาวางใจในพระเยซู (ข้อ 45)

– แบบที่สอง ไม่เชื่อ แม้จะเห็นกับตาแล้วก็ตาม (ข้อ 46)

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ เมื่อเรามองย้อนกลับไปในชีวิตของเราที่ผ่านมา เราเห็นการอัศจรรย์ และการช่วยกู้จากพระเจ้าในชีวิตของเราครั้งแล้วครั้งเล่า

– เราจะตอบสนองแบบไหน?

– “วันนี้ ฉันจะวางใจในพระเยซู”

– หรือ “แม้ฉันเคยเห็นการช่วยกู้จากพระเยซูแล้วก็ตาม แต่ วันนี้ ฉันไม่ไว้ใจพระเยซูอยู่ดี ว่า จะช่วยฉันผ่านสถานการณ์ที่เผชิญอยู่นี้ไปได้”

– การตอบสนองด้วยความวางใจเป็นการถวายเกียรติพระเจ้า การตอบสนองด้วยความไม่วางใจเป็นการลบหลู่พระองค์