แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:1) {พระเยซูทรงรักจนถึงที่สุด}

แนวคิด :

– ในคืนนั้นก่อนที่พระเยซูจะถูกจับกุม พระเยซูทรงรับประทานปัสกากับพวกสาวก ที่ห้องชั้นบน

– พระเยซูทรงทราบว่าใกล้เวลาที่พระองค์ต้องสิ้นพระชนม์แล้ว

– ที่ผ่านมาพระเยซูทรงรักเหล่าสาวกของพระองค์เรื่อยมา ทรงอดทนและให้อภัยในความอ่อนแอของพวกเขา ทรงสอนพวกเขา และทรงมอบมรดกแห่งข่าวประเสริฐให้แก่พวกเขาเป็นผู้ประกาศ

– และพระเยซูยังทรงรักเขา แม้จนกระทั่งความตายมาพรากพระองค์ไปจากพวกเขา

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูทรงรักบรรดาคนของพระองค์จนถึงที่สุด

– เราทั้งหลาย ผู้เชื่อวางใจในพระเยซูเป็นของพระองค์ พระองค์จะทรงรักเราจนถึงที่สุด

– ในช่วงเวลาที่พระเยซูมาบังเกิดในโลกนี้ ความตายสามารถพรากพระเยซูจากบรรดาคนของพระองค์ ชั่วขณะหนึ่ง ถึงกระนั้นพระเยซูยังคงรักพวกเขาจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายของชีวิต

– บัดนี้พระเยซูทรงเป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว และจะทรงดำรงอยู่นิรันดร์ พระองค์ยังคงจะรักเราผู้เป็นของพระองค์จนถึงที่สุด

– นั่นก็คือพระเยซูจะทรงรักเราชั่วนิจนิรันดร์ ไม่มีวันที่เราผู้เชื่อวางใจในพระองค์จะพรากไปจากความรักของพระเยซูเลย

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:2) { มารดลใจ }

แนวคิด :

– พระเยซูและเหล่าสาวกคนสนิท ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอด 3 ปี กินนอนด้วยกัน ร่วมเดินทางด้วยกันไปยังสถานที่ต่างๆ พบกับพายุในทะเลร่วมกัน และพวกเขาเห็นอัศจรรย์อันน่าตื่นเต้นด้วยกัน

– ขณะที่พวกเขากำลังร่วมรับประทานปัสกาด้วยกันอย่างมีความสุขนั้น

– ยูดาส อิสคาริโอท ก็ตัดสินใจ จะลงมือหักหลังพระเยซู ผู้เป็นทั้งพระอาจารย์และเพื่อน เพราะเขาได้เงินก้อนงามจากพวกหัวหน้าปุโรหิตมาแล้ว 30 เหรียญ (มธ. 26:15)

– ในพระคัมภีร์บันทึกว่า มารเป็นผู้ดลใจให้ยูดาส ทรยศพระเยซู ดังนั้นไม่น่าจะเป็นความผิดของยูดาสใช่หรือไม่?

– ตอบ : เป็นความผิดของยูดาส เพราะ พระเยซูเป็นผู้ตรัสเองว่า “…วิบัติ​แก่​คน​ที่​ทรยศ​บุตร​มนุษย์ ถ้า​คน​นั้น​ไม่​ได้​เกิด​มา​จะ​ดี​กว่า” มก. 14:21

– มารเป็นผู้ดลใจก็จริง แต่ยูดาสเป็นผู้ตอบสนองการดลใจของมาร ในการทำสิ่งชั่วร้าย

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อมารมาล่อลวง ทดลองให้เราทำบาป มันมักจะรู้จุดอ่อนของเรา และใช้จุดอ่อนนั้นเพื่อล่อลวงเรา

– คนที่ต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจตอบสนองนั้น คือ ตัวเราเอง

– แต่เนื่องจากเราอ่อนแอและมารมันก็ช่างล่อลวงได้ตรงจุด ดังนั้นเราจึงหลงกลตามการล่อลวงของมันครั้งแล้วครั้งเล่า

– พระเยซูทรงสอนให้เรารับมือกับการล่อลวงนี้ ด้วยการอธิษฐาน อธิษฐานเพื่อจะไม่ต้องเข้าสู่การทดลอง (ลก. 22:40 “จง​อธิษ​ฐาน​เพื่อ​จะ​ได้​ไม่​ตก​อยู่​ใน​การ​ทด​ลอง”) อธิษฐานเพื่อให้พ้นการทดลอง (มธ. 6:13 ​ ​​​​​ขอ​อย่า​ทรง​นำ​พวก​ข้า​พระ​องค์​เข้า​ไป​ใน​การ​ทด​ลอง แต่​ขอ​ให้​พวก​ข้า​พระ​องค์​พ้น​จาก​ความ​ชั่ว​ร้าย)

– ทุกวันนี้มารยังคงทำงานของมันเพื่อดึงเราเข้าสู่การทดลอง แต่โดยคำอธิษฐานด้วยความช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ จะทำให้เราผ่านพ้นการทดลองนั้นได้อย่างสง่างาม

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:3) { พระเยซูทรงสูงส่ง }

แนวคิด :

– พระคำข้อนี้เป็นประโยคที่สูงส่งมาก เพราะบรรยายถึงพระเยซูอย่างที่พระองค์ทรงเป็น

– ผู้เขียนพระกิตติคุณยอห์นนี้ บรรยายว่า พระเยซูทรงตระหนักดีว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ใด พระองค์มีสิทธิอำนาจใหญ่ยิ่งเพียงใด พระองค์ทรงมีภารกิจยิ่งใหญ่ที่เสด็จมาในโลกนี้มาในฐานะตัวแทนของพระบิดาเลยทีเดียว และพระองค์จะกลับสู่สง่าราศีของพระองค์ในสวรรค์สถานในอีกไม่ช้า

– และทั้งที่พระเยซูทรงตระหนักเช่นนั้น พระองค์ยังคงทำในสิ่งที่บันทึกไว้ในข้อต่อมาๆ คือทำงานของทาสด้วยการล้างเท้าของเหล่าสาวกของพระองค์

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูทรงสูงส่งและสมควรได้รับการยกย่องเชิดชู แต่พระองค์กลับไม่ถือว่าสิ่งนั้นสำคัญ

– สิ่งที่พระเยซูเห็นว่าสำคัญมากกว่านั้นก็คือ การวางแบบอย่างไว้ให้แก่เหล่าสาวกที่พระองค์ทรงรัก(ข้อ1) เพื่อให้พวกเขากระทำตาม

– พระเยซูทรงสูงส่งแต่กลับไม่ใส่ใจกับสง่าราศีของพระองค์ ยอมสละเพื่อผู้ที่พระองค์ทรงรักจะได้รับประโยชน์ วันนี้เราผู้ที่รักพระเยซู เราสละอะไรบ้างเพื่อคนที่พระเยซูทรงรักนั้น

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:4) { กษัตริย์ผู้รับใช้ }

แนวคิด :

– ในห้องชั้นบน ช่วงเทศกาลปัสกา ขณะที่พระเยซูและเหล่าสาวกยังรับประทานอาหารอยู่นั้น(ข้อ2)

– พระเยซูจอมกษัตริย์ผู้สูงส่ง(ข้อ3) ได้ลุกขึ้น แล้วถอดเสื้อคุมชั้นนอกออก ซึ่งตามปกติคนยิวจะถอดออกเมื่อต้องทำงานหรือต้องวิ่ง

– แล้วเอาผ้าเช็ดตัวคาดเอว ซึ่งเป็นการแต่งตัวของคนรับใช้หรือทาส ขณะเมื่อกำลังปรนนิบัติเจ้านายของตน เหมือนตัวอย่างใน ลก. 17:8

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูจอมกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย ถ่อมพระทัยลง ทำหน้าที่ทาสรับใช้ เหล่าชาวประมงไร้การศึกษาที่มาจากบ้านนอก รวมทั้งเพื่อนๆของพวกเขา

– คงไม่มีข้ออ้างใดสำหรับเราผู้เป็นสาวกของพระเยซู เพื่อจะปฏิเสธ ไม่ยอมปรนนิบัติพี่น้อง

– ไม่มีสาวกของพระเยซูคนใด สามารถกล่าวได้ว่า ฉันตำแหน่งใหญ่เกินไป หรือ ฉันสูงส่งเกินไป จนไม่อาจปรนนิบัติรับใช้พี่น้องได้

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:5) { ล้างเท้า}

แนวคิด :

– พระเยซูเริ่มลงมือล้างเท้าเหล่าสาวกทีละคน รวมทั้งยูดาส อิสคาริโอท ด้วย

– เหล่าสาวกกำลังเอนกายรับประทานอาหารอยู่ หันหน้าเข้าโต๊ะ และหันเท้าออกจากโต๊ะ จึงค่อนข้างสะดวกในการล้างเท้าให้แต่ละคน

– ตามปกติหน้าที่ล้างเท้านี้เป็นหน้าที่ของทาสหรือคนรับใช้

– ตามธรรมเนียมยิว สาวกควรจะให้เกียรติอาจารย์ของตนมากยิ่งกว่าบิดาของตนเสียอีก (จาก John Gill’s Exposition of the Entire Bible) ดังนั้นสาวกสมควรจะล้างเท้าให้อาจารย์ที่เขานับถือ

– แต่นี่พระอาจารย์มาล้างเท้าให้สาวก เป็นการกระทำที่เหล่าสาวกไม่เคยประสบ แม้กระทั่งไม่เคยเห็นหรือเคยได้ยินมาก่อนเลย

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูผู้ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงล้างเท้าและเช็ดเท้าให้เหล่าสาวก

– พระองค์วางแบบอย่างแก่เราทั้งหลาย ในการปรนนิบัติพี่น้อง อย่างถ่อมใจ และทำอย่างดีที่สุด

– เราควรถ่อมใจลง ปรนนิบัติพี่น้อง อย่างเต็มใจและสุดกำลังไม่ว่าเขาจะเล็กน้อยสักเพียงใดก็ตาม

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:6) { งง }

แนวคิด :

– “เมื่อพระองค์มาถึงซีโมนเปโตร…” วลีนี้ชี้ให้เห็นว่า พระเยซูทรงล้างเท้าสาวกบางคนก่อนแล้ว พวกเขาไม่ได้กล่าวอะไร เปโตรมองดูการกระทำของพระเยซูนี้อย่างฉงนสนเท่ห์

– เปโตร ถามพระเยซูอย่างสงสัยและประหลาดใจ ในสิ่งที่พระเยซูทรงกระทำ

– 2 วลี “องค์พระผู้เป็นเจ้า” และ “ทรงล้างเท้า” ช่างขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง

– เขาไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าสิ่งที่พระเยซูทำนั้นหมายความว่าอย่างไร(ข้อ 7)

การประยุกต์ใช้ :

– แม้วันนี้เรายังไม่เข้าใจสิ่งที่พระเยซูทรงกระทำกับเรา หรืออนุญาตให้เกิดขึ้นกับเรา แต่สักวันหนึ่งจะมาถึงเราจะเข้าใจ แล้วจะรู้ว่าทั้งหมดที่พระองค์ทรงทำนั้นเพราะพระองค์ทรงรักเรา

– วันนี้แม้ยังไม่เข้าใจ แต่ฉันขอวางใจในพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:7) { ยังไม่ถึงเวลาเข้าใจ }

แนวคิด :

– พระเยซูทรงตอบคำถามของเปโตร ว่า แม้ตอนนี้เขาไม่เข้าใจสิ่งที่พระเยซูได้ทรงกระทำ ว่า

พระองค์จะสอนอะไร หรือปรารถนาให้พวกเขาได้รับ

– แม้พระเยซูจะอธิบายให้เขาฟังบ้างใน ยน. 13:14-15 เขาก็เข้าใจได้แค่บางส่วน แต่ความหมายที่แท้จริงเขาจะเข้าใจได้ในภายหลัง

– ซึ่งหมายถึง การที่พระเยซูถ่อมใจลงปรนนิบัติพวกเขา จนถึงที่สุด คือ สละชีวิตของพระองค์เองเพื่อปรนนิบัติพวกเขา และพระองค์ประสงค์ให้พวกเขาทำเช่นนั้นต่อพี่น้องเหมือนกัน

– ในข้อนี้ มีวลีที่ตรงข้ามกัน คือ “ขณะนี้” และ “ภายหลัง” ,  “ไม่รู้เรื่อง” และ “เข้าใจ” ชี้ให้เห็นว่า เวลาเป็นปัจจัยในการทำให้เกิดความแตกต่างระหว่าง “ไม่รู้เรื่อง” และ “เข้าใจ”

– นั่นคือ การเข้าใจ ขึ้นอยู่กับเวลาที่เหมาะสม

การประยุกต์ใช้ :

– สิ่งที่พระเยซูทรงกระทำ ต่อให้พระองค์อธิบายให้ฟัง แต่ในเมื่อมันยังไม่ถึงเวลาที่จะเข้าใจ เราก็สามารถเข้าใจได้แค่เพียงบางส่วนเท่านั้น

– วันนี้ สิ่งที่เกิดกับเรา เรายังไม่รู้เรื่องว่า พระเจ้ากำลังจะทรงทำอะไรหรือสอนอะไรแก่เรา แต่เท่าที่เราพอเข้าใจได้บางส่วนนั่นก็คือ พระองค์ทรงทำเพราะรักเรา และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราเองจะเข้าใจอย่างกระจ่าง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:8) { องค์พระผู้เป็นเจ้า…ไม่ได้เด็ดขาด }

แนวคิด :

– ข้อก่อนหน้านี้ เปโตร เพิ่งเรียกพระเยซูว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แปลว่า จอมเจ้านาย แต่พอมาถึงข้อนี้ เขาพูดกับพระองค์ว่า “ไม่ได้เด็ดขาด” ช่างเป็น 2 วลีที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง

– หากพระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ย่อมไม่สามารถปฏิเสธความประสงค์ของพระองค์ได้

– พระเยซูอธิบายให้ เปโตรฟังว่า ถ้าไม่ยอมให้พระองค์ล้างเท้า เปโตรจะมีส่วนในพระเยซูไม่ได้

– ซึ่งหมายความว่า ถ้าไม่ยอมรับการปรนนิบัติจากพระเยซูจะมีส่วนในพระเยซูไม่ได้ และการปรนนิบัติที่ว่านั้นก็คือ การที่ให้พระเยซูเป็นตัวแทนรับโทษบาปแทนนั่นเอง

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ถ้าพระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราจริงๆแล้ว เราก็สมควรเชื่อฟังและทำตามน้ำพระทัยของพระองค์

– ไม่ว่าพระองค์จะทำอะไรก็ตามกับชีวิตของเรา จะนำสิ่งใดเข้ามาหรือออกไปจากชีวิตของเรา ก็สุดแล้วแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเจ้านาย เจ้าของชีวิตของเรา เถิด

– พระเยซูปรนนิบัติเราด้วยเนื้อและเลือดของพระองค์ ด้วยชีวิตของพระองค์เอง ขอบคุณพระเยซู !!!

– สิ่งนี้ เป็นสิ่งยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า เราเป็นที่รักของพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:9) { คนละวิธี }

แนวคิด :

– เมื่อได้ยินคำตอบของพระเยซูในข้อ 8 เปโตร กลับไปอีกขั้วหนึ่งเลย

– คราวนี้ไม่ได้ห้ามพระองค์ล้างเท้าเขา แต่บอกให้พระองค์ล้างทั้งมือและทั้งศรีษะของเขาด้วยเลย

– เปโตร เรียกพระเยซูว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า แต่กลับไม่ยอมทำตามวิธีของพระองค์ เขามีวิธีคิดและแนวทางของตนเอง และประสงค์ให้พระเยซูทรงใช้วิธีของเขา

การประยุกต์ใช้ :

– หลายครั้งเราปรารถนาจะทำตามน้ำพระทัยพระเจ้า แต่ทำตามด้วยวิธีของเราเอง ไม่ใช่วิธีของพระเจ้า

– หากเราจะเชื่อฟัง ทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ต้องทำตามด้วยวิธีการของพระองค์ด้วย

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:10) { ล้างแค่เท้าก็พอ }

แนวคิด :

– พะเยซูตรัสตอบเปโตรว่า ไม่จำเป็นต้องล้างมือ ล้างศรีษะ เพราะว่าพวกเขาสะอาดทั้งตัวแล้ว ล้างแค่เท้าก็เพียงพอแล้ว

– หมายถึง พวกเขาได้รับการชำระให้สะอาดด้วยพระโลหิตของพระเยซู ด้วยการเชื่อวางใจในพระองค์ เหมือนใน ยน. 15:3 ที่พระเยซูกล่าวว่า “พวก​ท่าน​ได้​รับ​การ​ชำระ​ให้​สะอาด​แล้ว​ด้วย​ถ้อย​คำ​ที่​เรา​กล่าว​กับ​ท่าน”  เมื่อใครวางใจในถ้อยคำของพระเยซู ผู้นั้นก็รับการชำระให้สะอาด

– แต่ยังคงจำเป็นต้องล้างเท้า คือต้องรับการชำระจิตใจ เปลี่ยนแปลงจิตใจ ต่อไป เพราะเท้าซึ่งดำเนินไปในวิถีของชีวิตในแต่ละวัน ยังคงมีโอกาสผิดพลาดและสกปรกได้

– นั่นคือ การปรนนิบัติที่พระเยซูทรงกระทำแก่พวกสาวก ไม่ใช่เพียงทำครั้งเดียวบนไม้กางเขนเท่านั้น แต่ยังคงดำเนินต่อไปเมื่อพวกเขายังคงอ่อนแอและผิดพลาดไปในการดำเนินชิวตแต่ละวัน พระเยซูผู้อยู่ต่อจำเพาะพระพักตร์พระบิดายังคงปรนนิบัติพวกเขาต่อไป ด้วยการทูลขอแทนพวกเขาต่อหน้าพระบิดา

– ซึ่งในข้อต่อมา พระเยซูก็บอกให้สาวกทำเช่นนั้นต่อกันและกันเช่นกัน(ข้อ 14-15) คือ ปรนนิบัติกันเสมอไป

– ส่วนยูดาส แม้จะได้ยินถ้อยคำของพระเยซู แต่เขาไม่ได้วางใจในพระเยซู จึงไม่ได้รับการชำระให้สะอาด พระเยวูจึงกล่าวว่า “พวก​ท่าน​ก็​สะอาด​แล้ว​แต่​ไม่​ใช่​ทุก​คน”

การประยุกต์ใช้ :

– เราวางใจในพระเยซู ดังนั้นเราจึงได้รับการชำระให้บริสุทธิ์พ้นโทษบาปแล้ว

– แต่ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เรายังคงผิดพลาดพลั้งไปอยู่เสมอ

– ให้เราเข้ามาหาพระเยซูอยู่เสมอ ขอการชำระ ขอการอภัย ในความผิดพลาดพลั้งไปของเรา และขอการเปลี่ยนแปลงโดยการช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพื่อให้เราเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นในทุกๆวัน

– สรรเสริญพระเยซู พระองค์ไม่เพียงแต่สิ้นพระชนม์ชำระล้างบาปของเราทั้งสิ้นแล้วเท่านั้น แต่พระองค์ยังคงพร้อมให้อภัยและเปลี่ยนแปลงเรา ให้อภัยบาปผิดที่เราผิดพลาดพลั้งไปในทุกๆวันอีกด้วย

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:11) { ทรงทราบ }

แนวคิด :

– พระเยซูทรงทราบว่า ยูดาส จะทรยศพระเยซู ก่อนที่ยูดาส จะลงมือทรยศพระองค์เสียอีก(ข้อ 30)

– พระเยซูทรงเป็นพระเจ้า พระองค์ทรงทราบตั้งแต่ก่อนหน้านั้นนานแล้ว ถึงกระนั้นพระองค์ยังคงรักยูดาส และที่ห้องชั้นบนนั้น พระองค์ก็ทรงปรนนิบัติยูดาส ด้วยการล้างเท้าของเขาด้วย

การประยุกต์ใช้ :

– ไม่ว่าเราจะเป็นเช่นไร พระเยซูยังทรงรักเรา

– หากเราจงใจเดินไปในทางที่ขัดขืนต่อน้ำพระทัยของพระเจ้า พระองค์ยังคงรักเรา และปรารถนาให้เรากลับใจ

– วันนี้ หากเรากำลังเดินขัดกับน้ำพระทัย พระองค์ผู้ทรงรักเราทรงทราบ พระองค์ยังคงรอคอยและปรารถนาให้เรากลับใจ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:12) { เข้าใจไหม? }

แนวคิด :

– หลังจากที่พระเยซูเสร็จสิ้นภารกิจ สวมบทบาทของคนรับใช้ ด้วยการล้างเท้าพวกสาวกทุกคนแล้ว พระองค์ก็กลับมานั่งแล้วสวมบทบาทและสิทธิอำนาจของพระอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้าอีกครั้ง เพื่อสอนพวกเขา

– พระองค์ถามพวกเขาว่า พวกเขาเข้าใจในสิ่งที่พระองค์เพิ่งกระทำไปเมื่อสักครู่นี้ หรือไม่

– ทรงถามเช่นนั้น เพื่อนำเข้าสู่การอธิบายความหมายที่ลีกซึ้ง ในข้อต่อไป

– แม้ว่าตอนนี้ ต่อให้อธิบายพวกเขาก็ไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมด แต่พระเยซูก็เต็มใจที่จะอธิบายเท่าที่พวกเขาพอที่จะเข้าใจได้ในขณะนั้น

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ “เราเข้าใจในสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำแก่ชีวิตของเราหรือไม่?”

– ถ้าไม่เข้าใจ เราสามารถเปิดใจฟังการสอนจากพระองค์ ผ่านพระคำของพระองค์ ถ้าเราตั้งใจและสังเกตดีพอสมควร เราก็จะสามารถเข้าใจได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าจะไม่เข้าใจทั้งหมดก็ตาม

– วันนี้ ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ลองมองหาคำตอบในพระคำของพระเจ้าดูสิ แล้วจะพบคำตอบ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:13) { เราเป็นอย่างนั้น }

แนวคิด :

– หลังจากพระเยซูทรงล้างเท้าเหล่าสาวกแล้ว พระองค์ตรัสกับพวกเขา ด้วยการยืนยันฐานะของพระองค์ว่า พระองค์ทรงเป็นพระอาจารย์ของพวกเขา และ ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า

– ทรงอธิบายเชื่อมการกระทำและสถานภาพของพระองค์เข้าด้วยกัน เพื่อพวกเขาจะสามารถเข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทำ

– พระเยซูทรงล้างเท้าพวกเขา ในฐานะของพระอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้า (ซึ่งคำอธิบายเพิ่มเติมอยู่ในข้อต่อมา)

การประยุกต์ใช้ :

– หากเราจะเข้าใจน้ำพระทัยของพระเจ้าได้อย่างถูกต้อง เราจำเป็นต้องรู้จักสถานะของพระองค์อย่างถูกต้องเสียก่อน

– หากอยากจะเข้าใจพระคำของพระเจ้า เราต้องมีท่าทีต่อสถานะของพระองค์ที่มีต่อเราอย่างถูกต้องก่อน

– เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ ด้วยท่าทีว่า พระองค์เป็นเจ้าของชีวิตของเราอย่างสิ้นเชิงมากเท่าใด เราจะสามารถเข้าใจพระคำของพระเจ้าได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปมากเท่านั้น

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:14) { ล้างเท้ากันและกัน }

แนวคิด :

– พระเยซูผู้ทรงเป็นพระอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้าของเหล่าสาวก ยังล้างเท้าของเหล่าสาวก จึงไม่เป็นการมากเกินไปเลยที่จะเรียกร้องให้เหล่าสาวก ล้างเท้าของกันและกันด้วย

– พระเยซู วางแบบอย่าง แห่งความถ่อมใจ การเสียสละ และการปรนนิบัติ ให้แก่เหล่าสาวก

การประยุกต์ใช้ :

– ไม่มีใครตำแหน่งใหญ่เกินไป จนไม่สามารถลดตัวมาปรนนิบัติพี่น้องคนอื่นได้

– พระเยซูอยากให้เราทำกับพี่น้อง เหมือนอย่างที่พระองค์ได้ทรงกระทำต่อเรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:15) { วางแบบอย่าง }

แนวคิด :

– พระเยซูวางแบบอย่างแก่สาวก ไม่เพียงแต่การทำการอัศจรรย์เท่านั้น แต่ยังวางแบบอย่างในความรัก ความเมตตา ความถ่อมใจ ความอดทน

– พระเยซูประสงค์ให้เหล่าสาวกของพระองค์ ทำตามแบบอย่างที่พระเยซูได้ทรงกระทำนั้น

– สาวกย่อมทำตามสิ่งที่อาจารย์ได้ทำนั้น

การประยุกต์ใช้ :

–  พระเยซูได้ทรงให้อภัยเราอย่างไรบ้าง? พระองค์ประสงค์ให้เราให้อภัยเช่นนั้นเหมือนกัน?

–  พระเยซูได้ทรงรักเราอย่างไรบ้าง? พระองค์ประสงค์ให้เรารักเช่นนั้นเหมือนกัน?

–  พระเยซูได้ทรงปรนนิบัติเราอย่างไรบ้าง? พระองค์ประสงค์ให้เราปรนนิบัติเช่นนั้นเหมือนกัน?

–  ขอให้เราระลึกถึงสิ่งที่พระเยซูทรงกระทำแก่เรา แล้วลงมือทำสิ่งนั้นแก่พี่น้องเถิด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:16) { ทำตามเจ้านาย }

แนวคิด :

– เป็นความจริงสากล คือ นายย่อมใหญ่กว่าบ่าว คนที่ใช้ทูตไปย่อมใหญ่กว่าทูต

– ขนาดพระเยซูผู้เป็นใหญ่กว่าเหล่าสาวก ยังปรนนิบัติสาวก

– ดังนั้น เหล่าสาวกผู้เล็กน้อยกว่าพระเยซู จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะปรนนิบัติ ผู้ที่พระเยซูทรงปรนนิบัตินั้น

การประยุกต์ใช้ :

–  ถ้าเราให้พระเยซูเป็นเจ้านายของเรา เราก็ควรปรนนิบัติผู้ที่เจ้านายของเราปรนนิบัติ – พระเยซูทรงใช้ชีวิตของพระองค์ทั้งหมด เพื่อปรนนิบัติพี่น้องคริสเตียน เราก็สมควรปรนนิบัติพี่น้องคริสเตียนเหล่านี้อย่างสุดกำลังเช่นเดียวกัน

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:17) { รู้และทำตาม }

แนวคิด :

– พระเยซูสอนเหล่าสาวกว่า ถ้าพวกเขารู้ว่า พระอาจารย์ของพวกเขายังปรนนิบัติสาวก และพวกเขาทำตามสิ่งที่พระอาจารย์ทำนี้ พวกเขาจะได้รับพระพรจากพระเจ้า

– หากเพียงแค่รู้ ก็จะได้รับพระพรที่แท้จริง

– หากทำแบบทำตามหน้าที่ ไม่ได้มาจากจิตใจที่รู้ซึ้งว่า “พระอาจารย์ยังทำ ฉันจึงปรารถนาอยากจะทำเหมือนพระอาจารย์ด้วย” ก็จะไม่ได้รับพระพรอย่างสมบูรณ์

การประยุกต์ใช้ :

–  เราจำเป็นต้องตระหนักว่า พระเยซูทรงทำอะไร อย่างไร โดยดูจากพระคำของพระเจ้า

– เมื่อเรารู้แล้ว เราก็ดำเนินตาม วิถีที่พระเยซูทรงดำเนินนั้น

– รู้ แล้วทำตาม เป็นหนทางแห่งพระพร

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:18) { เลือกตัวแทน }

แนวคิด :

–  ผู้ที่พระเยซูทรงเลือก ในข้อนี้ ชัดเจนว่าไม่รวม ยูดาส อิสคาริโอท

– แต่ใน ยน. 6:70 ​พระ​เยซู​ตรัสเองว่า “เรา​เลือก​พวก​ท่าน​สิบ​สอง​คน​มิใช่​หรือ และ​คน​หนึ่ง​ใน​พวก​ท่าน​เป็น​มาร​ร้าย” คำว่าเลือก ใน ยน. 6:70 ​นี้ เห็นได้ชัดว่า รวมยูดาส ไว้ด้วย

– ดังนั้น การ “เลือก” ที่กล่าวถึงในข้อนี้ จึงไม่ได้หมายถึงการเลือกสาวก แต่เป็นการเลือกอัครทูตที่จะรับหน้าที่ เป็นตัวแทนของพระเยซู ส่งต่อสิ่งที่พระเยซูได้วางแบบอย่างไว้ ไปยังประชาชาติ จนสุดปลายแผ่นดินโลก

– พระเยซูตรัสว่า ยูดาส ไม่ใช่ผู้ถูกเลือก เขาเป็นเพื่อนของพระเยซูแท้ๆ(ร่วมรับประทานอาหาร)แต่เขากลับทรยศต่อพระเยซู(ยกส้นเท้า)

– ยก​ส้น​เท้า ​หมายถึง​  การ​ไม่​ยอมรับ ​การ​เป็น​ศัตรู ​หรือ​ การ​กบฏ

– ซึ่งสิ่งนี้ ป็นตามคำพยากรณ์ใน สดด. 41:9 “แม้ว่า​เพื่อน​ใน​อก​ของ​ข้า​พระ​องค์ ผู้​ซึ่ง​ข้า​พระ​องค์​ไว้วางใจ ผู้​รับประทาน​อาหาร​ของ​ข้า​พระ​องค์​ก็​ยก​ส้น​เท้า​ใส่​ข้า​พระ​องค์”

– การทรยศของยูดาสนี้ เป็นไปตามคำพยากรณ์ที่ได้บอกไว้ล่วงหน้าหลายร้อยปีก่อนหน้านี้ จึงเป็นการยืนยันชัดเจนว่า การทรยศและการจับกุมพระเยซูนี้ไม่ได้เกิดจาก พระเยซูเสียท่า ถูกเพื่อนทรยศจึงถูกศัตรูจับตัวไป แต่เกิดขึ้นตามแผนการนิรันดร์ของพระเจ้า

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูทรงรู้จักเราเป็นอย่างดี รู้จักความน่ารังเกลียด ความอ่อนแอ ความไม่เอาไหนของเรา ถึงกระนั้นพระองค์ยังทรงเลือกและเรียกเรา ให้เข้ามาแผ่นดินของพระองค์ เข้ามารับเกียรติและสง่าราศีจากพระองค์

– และพระองค์ให้เกียรติเรา มอบหมายภารกิจให้เราทำ คือ เป็นตัวแทนของพระเยซู สำแดงพระลักษณะของพระองค์แก่คนในโลกนี้

– เราผู้ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของพระองค์ในโลกนี้ สมควรอย่างยิ่งที่จะทำตัวสมกับเป็นตัวแทนของพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:19) { ทรงทราบทุกสิ่ง }

แนวคิด :

– พระเยซูทรงบอกกับพวกสาวก เกี่ยวกับยูดาสที่จะทรยศพระเยซูไว้ล่วงหน้า เพื่อว่าเหตุการณ์ถูกทรยศมาถึง พวกเขาจะได้เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮา

– เมื่อพระเยซูถูกทรยศ อาจเป็นเหตุให้พวกสาวกไขว่เขวได้ คิดไปว่า พระเยซูพลาดท่า เสียที เสียแล้ว ซึ่งจะทำให้พวกเขาสงสัยในความเป็นพระมาซีฮาของพระเยซู

– แต่การที่พระเยซูบอกพวกเขาล่วงหน้า เมื่อพระเยซูถูกทรยศ พวกเขากลับจะสามารถยิ่งรู้และมั่นใจได้ว่า พระเยซูเป็นพระมาซีฮา เพราะพระองค์ทรงสัพพัญญู ทรงทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าอย่างชัดเจน

การประยุกต์ใช้ :

– ในเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น พระเจ้าทรงฤทธิ์สามารถทำให้กลายเป็นพระพรได้ – วันนี้ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เรากำลังประสบจะเป็นเช่นไร พระเจ้าทรงฤทธิ์สามารถทำให้มันกลายเป็นพระพรยิ่งใหญ่ได้ทั้งสิ้น

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:20) { ทูตของพระเจ้า }

แนวคิด :

– ผู้ที่ต้อนรับทูต ก็เป็นเหมือนต้อนรับกษัตริย์ที่ทรงใช้ทูตนั้นไปด้วย

– ผู้ที่ปฏิเสธทูต ก็เป็นเหมือนปฏิเสธกษัตริย์ที่ทรงใช้ทูตนั้นไปด้วย

– พระเยซูตรัสหนุนใจเหล่าสาวก ว่า ถึงแม้จะมีหลายคนที่ปฏิเสธพระองค์อย่างยูดาส และหลายคนจะปฏิเสธพวกเขา แต่ก็จะมีหลายคนที่จะต้อนรับพระองค์และพวกเขา

– แต่การปฏิเสธและต้อนรับนั้น พวกเขาไม่จำเป็นต้องเดือดร้อน เพราะผู้ที่จะตอบแทนผลของการตอบสนองของคนเหล่านั้น คือ พระบิดาผู้ทรงใช้พระเยซูมา พระองค์จะเป็นผู้จัดการกับเรื่องนี้เอง

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อเราเชื่อฟัง กระทำตามถ้อยคำของพระเจ้า ในพระวจนะของพระองค์ ไม่ว่าผลออกมาเป็นอย่างไร เราไม่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ พระเจ้าจะรับผิดชอบเอง

– เมื่อคนอื่นตอบสนองอย่างเหมาะสม พระเจ้าจะอวยพรเขาเอง

– เมื่อคนอื่นตอบสนองอย่างไม่ถูกต้อง พระเจ้าจะจัดการกับเขาเอง

– เมื่อเราทำตามคำบัญชาของพระเจ้า พระเจ้าจะรับผิดชอบเอง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:21) { ทรงทุกข์พระทัย }

แนวคิด :

– “พระเยซูทรงทุกข์พระทัย” ในข้อนี้เมื่อดูจากบริบทข้อก่อนหน้านี้ และประโยคที่ตามๆมาหลังวลีนี้ ล้วนแต่กำลังพูดถึง ยูดาส ที่กำลังจะทรยศพระเยซู

– ดังนั้น ความทุกข์พระทัยในข้อนี้ จึงน่าจะเพราะว่า ยูดาสจะทรยศพระองค์

– ทำไมพระองค์จึงทุกข์ใจ? ก็เพราะพระเยซูทรงรักยูดาสมาก คนที่รักมากซึ่งทำให้เจ็บปวดได้มาก

การประยุกต์ใช้ :

– แม้แต่ ยูดาส ที่กำลังจะทรยศพระเยซู พระองค์ก็ยังทรงรักเขา ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด เราผู้ติดตามพระองค์ ย่อมเป็นที่รักของพระองค์อย่างแน่นอน

– พระเยซูทรงรักเรามาก และแน่นอนเราเองจะเป็นผู้ที่สามารถทำให้พระเยซูเจ็บปวดพระทัยได้มาก หรือชื่นพระทัยได้มากเช่นกัน

– วันนี้ การกระทำของเราทำให้พระเยซูชื่นพระทัย หรือ เจ็บปวดพระทัย

– หากเรากำลังทำให้พระเยซูทรงเจ็บปวดพระทัย จงกลับใจเพื่อพระองค์จะได้ชื่นพระทัย เมื่อเห็นเรากลับใจ – สดด. 51:17 เครื่อง​บูชา​ที่​พระ​เจ้า​ทรง​ปรารถ​นา​คือ​จิต​ใจ​ที่​แตก​สลาย ใจ​ที่​แตก​สลาย​และ​สำ​นึก​ผิด​นั้น ข้า​แต่​พระ​เจ้า พระ​องค์​จะ​ไม่​ทรง​ดู​ถูก

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:22) { รู้หน้า ไม่รู้ใจ }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูตรัสว่า จะมีคนหนึ่งในพวกสาวกทรยศพระองค์(ข้อ 21) พวกสาวกก็พากันงง เพราะดูเหมือนไม่มีใครที่น่าจะเป็นคนนั้นได้เลย

– ใน ลก. 22:23 พวก​เขา​จึง​เริ่ม​ถาม​กัน​และ​กัน​ว่า​คน​ไหน​ใน​พวก​เขา​ที่​จะ​ทำ​สิ่ง​นี้

– คนที่น่าสงสัยอาจจะเป็น มัทธิวซึ่งเคยเป็นคนเก็บภาษี คนเห็นแก่เงินจนยอมทรยศชนชาติของตนได้ หรือจะเป็นซีโมนพรรคชาตินิยมซึ่งเป็นพวกหัวรุนแรง หรือจะเป็นคนอื่น

– ใน มก. 14:19 พวก​สา​วก​ก็​พา​กัน​เป็น​ทุกข์​และ​ทูล​ถาม​พระ​องค์​ที​ละ​คน​ว่า “เป็น​ข้า​พระ​องค์​หรือ?”

– และใน มธ. 26:25 ยูดาส​คน​ที่​ทรยศ​พระ​องค์​ทูล​ว่า “พระ​อา​จารย์ คือ​ข้า​พระ​องค์​หรือ?” พระ​องค์​ตรัส​ตอบ​เขา​ว่า “ท่าน​ว่า​ถูก​แล้ว”

– แม้พระองค์ตอบยูดาสเช่นนั้น ก็ดูเหมือนไม่มีใครเข้าใจ

– ใน ยน. 13:28 ไม่​มี​ใคร​ใน​บรร​ดา​คน​ที่​เอน​กาย​ร่วม​โต๊ะ​อาหาร​ที่​รู้​ว่า​ทำ​ไม​พระ​องค์​ถึง​ตรัส​กับ​เขา​อย่าง​นั้น

– ก็เพราะยูดาสไม่น่าจะเป็นที่ทรยศพระเยซูที่สุด เนื่องจากยูดาสเป็นคนที่น่าไว้ใจมากที่สุดจนพวกสาวกยอมให้เขาเป็นคนถือกระเป๋าเงินกองกลาง หน่ำซ้ำเขายังดูเหมือนเป็นที่เมตตาสงสารคนยากจนอีกด้วย(ยน. 12:5-6)

การประยุกต์ใช้ :

– คนเรารู้หน้า ไม่รู้ใจ

– จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง

– เราไม่อาจตัดสินคน จากลักษณะหรือแม้แต่การกระทำภายนอกของเขาได้

– ดังนั้นไม่ควรตัดสินพี่น้อง แต่มอบการตัดสินนั้นให้เป็นของพระเจ้าผู้ทรงชันสูตรจิต สำรวจใจ ของมนุษย์ เป็นผู้ตัดสินจะดีกว่า

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:23) { สาวกที่พระองค์ทรงรัก }

แนวคิด :

– ยอห์น พูดถึงตนเอง อย่างภาคภูมิใจว่า เขาเป็น “สาวกที่พระองค์ทรงรัก” (ยน. 19:26; ยน. 20:2; ยน. 21:7; ยน. 21:20)

– วลีที่เขากล่าวถึงตัวเองนี้ ไม่ได้มีความหมายว่า เขาบอกว่า พระเยซูรักเขามากกว่าคนอื่น

– เขาอธิบายไว้ชัดเจน ใน ยน. 13:1 ว่า พระเยซูทรงรักสาวกทุกคนจนถึงที่สุด “… พระ​องค์​ทรง​รัก​บรร​ดา​คน​ของ​พระ​องค์​ที่​อยู่​ใน​โลก​นี้ พระ​องค์​ทรง​รัก​เขา​ทั้ง​หลาย​จน​ถึง​ที่​สุด”

– แต่วลีที่เขากล่าวนี้ เต็มไปด้วยความถ่อมใจ เขาไม่เอ่ยถึงชื่อของตนในหนังสือของเขาเลย ขณะเดียวกันเขาภูมิใจว่า เขาเป็นสาวกคนหนึ่ง และสาวกผู้ได้รับความรักจากพระเยซู

– คำที่เขาเรียกตนเอง จึงใช้คำว่า สาวกที่พระองค์ทรงรัก

– การเอน​กาย ​เป็นท่าทางในงาน​เลี้ยง​​สมัย​ของ​พระเยซู ​ตามธรรม​เนียม​ของ​พวกยิว​สมัย​นั้น แขก​ต้อง​นั่ง​ลง​กับ​พื้น​และ​นอน​เอียง​ข้าง​โดย​ใช้​แขน​ซ้าย​พยุง​ตัว  ​มือ​อีก​ข้าง​ใช้​หยิบ​อาหาร​ใส่​ปาก​

การประยุกต์ใช้ :

– เหตุที่ยอห์น รักพระเยซู เพราะเขาซาบซึ้งและภูมิใจที่เขาถูกรักโดยพระเยซู

– วันนี้ พระเยซูทรงสำแดงแก่เราแล้วว่าพระองค์ทรงรักเราอย่างที่สุด โดยการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อเรา

– วันนี้ขอให้เราซาบซึ้งและภูมิใจที่เราเป็นที่รักของพระเยซูเถิด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:24) { ถามพระเยซู }

แนวคิด :

– เปโตรอยากรู้ว่า คนที่พระเยซูพูดว่า เขาจะทรยศพระเยซูนั้นคือใคร แต่ดูเหมือนว่า เขาจะนั่งห่างพระเยซู จนไม่สามารถกระซิบถามพระองค์ได้

– เขาจึงส่งสัญญาณให้ยอห์นที่อยู่ใกล้พระเยซูมากกว่า ให้ช่วยถามพระเยซูให้หน่อย

– ยอห์นเองก็คงอยากจะถามอยู่แล้ว แต่กล้าๆกลัวๆ ไม่กล้าถาม เพราะสังเกตจากการที่เปโตรเพียงแค่พยักหน้า ส่งสัญญาณให้เขา รู้ทันทีว่าเปโตรอยากให้เขาทำอะไร เพราะเขากำลังคิดอย่างนั้นเหมือนกัน

– เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า เหล่าสาวกเดาไม่ออกเลยว่า ใครกันในพวกเขาที่จะทรยศพระเยซูได้

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อเราเผชิญสถานการณ์ในชีวิตที่เราไม่อาจคาดเดา หรือคิดออกได้ หรือมึนงง วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ได้ง่ายและดีที่สุด ก็คือ นำเรื่องนั้นมาถามพระเยซู เหมือนอย่างที่เปโตรและยอห์นทำ

– เปโตรแม้จะนั่งอยู่ไกล ไม่สะดวกที่จะถาม ก็ไม่ใช่สิ่งนี้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ถามพระเยซู แต่เขาไม่ละความพยายามที่จะถาม โดยผ่านยอห์นอยู่ดี

– เมื่อเผชิญปัญหา ที่รู้อาจหาคำตอบ จงนำมาทูลถามพระเยซู

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:25) { ผลกระทบจากคำถาม }

แนวคิด :

– หลังจากได้รับการจุดประกายจากเปโตร(ข้อ24) ยอห์นผู้นั่งอยู่ใกล้พระเยซู จึงกระซิบถามพระเยซู ว่า ใครคือผู้ทรยศที่พระเยซูพูดถึง

– ดูเหมือนว่า ทั้งคำถามและคำตอบ ที่ยอห์นและพระเยซู คุยกัน สาวกคนอื่นๆจะไม่ได้ยิน (ยน. 13:28)

– คำตอบที่ยอห์นได้ยินและได้เห็นนั้น ทำให้เขาช็อค เมื่อเขาเห็นพระเยซูเฉลยว่า ใครคือคนนั้น คนนั้นคือ ยูดาส ผู้ที่เหล่าสาวกไว้ใจมากที่สุดจนให้ถือกล่องเงิน

– ยอห์น เห็นพระเยซูยื่นขนมปังให้เขา(ข้อ 26) ได้ยินสิ่งที่พระเยซูพูดกับเขา (ข้อ27) แล้วเห็นเขารีบออกไปทันที(ข้อ30)

– จึงเป็นเหตุให้ ยอห์นเป็นคนเดียวในบรรดาผู้เขียนพระกิตติคุณที่จดจำคำพูดสำคัญที่พระเยซูพูดต่อจากนั้นได้ คือ บัญญัติใหม่(ข้อ 31-35)

– (มัทธิวนั่งอยู่ที่นั่น เปโตรผู้ใกล้ชิดกับมาระโกก็นั่งอยู่ที่นั่น)

การประยุกต์ใช้ :

– การกระทำธรรมดาๆบางอย่างที่เราทำ พระเจ้าสามารถทรงใช้มัน ให้กลายเป็นผลกระทบสำคัญเพื่อให้แผนการของพระเจ้าสำเร็จ ได้เสมอ

– เพราะยอห์นอยู่ใกล้ชิดพระเยซู พระองค์จึงทรงเปิดเผยความลับบางอย่างซึ่งปกติจะไม่เปิดเผย ให้เขาได้รับรู้

– เมื่อพระเจ้าทรงเปิดเผยหรือสำแดงอะไรแก่เรา สิ่งนั้นจะมีผลกระทบยิ่งใหญ่เสมอ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:26) { พระองค์ทรงตอบ }

แนวคิด :

– พระเยซูทรงตอบคำถามที่ ยอห์นกระซิบถาม ว่าใครคือผู้ทรยศ (ข้อ 25) แล้วพระเยซูก็แสดงให้ยอห์นรู้ว่า คนนั้นคือ ยูดาส แต่ดูเหมือนว่านอกจากยอห์นแล้ว ไม่มีใครได้ยินสิ่งที่พระเยซูตรัส และไม่มีใครรู้ว่าที่พระเยซูทำนั้นหมายถึงอะไร แม้แต่ยูดาสเอง

– ข้อนี้เป็นดัง ยน. 13:18 ที่พระเยซูกล่าวว่า “… คน​ที่​รับ​ประ​ทาน​อาหาร​ของ​เรา​ยก​ส้น​เท้า​ใส่​เรา”

– ดูเหมือนพระเยซูยินดีตอบข้อสงสัยของยอห์น แต่ก็ไม่ประสงค์ให้สาวกคนอื่นๆได้รับรู้ เพราะหากทุกคนรับรู้แล้ว อาจมีการขัดขวางแผนการของพระเจ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นก็เป็นไปได้

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อเราทูลถามพระองค์ พระองค์ไม่ปฏิเสธที่จะตอบเรา เพียงแต่บางครั้งพระองค์จงใจเปิดเผยให้แก่เราในบางส่วนก่อน เพื่อให้แผนการแห่งน้ำพระทัยของพระเจ้าสำเร็จในชีวิตของเรา

– วันนี้เราอาจตั้งคำถามว่า ทำไมเหตุการณ์เช่นนี้จึงต้องเกิดขึ้นกับเรา เมื่อเรานำสิ่งนี้มาร้องทูลต่อพระเจ้า พระองค์จะทรงเปิดเผยแก่เรา โดยจะทยอยเปิดเผยให้เราเข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

– ยรม. 33:3 “จง​ทูล​เรา และ​เรา​จะ​ตอบ​เจ้า และ​จะ​บอก​สิ่ง​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​ซ่อน​อยู่ ซึ่ง​เจ้า​ไม่​รู้​นั้น​แก่​เจ้า”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:27) { มารเข้าสิง }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูยื่นขนมปังให้ยูดาสรับประทานแล้ว ดูเหมือนว่า เขาจะเริ่มสังเกตได้ว่า พระเยซูน่าจะรู้ตัวแล้ว ว่าเขาจะทรยศพระองค์ ดังนั้นเขาต้องรีบลงมือก่อนที่จะถูกขัดขวาง หรือก่อนที่พระเยซูจะหนีไป

– มธ. 26:25 ยูดาสคนที่ทรยศพระองค์ทูลว่า “พระอาจารย์ คือข้าพระองค์หรือ?” พระองค์ตรัสตอบเขาว่า “ท่านว่าถูกแล้ว”

– แล้วซาตานก็เข้ามาครอบครองในจิตใจของเขา

– ซึ่งก่อนหน้านี้ ซาตานก็ได้ดลใจเขาที่จะทรยศพระเยซู อยู่ก่อนแล้ว

– ใน ลก. 22:3 ซา​ตาน​เข้า​ดล​ใจ​ยูดาส​ ให้ไปหาพวกมหาปุโรหิต

– ใน ยน. 13:2 “ขณะ​เมื่อ​รับ​ประ​ทาน​อาหาร​เย็น​อยู่​นั้น (มาร​ได้​ดล​ใจ​ยูดาส​บุตร​ของ​ซีโมน อิส​คา​ริ​โอท​ให้​ทรยศ​พระ​องค์​แล้ว)”

– พอมาถึงจุดนี้ พระเยซูบอกเขาว่า “ท่าน​จะ​ทำ​อะไร​ก็​จง​ทำ​เร็วๆ”

– พระเยซู ไม่ได้สั่งให้เขาทรยศพระองค์ แต่มาถึงจุดนี้ พระองค์ปล่อยเขาให้เขาทำตามใจปรารถนาของเขาแล้ว ยั้งไม่อยู่แล้ว

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อมารเข้ามาโจมตีความคิดของเรา มักไม่ได้ทำให้เราทำผิดบาปในทันที แต่หากเรายังคงไม่ไล่มันไป มันจะครอบงำความคิดของเรามากยิ่งๆขึ้น จนในที่สุด เราก็ตกลงสู่หลุมพลางแห่งบาปที่มันขุดเอาไว้

– อฟ. 4:27 อย่า​ให้​โอ​กาส​แก่​มาร

– ยก. 4:7 …จง​นอบ​น้อม​ต่อ​พระ​เจ้า จง​ต่อ​สู้​กับ​มาร แล้ว​มัน​จะ​หนี​ท่าน​ไป

– วันนี้ หากเรายังคงยินดีต้อนรับความคิดจากมาร ให้เข้ามาสู่ในความคิดของเรา ในที่สุดแล้วเราเองจะตกที่นั่งลำบาก

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:28) { เก็บเป็นความลับ }

แนวคิด :

– จนถึงข้อนี้ยังไม่มีใครในพวกสาวก นอกจากยอห์น ที่รู้ว่า ใครคือผู้ทรยศ และทำไมพระเยซูพูดกับยูดาสเช่นนั้น

– พระเยซูยังคงเก็บเรื่องจากทรยศของยูดาสไว้เป็นความลับ จนถึงนาทีสุดท้าย

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อเรายังคงเดินในทางแห่งบาปต่อไป ไม่ใช่พระเจ้ามิได้ทรงทราบ พระองค์ทรงทราบดี แต่พระองค์ยังคงจะปิดเก็บมันไว้เป็นความลับ เพื่อให้โอกาสเราได้กลับใจ

– แต่หากเราไม่ยอมกลับใจ เวลาแห่งการเปิดเผยออกจะมาถึงในที่สุด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:29) { เข้าใจผิด }

แนวคิด :

– ยูดาสเป็นคนที่น่าไว้วางใจที่สุดท่ามกลางเหล่าสาวก พวกเขาจึงให้ยูดาสเป็นคนถือกระเป๋าเก็บเงินกองกลาง

– ดังนั้น เมื่อคิดถึงคนที่จะทรยศพระเยซู ยูดาสคงเป็นคนสุดท้ายที่พวกเขาคิดถึง

– เมื่อพระเยซูพูดกับยูดาส ว่า “ท่าน​จะ​ทำ​อะไร​ก็​จง​ทำ​เร็วๆ” (ข้อ 27) เหล่าสาวกต่างไม่เข้าใจความหมายที่พระองค์ทรงตรัส

– บางคน คิดถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน พวกเขากำลังฉลองปัสกา พระเยซูน่าจะบอกให้ยูดาสไปซื้อของสำหรับปัสกา

– บางคน คิดถึงเหตุการณ์ในอดีต พวกเขาจำได้ว่า ยูดาสเคยบอกว่า น่าจะเอาเงินไปช่วยคนจน (ยน. 12:5) ดังนั้น พระเยซูน่าจะบอกให้ยูดาสเอาของไปให้คนจน

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อเราอ่านพระคำของพระเจ้า เพื่อฟังสิ่งที่พระเจ้าตรัส เราต้องตั้งใจที่จะรับรู้ สิ่งที่พระองค์จงใจสื่อสารกับเรา การอ่านแบบไม่ใส่ใจ แล้วใช้ความต้องการในปัจจุบัน หรือประสบการณ์ในอดีต มาทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้น เราจะเข้าใจผิดสิ่งที่พระองค์ทรงตรัส

– ในเรื่องนี้ มียอห์นคนเดียวที่เข้าใจว่า พระเยซูพูดหมายถึงอะไร เพราะยอห์นอยู่ใกล้และตั้งใจฟัง

– พระเจ้าพร้อมที่จะบอก สอน และนำทางเราอยู่เสมอ เพียงแต่เราจะตั้งใจจริงแสวงหาการนำจากพระองค์เท่านั้น ก็จะพบทางออกของชีวิต

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:30) { ปล่อยให้มารครอบงำ }

แนวคิด :

– เมื่อยูดาสรับขนมปังจากพระเยซูแล้ว ความกลัวก็เกิดขึ้นกับเขา เขาเริ่มสังเกตว่าพระเยซูน่าจะเดาได้แล้วว่า เขาจะทรยศ ดังนั้นเขาจึงรีบออกไปทันที ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลากลางคืนในช่วงงานฉลองปัสกาก็ตาม

– ตามธรรมเนียมแล้ว จะไม่มีการออกจากบ้านในคืนฉลองปัสกาจนกว่าจะถึงรุ่งเช้า (อพย. 12:22)

– เขาออกเดินทางจากเบธานี ไปหาหัวหน้าปุโรหิตในเยรูซาเล็ม ซึ่งห่างออกไปประมาณ 5 กม.

การประยุกต์ใช้ :

– ความคิดแบบซาตานเข้ามาแทรกแซงหรือครอบงำความคิดของเรา มักจะยังไม่เกิดผลเสียในทันทีทันใด

– แต่หากเราไม่ไล่มันไป ไม่ปฏิเสธมัน ปล่อยให้มันครอบงำความคิดของเราต่อไป มันจะดึงเราเข้ามาสู่บาปในที่สุด

– เหมือนยูดาส เขามีเวลาที่จะกลับใจ ระหว่างเดินทางจากเบธานี จนถึงเยรูซาเล็ม แต่เขาก็ไม่กลับใจอยู่ดี เขายอมให้มารครอบงำความคิดจิตใจของเขาต่อไป

– “จงต่อสู้กับมาร แล้วมันจะหนีท่านไป” หากความคิดที่ไม่ได้มากจากพระเจ้าเข้ามาในความคิดของเรา จงปฏิเสธ ไล่มันไปในพระนามพระเยซู

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:31) { ได้รับพระเกียรติ }

แนวคิด :

– พระเยซูตรัสว่า พระองค์ได้รับเกียรติแล้ว หลังจากที่ยูดาสได้ออกไปจากห้องแล้ว

– พระเยซูไม่ได้ตรัส ประโยคนี้ก่อนหน้านั้น

– ก่อนหน้านั้น ยูดาส ยังลังเลว่าจะทำหรือไม่ทำ จนกระทั่งเขาตัดสินใจลงมือทำ จึงออกไป

– แล้วพระเยซู เรียกเหตุการณ์นั้นว่า พระองค์ได้รับเกียรติแล้ว

– ทำไมพระเยซูจึงตรัสเช่นนั้น การถูกทรยศหักหลัง จะเรียกว่าได้รับเกียรติได้อย่างไร?

– หลังจากทรยศก็เป็นการถูกจับกุม ไม่น่าจะเรียกว่าได้รับเกียรติ

– แล้วถูกทำอัปยศ ถูกทรมาน ถูกตัดสินประหารชีวิต ถูกตรึงที่กางเขน เหล่านี้จะได้รับเกียรติแล้ว ได้อย่างไร?

– ในที่สุดพระองคถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย เมื่อนั้นแหละที่น่าจะเรียกว่าได้รับเกียรติแล้ว

– ผมสังเกตเห็นสิ่งสำคัญมากประการหนึ่งจากพระคัมภีร์ข้อนี้ คือ “พระเจ้าทรงมองเห็นกลุ่มของเหตุการณ์ต่างๆเป็นก้อนเดียวกัน”

– เมื่อยูดาสออกไป เขาเริ่มลงมือทำการทรยศพระเยซู นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการทนทุกข์ของพระคริสต์ เริ่มจากการถูกทรยศ เรื่อยมา จนปลายทาง คือ เป็นขึ้นมาจากความตาย ได้รับพระเกียรติอย่างสูงสุด

– ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ เป็นกลุ่มเหตุกาณ์เดียวกัน แล้วพระเจ้ามองเป็นเหตุการณ์เดียว(เรื่องนี้ลึกซึ้งเกินไป คงอธิบายไม่หมด ณ ที่นี้ 555)

– อีกประเด็นหนึ่งในข้อนี้คือ พระเจ้าทรงได้รับเกียรติเพราะมนุษย์

– พระเจ้าพระบิดาในสวรรค์ ได้รับเกียรติ เพราะมนุษย์ผู้อยู่บนโลก (พระบุตรผู้บังเกิดเป็นมนุษย์)

– ก่อนหน้านี้ตั้งแต่อาดัมเป็นต้นมา มนุษย์บนโลก ลบหลู่ พระเจ้าผู้ทรงสถิตในสวรรค์ ด้วยการทำบาป ไม่เชื่อฟังพระองค์

– แต่บัดนี้ พระเยซูมนุษย์ผู้อยู่บนโลก ได้ทำให้พระเจ้าในสวรรค์ได้รับเกียรติแล้ว ด้วยการเชื่อฟังจนถึงที่สุด กระทั่งความมรณาบนไม้กางเขน

– ดังนั้นตั้งแต่นี้ไป มนุษย์ผู้เป็นเชื้อสายของพระเยซูด้วยความเชื่อ สามารถถวายเกียรติแด่พระบิดาในสวรรค์ได้แล้ว

การประยุกต์ใช้ :

– พระเจ้าผู้ทรงสร้างกาลเวลา ทรงอยู่เหนือมิติของเวลา พระองค์จึงทรงสามารถมองเหตุการณ์ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นเหตุการณ์เดียวกันได้

– เรื่องนี้ ขยายความเข้าใจในฝ่ายวิญญาณได้อีกมากมายมหาศาล

– เช่น การที่พระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อรับโทษบาปแทนเรา เมื่อ 2,000 ปีก่อน จึงนับเป็นเหตุการณ์เดียวกับการที่เราต้อนรับพระเยซูเมื่อไม่กี่ปีก่อน จึงเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่พระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อเรา

– หรือ อีกตัวอย่าง การที่ในอนาคตเราจะเข้าส่วนในพระสิริของพระเจ้า รับการชำระและเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด นับเป็นเหตุการณ์เดียวกับวันนี้ที่เรายังผิดพลาดพลั้งบาป ทำตัวไม่น่ารักต่อพระเจ้า แต่เมื่อพระองค์มองเป็นเหตุการณ์เดียวกัน ดังนั้นพระองค์ปฏิบัติต่อเราดังบุตรที่เต็มไปด้วยสง่าราศีของพระเจ้า เป็นที่โปรดปรานของพระองค์อย่างที่สุด

– ฯลฯ

– วันนี้ ด้วยการช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราสามารถถวายเกียรติแด่พระบิดาได้ โดยทางพระเยซูคริสต์การกระทำที่ไม่สมบูรณ์ของเราจึงเป็นที่ยอมรับได้ในสายพระเนตรของพระเจ้า

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:32) { ถวายเกียรติ }

แนวคิด :

– เมื่อบุตรมนุษย์(พระเยซูคริสต์)ได้ทำให้พระเจ้าพระบิดาได้รับเกียรติ พระเจ้าพระบิดาจะประทานเกียรติให้แก่บุตรมนุษย์

– และการประทานเกียรตินี้ เกิดขึ้นทันที ที่พระเยซูทำให้พระบิดาได้รับเกียรติ

– ถ้ามองเผินๆ ดูเหมือนพระเยซูยังไม่ได้รับเกียรติในวินาทีนั้น เพราะอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า พระเยซูกำลังจะถูกลบหลู่เกียรติ ต่างหาก  ต้องรอพระเยซูเป็นขึ้นมาจากความตายก่อน ถึงน่าจะเรียกว่าได้รับเกียรติ

– แต่ในสายพระเนตรของพระเจ้า และในฝ่ายวิญญาณ แล้ว ณ วินาทีนั้น พระเยซูได้รับเกียรติแล้ว เป็นการย้ำให้เห็นว่า พระเจ้ามองเหตุการณ์ต่อเนื่องกันนั้น เป็นก้อนเดียวกัน(เหมือนคำอธิบายในแบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ยน.13:31)

– กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ณ วินาทีนั้น พระเจ้าพระบิดาประทานเกียรติให้พระเยซูแล้ว

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อเราถวายเกียรติแด่พระเจ้า พระเจ้าเองจะเป็นผู้ประทานเกียรติที่แท้จริงแก่เรา

– แต่หากเราพยายามแสวงหาเกียรติให้แก่ตัวเอง หรือพยายามหาเกียรติจากมนุษย์ เรามักจะผิดหวัง และต่อให้พบ อย่างมากเราก็พบเพียงแค่เกียรติจอมปลอม ชั่วคราว แห่งโลกนี้เท่านั้น

– เมื่อเราถวายเกียรติแด่พระเจ้า พระเจ้าประทานเกียรติแก่เราในทันที ณ วินาทีนั้นเราอาจจะไม่ได้รับรู้หรือมองไม่เห็นเกียรตินั้น แต่จงรับเอาด้วยสายตาฝ่ายวิญญาณ พระเจ้าได้ประทานเกียรติให้แก่เราแล้วในเวลานั้น และในเวลาอีกไม่นานเกียรติที่ตาของมนุษย์ยังมองไม่เห็นนี้ ก็จะปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งปวงในที่สุด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:33) { พระเยซูจำต้องจากไป }

แนวคิด :

– พระเยซูตรัสกับเหล่าสาวก ด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยนและห่วงใย “ลูกทั้งหลายเอ๋ย” ดังบิดาที่รักและอาทรบุตร

– พระเยซูบอกพวกเขาว่า อีกไม่นานพระเยซูจะไม่ได้อยู่กับพวกเขาแล้ว พระองค์กำลังจะจากไปสวรรค์ เหมือนที่พระเยซูตรัสกับพวกยิวใน ยน. 7:34 “พวก​ท่าน​จะ​แสวง​หา​เรา​แต่​จะ​ไม่​พบ​เรา และ​ที่​ที่​เรา​อยู่​นั้น​ท่าน​จะ​เข้า​ไป​ไม่​ได้”

– และเมื่อพระเยซูเสด็จสู่สวรรค์นั้น พวกเขาจะตามไปไม่ได้ ในสภาพเนื้อหนัง

– แม้ว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเขาติดตามพระเยซูได้ตลอดเวลาก็ตาม แต่ต่อไปนี้จะไม่สามารถตามเข้าไปได้ในสภาพเนื้อหนัง

– พระเยซูตรัสประโยคนี้เพื่อนำไปสู่เรื่องสำคัญมาก ในประโยคต่อมา(ข้อ 34-35) ว่า ต่อไปคนจะหาพระเยซูไม่พบ แต่พวกสาวกจะทำให้คนทั้งหลายเห็นพระเยซูได้ เมื่อรักกันและกัน

การประยุกต์ใช้ :

– แน่นอนพวกสาวกย่อมไม่อยากให้พระเยซูจากพวกเขาไป แต่พระเยซูจำเป็นต้องจากไป เพื่อไปเตรียมที่(ยน.14:1) และเพื่อให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จมา(ยน.16:7)

– บางครั้งพระเจ้าทำในสิ่งที่ไม่ตรงกับความปรารถนาของเรา นั่นไม่ได้หมายความว่า พระองค์ไม่ได้รักเรา หรือไม่สนใจเรา แต่เพราะพระองค์รักเรามากต่างหากพระองค์จึงทรงกระทำเช่นนั้น

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:34) { บัญญัติใหม่ }

แนวคิด :

– พระเยซูให้บัญญัติใหม่แก่เหล่าสาวก คำว่า “บัญญัติใหม่” นี้มีแต่ท่านยอห์นคนเดียว ที่เขียนไว้ ในพระกิตติคุณ ส่วนผู้เขียนพระกิตติคุณอีก 3 เล่ม ไม่ได้บันทึกไว้

– ที่พระเยซูเรียกว่า บัญญัติใหม่ เพราะเป็นมาตรฐานใหม่

– พระเยซูสั่งให้เหล่าสาวกรักกันและกัน ด้วยมาตรฐานเดียวกับพระเยซู คือ รักจนยอมตายเพื่อกันและกัน

– บัญญัตินี้มีมาตรฐานสูงเกินกว่าที่มนุษย์คนใดจะสามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่โดยสิ่งที่พระเยซูกำลังจะทำ คือตายเพื่อมนุษย์ทุกคน จึงเป็นเหตุให้พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถเสด็จเข้ามาในชีวิตของสาวกผู้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้ว โดยพระโลหิตของพระเยซู ดังนั้นพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยให้เหล่าสาวกทำตามบัญญัติใหม่นี้ได้

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูประสงค์ให้เรารักกันและกัน

– พระเยซูประสงค์ให้เราทำกับพี่น้องเหมือนอย่างที่พระเยซูทรงกระทำแก่เรา

– หากเราตั้งใจที่จะรักพี่น้องจนยอมตายแทนเขาได้ จะทำให้เป็นการง่ายเหลือเกินที่จะยกโทษให้กับพี่น้องที่ได้ทำผิดต่อเรา ในระดับที่ยังไม่ต้องถึงกับทำให้เราต้องเสียชีวิต

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:35) { วงเล็กๆ }

แนวคิด :

– พระเยซูสอนเหล่าสาวกว่า ถ้าเพียงแต่พวกเขารักกันในวงเล็กๆ ด้วยมาตรฐานใหม่ตามแบบอย่างรักของพระเยซู จะส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ จนทุกคนทั้งหมดนอกวงเล็กๆของพวกเขา จะได้รู้จักคำสอนของพระเยซู

การประยุกต์ใช้ :

– งานเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ที่พระเยซูมอบให้แก่เราทำคือ รักกันเหมือนอย่างที่พระเยซูทรงรักเรา

– เมื่อเราทำงานเล็กๆที่พระองค์ทรงมอบให้เราทำ พระองค์ผู้ยิ่งใหญ่จะทรงทำให้งานนั้นเกิดผลใหญ่ยิ่ง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:36) { ไปเดี๋ยวนี้ไม่ได้ }

แนวคิด :

– หลังจากพระเยซูกล่าวประโยคสุดซึ้งและแสนจะมีความหมาย ให้รักกันและกัน(ข้อ 34-35)

– ดูเหมือนเปโตร จะไม่สังเกตว่ามันสำคัญขนาดไหน ความสนใจของเขายังอยู่ที่ประโยคก่อนหน้านี้ คือ พระเยซูกำลังจะไปบางที่บางแห่งที่เขาไปไม่ได้(ข้อ 32)

– เขาจึงถามพระเยซูว่า พระองค์จะไปไหน? ดูเหมือนพระเยซูทรงทราบความคิดในใจของเขาว่า เขาถามเพราะเขาอยากจะตามพระเยซูไป

– พระเยซูจึงตอบเขาว่า ยังไปตอนนี้ไม่ได้ แต่อนาคตจะได้ไป คือ ได้ไปอยู่ต่อพระพักตร์พระบิดาในสวรรค์

การประยุกต์ใช้ :

– เปโตร อยากตามพระเยซูไป พระเยซูเองก็อยากให้เปโตรไปสวรรค์ แต่พระเจ้ามีเวลาของพระองค์ เป็นเวลาที่ดีและเหมาะสมที่สุด สำหรับแต่ละเหตุการณ์เสมอ

– วันนี้ เมื่อเราปรารถนาบางอย่าง และพระเยซูเองก็อยากประทานสิ่งนั้นแก่เรา แต่เหตุที่เรายังไม่ได้รับก็เพราะยังไม่ถึงเวลาของพระเจ้า พระองค์มีเวลาของพระองค์สำหรับการประทานสิ่งนั้นแก่เรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:37) { ประเมินตนสูงเกินไป }

แนวคิด :

– เปโตรทูลพระเยซูว่า เป็นไปได้อย่างไรที่เขาจะตามพระองค์ไปไม่ได้ ทางมันยากเกินไปหรือ ทางมันอันตรายหรือ เขาบอกพระองค์ว่า เขากล้าหาญมากพอ ที่จะไปทุกที่ที่พระเยซูจะไป

– เขาบอกกับพระเยซูว่า แม้แต่ความตายเขาก็ยังไม่กลัวเลย

การประยุกต์ใช้ :

– คนมักจะคิดว่าตนเองรักพระเจ้า มากกว่าที่ตนเองเป็นจริงๆ

– แต่สถานการณ์ที่เราประสบนั่นแหละ จะทำให้เรารู้ความจริงว่า เรารักพระเยซูน้อยกว่าที่เราคิดมากเพียงใด – ซึ่งเมื่อรู้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้อง มัวแต่นั่งเสียใจ เพียงแต่จำเป็นต้องกลับใจใหม่ แล้วเริ่มต้นใหม่ด้วยความช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.13:38) { อ่อนแอกว่าที่คิด }

แนวคิด :

– คำถามที่พระเยซูถามเปโตรนี้ ไม่ใช่พระเยซูหาว่า เขาพูดโกหก หรือพูดไม่จริง หรือเสแสร้งพูด

– แต่เป็นคำถามที่พยายามบอกว่า เปโตรยังไม่รู้จักความอ่อนแอของตัวเองจริงๆว่ามีมากขนาดไหน

– ก่อนไก่ขันที่พระเยซูพูดถึงนี้ ไม่ใช่หมายถึง เปโตรจะปฏิเสธ 3 ครั้ง แล้วไก่ค่อยขัน เพราะความจริงคือเมื่อเขาปฏิเสธครั้งแรก ไก่ก็ขันแล้ว 1 ครั้ง (มก. 14:68 แต่​เป​โตร​ปฏิ​เสธ​ว่า “ที่​เจ้า​พูด​นั้น​ข้า​ไม่​รู้​เรื่อง​และ​ไม่​เข้าใจ” เป​โตร​จึง​ออก​ไป​ที่​ประตู​บ้าน แล้ว​ไก่​ก็​ขัน)

– พระ​เยซูบอก​กับเปโตรล่วงหน้า ใน มก. 14:30 ​ว่า “เรา​บอก​ความ​จริง​กับ​ท่าน​ว่า ใน​วันนี้​คือ​ใน​คืน​นี้​เอง ก่อน​ไก่​ขัน​สอง​หน ท่าน​จะ​ปฏิ​เสธ​เรา​สาม​ครั้ง”

– เปโตรไม่รู้จักความอ่อนแอของตนเอง เขาจึงอวดในความเข้มแข็งของตน แต่พระเยซูรู้จักเขาดียิ่งกว่าตัวเขาเองเสียอีก

– พระเยซูทรงทราบว่า เปโตรผู้ที่กำลังอวดผู้นี้ เขาจะทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาได้อวดไว้ เขาจะปฏิเสธพระองค์ถึง 3 ครั้ง ซึ่งหลังการปฏิเสธครั้งแรก ก็จะมีไก่ขันเตือนให้เขาระลึกได้แล้ว แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังคงอ่อนแอ จนต้องปฏิเสธพระเยซูอีกจนครบ 3 ครั้ง

– ทำไมพระเยซูต้องบอกเปโตรล่วงหน้า ถึงการปฏิเสธของเขานี้?

– ไม่ใช่เพื่อฉีกหน้าเขา ว่าเขาพูดไม่จริง หรือรักษา คำพูดไม่ได้

– แต่เพื่อให้เขากลับใจใหม่ เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วเขาจะได้ระลึกได้ว่า สิ่งที่เขาทรยศพระเยซูถึง 3 ครั้งนี้ พระเยซูทรงทราบล่วงหน้าแล้ว ถึงกระนั้นพระเยซูยังคงรักเขา ล้างเท้าให้เขา และปฏิบัติต่อเขาอย่างดี พระองค์ไม่รังเกียจเขาทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าเขาน่ารังเกียจเพียงใด

– ดังนั้นเมื่อเขาจะกลับใจ เขาจึงมั่นใจได้ว่า พระเยซูจะยินดีต้อนรับเขา พร้อมให้อภัยแก่เขา ให้เขามีโอกาสเริ่มต้นใหม่อย่างแน่นอน

– ความจริงพระเยซูทรงกระทำสิ่งนี้กับยูดาส เหมือนกัน แต่เสียดายที่ยูดาส ไม่ได้กลับใจใหม่ เหมือนอย่างที่เปโตรกลับใจเมื่อผิดพลาดพลั้งไป

การประยุกต์ใช้ :

– เราเองมักไม่รู้ตัวว่า เราอ่อนแอสักเพียงใด แต่พระเยซูทรงทราบความอ่อนแอของเรา

– เมื่อเราผิดพลาดพลั้งไป บางครั้งมันอาจจะมากเสียจนตัวเราเองยังรับตัวเองไม่ได้ แต่พระเยซูทรงรับได้ พระองค์ทรงรู้จักเรา ก่อนที่เราจะผิดพลาดพลั้งไปนั้นเสียอีก ถึงกระนั้นพระองค์ยังทรงรักเรา

– เราจึงมั่นใจได้เลยว่า ในวันนี้ หากเรากลับมาหาพระเยซูด้วยจริงใจ พระองค์จะทรงอภัยและพร้อมที่จะให้เราเริ่มต้น