แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:1) { ไปเพื่อถูกจับ }

แนวคิด :

– หลังจากพระเยซูอธิษฐานต่อพระบิดา เผื่อพวกสาวกแล้ว พระเยซูก็พาเขาออกไปยังสวนแห่งหนึ่ง ใน มธ. 26:36 บอกชื่อไว้ คือ สวน​เกท​เสมนี

– ในพระกิตติคุณเล่มอื่นๆ ขยายความในข้อนี้ว่า พระเยซูมาที่สวนนี้ ในคืนนี้ เพื่ออธิษฐาน (มธ. 26:36 มก. 14:32   ลก. 22:40)

– ยอห์น เป็นผู้บันทึกพระกิตติคุณคนเดียว ที่อธิบายเพิ่มเติมว่า การไปสวนเกทเสมนีครั้งนี้ พระองค์เสด็จข้ามห้วยขิดโรน

– มีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับลำธาร(ห้วย)ขิดโรน คือ ตามประวัติศาสตร์ของการปฏิรูปฝ่ายวิญญาณครั้งใหญ่ของอิสราเอล ในสมัยของกษัตริย์อาสา (1 พกษ. 15) และ ในสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์ (2 พกษ. 23) ซึ่งมีการรื้อทำลายรูปเคารพคร้งใหญ่ทั่วแผ่นดินนั้น ล้วนแต่มีการนำรูปเคารพเหล่ามาเผาทำลายเสียที่ลำธารขิดโรน

–  1พกษ. 15:13 และ​พระ​องค์​ทรง​ถอด​มา​อา​คาห์​พระ​อัย​กี​จาก​ตำ​แหน่ง​พระ​ราช​ชนนี เพราะ​พระ​นาง​ทำ​รูป​เคา​รพ​น่า​เกลียด​น่า​ชัง​เพื่อ​พระ​อา​เช-ราห์ และ​อา​สา​ทรง​ทำลาย​รูป​เคา​รพ​ของ​พระ​นาง และ​ทรง​เผา​เสีย​ที่​ลำ​ธาร​ขิด​โรน

– 2พกษ. 23:6 และ​พระ​องค์​ทรง​นำ​พระ​อา​เช-ราห์​ออก​จาก​พระ​นิเวศ​ของ​พระ​ยาห์​เวห์ ไป​ยัง​ลำ​ธาร​ขิด​โรน​ภาย​นอก​เย​รู​ซา​เล็ม และ​เผา​เสีย​ที่​ลำ​ธาร​ขิด​โรน

– โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ที่ยอห์นบันทึกเรื่องนี้ น่าจะเกี่ยวข้องกับความหมายฝ่ายวิญญาณด้วย คือ การข้ามห้วยขิดโรน ในค่ำคืนวันนั้น เป็นการประกาศการปฏิรูปฝ่ายวิญญาณครั้งใหญ่ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่สำหรับอิสราเอลเท่านั้น แต่สำหรับทุกประชาชาติทั่วโลก ความบาปผิดกำลังจะถูกขจัดออกไป ความรอดจากพระเจ้ามายังประชาชาติแล้ว

– อีกประการหนึ่ง เมื่อดูจากการบันทึกของยอห์น ยอห์นบันทึกว่า พระเยซูกับพวกสาวกไปที่สวนนั้น ข้อต่อมาก็บันทึกว่า แล้วยูดาส ก็พาคนมาจับกุมพระเยซู

– จึงเข้าใจได้ว่า ยอห์นพยายามอธิบายว่า พระเยซูจงใจไปที่สวนนั้น เพื่อให้ยูดาสพาคนไปจับพระองค์ที่นั่น

– ก่อนหน้านี้ ตอนยูดาสออกไป พระเยซูยังอยู่ในห้องชั้นบน (ยน. 13:30) ดูเหมือนยูดาสยังไม่ทราบว่าพระเยซูจะมาที่สวนนี้ ดังนั้นเป็นไปได้ว่า ยูดาสน่าจะพาคนไปที่ห้องชั้นบนก่อน เมื่อไม่พบพระเยซู จึงจำได้ว่าพระเยซูชอบมาอธิษฐานที่สวนนี้ (ยน.18:2) จึงพาคนตามมาจับพระเยซูที่นี่

– ดังนั้นพิจารณาการบันทึกของยอห์นแล้ว น่าจะสรุปได้ว่า ยอห์นพยายามสื่อว่า พระเยซูจงใจมาที่สวนเกทเสมนี เพื่อให้ถูกจับกุมที่นี่

– ซึ่งน่าจะมีเหตุผลบางอย่าง ซึ่งยอห์นพยายามจะสื่อเช่นนั้น แต่วันนี้ผมยังคิดไม่ออก 555 แต่ ไม่น่าจะเกี่ยวกับการอธิษฐานเพราะเยอห์นไม่ได้บันทึกถึงการอธิษฐานในสวนเกทเสมนีของพระเยซูเลย

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูทรงทราบทุกสิ่ง พระองค์ทรงกระทำทุกอย่างเพื่อให้น้ำพระทัยของพระบิดาสำเร็จทุกประการ

– ค่ำคืนนั้น พระเยซูจงใจเสด็จไปที่สวนเกทเสมนี เพื่อให้แผนการแห่งความรอด ที่พระบิดาทรงใช้พระเยซูมากระทำนั้นจะสำเร็จ

– เราผู้เป็นบุตรของพระเจ้า สมควรดำเนินตามอย่างพระเยซู คือ การกระทำและการดำเนินชีวิตของเรานั้น ทำไปเพื่อเหตุผลเดียวคือ เพื่อให้น้ำพระทัยของพระเจ้าในชีวิตของเราสำเร็จ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:2) { รู้จักเกทเสมนี }

แนวคิด :

– หลังจากพระเยซูรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายกับพวกสาวกในห้องชั้นบนแล้ว(ยน.14:31)พระองค์ก็เสด็จออกไปที่สวนเกทเสมนี(ยน.18:1)

– ที่สวนนี้ ยูดาสและพวกสาวกคนอื่นก็รู้จักดี เพราะพระเยซูทรงมาที่นี่บ่อยๆเพื่ออธิษฐาน

– สำหรับพระเยซู พระองค์ทรงมาที่นี่เพื่ออธิษฐาน เพื่อสัมพันธ์กับพระบิดา

– สำหรับยูดาส เขากำลังมาที่นี่ แทนที่จะเพื่อแสวงหาการมีความสัมพันธ์กับพระบิดา แต่กลับ เพื่อเงิน 30 แผ่น เพื่อพาคนมาจับกุมพระเยซู

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ การมาเกทเสมนีของเรา เรามาเพื่ออะไร? การก้มศรีษะลงอธิษฐานของเรา เราทำเพื่ออะไร?

– เพื่อแสวงหาเงินทอง ชื่อเสียง เพื่อให้ได้รับสิ่งของอนิจจังแห่งโลกนี้

– หรือ เพื่อจะมีความสัมพันธ์กับพระบิดาผู้รักเราอย่างที่สุด

อย่าเป็นเหมือนยูดาส ผู้มาที่เกทเสมนีเพราะเงิน แต่ขอให้เรามาที่เกทเสมนีเพราะอยากมีความสัมพันธ์กับพระบิดา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:3) { เกียรติจอมปลอม }

แนวคิด :

– ขณะที่พระเยซูกับพวกสาวก อยู่ที่สวนเกทเสมนี ยูดาสก็ได้นำ ทหารโรม และ เจ้าหน้าที่ประจำพระวิหาร และฟาริสี มาที่สวนนั้นเพื่อจับกุมพระเยซู

– นี่น่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ยูดาส ได้เป็นผู้นำคนเหล่านั้น ช่างเป็นเกียรติที่น่าภาคภูมิใจ สำหรับยูดาส ที่ได้เดินนำหน้าผู้คนมากมาย แม้แต่ทหารโรมซึ่งเป็นกลุ่มคนพิเศษ มีสิทธิแม้กระทั่งใช้ใครแบกของให้ก็ได้ ยังเดินต้องตามหลังเขา ยังมีพวกเจ้าหน้าที่ประจำพระวิหารสุดเท่ห์ลูกน้องของมหาปุโรหิตก็เดินตามเขาด้วย แถมยังมีพวกฟาริสีที่แสนยโสไม่เคยยอมใครยังยอมเดินตามทางที่เขานำไป

– ปกติแล้วพวกยิว จะรังเกียจคนต่างชาติ ไม่อยากแม้กระทั่งคุยด้วย แต่ในคืนนั้น เจ้าหน้าที่ประจำพระวิหารผู้เป็นยิว ดูเหมือนเป็นทีมเดียวกันอย่างดีกับทหารโรมที่เป็นคนต่างชาตินั้น

– ยิ่งกว่านั้นพวกฟาริสี ตามปกติจะเกลียดทหารโรมเข้ากระดูกดำ แต่คืนนั้นดูเหมือนความเกลียดชังที่พวกเขามีต่อพระเยซูนั้นมีมากล้น จนกระทั่งความเกลียดทหารโรมเข้ากระดูกดำนั้น ถูกมองข้ามไปเลย

– พวกเขาถืออาวุธมาด้วยเพื่อจะใช้ในการจับกุมพระเยซู นั่นคือพวกเขาปฏิบัติต่อพระเยซูเยี่ยงโจร

– พระ​เยซู​ตรัส​กับพวกเขา ใน มธ. 26:55 ​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​เห็น​เรา​เป็น​โจร​หรือ ถึง​ได้​ถือ​ดาบ​ถือ​ตะบอง​ออก​มา​จับ​เรา…”

– พวกเขาปฏิบัติต่อพระองค์ผู้ทรงสง่าราศีใหญ่ยิ่งสูงสุด เยี่ยงโจร

– ในคืนนั้นเป็นคืนใกล้เทศกาลปัสกา จึงเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวง แต่พวกเขาก็ถือไต้ออกมาด้วย อาจเป็นเพราะมีเมฆในท้องฟ้าในค่ำคืนวันนั้น การที่เขาเอาไต้มาด้วยแสดงให้เห็นว่า คืนนี้พวกเขาต้องการตามหาพระเยซูให้พบให้ได้ ถึงแม้ว่าหากพระองค์หนีไปซ่อนที่มืดที่ใด พวกเขาก็จะควานหาตัวพระองค์ให้จงได้

การประยุกต์ใช้ :

– ยูดาส แสวงหาเงิน และเกียรติจอมปลอมแห่งโลกนี้ ดูเหมือนในตอนแรกเขาจะได้รับ แต่ในเวลาอันรวดเร็วมันก็อันตรธานหายไปสิ้น ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาเขาเป็นเหมือนหมาหัวเน่าที่ไม่มีใครใส่ใจใยดี (ดูได้ใน มธ. 27:4)

หากเราเป็นเหมือนยูดาส แสวงหาเงินหรือเกียรติจอมปลอมที่โลก ล่อหลอกให้เราวิ่งไล่จับ แม้ในตอนต้นดูเหมือนเราจะได้รับสมใจ แต่ในเวลาอันรวดเร็วมันจะหายไปหมด เหลือไว้แต่ความโศกสลดอย่างที่สุด อย่างที่ยูดาสเป็นตัวอย่างให้แก่เราแล้ว

– และ อีกประการหนึ่ง พระเยซูพระบุตรของพระเจ้าใหญ่ยิ่งสูงสุด ยอมให้เขาปฏิบัติต่อพระองค์เยี่ยงโจรชั่วร้าย เพราะพระองค์ทรงรักเรา ขอบคุณพระเยซู

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:4) { เต็มใจตายเพื่อเรา }

แนวคิด :

– พระเยซูทรงทราบทุกสิ่ง ทรงทราบว่าพวกคนที่ยูดาสพามานั้น พวกเขาจะมาจับพระเยซู เพื่อจะยัดข้อหาให้พระองค์ เพื่อจะฆ่าพระองค์เสีย

– พระเยซูไม่รีรอที่จะแสดงตัวแก่พวกเขาในทันที โดยถามพวกเขาว่า “พวกท่านมาหาใคร?”

– แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระเยซูเต็มใจเดินไปสู่ไม้กางเขนเพื่อเรา

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูเต็มใจเดินไปสู่ความทรมานและความตายบนไม้กางเขน เพื่อเรา เพราะว่านั่นเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะช่วยเราให้รอดพ้นจากนรก เข้าสู่สวรรค์ได้

– พระเยซูเต็มใจสละทุกสิ่งแม้แต่ชีวิตของพระองค์เองเพื่อเรา วันนี้เราเต็มใจที่จะสละอะไรบ้างเพื่อพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:5) { เราเป็นผู้นั้น }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูทรงถามพวกที่มาจับพระองค์ว่า พวกเขามาหาใคร พวกเขาจึงตอบว่า “มาหาเยซูชาวนาซาเร็ธ”

– ในทันทีพระเยซู ทรงเปิดเผยพระองค์เองให้พวกเขารู้ โดยตรัสว่า “เราเป็นผู้นั้น”

– เมื่อพระเยซูเปิดเผยพระองค์เองว่าพระองค์เป็นใคร จะทำให้เกิดคน 2 ประเภทขึ้น คือ ประเภทแรกจะพบกับความรอด และประเภทที่สองจะพบกับความพินาศ

– พระเยซูบอกกับคนทั้งหลายมานานแล้วว่า พระองค์เป็นผู้นั้น เป็นพระมาซีฮา พระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา

– ยน. 14:6 พระ​เยซู​ตรัส​​ว่า “เรา​เป็น​ทาง​นั้น เป็น​ความ​จริง และ​เป็น​ชีวิต ไม่​มี​ใคร​มา​ถึง​พระ​บิดา​ได้​นอก​จาก​จะ​มา​ทาง​เรา”

– ใครก็ตามที่มาหาพระองค์ เพื่อรับความช่วยเหลือจากพระองค์จะได้รับความรอด

– แต่ก็มีคนที่พระเยซูเปิดเผยพระองค์แล้ว แต่ก็ไม่เชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอด คนเหล่านั้นจะพบกับความพินาศ

– ยน. 8:24 “… เพราะ​ว่า​ถ้า​พวก​ท่าน​ไม่​เชื่อ​ว่า​เรา​เป็น​ผู้​นั้น ท่าน​ก็​จะ​ต้อง​ตาย​ใน​การ​บาป​ของ​ตัว”

– ค่ำคืนนั้น พระเยซูเปิดเผยพระองค์เอง ว่าพระองค์คือ “พระเยซูชาวนาเร็ธ” ที่พวกเขาได้ยิน ได้เห็นมาแล้ว ว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอด และได้ช่วยผู้คนมากมายด้วยหมายสำคัญและการอัศจรรย์  

– แต่ในค่ำคืนวันนั้น พวกเขายังคงเลือกที่จะไม่เชื่อว่า พระเยซูคือพระผู้ช่วยให้รอด พวกเขาจึงได้ทำเรื่องผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของพวกเขา คือ จับกุมพระเยซู

– น่าเศร้าที่ พะคัมภีร์บันทึกว่า ในค่ำคืนวันนั้น ยูดาส สาวกที่ใช้ชีวิตร่วมกับพระเยซูมานานถึง 3 ปี ก็เลือกยืนอยู่ข้างผิด ข้างเดียวกับพวกเขา คือ ไม่เชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอด

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้ พระเยซูทรงสำแดงพระองค์เอง ให้แก่เราแล้ว เราจะเลือกตอบสนองอย่างไร?

– เลือกเชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา หันมาเชื่อวางใจในพระองค์ พึ่งพาพระองค์สำหรับเหตุการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้

– หรือ เลือกไม่เชื่อ แล้วใช้กำลัง ความสามารถ สติปัญญา และความพยายามของเราเอง เพื่อช่วยตนเองให้รอดพ้นจากสถานการณ์ในวันนี้

– การเลือกนี้ ไม่เกี่ยวกับว่า เราคิดว่าเราเลือกแบบไหน แต่เกี่ยวกับว่าการกระทำของเรานั้นสอดคล้องกับการเลือกแบบไหนมากกว่า

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:6) { ยอมไม่ชนะ }

แนวคิด :

– หลังจากที่พวกที่มาจับพระเยซู ตอบคำถามของพระเยซู ว่า พวกเขามาหาเยซูชาวนาซาเร็ธ (ข้อ 5) พระเยซูก็สำแดงตัวเอง โดยตรัสว่า “เราเป็นผู้นั้น” แล้วพวกเขาก็ล้มลง

– พระคัมภีร์ไม่ได้บอกรายละเอียดว่า ทำไมพวกเขาถึงถอยหลังแล้วล้มลง

– อาจเป็นไปได้ว่า พระเยซูทรงสำแดงสง่าราศีของพระองค์ต่อพวกเขา จนพวกเขาไม่อาจยืนอยู่ได้ เหมือน เซาโลที่ล้มลงเมื่อได้ยินเสียงตรัสของพระเยซู (กจ. 26:14)

– อย่างไรก็ดี สิ่งนี้เกิดขึ้น ก่อนการยอมจำนนของพระเยซู ยอมให้พวกเขาจับกุมตัวไป ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระเยซูทรงมีอำนาจเหนือศัตรู เพียงแค่พระองค์ตรัสพวกเขาก็ล้มลงแล้ว แต่เหตุที่พวกเขาสามารถจับกุมพระเยซูได้สำเร็จ เป็นเพราะพระองค์ทรงประสงค์ให้เป็นไปเช่นนั้น

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูเต็มใจ ยอมให้พวกเขาจับกุมพระเยซู เพราะพระองค์ทรงรักเรา

– พระองค์ผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ยอมถูกปฏิบัติเยี่ยงผู้อ่อนแอ พ่ายแพ้ต่อศัตรู เพราะพระองค์ทรงรักเรา

วันนี้ หากเราถูกลบหลู่ ถูกดูถูก ถูกสบประมาท อย่างไม่เป็นจริง เพราะเหตุที่เราเชื่อฟังพระเยซู นั่นก็ถือว่าเป็นเกียรติยิ่งใหญ่ที่เราได้มีส่วนร่วมทุกข์กับพระเยซู เพราะเห็นแก่ความรักที่มีต่อพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:7) { ไม่ยอมกลับใจ }

แนวคิด :

– หลังจากที่พวกที่จะมาจับกุมพระเยซูล้มลง เพราะได้ยินเสียงตรัสของพระเยซูแล้ว (ข้อ6) เขาเห็นฤทธานุภาพใหญ่ยิ่งของพระเยซูแล้ว และพระองค์ไม่ได้ทำร้ายพวกเขา

– พระเยซูให้โอกาสแก่พวกเขา ในการกลับใจจากการกระทำสิ่งชั่วร้าย ด้วยการถามพวกเขาอีกครั้งว่า “พวกท่านมาหาใคร?”

– แทนที่พวกเขาจะสำนึก ก้มกราบพระเยซู และยอมรับว่าพระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่พวกเขายังคงตอบเหมือนเดิม ยังคงไม่เปลี่ยนความตั้งใจเดิม “มาหาเยซูชาวนาซาเร็ธ”

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูทรงให้โอกาสแก่เราเสมอในการที่จะกลับใจ

– วันนี้ หากเรากลับใจพระองค์พร้อมที่จะให้โอกาสแก่เราเริ่มต้นใหม่

– พวกที่มาจับกุมพระเยซู แม้พวกเขาเห็นฤทธานุภาพของพระเจ้าแล้ว พวกเขาก็ยังไม่กลับใจ

เราได้เห็นพระหัตถกิจของพระเจ้ามากมายในชีวิตของเราแล้ว อย่าให้เรามีใจแข็งกระด้างต่อการเตือนสอนของพระวิญญาณบริสุทธิ์  ไม่ยอมกลับใจ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:8) { รู้ว่ายังไม่พร้อม }

แนวคิด :

– เมื่อพวกที่มาจับกุมพระเยซู ยืนกรานจะมาหาเยซูชาวนาเร็ธ พระเยซูก็ยืนยันกับพวกเขาอีกครั้งว่า พระองค์คือผู้นั้นแหละ เพื่อพวกเขาจะไม่ได้จับผิดตัว หรือไม่จำเป็นต้องจับทุกคนในที่นั่นไป

– พระเยซูสำแดงตัว อยากจะจับก็จับพระองค์ได้เลย แล้วบอกให้ ปล่อยพวกสาวกคนอื่นๆไป

– พระเยซูทรงทราบว่า การถูกจับครั้งนี้ จะพบกับความทุกข์ทรมาน และทรงทราบว่า พวกสาวกยังไม่พร้อมสำหรับการทดสอบเช่นนั้นจึงจงใจสำแดงตัวอย่างชัดเจน เพื่อพวกที่มาจับกุมพระเยซู จะไม่ต้องจับรวบทุกคนไป

การประยุกต์ใช้ :

– วันนั้นพวกสาวก ไม่พร้อมสำหรับการทดสอบ การถูกทรมาน พระเยซูจึงพยายามกันพวกเขาออกไป แต่ต่อมาเมื่อพวกเขาพร้อม พวกเขาเผชิญกับการทดสอบนั้นอย่างกล้าหาญและมีชัยชนะ ยึดมั่นความเชื่อจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

พระเยซูทรงทราบว่า เราสามารถทนได้แค่ไหน พระเยซูจะไม่ปล่อยให้เราถูกทดลองเกินกว่าที่เราจะทนได้

– 1คร. 10:13 “ไม่​มี​การ​ทด​ลอง​ใดๆ เกิด​ขึ้น​กับ​ท่าน​ทั้ง​หลาย นอก​เหนือ​การ​ทด​ลอง​ซึ่ง​เคย​เกิด​กับ​มนุษย์ พระ​เจ้า​ทรง​ซื่อ​สัตย์ พระ​องค์​จะ​ไม่​ทรง​ให้​พวก​ท่าน​ต้อง​ถูก​ทด​ลอง​เกิน​กว่า​ที่​ท่าน​จะ​ทน​ได้ และ​เมื่อ​ถูก​ทด​ลอง พระ​องค์​จะ​ทรง​ให้​มี​ทาง​ออก​ด้วย เพื่อ​พวก​ท่าน​จะ​มี​กำ​ลัง​ทน​ได้”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:9) { รักษาสัญญา }

แนวคิด :

– พระเยซูปกป้องพวกสาวกมาตลอด 3 ปี ให้พวกเขามีความเชื่อมั่นคง และเวลานี้ยังคงปกป้องพวกเขาต่อไป ไม่ให้เข้าสู่กรทดลองเกินกำลังของพวกเขา

– ประโยคที่ตรัสว่า จะปกป้องรักษาพวกเขานั้น พระเยซูเคยตรัสหลายครั้ง เช่น

– ใน ยน. 6:39 และ​พระ​ประ​สงค์​ของ​ผู้​ทรง​ใช้​เรา​มา​นั้น​ก็​คือ ให้​เรา​รัก​ษา​ทุก​สิ่ง​ที่​พระ​องค์​ทรง​มอบ​ไว้​กับ​เรา ไม่​ให้​หาย​ไป​สัก​สิ่ง​เดียว แต่​ทำ​ให้​เป็น​ขึ้น​มา​ใน​วัน​สุดท้าย

– และ ใน ยน. 17:12 เมื่อ​ข้า​พระ​องค์​ยัง​อยู่​กับ​พวก​เขา ข้า​พระ​องค์​ก็​พิ​ทักษ์​รัก​ษา​เขา ผู้​ซึ่ง​พระ​องค์​ประ​ทาน​แก่​ข้า​พระ​องค์​ไว้​โดย​พระ​นาม​ของ​พระ​องค์ และ​ข้า​พระ​องค์​ปก​ป้อง​พวก​เขา​ไว้ และ​ไม่​มี​ใคร​ใน​พวก​เขา​พินาศ​นอก​จาก​ลูก​แห่ง​ความ​พินาศ เพื่อ​ให้​เป็น​จริง​ตาม​ข้อ​พระ​คัม​ภีร์

– ในครั้งนี้ พระเยซูตรัสกับพวกคนที่มาจับกุมพระองค์ ให้ปล่อยพวกสาวกไป (ข้อ8) ก็เพื่อทำตามคำที่พระองค์ได้เคยตรัสไว้ว่า จะปกป้องรักษาพวกเขา

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อพระเยซูตรัสอะไรไว้ พระเยซูจะทรงรักษาสัญญาอย่างแน่นอน

– พระเยซูจะปกป้องรักษาเรา ผู้เชื่อวางใจในพระองค์

นั่นคือ พระเยซูจะทรงปกป้องรักษาเราและจะทรงกระทำให้ทุกสิ่งที่สัญญากับเรานั้นสำเร็จ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:10) { มัลคัสหูขวาขาด }

แนวคิด :

– เมื่อพวกที่มาจับกุมพระเยซู ลงมือจับกุมพระเยซู เปโตรพยายามที่จะต่อต้านขัดขวาง ด้วยการชักดาบออก ฟันเข้าไปที่คนหนึ่งในพวกเขา คาดว่าคงตั้งใจจะฟันคอ หรือไหล่ของเขา แต่พลาดไปโดนหูของเขาขาด

– ชายคนนั้น เป็นทาสของมหาปุโรหิต ชื่อว่า มัคคัส

– เหตุที่ ผู้เขียนพระกิตติคุณเล่มอื่นไม่ได้บอกชื่อของเขา คาดว่าน่าจะเป็นเพราะ ขณะที่เขียนพระกิตติคุณทั้ง 3 เล่ม(มธ. มก. ลก.) เปโตรและมัลคัสยังมีชีวิตอยู่  หรือ อาจจะเป็นเพราะยอห์นรู้จักสนิทสนมกับคนในบ้านของมหาปุโรหิตจึงทราบชื่อของทาสคนนั้น (ยน. 18:15 …​เพราะ​สา​วก​คน​นั้น​รู้​จัก​กับ​มหา​ปุโร​หิต เขา​จึง​เข้า​ไป​กับ​พระ​เยซู​จน​ถึง​ลาน​บ้าน​ของ​มหา​ปุโร​หิต)

– หูข้างขวา ลูกาก็บันทึกไว้เหมือนกันว่า ข้างขวา (ลก. 22:50) มัลคัสคงเป็นคนที่ยื่นมือขวาไปจับกุมพระเยซู แล้วเปโตรก็ชักดาบออกมาฟัน เขาหลบหรือเปโตรฟันไม่แม่น ก็ไม่อาจทราบได้ จึงโดนแค่หูขวาของเขา

– ใน ลก. 22:49 อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า พวกสาวกได้ถามพระเยซูก่อนว่า “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ให้​พวก​ข้าพระ​องค์​เอา​ดาบ​สู้​ไหม?” แต่ก่อนที่พระเยซูจะตอบอะไร เปโตรก็ชักดาบออกฟันเขาเข้าไปเสียแล้ว

– การกระทำของเปโตร แม้จะหุนหันพลันแล่น แต่ก็ช่างเป็นการกระทำที่กล้าหาญ เพราะว่า พวกที่มาจับกุมถืออาวุธมามากมาย แต่ พวกสาวกมีดาบอยู่แค่ 2 เล่ม (ลก. 22:38 พวก​เขา​ทูล​ตอบ​ว่า “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า นี่​แน่ะ มี​ดาบ​สอง​เล่ม” พระ​องค์​ตรัส​กับ​เขา​ว่า “พอ​แล้ว”) ยังคิดจะขัดขวางและต่อสู้พวกเขา

– แต่ดูเหมือนบทบาทฮีโร่ของเปโตร ไม่ได้รับคำชื่นชมจากพระเยซู เพราะเขาพยายามช่วยพระเจ้าด้วยวิธีการของมนุษย์

การประยุกต์ใช้ :

– แม้เปโตรจะทำอย่างสุดความสามารถ ทำอย่างกล้าหาญ แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระเยซูชื่นใจ เพราะเขาทำตามความคิดของเขาเอง ไม่ได้ตามน้ำพระทัยของพระเจ้า

– ความคิดของเขา พระเยซูเป็นความหวังของเขาที่เขาจะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นพระมาซีฮาที่เขารอคอยมานานแสนนาน พระมาซีฮาจะโดนจับไม่ได้

– แต่น้ำพระทัยของพระเจ้า ได้สำแดงแก่เปโตร ก่อนหน้านี้แล้วว่า เป็นแผนการของพระเจ้าที่จะให้พระเยซูถูกจับ และถูกประหารชีวิต แล้วจะเป็นขึ้นมาใหม่

วันนี้ สิ่งที่เราทำเพื่อพระเจ้า ไม่สำคัญว่ามันยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่สำคัญว่ามันสอดกับน้ำพระทัยของพระเจ้าหรือไม่ หากสิ่งที่เรากระทำขัดแย้งกับพระคำของพระเจ้า เราก็ไม่ได้กำลังรับใช้พระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:11) { เต็มใจดื่ม }

แนวคิด :

– นอกจากพระเยซูจะไม่ชื่นชมในบทบาทฮีโร่ของเปโตรแล้ว(ข้อ 11) พระองค์ยังทรงกล่าวห้ามเปโตรอีกด้วย

– เปโตรคงจะงง และผิดหวังในเรื่องนี้มากทีเดียว

– พระเยซูบอกกับเปโตรว่า แม้พระองค์จะไม่อยากจะดื่มจากถ้วยนี้ ซึ่งหมายถึงการถูกจับ ถูกทรมาน และถูกตรึงตายบนไม้กางเขน แต่ถ้วยนี้เป็นถ้วยที่พระบิดาประทานให้ ดังนั้นพระเยซูสมควรรับไว้ด้วยความเต็มใจ

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างแก่เรา พระบุตรของพระเจ้าย่อมมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่เพื่อทำตามใจปรารถนาของตนเอง แต่เพื่อทำให้น้ำพระทัยของพระเจ้าในชีวิตสำเร็จ

– เราเองผู้เป็นบุตรของพระเจ้า ไม่สมควรที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อประโยชน์ของตนเองอีกต่อไป แต่ควรอยู่เพื่อทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า

– 2คร. 5:15 “และ​พระ​องค์​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​ทุก​คน เพื่อ​บรร​ดา​คน​ที่​มี​ชีวิต​อยู่​จะ​ไม่​อยู่​เพื่อ​ตัว​เอง​อีก​ต่อ​ไป แต่​จะ​อยู่​เพื่อ​พระ​องค์​ที่​สิ้น​พระ​ชนม์ และ​ทรง​เป็น​ขึ้น​มา​เพราะ​เห็น​แก่​เขา​ทั้ง​หลาย”

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:12) { ทรงถูกมัด }

แนวคิด :

– หลังจากที่พระเยซูห้ามปรามเปโตร แล้วรักษาหูของทาสที่ถูกฟันขาด (ลก. 22:51) ซึ่งเป็นการแสดงการยอมจำนนแล้ว พระองค์ก็ยอมให้พวกที่มาจับกุมพระองค์ จับกุมพระองค์

– พวกเขาจึงมัดพระเยซู ผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ผู้ที่สรรพสิ่งดำรงอยู่ได้โดยพระองค์(ยน1:3)

– เปรียบเสมือน เด็กอนุบาล ใช้กระดาษทิชชู มาพันเพื่อมัด แชมป์โลกนักยกน้ำหนัก

– เหตุผลเดียวที่พวกเขาสามารถจับและมัดพระเยซูได้ ก็เพราะเป็นพระประสงค์ของพระเยซู

– ยน. 10:18 “ไม่​มี​ใคร​ชิง​ชีวิต​ไป​จาก​เรา​ได้ แต่​เรา​สละ​ชีวิต​ตาม​ที่​เรา​ตั้ง​ใจ​เอง เรา​มี​สิทธิ​อำ​นาจ​ที่​จะ​สละ​ชีวิต​นั้น…​”

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซู ผู้ทรงสง่าราศี ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ยอมให้เขามัดเอาไว้ เยี่ยงโจรชั่วร้าย ผู้อ่อนแอไม่มีกำลังจะต่อต้านได้

– พระเยซูยอมถ่อมพระทัยลงเพื่อเรา เราได้ถ่อมตัวลง ยอมอะไรบ้างเพื่อเห็นแก่พระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:13) { ถูกพามาหาอันนาส }

แนวคิด :

– อัน​นาส ​เป็น​มหา​ปุโรหิตประจำการ ระหว่าง ค.ศ. ​6-15 ​

– ในขณะที่มีการจับกุมพระเยซูนั้น อัน​นา​ส​ถูก​โรม​ปลด​ออก​จาก​ตำแหน่งมหาปุโรหิตประจำการแล้ว​ แต่​ยังคงมี​อิทธิพล​อยู่มาก เพราะเขาเป็นมหาปุโรหิตมาเป็นเวลานาน และลูกของเขาอย่างน้อย 5 คน ได้เป็นมหาปุโรหิตด้วย และเขายังเป็นพ่อตาของคายาฟาส มหาปุโรหิตประจำการในเวลานั้นด้วย

– ดูเหมือนในช่วงเวลานั้น อันนาสน่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในสภาแซนฮีดริน สภาสูงของยิว อีกด้วย

​- ดังนั้นพวกเขาจึงจับพระเยซูมาหาอันนาสก่อน

– เหตุที่พวกเขาจับพระเยซูมาหาอานาสก่อน ทั้งที่เขาไม่ได้เป็นมหาปุโรหิตประจำการ น่าจะเป็นเพราะอันนาส อาวุโสกว่า มีประสบการณ์มากกว่า น่าจะหาข้อกล่าวหาพระเยซูได้ดีกว่า

– และเป็นไปได้ว่า พวกที่ถูกส่งไปจับพระเยซูนั้น ถูกส่งมาโดยอันนาส นี่เอง ซึ่งหมายความว่า การจับกุมนี้ไม่ได้ทำตามกฏเกณฑ์หรือหลักการที่เหมาะสม ของสภาสูงยิว

– และสิ่งที่ตอกย้ำเรื่อง ความผิดปกติของการจับกุมนี้ คือ โดยปกติแล้ว ตามธรรมเนียมยิว จะไม่ตัดสินใครในยามวิกาล แต่พระเยซูทรงถูกตัดสินอย่างเร่งด่วนในยามวิกาล

หมายเหตุ :

– คา​ยา​ฟาส ​เป็น​มหา​ปุโรหิต​ประจำการ ​ระหว่าง ​ค.ศ. ​18-36 ​

– เป็นไปได้ว่า บ้านของอันนาส น่าจะอยู่ใกล้กับบ้านของคายาฟาสมหาปุโรหิตประจำการ

– ในสมัยพระคัมภีร์เดิม ​มหา​ปุโรหิต​จะ​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ตลอดชีวิต ​แต่ต่อมา​ใน​สมัย​​พระคัมภีร์​ใหม่เมื่อโรมเข้าปกครองปาเลสไตน์​ ช่วงเวลาของการ​รับ​หน้าที่​มหา​ปุโรหิตจะขึ้นอยู่​กับ​ความพึงพอใจ​ของ​ผู้​ครอบ​ครอง​ของ​โรมัน ในช่วงเวลานั้นๆ

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูได้รับความไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ ไม่ถูกต้องตามธรรมเนียม ถูกปฏิบัติอย่างอยุติธรรม

– ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ขัดขืนหรือต่อต้าน ไม่ใช่เพราะว่าพระองค์ไม่อาจต่อต้าน แต่เพราะว่าพระองค์รู้ว่านี่เป็นพระประสงค์ของพระบิดา พระองค์จึงน้อมรับอย่างถ่อมพระทัย

– วันนี้ หากเราไม่ได้รับความเป็นธรรม เราควรปรึกษาพระเจ้า ทูลขอการนำจากพระองค์ ขอพระองค์ทรงสอนเราว่าควรจะตอบสนองอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้ เพื่อให้ถวายพระเกียรติแด่พระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว (ยน.18:14) { คายาฟาสเป็นลูกเขยของอันนาส พอดี }

แนวคิด :

– ใน ยน. 11:50 เมื่อพวกยิวกำลังปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกับพระเยซู คายาฟาสจึงกล่าวว่า  “ไม่​รู้​หรือ​ว่า​เป็น​การ​ดี​สำ​หรับ​พวก​ท่าน​ที่​จะ​มี​คน​หนึ่ง​ตาย​เพื่อ​ประ​ชา​ชน แทน​ที่​จะ​ให้​คน​ทั้ง​ชาติ​ต้อง​พินาศ” ซึ่งหมายความว่า ให้คนบริสุทธิ์ตายสักคนไม่เป็นไรหรอก ขอพวกเรารอดก็พอแล้ว

– ดูเหมือนเหตุการณ์จะ ลงตัวพอดีที่ คายาฟาส เป็นลูกเขยของอันนาส ผู้ปรารถนาจะกำจัดพระเยซู และคายาฟาสก็ได้รับการแต่งตั้งจากโรมเป็นมหาปุโรหิตช่วงนั้นพอดี ซึ่งอีก 3 ปีต่อมา ใน ค.ศ.36 เขาก็จะถูกโรมปลดออกจากตำแหน่งแล้ว

– ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ความบังเอิญแต่อยู่ในแผนการของพระเจ้า ที่จะช่วยมนุษย์ทั้งหวงให้รอดทางพระเยซูคริสต์

การประยุกต์ใช้ :

– ความพอดี ลงตัว ทั้งหลายที่เราพบเจอนั้น ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่อยู่ในแผนการนิรันดร์ของพระเจ้า

เราไม่จำเป็นต้องตกใจกลัว หรือหวาดหวั่นต่อเหตุการณ์ที่เรากำลังเผชิญ เพราะทั้งหมดยังอยู่ในแผนการอันดีเลิศของพระเจ้าสำหรับชีวิตของเรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:15) { รู้จักจนเป็นพร }

แนวคิด :

– หลังจากสาวกทั้งหมดหนี เมื่อมีคนมาจับกุมพระเยซูแล้ว (มธ. 26:56) ต่อมาเปโตรและสาวกอีกคนหนึ่งซึ่งหมายถึงยอห์นนั่นเอง (รูปแบบงานเขียนของยอห์น เมื่อเขาพูดถึงตัวเอง มักเขียนทำนองนี้ ยน.13:23; ยน. 19:26; ยน. 19:35;  ยน. 21:7; ยน. 21:20) ก็หวนกลับมาอีกครั้ง ติดตามพระเยซูไป ไม่ใช่เพื่อจะร่วมทุกข์กับพระองค์ หรือไม่ใช่เพื่อจะมาช่วยพระองค์ แต่ตามมาดูเฉยๆ ดูว่าจะจบอย่างไร (มธ. 26:58)

– เนื่องจากยอห์น มีโอกาสรู้จักกับมหาปุโรหิตก่อนหน้านี้ ทำให้เขาสามารถเข้าไปในลานบ้านของมหาปุโรหิตได้ จึงเป็นเหตุให้เขาสามารถเขียนอธิบายเหตุการณ์ของช่วงเวลานั้นได้ละเอียดกว่า ผู้เขียนพระกิตติคุณท่านอื่นๆ

การประยุกต์ใช้ :

– ในความสัมพันธ์กับคนต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา สักวันหนึ่งพระเจ้าอาจจะใช้ความสัมพันธ์เพื่อให้เราเป็นพระพรต่อผู้คนอีกมากมายก็เป็นไปได้

– วันนี้ ความสัมพันธ์ที่เรามีกับใครบางคน สามารถเป็นประตูที่จะทำให้แผนการแห่งน้ำพระทัยของพระเจ้าสำเร็จผ่านชีวิตของเราได้

วันนี้ ความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนที่ยังไม่รู้จักกับพระเจ้า พระองค์ประสงค์ที่จะใช้เรานำความรอดของพระเยซูคริสต์ไปสู่พวกเขา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:16) { คิดว่าพร้อม }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูถูกจับกุมนำเข้าไปในบ้านของอันนาส มหาปุโรหิตนอกประจำการ ยอห์นได้เข้าไปในลานบ้านนั้นด้วย(ข้อ 15) แต่เปโตรยังยืนอยู่หน้าประตูทางเข้า

– ยอห์นมองออกไปท่ามกลางความมืด แต่ก็พอสังเกตเห็นเปโตรได้ เนื่องจากวันนั้นเป็นช่วงดวงจันทร์เต็มดวง

– เมื่อยอห์นเห็นเปโตรยืนหลบซ่อนอยู่ที่หน้าประตู เขาจึงตัดสินใจ เดินออกไปที่ประตู แล้วเจรจากับผู้หญิงที่เฝ้าประตู ซึ่งปกติจะเป็นผู้ชายที่เฝ้าประตู หญิงคนนั้นคงทำหน้าที่แทนชั่วคราว แล้วหญิงคนนั้นก็ยอมปล่อยให้เปโตรเข้ามาในลานบ้านของอันนาส

– ท่ามกลางความสับสน และงงงันของเปโตร ตลอดหลายชั่วโมงที่ผ่านมาตั้งแต่ตอนมีกลุ่มคนมาจับกุมพระเยซู จนถึงบัดนี้ นี่น่าจะเป็นช่วงที่เขาชื่นใจที่สุด เพราะเขาได้สิทธิพิเศษเข้าไปในลานบ้าน เพื่อเขาได้สังเกตดูให้ชัดว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปกับพระเยซู และเรื่องจะจบลงอย่างไร (มธ. 26:58)

– เปโตรเขาคิดว่า เขาพร้อมแล้ว ที่จะเข้าไปใกล้การทดลองมากขนาดนั้น แต่ความจริงแล้ว เขายังไม่พร้อม เขาไม่น่าเข้ามาเลย เขากำลังจะล้มลงในการทดสอบครั้งสำคัญของชีวิต

การประยุกต์ใช้ :

– บางครั้ง เราประเมินตัวเองผิด คิดว่า “เราพร้อมเผชิญการทดลอง” “เราผ่านมันไปได้แน่นอน” ทั้งที่ความจริงแล้ว ยังห่างไกลกับคำว่าพร้อมมากนัก

– 1คร. 10:12 “เพราะ​เหตุ​นี้​คน​ที่​คิด​ว่า​ตัว​เอง​มั่น​คง​ดี​แล้ว ก็​จง​ระวัง​ไม่​ให้​ล้ม​ลง”

อย่าประมาทต่อการทดลอง พระเยซูทรงสอนเราให้อธิษฐานว่า ‘ขอให้เราสามารถหลีกหนีจากการทดลอง’ เราควรถ่อมตัวลง และอธิษฐานขอกำลังและสติปัญญาที่จะผ่านพ้นทุกการทดลองที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:17) { ปฏิเสธพระเยซู }

แนวคิด :

– ช่วงที่เปโตรถูกถามครั้งแรก ใน มก. 14:66 บอกว่า ​“เป​โตร​อยู่​ที่​ลาน​บ้าน​ข้าง​ล่าง มี​หญิง​คน​หนึ่ง​ใน​พวก​สาว​ใช้​ของ​มหา​ปุโร​หิต​เดิน​มา เมื่อ​เห็น​เป​โตร​ผิง​ไฟ​อยู่ นาง​จ้อง​มอง​แล้ว​พูด​ว่า “เจ้า​อยู่​กับ​เยซู​ชาว​นาซา​เร็ธ​ด้วย​นี่” ”

– และใน ลก. 22:55 “เมื่อ​พวก​เขา​ก่อ​ไฟ​ที่​กลาง​ลาน​บ้าน​และ​นั่ง​ลง​ด้วย​กัน​แล้ว เป​โตร​ก็​นั่ง​อยู่​ท่าม​กลาง​พวก​เขา มี​สาว​ใช้​คน​หนึ่ง​เห็น​เป​โตร​นั่ง​อยู่​ใน​แสง​ไฟ จึง​จ้อง​มอง​แล้ว​พูด​ว่า “คน​นี้​อยู่​กับ​เขา​ด้วย” ”

– ส่วน ใน มธ. 26:69 “เป​โตร​นั่ง​อยู่​นอก​ตึก​ที่​ลาน​บ้าน มี​สาว​ใช้​คน​หนึ่ง​มา​พูด​กับ​เขา​ว่า “เจ้า​ก็​อยู่​กับ​เยซู​ชาว​กา​ลิ​ลี​ด้วย” “

– และ ใน ยน. 18:17 “ผู้​หญิง​คน​ที่​เฝ้า​ประตู​ถาม​เป​โตร​ว่า “ท่าน​ก็​เป็น​คน​หนึ่ง​ใน​พวก​สา​วก​ของ​คน​นั้น​ด้วย​ไม่​ใช่​หรือ?” ”

– เมื่อรวมข้อมูลทั้ง 4 เล่ม จึงได้ความว่า เหตุการณ์เกิดที่ลานบ้านของอันนาส มหาปุโรหิตนอกประจำการ เกิดขณะเปโตรกำลังผิงไฟ คนที่ถาม เป็นสาวใช้ที่ก่อนหน้านี้เฝ้าอยู่ที่หน้าประตู

– ดังนั้น เรื่องราวเป็นดังนี้ :

– เมื่อเปโตรตามกลุ่มคนที่จับพระเยซูมาจนถึงบ้านของอันนาส แต่เข้าไปไม่ได้กล้าๆกลัวๆอยู่แถวหน้าประตู ยอห์นซึ่งเข้าไปได้มองเห็นเข้า จึงเดินมาเจรจากับผู้หญิงซี่งเฝ้าประตูแล้วพาเปโตรเข้ามา (ผู้หญิงนั้นน่าจะเฝ้าประตูแทนชายบางคนชั่วคราว เพราะปกติเป็นหน้าที่ของผู้ชาย)

– เปโตรจึงนั่งผิงไฟอยู่กับคนอื่นๆในลานบ้านของอันนาส แล้วผู้หญิงคนใช้ที่เฝ้าประตูนั้น เดินมา เธอมาที่กองไฟ และด้วยแสงไฟนั้นเธอจึงเห็นหน้าเปโตรชัดขึ้น อาจจะสังเกตเห็นท่าทางกลัวๆ ประหม่าๆ ของเปโตรด้วย เมื่อเธอจ้องดูเปโตรชัดๆ แล้วเธอจึงเริ่มถามเปโตรว่า เปโตรเป็นพวกเดียวกันกับพระเยซูใช่ไหม?

– แล้วเปโตรก็ปฏิเสธ ว่า เขาไม่รู้จักพระเยซู

– เปโตร ล้มเหลว ในการทดสอบครั้งแรกนี้

การประยุกต์ใช้ :

– เปโตรถูกถามด้วยผู้หญิงที่อ่อนแอคนหนึ่ง แต่เขาเองก็ยังไม่กล้าที่จะยืนหยัดฝ่ายพระเยซู

– ถ้าเขาเดินไปกระซิบข้างหูของหญิงคนนั้นว่า ใช่แล้ว จากนั้นรีบวิ่งหนีออกไปเลย ก็ยังดีซะกว่า ปฏิเสธไม่ยอมอยู่ฝ่ายพระเยซู

– ก่อนหน้านี้ ไม่กี่ชั่วโมง ​เป​โตร เพิ่งทูล​ยืน​ยัน ใน มก. 14:31 ​ว่า “แม้​ว่า​ข้า​พระ​องค์​จะ​ต้อง​ตาย​กับ​พระ​องค์ ข้า​พระ​องค์​ก็​จะ​ไม่​ปฏิ​เสธ​พระ​องค์​เลย”

– เราเองอาจคิดว่า เปโตรไม่น่าจะทำเช่นนั้นเลย แต่ตัวเราเองอาจจะเป็นหนักกว่าเปโตรก็เป็นได้

วันนี้ เรายังคงยืนหยัดฝ่ายพระเยซู ด้วยการบอกให้คนรอบข้างและคนที่เราพบเจอ ให้รู้ว่า เรากำลังปรนนิบัติพระเยซู หรือไม่?

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:18) { ยังอยู่ที่เดิม }

แนวคิด :

– หลังจากที่เปโตรปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซูครั้งแรกแล้ว เขาก็ยังไม่รู้สึกผิดอะไร อาจจะตกใจบ้างว่าเกือบโดนคนรู้แล้วว่าเป็นพวกของพระเยซู

– เขายังคงยืนผิงไฟต่อไป กับพวกทาสและเจ้าหน้าที่ ใน มก. 14:54 ขยายความเพิ่มว่ามีพวก​ทหาร​ยาม ยืนผิงไฟอยู่ด้วย

– เปโตรไม่ได้รู้สึกเสียใจแต่อย่างไร เพียงอาจจะระมัดระวังตัวมากขึ้น ความอยากรู้ของเขาว่าเหตุการณ์จะจบอย่างไร ยังคงทำให้เขายังอยู่ต่อไปในลานบ้านของอันนาส มหาปุโรหิตนอกประจำการนั้น

– จากข้อนี้ทำให้เราได้รู้เพิ่มอีกเรื่องหนึ่ง คือ ในวันที่พระเยซูถูกจับกุมนั้น คืนนั้นอากาศหนาวเย็นมาก พระเยซูของฉันถูกสอบสวนและถูกซ้อม โต้รุ่งในคืนที่อากาศเย็นยะเยือก

การประยุกต์ใช้ :

– ความผิดพลาดของเปโตรครั้งแรก คือปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซู

– ความผิดพลาดต่อมาของเปโตร คือ เมื่อเขาผิดพลาดครั้งแรกแล้ว เขาไม่ได้สำนึกผิด ไม่เสียใจ ในความผิดที่ได้ทำไปนั้น

– จึงเป็นเหตุให้เขายังคงอยู่ต่อไป ในที่ที่ง่ายที่จะตกเข้าสู่การทดลองอีกครั้ง

หากเราผิดพลาดพลั้งไป สิ่งที่เราควรจะรีบทำให้เร็วที่สุด ก็คือ สำนึกบาป สารภาพต่อพระเจ้า แล้วรับการอภัยด้วยความเชื่อ จากนั้นก็รีบออกห่างจากสถานการณ์ที่ง่ายต่อการที่เราจะล้มลงในการทดลองอีกครั้ง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:19) { ถามยังไง ให้ไม่ได้รับคำตอบ }

แนวคิด :

  • อันนาส มหาปุโรหิตนอกประจำการได้ สืบสวนพระเยซู ผู้ถูกมัดอยู่ ขณะที่พระเยซูอยู่ในบ้านของเขา
  • เขาพยายามสืบถามพระเยซูเกี่ยวกับคำสอนของพระองค์และข้อมูลเกี่ยวกับสาวกของพระองค์ เช่น จำนวน ,ฯลฯ เพื่อจะหาทางจับผิดพระเยซู เพื่อฟ้องพระองค์ โดยเฉพาะในข้อหากบฏต่อซีซาร์
  • เมื่ออันนาสถามพระเยซู ถึงคำสอนของพระเยซู ตามปกติพระเยซูมักตอบคำถามของผู้ที่ถามพระองค์เกี่ยวกับคำสอนพระองค์อยู่เสมอ แต่พระเยซูกลับไม่ตอบอันนาส(ข้อ20) ก็เพราะว่า เขาไม่ได้ถามเพื่ออยากจะรู้ อยากเข้าใจคำสอนนั้น เพื่อจะได้กลับใจใหม่ แต่เขาถามเพื่อจะจับผิดพระเยซู เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของเขาเอง

การประยุกต์ใช้ :

  • เมื่อเราปรารถนาจะรู้จักและเข้าใจพระคำของพระเจ้า พระเจ้าจะยินดีเปิดเผยให้เรารับรู้และเข้าใจเสมอ
  • ยกเว้นเมื่อเราอยากจะรู้เพียงเพื่อจะจับผิด หรือเพื่อนำมาใช้สนองใจปรารถนาของตนเอง เราคงไม่อาจได้รับการเปิดเผยในผ่ายวิญญาณจากพระเจ้าในเรื่องนั้นได้
  • เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรอยากจะเข้าใจพระคำของพระเจ้า แต่แรงบันดาลใจในการอยากเข้าใจนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:20) { เปิดเผยอย่างชัดเจนแล้ว }

แนวคิด :

– เมื่ออันนาสมหาปุโรหิตสอบถามพระเยซูเกี่ยวกับพวกสาวกของพระองค์และคำสอนของพระองค์(ข้อ 19) ดูเหมือนพระเยซูจะข้ามประเด็นแรกไปพูดถึงประเด็นหลังเลย

– ไม่ใช่เพราะพวกสาวกทิ้งพระองค์ไปหมด ไม่ใช่เพราะมีบางคนปฏิเสธพระองค์ ไม่ใช่เพราะบางคนทรยศพระองค์ และไม่ใช่เพราะพระเยซูต้องการรับโทษเพียงพระองค์เดียว

– แต่เพราะว่า คำสอนของพระองค์นั้น ดีเลิศ ปราศจากตำหนิ ในเมื่อคำสอนของพระองค์ปราศจากตำหนิ ก็ไม่มีอะไรที่สาวกของพระองค์จะสมควรถูกตำหนิ

– พระเยซูตอบอันนาสว่า พระองค์ทรงสอนอย่างเปิดเผยให้ทุกคนที่มาหาพระองค์ได้ยิน ทั้งในธรรมศาลาที่ซึ่งชาวยิวพบปะกันเพื่ออธิษฐาน อ่านพระคำ และฟังคำสั่งสอน รวมทั้งสอนในพระวิหารซึ่งในอยู่กรุงเยรูซาเล็มด้วย

– ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรอีก คนทั้งหลายที่ปรารถนาจะฟังทุกคนก็ได้ยินกันทุกคนแล้ว

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูสอนอย่างเปิดเผยให้ทุกคนได้ยิน ที่เขาไม่ได้ยินก็เพราะเขาไม่สนใจ หรือไม่ก็ เขาแสร้งไม่ได้ยิน

พระคำของพระเจ้าเปิดเผยน้ำพระทัยของพระเจ้าไว้แล้วอย่างชัดเจน วันนี้ที่เราไม่รู้น้ำพระทัยของพระเจ้า อาจเป็นเพราะเราไม่สนใจพระคำของพระเจ้า หรืออาจเพราะว่าแสร้งเป็นไม่รู้น้ำพระทัยของพระเจ้า เพื่อจะได้ไม่ต้องเชื่อฟังพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:21) { ฟังก็จะรู้ }

แนวคิด :

– พระเยซูถามอันนาสมหาปุโรหิตนอกประจำการว่า ถามพระองค์ทำไม? เพราะตามปกติแล้วในการพิพากษาของคนยิว ผู้ต้องหาไม่ต้องกล่าวถึงความผิดของตัวเอง แต่ผู้กล่าวหาต่างหากที่ต้องบอกว่า ผู้ต้องหาทำผิดอะไร

– กรณีนี้ดูเหมือนอันนาส ไม่รู้จะหาข้อกล่าวอะไรให้พระเยซูดี จึงถามพระเยซูว่า “ช่วยบอกหน่อยสิ มีอะไรน่าจะใช้เป็นข้อกล่าวหาได้บ้าง เราจะได้จับผิดแล้วยัดข้อกล่าวหาท่านได้”

– พระเยซูกล่าวกับอันนาสว่า ผู้ที่ฟังพระเยซู ก็จะทราบว่าพระองค์สอนอะไร

– พระเยซูเป็นบรมครู พระองค์สามารถสอนให้ทุกคนสามารถเข้าใจสิ่งที่พระองค์สอนได้ ยกเว้นคนที่ไม่ใส่ใจ หรือคนที่ไม่เชื่อ พวกเขาจะเป็นแค่คนที่ได้ยินแต่ไม่ใช่คนที่ฟัง พวกเขาจะไม่รู้สิ่งที่พระเยซูได้สอนนั้น

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูทรงสามารถสอนให้เราเข้าใจได้ ไม่ว่าเราจะมีความรู้ ความเข้าใจ หรือสติปัญญาน้อยสักเพียงใดก็ตาม

ทุกคนที่ฟังพระเยซู จะรู้ว่าพระเยซูสอนอะไร เราสามารถรับรู้คำสอนของพระเยซูได้ หากเพียงแต่เราจะตั้งใจฟังพระคำของพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:22) { ทรงถูกตบหน้า }

แนวคิด :

– ใน อพย. 22:28 ธรรมบัญญัติกล่าวไว้ว่า “ห้าม​ด่า​พระ​เจ้า หรือ​สาป​แช่ง​ผู้​นำ​ประชา​ชน​ของ​เจ้า”

– เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ได้ยินพระเยซูตอบอันนาสมหาปุโรหิตนอกประจำการ อย่างชอบธรรมและสมเหตุสมผล(ข้อ 20-21) แต่คน​นั้น มอง​ว่า​พระเยซู​ไม่ได้​ให้​ความ​เคารพ​ต่อม​หา​ปุโรหิต  เขาจึงตบหน้าพระเยซู ​แต่ความจริง​​เขาไม่​มี​สิทธิ์​ตบ​หน้าพระองค์ ​เขา​มี​สิทธิ์​แค่​ ตำหนิ​ติ​เตียน​เท่านั้น หากเขาคิดว่าพระองค์พูดลบหลู่มหาปุโรหิต

– สาเหตุที่เขาตบพระเยซู เพราะเขาคิดว่า พระเยซูไม่สมควรพูดเช่นนั้นต่อมหาปุโรหิต

การประยุกต์ใช้ :

– แม้แต่เจ้าหน้าที่ธรรมดาๆคนหนึ่งยังรู้เลยว่า ไม่สมควรลบหลู่มหาปุโรหิต แม้แต่ด้วยคำพูดก็ตาม

– แต่ในวันนั้น พระเยซูผู้ทรงเป็นมหาปุโรหิตนิรันดร์ กลับยอมถูกลบหลู่ ไม่ใช่เพียงแค่คำพูด แต่ด้วยการตบหน้าโดยเจ้าหน้าที่ต่ำต้อย ทั้งที่พระองค์ไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแม้แต่เพียงเล็กน้อย

– พระเยซูยอมถูกลบหลู่เกียรติ เพื่อให้เราผู้สมควรถูกหลู่เกียรติ กลับได้รับเกียรติยิ่งใหญ่ในการเข้าส่วนในพระสิริของพระเจ้า

– พระเยซูยอมถูกตบหน้าเพื่อเรา วันนี้เรายอมทำอะไรเพื่อเห็นแก่พระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:23) { ไม่ยุติธรรม }

แนวคิด :

– พระเยซูตรัสกับเจ้าหน้าที่ ผู้ที่ตบหน้าพระองค์ ผู้ที่พระองค์ทรงรักเขาและกำลังจะเดินไปสู่ความตายบนไม้กางเขนเพื่อเขาในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า  ว่า “ถ้า​เรา​พูด​ผิด..”  เพื่อให้เขาคิดทบทวนคำพูดของพระองค์ดูดีๆ ให้​เขาลองไตร่ตรองดูว่า สิ่งที่พระเยซูตรัสนั้นเป็นการผิดธรรมบัญญัติ หรือเป็นการลบหลู่มหาปุโรหิตตรงไหน ​แต่​​เขา​กลับ​เงียบ​แสดง​ว่า​ที่​พระเยซู​ตรัส​นั้น​ ล้วนแต่ป็น​ความ​จริง

– พระเยซูชี้ให้เขาเห็นว่า สิ่งที่เขาทำนั้นไม่ถูกต้อง คือ เขาลงโทษ ลงมือทำร้าย ผู้ที่ไม่มีความผิด

– สาระสำคัญของข้อนี้ น่าจะเป็นการชี้ให้เห็นว่า พระเยซูทรงถูกปฏิบัติอย่างอยุติธรรม

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูทรงรับความอยุติธรรม เพื่อเรา

– พระเยซูถูกลงโทษ ทั้งที่ไม่มีความผิดเพื่อเรา

– เพื่อเราผู้มีความผิด ผู้สมควรถูกลงโทษ จะสามารถรอดพ้นการลงโทษในวันพิพากษาได้

– อสย. 53:5 “… ท่าน​บอบ​ช้ำ​เพราะ​ความ​บาปผิด​ของ​เรา…”

– พระเยซูผู้ชอบธรรม ทรงยอมทนรับความอยุติธรรม เพื่อเราจะได้รับความชอบธรรมของพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:24) { หาข้อหาไม่พบ }

แนวคิด :

– หลังจากอันนาส มหาปุโรหิตนอกประจำการ ได้สอบสวนพระเยซูอยู่พักใหญ่ ก็ไม่พบเหตุที่จะกล่าวหาพระเยซูได้ จึงส่งพระเยซูไปที่บ้านของคายาฟาสมหาปุโรหิตคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นลูกเขยของอันนาส

– ที่บ้านของคายาฟาสนี้ เป็นที่เรียกประชุมเฉพาะกิจของบรรดาธรรมาจารย์และพวกผู้ใหญ่ของพวกยิว ซึ่งคาดว่าคงเรียกประชุมกันเป็นกรณีพิเศษเพื่อจัดการกับพระเยซู

– ใน มธ. 26:57 ก็ขยายความบ้านของคายาฟาสไว้ดังนี้  “พวก​คน​ที่​จับ​พระ​เยซู​ก็​พา​พระ​องค์​ไป​ถึง​บ้าน​คา​ยา​ฟาส​มหา​ปุโร​หิต ซึ่ง​เป็น​ที่​ที่​บรร​ดา​ธรร​มา​จารย์​และ​พวก​ผู้​ใหญ่​ประ​ชุม​กัน​อยู่”

– ในเมื่ออันนาสมหาปุโรหิตอาวุโส คนเดียวเอาไม่อยู่ ไม่สามารถหาข้อกล่าวหาพระเยซูได้ เขาจึงส่งไปยังที่ประชุมของพวกผู้ใหญ่เพื่อช่วยกันหาข้อหาให้แก่พระเยซู

– พระเยซูซึ่งถูกมัดไว้ เขามัดผู้ต้องหาเพื่อป้องกันการหลบหนี ซึ่งความจริงพระเยซูไม่เคยคิดที่จะหลบหนีเลย

การประยุกต์ใช้ :

– อันนาส สอบสวนอยู่นานก็ยังไม่สามารถตั้งข้อกล่าวหาพระเยซูได้ จึงต้องส่งให้ที่ประชุมมาช่วยกันหาข้อหาให้แก่พระเยซู เป็นการปฏิบัติที่ผิดกฏเกณฑ์และธรรมเนียมอย่างยิ่ง

– คือ จับผู้ต้องหามาก่อน แต่ข้อหายังหาไม่ได้ เดี๋ยวมาช่วยกันหากันทีหลัง

พระเยซูถูกกล่าวหา โดยไม่มีความผิด เพื่อเราผู้มีความผิด จะได้พ้นข้อกล่าวหา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว (ยน.18:25){ตกหลุมเดิม}

แนวคิด :

– ในกิตติคุณทั้ง 4 เล่ม กล่าวถึง การปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซู ในครั้งที่ 2 ของเปโตร ไว้ดังนี้

– ใน มธ. 26:71 “เมื่อ​เป​โตร​ออก​ไป​ที่​ประตู​บ้าน สาว​ใช้​อีก​คน​หนึ่ง​เห็น​เขา​จึง​บอก​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​อยู่​ที่​นั่น​ว่า “คน​นี้​เคย​อยู่​กับ​เยซู​ชาว​นา​ซา​เร็ธ” ”

– ใน มก. 14:69 “เมื่อ​สาว​ใช้​คน​นั้น​เห็น​เป​โตร ก็​พูด​ขึ้น​อีก​กับ​คน​ที่​ยืน​อยู่​ว่า “คน​นี้​เป็น​พวก​เขา​ด้วย”  ”

– ใน ลก. 22:58 “สัก​ครู่​หนึ่ง​มี​อีก​คน​หนึ่ง​เห็น​เป​โตร จึง​พูด​ว่า “เจ้า​เป็น​คน​ของ​พวก​นั้น​ด้วย” เป​โตร​จึง​กล่าว​ว่า “พ่อ​หนุ่ม​เอ๋ย ข้า​ไม่​ได้​เป็น” ”

– และ ใน ยน. 18:25 ขณะ​นั้น​ซีโมน​เป​โตร​กำ​ลัง​ยืน​ผิง​ไฟ​อยู่ คน​พวก​นั้น​ถาม​เป​โตร​ว่า “เจ้า​ก็​เป็น​สา​วก​ของ​คน​นั้น​ด้วย​ไม่​ใช่​หรือ?” เป​โตร​ปฏิ​เสธ​ว่า “ไม่​ใช่” ”

– สรุปความได้ดังนี้

– ครั้งนี้เปโตรถูกถามโดยคนมากกว่า 1 คน ยน.18:25 ใช้คำว่าพวกนั้น

– การถามนี้ เกิดจาก ผู้หญิงบางคนทั้งคนเดิม(มก. 14:69)และอีกคนหนึ่ง(มธ. 26:71) เริ่มพูดข้อสังเกตของพวกเธอให้กับคนอื่นๆได้ฟังแล้วคนเหล่านั้นก็เริ่มถามเปโตร

– การถามนี้เกิดขึ้นขณะเปโตรกำลังผิงไฟ(ยน. 18:25) แต่ดูเหมือนเปโตรมีการเดินไปเดินมาระหว่างประตู(มธ. 26:71)กับกองไฟ กองไฟนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นกองไฟเดียวกันกับกองแรกหรือไม่ เพราะข้อก่อนหน้านี้(ข้อ24) อันนาสได้ส่งพระเยซูไปยังบ้านคายาฟาสลูกเขยของตน ซึ่งน่าจะอยู่ใกล้ๆกัน

– ดังนั้น เรื่องราวเป็นดังนี้ :

– หลังจากที่เปโตรปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซูครั้งแรก เขาก็ยังคงยืนผิงไฟต่อไปแต่น่าจะเริ่มอยู่ไม่ติด มีการเดินไปที่ประตูหลบมุมท่ามกลางคนที่เดินไปเดินมา แล้วกลับมาผิงไฟต่อเมื่อทนหนาวไม่ไหว เป็นไปได้ว่า เปโตรน่าจะได้เห็นเหตุการณ์ที่พระเยซูถูกตบด้วย (ยน. 18:22) แล้วผู้หญิงคนก่อนและผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ก็เริ่มไปบอกคนอื่นๆว่า เปโตรน่าจะเป็นพวกพระเยซู ดังนั้นขณะที่เปโตรกำลังยืนผิงไฟอยู่ ก็มีชายบางคนถามเขาว่า เขาเป็นพวกพระเยซูใช่หรือไม่ แล้วเชาก็ปฏิเสธ ว่า ไม่รู้จักพระเยซู

– เปโตรผิดพลาดในครั้งแรก แต่ก็ยังไม่เอาตัวออกจากการทดลอง ยังคงอยู่ในบริเวณบ้านของมหาปุโรหิตต่อไป จนเขาทำผิดครั้งที่ 2 ปฏิเสธไม่รู้จักพระเยซู ผู้ที่เขาปฏิญาณว่าพร้อมตายกับพระองค์

การประยุกต์ใช้ :

– เปโตร ไม่ยอมหลีกหนีจากการทดลอง จึงผิดพลาด ล้มลงในการทดลอง แต่แล้วเขาก๋ผิดพลาดซ้ำเดิมอีก ก็เพราะเขายังคงไม่ยอมหลีกหนีออกมาจากสถานการณ์ที่ง่ายต่อการถูกทดลองนั้น

ความผิดพลาดครั้งที่แล้ว จะเป็นบทเรียนช่วยให้เรา หลีกหนีจากการทดลองนั้น แต่หากเรายังไม่ยอมหลีกหนีออกมา ก็ง่ายเหลือเกินที่เราจะล้มลงอีกครั้ง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:26) { ผลจากการไม่กลับใจ }

แนวคิด :

– กิตติคุณทั้ง 4 กล่าวถึง การที่เปโตร ปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซู ครั้งที่ 3 ไว้ดังนี้

– มธ. 26:73 “อีก​สัก​ครู่​หนึ่ง คน​ทั้ง​หลาย​ที่​ยืน​อยู่​ใกล้ๆ นั้น​ก็​มา​พูด​กับ​เป​โตร​ว่า “เจ้า​เป็น​คน​หนึ่ง​ใน​พวก​นั้น​แน่ๆ เพราะ​ว่า​สำ​เนียง​ของ​เจ้า​ส่อ​ตัว​เอง” ”

มก. 14:70 “… ครู่​หนึ่ง​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​ยืน​อยู่​ที่​นั่น​ก็​พูด​กับ​เป​โตร​อีก​ว่า “เจ้า​เป็น​คน​หนึ่ง​ใน​พวก​นั้น​แน่ๆ เพราะ​ว่า​เจ้า​เป็น​ชาว​กา​ลิลี” ”

ลก. 22:59 “ต่อ​มา​ประ​มาณ​อีก​หนึ่ง​ชั่ว​โมง มี​อีก​คน​หนึ่ง​ยืน​ยัน​อย่าง​มั่น​ใจ​ว่า “ต้อง​ใช่​แน่ คน​นี้​อยู่​กับ​เขา​ด้วย เพราะ​เป็น​ชาว​กา​ลิลี” ”

ยน. 18:26 “ทาส​คน​หนึ่ง​ของ​มหา​ปุโร​หิต ซึ่ง​เป็น​ญาติ​กับ​คน​ที่​เป​โตร​ฟัน​หู​ขาด​ก็​ถาม​ว่า “ข้า​เห็น​เจ้า​กับ​คน​นั้น​ใน​สวน​ไม่​ใช่​หรือ?” ”

– สรุปเหตุการณ์ได้ดังนี้

– เหตุการณ์นี้เกิดหลังจากการปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซู ครั้งที่ 2 ประมาณ 1 ชม.(ลก. 22:59)

– เปโตรถูกถามโดยหลายคน ใน มธ. 26:73 และ มก. 14:70 ใช้คำว่า “คนทั้งหลาย” ถาม

– แต่ท่ามกลางคนเหล่านั้น คนที่ดูเหมือนจะยืนกรานหนักแน่นที่สุด น่าจะเป็นทาสคนหนึ่งของมหาปุโรหิต ที่เป็นญาติกับมัลคัส ผู้ซึ่งเปโตรเพิ่งฟันหูเขาขาดไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้(ยน. 18:26)

– ดังนั้นเหตุการณ์น่าจะเป็นดังนี้ :

– หลังจากผ่านไป 1 ชม.เปโตรยังคงยืนอยู่ในบ้านของมหาปุโรหิต คงมีการสนทนาอะไรกันบ้างกับคนอื่นขณะที่ยืนดูอยู่นั้น แล้วคนก็เริ่มสังเกตสำเนียงของเปโตร ว่า เป็นสำเนียงของคนกาลิลี นี่นา ดังนั้นเปโตรน่าจะเป็นพวกเดียวกับพระเยซู และท่ามกลางคนเหล่านั้นก็มีทาสคนหนึ่ง จำเปโตรได้แม่นเพราะเปโตรเพิ่งฟันหูของมัลคัส ญาติของเขา จนขาดเมื่อไม่กี่ชม.ก่อนนี่เอง จึงยืนกรานหนักแน่นว่า เปโตรเป็นพวกพระเยซูแน่นอน

– การทดลองครั้งที่ 3 ที่เปโตรเปชิญนี้ ดูเหมือนจะหนักหน่วงยิ่งกว่า 2 ครั้งแรก เพราะมีพยานยืนกรานหนักแน่น เปโตรไม่มีทางปฏิเสธได้ จนทำให้เปโตรต้องสาบานเพื่อปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซู (มธ. 26:74)

– เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะก่อนหน้านี้เปโตรทำผิดพลาดที่ไปฟันหูของมัลคัสขาด แต่ความผิดพลาดนั้น พระเยซูแก้ไขให้แล้ว ด้วยการต่อหูคืนกลับไปให้มัลคัส (ลก. 22:51)เปโตรจึงไม่จำเป็นต้องรับผลของการผิดพลาดนี้แต่อย่างใด

– แต่เนื่องจาก เปโตรยังทำผิดซ้ำๆ ถึง 2 ครั้ง และยังไม่ยอมกลับใจ ยังไม่รู้สึกเสียใจในการปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซู ดังนั้นผลของการผิดพลาดในอดีตของเขา จึงส่งผลกระทบต่อเขาในขณะนี้

– ถ้าเพียงแต่เปโตรจะสำนึกผิด เสียใจ แล้วออกไปร้องไห้ ตั้งแต่การปฏิเสธไม่รู้จักพระเยซูครั้งแรก หรือ ครั้งที่2 เรื่องของการฟันหูมัคคัสขาด คงไม่มีมีผลกระทบใดๆต่อเขาเลย

การประยุกต์ใช้ :

– ความผิดพลาดในอดีตของเรา พระเจ้าทรงเมตตา แก้ไข กลบเกลื่อนบาปให้แก่เรา ปกป้องเราไม่ให้ใครรู้ใครเห็น หรือช่วยไม่ให้มันเกิดปัญหาลุกลามใหญ่โต

– แต่หากเรายังคงดำเนินในทางผิดต่อไป และไม่คิดจะกลับใจเสียใหม่ เป็นไปได้ว่า ความผิดพลาดที่รับการแก้ไขแล้วนั้น อาจกลับมาส่งผลเสียหายให้แก่เรา ในวันนี้ หากเรายังคงดำเนินในบาปต่อไป

– พระเยซูทรงแก้ไขสถานการณ์ให้แก่เราแล้ว และพระองค์ปรารถนาให้เรากลับใจเสียใหม่ แต่หากเรายังคงดื้อดึงไม่กลับใจ เกรงว่าสถานการณ์นั้นจะกลับมาส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราอีกก็เป็นได้

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:27) { ปฏิเสธพระเยซู 3 ครั้ง }

แนวคิด :

– เมื่อมีหลายคนยืนกรานหนักแน่นว่าเปโตรน่าจะเป็นพวกเดียวกับพระเยซู(ข้อ26) เขาจึงปฏิเสธว่าไม่รู้จักกับพระเยซูเป็นครั้งที่ 3

– ในครั้งนี้ ยอห์นบันทึกเพียงสั้นๆว่า เปโตรปฏิเสธอีกครั้งหนึ่ง

– แต่ ใน มธ. 26:74 และ มก. 14:71 อธิบายเพิ่มเติมว่า เป​โตร​ก็​สบถ​สา​บานใหญ่ ​ว่า ไม่รู้จักกับพระเยซู

– ในทันใดนั้นไก่ก็ขัน เป็นไปได้ว่า การสอบสวนพระเยซูน่าจะดำเนินไปต่อเนื่องจนถึงตีสาม เพราะไก่ในแถบนั้นมักขันในช่วงใกล้เช้า คือตีสามหรือหลังจากนั้น (ข้อมูลจาก John Gill , Exposition of the entire Bible)

– ใน ลก. 22:61  อธิบายเพิ่มเติมว่า พระเยซู​ทรง​เหลียว​ดู​เป​โตร หลังจากเขาปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระองค์ในครั้งนี้ แล้วเขาก็ระลึกได้ว่า พระเยซูบอกเขาไว้ก่อนแล้ว จากนั้น​เป​โตร​ก็​ออก​ไป​ข้าง​นอก​ร้อง​ไห้​ด้วย​ความ​ทุกข์​ใจ

การประยุกต์ใช้ :

– เปโตรทนยืนหนาวขนาดต้องผิงไฟอยู่นาน จนปฏิเสธว่าไม่รู้จักกับพระเยซู ได้ถึง 3 ครั้ง การทนกับความทุกข์ยากลำบากที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพระเจ้า บางครั้งก็ไม่ได้เรียกว่า การปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า

– เพราะไม่ได้วัดที่ปริมาณความยากลำบาก แต่วัดที่ท่าทีในจิตใจว่า การกระทำนั้นเราทำเพื่ออะไร  ทำเพราะความรักที่มีต่อพระเจ้า หรือทำเพื่อประโยชน์ของตนเองเหมือนกับเปโตรทำเพื่อตนเองจะได้รู้ว่าเหตุการณ์จะจบอย่างไร

– สำหรับการทดลองนี้ พระเยซูบอกเปโตรไว้ก่อนแล้ว พระองค์เตือนแล้ว แต่เปโตรไม่ได้ใส่ใจคำเตือนนั้น ในที่สุดเขาก็ล้มลงในการทดลองนั้น

ก่อนที่การทดลองจะมาถึง พระเจ้ามักทรงเตือนเรา ด้วยพระคำหรือด้วยเหตุการณ์อะไรบางอย่างก่อน หากเราฟังคำเตือน เราจะสามารถผ่านพ้นการทดลองนั้นไปได้

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:28) { รักปัสกาแต่เกลียดพระเยซู }

แนวคิด :

  • หลังจากที่พระเยซูถูกสอบสวน โดยพวกหัวหน้าปุโรหิตกับพวกผู้ใหญ่และพวกธรรมาจารย์ บรรดาสมาชิกสภา(มก. 15:1)และพวกผู้ใหญ่ทั้งหมดของประชาชน(มธ. 27:1) เพื่อหาข้อหา ที่จะลงโทษพระเยซู
  • พอรุ่งเข้า ในเวลาเช้าตรู่ ใน มก. 15:1 ใช้คำว่า “ทันทีที่ฟ้าสาง” นั่นคือเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ พวกเขารอไม่ไหวแล้วอยากให้พระเยซูตายเร็วๆเหลือเกิน พวกเขาจึงพาพระเยซูผู้ถูกมัดไว้ ไปหาปีลาตเจ้าเมืองเยรูซาเล็ม ที่กองบัญชาการปรีโทเรียม ซึ่งตามปกติศาลปรีโทเรียมจะเริ่มเปิดทำการพิจารณาคดีเวลาหกโมงเช้า(ข้อมูลจากคู่มือศึกษาพระธรรมมัทธิว ของสมาคมพระคริสตธรรมไทย) ดังนั้นเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นช่วงเวลา 6:00 น.
  • ก่อนเหตุการณ์นี้ มีเหตุการณ์ที่บ้านของคายาฟาสมหาปุโรหิต ที่ยอห์น ไม่ได้บันทึกไว้ แต่ผมขอถือโอกาสกล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้ คือ
  • พระเยซูถูกถ่มน้ำลายรดหน้า(มก. 14:65)
  • พวกเขาพยายามหาพยานมาปรักปรำพระเยซู เพื่อจะได้ประหารพระองค์ แต่หาหลักฐานไม่ได้(มก. 14:55)
  • บางคนเอาผ้ามาปิดตาพระเยซูแล้วตบพระองค์ เพื่อเล่นเกมส์ให้พระองค์ทายสิว่าใครตบ(มก. 14:55)
  • หลายคนเริ่มตบหน้าพระองค์ รวมทั้งทหารยามซึ่งไม่มีบทบาทอะไรเลยในการสอบสวน ก็ร่วมสนุก มาร่วมตบหน้าพระเยซูด้วย(มก. 14:55)
  • พระเยซูถูกซ้อม ถูกทุบ ถูกตี(มธ. 26:67) และเป็นไปได้ว่าน่าจะถูกชก ถูกรุมกระทืบด้วย
  • พระเยซูถูกเยาะเย้ยถางถางสารพัด และถูกโบยตี (ลก. 22:63)
  • พระเยซูถูกพวกเขาพูดคำหยาบช้าต่อพระองค์อีกหลายอย่าง (ลก. 22:65)
  • และทั้งหมดที่เขาทำกับพระเยซูผู้เป็นที่รักของเรานี้ พวกเขาทำตั้งแต่ไก่ขัน(ประมาณตีสาม) ยันเกือบ หกโมงเช้าเลยทีเดียว
  • และทั้งหมดที่เขาทำกับพระเยซู เขาทำไปทั้งที่ยังหาความผิดอะไรในพระเยซูไม่ได้เลย คงหาได้เพียงข้อหาเดียวคือ “พระเยซูดันเป็นคนดีเกินไปนัก จนประชาชนศรัทธามาก จนพวกฉันอิจฉาอย่างยิ่ง”

*** สภาพของพระเยซูขณะที่ถูกนำไปพบปีลาต ***

  • แก้มของพระองค์คงบวมแดงไปทั้งสองข้าง มีรอยนิ้วมือของบางคนที่ตบแรงกว่าใครประทับอยู่ด้วย และมีคราบเสลดจำนวนไม่น้อยติดค้างอยู่บนใบหน้า
  • เป็นไปได้ว่า ถึงตอนนี้ดั้งของพระองค์น่าจะหักแล้ว จากการถูกชก ถูกตี ถูกรุมกระทืบ
  • แน่นอนตาของพระองค์ คงจะฟกช้ำดำเขียวจากรอยถูกชก ถูกตี และตาของพระองค์คงบวมปูด
  • ฟันของพระองค์คงหักไปแล้วบางซี่จากการถูกซ้อม แน่นอนคงปากแตก และมีเลือดไหลออกมาจากปากและจมูกของพระองค์
  • หลังของพระองค์คงแตกยับ มีเลือดไหลออกมาทั่วทั้งหลัง เนื่องจากการถูกโบยตี

  • เมื่อพวกเขาพาพระเยซูไปหาปีลาต พวกเขารังเกียจคนต่างชาติมาก จนไม่ยอมเข้าไปในอาคารของคนโรม เพราะกลัวจะเป็นมลทินแล้วจะอดกินปัสกาที่กำลังจะมาถึง ถึงขนาดต้องเรียกเจ้าเมืองปีลาต ออกมาพบพวกเขาแทน
  • แต่ในวันนั้น พวกเขายินดีเต็มใจมาขอความร่วมมือจากคนต่างชาติที่เขารังเกียจนั้น เพื่อจะฆ่าพระเยซูให้ได้

การประยุกต์ใช้ :

  • พวกยิวสนใจใส่ใจอย่างยิ่งที่จะกินปัสกา เข้าร่วมในพิธีปัสกา แต่ขณะเดียวกันพวกเขากำลังกระตือรือร้นที่จะทำลายผู้เป็นความหมายที่แท้จริงของปัสกาเสีย
    -บางคนสนใจใส่ใจ ให้ความสำคัญแก่ศาสนพิธีหรือกิจกรรมของศาสนาคริสต์ แต่ละเลยที่จะสนใจความรู้สึกของพระเยซู ผู้เป็นศูนย์กลางแห่งคริสตศาสนา
  • วันศุกร์ประเสริฐที่จะมาถึงนี้ อย่าให้เรามัวแต่ยุ่งวุ่นวายกับการจัดงานวันศุกร์ประเสริฐ จนละเลยการมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและลึกซึ้งให้มากยิ่งขึ้น กับพระเยซู ผู้เป็นหัวใจแห่งวันศุกร์ประเสริฐ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:29) { ปีลาต&คายาฟาส ทีมประหารพระเยซู }

แนวคิด :

– ปีลาต เป็น​ข้าราชการของ​โรม ซึ่ง​ถูก​ส่ง​มาปกครอง​​แคว้น​ยูเดีย​และ​สะมา​เรีย​ ​ระหว่าง​ ปี ​ค.ศ. ​26-36

– ดังนั้นเนื่องจากช่วงเวลานั้น ​ชาวยิ​วอ​ยู่​ภายใต้​การ​ปกครอง​ของ​โรม ​ทำ​ให้​ไม่​มี​สิทธิ์​ตัดสิน​ประหาร​ชีวิต​ตาม​กฎหมาย​ของ​ชาวยิว พวกเขาจึงพาพระเยซูมาหาปีลาต เพื่อยืมมือปีลาตฆ่าพระเยซูเสีย

– ทั้งนี้เกิดขึ้นตามคำที่พระเยซูตรัสเอาไว้ว่า พระองค์ต้องสิ้นพระชนม์ในมือของคนต่างขาติที่ไม่ใช่ยิว (มธ. 20:19)

– เมื่อพวกมหาปุโรหิตพาพระเยซูมาหาปีลาตแต่เช้าตรู่ แต่ไม่ยอมเข้าไปพบปีลาตในกอง​บัญ​ชา​การ​ปรี​โท​เรียม ปีลาตก็ยอมอ่อนข้อตามคำเขาของพวกเขา โดยออกมาพบพวกเขา ซึ่งปกติแล้วปีลาตไม่จำเป็นต้องออกมาเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช้าตรู่ที่เขาเพิ่งจะตื่นนอนแบบนี้

– แต่เหตุที่เขายอมออกมาก็คงเพราะว่า ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายใดๆในเมือง เนื่องจากนโยบายของโรมคือ ห้ามให้มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในเมืองใดๆ ถ้าเกิดขึ้นเจ้าเมืองจะต้องมีความผิด

– ด้วยเหตุนี้พอพวกผู้นำชาวยิวมากันมากมาย แล้วมาขอให้เขาทำอย่างนั้น เขาจึงจำใจยอมทำตามคำขอ แม้จะไม่ค่อยเต็มใจนักก็ตาม

– เมื่อปีลาตออกมาพบพวกเขาแล้ว จึงถามว่า พวกเขาฟ้องพระเยซูด้วยข้อหาใด? เพราะการจะฟ้องร้องหรือลงโทษใครก็ตาม จำเป็นต้องมีข้อหาชัดเจน แต่ดูเหมือนพวกมหาปุโรหิตเองก็ยังหาข้อหาที่ชัดเจนไม่ได้(ข้อ 30)

– มีข้อมูลน่าสนใจประการหนึ่งคือ ในเหตุการณ์ประหารชีวิตพระเยซูนี้ มี ปีลาต เป็นผู้นำฝ่ายโรม และ มี คายาฟาส เป็นผู้นำฝ่ายยิว ปรากฏว่าปีลาตถูกปลดออกจากตำแหน่ง ในปี คศ.36 (3 ปีหลังเหตุการณ์พระเยซูสิ้นพระชนม์) และในปีเดียวกันนั้นเอง คายาฟาสก็ถูกโรมไล่ออกจากตำแหน่งมหาปุโรหิต

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูเสด็จมาบังเกิดในโลกนี้ในชนชาติยิว ตามพระสัญญาที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับอับราฮัม แต่ชนชาติที่ได้รับเกียรติสูงส่งนี้ กลับปฏิเสธพระองค์ แล้วส่งตัวพระองค์ให้แก่คนต่างชาติที่พวกเขาเกลียดเพื่อให้ช่วยฆ่าพระองค์ เพราะพวกเขาเกลียดพระองค์ยิ่งกว่าเกลียดชนต่างชาติเสียอีก

– ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามแผนการแห่งพระพรของพระเจ้า ให้ความรอดจากพระเจ้า ผ่านจากยิวไปยังคนต่างชาติทั่วโลก ในเวลาต่อมา

– ทั้งปีลาตและคายาฟาส ก็อยู่ในแผนการอันล้ำเลิศของพระเจ้าเพื่อช่วยเราทั้งหลายให้รอด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.18:30) { ข้อกล่าวหา }

แนวคิด :

– หลังจากที่พวกมหาปุโรหิตพาพระเยซูมาหาปีลาต เพื่อให้ปีลาตประหารชีวิตของพระองค์เสีย ปีลาตจึงถามพวกเขาว่า พระเยซูมีความผิดอะไร?

– ปรากฏว่า พวกเขาตอบทำนองว่า เอาน่ะ มีความผิดอะไรสักอย่างนี่แหละ ประหารๆเลยก็แล้วกัน

– ดูเหมือนพวกมหาปุโรหิตเอง หลังจากพยายามตั้งแต่คืนยันรุ่ง ก็ยังไม่สามารถหาข้อหาที่จะลงโทษพระเยซูให้ถึงตายได้เลย แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็อยากให้พระเยซูตาย

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูถูกกล่าว อย่างไม่มีข้อกล่าวหา ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังคงถูกประหารชีวิต

– ในฝ่ายโลกนี้พระเยซู ทรงถูกประหารอย่างอยุติธรรม

– แต่ในฝ่ายวิญญาณ พระเยซู ทรงถูกประหารอย่างยุติธรรมที่สุด

– พระเยซูทรงเสนอตัวเป็นตัวแทนของเรา ดังนั้นเมื่อพิจารณาดูตามความบาปชั่วของเราแล้ว พระเยซูผู้ทรงเป็นตัวแทนของเราอย่างสมบูรณ์ สมควรแล้วที่จะต้องถูกประหารชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน ให้สาสมกับความบาปชั่วของเรา

– ขอบคุณพระเยซู!!!