แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:1) { เฆี่ยนพระเยซู }

แนวคิด :

– ยอห์นบันทึกข้อนี้เพียงสั้นๆ แต่เหตุการณ์จริงเป็นช่วงเวลาที่แสนจะยาวนานสำหรับพระเยซู

– ใน มก. 15:16 อธิบายเพิ่มเติมว่า “พวก​ทหาร​จึง​นำ​พระ​องค์​เข้า​ไป​ยัง​ลาน​ของ​ราช​สำนัก (คือ​กอง​บัญ​ชา​การ​ปรี​โท​เรียม) แล้ว​เรียก​พวก​ทหาร​ทั้ง​กอง​มา​ประ​ชุม​กัน”

– การเฆี่ยนตีนี้ พระเยซูถูกรุมซ้อมครั้งนี้ ไม่ใช่ด้วยแค่ทหารไม่กี่คน แต่ทหารทั้งกองมาช่วยกัน

– การเฆี่ยนตีเขาจะจับนักโทษถอดเสื้อออก แล้วผูกนักโทษไว้กับเสาเตี้ย จากนั้นก็จะเฆี่ยนอย่างรุนแรงโดยเหล่าทหารโรม ผู้เชี่ยวชาญในการทรมานนักโทษอย่างยิ่ง

– แส้ที่ใช้เฆี่ยนพระเยซูนั้น น่าจะเป็นแส้ที่มีสิ่งแหลมคมติดอยู่ที่ช่วงปลายของแส้ บางแห่งใช้กระดูกม้าทุบให้แตก แล้วเอาเศษกระดูกแหลมคมนั้นติดที่ช่วงปลายของแส้ บางแห่งก็ใช้โลหะแหลมคมติดที่ปลายแส้แทน เราไม่ทราบว่าแส้ที่ใช้เฆี่ยนพระเยซูนั้นเป็นแส้แบบไหน แต่ที่น่าจะพอคาดเดาได้ คือไม่ว่าแบบไหนก็ตามล้วนออกแบบมาให้กระชากเนื้อของผู้เฆี่ยนให้หลุดออกมา ทุกครั้งที่กระชากแส้กลับออกจากเนื้อ

– ความเจ็บปวดอย่างที่สุดเกิดขึ้นกับพระเยซูเมื่อทหารโรมผู้เชี่ยวชาญในการทรมานนั้นหวดแส้ลงบนตัวของพระเยซู

– แต่ความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสยิ่งกว่า จะเกิดขึ้นตอนที่ทหารโรมนั้นกระชากแส้กลับออกมา แส้นั้นจะสำแดงพิษสงอันหฤโหดที่แท้จริงของมัน ด้วยการกระชากเนื้อของพระเยซูติดออกมาด้วยทุกครั้ง

– การเฆี่ยนตีนี้รุนแรงมาก ทำให้พระเยซูบาดเจ็บสาหัส จนกระทั่งพระเยซูไม่สามารถแบกกางเขนไปถึงโกละโกธาได้ (มก. 15:21)

– พระคัมภีร์ข้อนี้ในฝ่ายวิญญาณ เป็นเรื่อง “ช็อคสวรรค์!!!”

–  ปีลาตเจ้าเมืองของเมืองเล็กๆอย่างเยรูซาเล็ม มีสิทธิอะไรไปสั่งให้​เอา​พระ​เยซู พระเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์ ผู้ที่สรรพสิ่งเกิดขึ้นมาโดยพระองค์ และดำรงอยู่ได้โดยพระองค์(ยน. 1:3 )​  ไป​โบย​ตี

– แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ เพราะพระเยซูทรงถ่อมพระทัยลงจนถึงที่สุด เพื่อให้แผนการของพระบิดาในการช่วยเราทั้งหลายพ้นนรกนั้น จะสำเร็จ

การประยุกต์ใช้ :

– อสย. 53:5 “… ท่าน​บอบ​ช้ำ​เพราะ​ความ​บาปผิด​ของ​เรา การ​ตี​สอน​ที่​ตก​บน​ท่าน​นั้น​ทำ​ให้​พวก​เรา​มี​สวัสดิ​ภาพ และ​ที่​ท่าน​ถูก​เฆี่ยนตี​ก็​ทำให้​เรา​ได้​รับ​การ​รัก​ษา”

– ที่พระเยซูต้องบาดเจ็บสาหัสนี้ ก็เพราะการบาปผิดของเรา

– ที่พระเยซูถูกเฆี่ยนตีอย่างเจ็บปวด ก็เพื่อให้เรารับการรักษาให้หาย

– พระองค์ประทานชีวิตของพระองค์เองเพื่อเรา วันนี้แม้เราจะมอบถวายทั้งชีวิตแด่พระองค์ก็ยังถือว่า น้อยเกินไปสำหรับสิ่งที่พระเจ้าใหญ่ยิ่งสูงสุดทรงทำเพื่อมนุษย์ผู้เป็นเพียงแต่ผงคลีดินอย่างเรา

– เราสมควรใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในโลกชั่วคราวนี้ ทำสิ่งที่ถวายเกียรติแด่พระองค์ ผู้ทรงประทานชีวิตของพระองค์เองแก่เรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:2) { กษัตริย์ตัวตลก }

แนวคิด :

– หลังจากทหารทั้งกองที่มารวมตัวกัน บางคนเฆี่ยนตีพระเยซูแล้ว(ข้อ1)

– ก็มีทหารบางคนนึกสนุกขึ้นมา อยากจะเล่นกับเจ้าตัวตลกที่เนื้อแตกยับเยินนี้สักหน่อย เขาก็ไปเดินหาพืชที่หนามแหลมๆมาจำนวนหนึ่ง แล้วม้วนมันให้เป็นวงกลม ซึ่งเวลาม้วนอาจต้องระวังมือสักหน่อย ไม่ให้หนามทิ่มตำมือได้

– แล้วนวัตกรรมสุดฮาสำหรับเขาก็สำเร็จ เขาเดินถือมาที่พระเยซู คงมีเพื่อนทหารบางคนตะโกนชื่นชมเขาว่า เออ…เอ็งหัวสร้างสรรดีนะ

– เขาเดินมาที่พระเยซูแล้วสวมมงกุฏหนามนั้นลงบนพระเศียรของพระเยซู เขาและเพื่อนทหารบางคนคงต้องหาไม้หรืออะไรบางอย่างกดมงกุฏหนามนั้นลงไปให้แน่นสักหน่อย เพื่อให้ในการเล่นตลกช่วงต่อไป มงกุฏจะได้ไม่หลุดออกมากลางคัน จนหมดสนุกได้

– ซึ่งแน่นอนการกดมงกุฏหนามให้อัดแน่นเข้าไปบนพระเศียรของพระองค์นั้น ย่อมสร้างความเจ็บปวดให้แก่พระองค์อย่างแสนสาหัส

– แล้วทหารบางคนก็ได้ไอเดียบรรเจิด วิ่งไปที่ในกรมทหาร แล้วคว้าเสื้อคลุมเก่าๆของทหารโรมมาตัวหนึ่ง เสื้อคลุมของทหารโรมปกติจะเป็นสีแดงเข้ม(มธ. 27:28) แต่เสื้อคลุมตัวนั้นคงเก่ามาก ​สี​​จึง​ซีด​จาง​มองดู​คล้าย​สี​ม่วงพอดีเลย เพราะเสื้อ​สีม่วง​​เป็น​สี​ที่​คน​มี​ตำแหน่ง​สูง​ใน​สมัย​นั้น​ใช้​สวม​ใส่​กัน ​เช่น ​กษัตริย์​หรือ​เจ้า​เมือง แม้เสื้อคลุมนี้จะดูโสโครกและเก่ามาก แต่ก็พอใช้ได้ เอามาเล่นตลก กับเจ้าตัวตลกคนนี้ แค่นี้ก็ดีถมเถไปแล้ว

– เขาจึงถอดเสื้อของพระเยซูออก(มธ.27:28) แล้วเอาเสื้อคลุมนั้นมาให้พระองค์สวม

– ทีนี้เจ้าตัวตลกก็พร้อมแสดงแล้ว

– ใน มธ.27:28 อธิบายเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ตัวตลกของเขา แต่งตัวสมบูรณ์แบบเหมือนกษัตริย์ขึ้นอีกสักหน่อย จะได้ฮาได้อย่างเต็มที่ ทหารบางคนจึงเอาไม้อ้อมาให้พระองค์ถือไว้ด้วย

การประยุกต์ใช้ :

– “ท่าน​ถูก​ดู​หมิ่น​และ​ถูก​ทอด​ทิ้ง เป็น​คน​ที่​รับ​ความ​เจ็บ​ปวด และ​คุ้น​เคย​กับ​ความ​ทุกข์​ยาก และ​เป็น​ดั่ง​ผู้​ซึ่ง​คน​ทั้ง​หลาย​หัน​หน้า​หนี ท่าน​ถูก​ดู​หมิ่น และ​เรา​ไม่​ได้​นับ​ถือ​ท่าน” อสย. 53:3

– “ท่าน​ถูก​บีบ​บัง​คับ​และ​ถูก​ข่ม​ใจ ถึง​กระ​นั้น​ท่าน​ก็​ไม่​ปริ​ปาก เหมือน​ลูก​แกะ​ที่​ถูก​นำ​ไป​ฆ่า และ​เหมือน​แกะ​ที่​เป็น​ใบ้​ต่อ​หน้า​ผู้​ตัด​ขน​ของ​มัน​เช่นใด ท่าน​ก็​ไม่​ปริ​ปาก​ของ​ท่าน​เลย​เช่น​นั้น” อสย. 53:7

– เหตุที่เป็นเช่นนี้ อสย. 53:6 ได้อธิบายไว้ว่า เพราะว่า “เรา​ทุก​คน​หลง​ทาง​ไป​เหมือน​แกะ ต่าง​คน​ต่าง​หัน​ไป​ตาม​ทาง​ของ​ตน​เอง และ​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​วาง​ความ​ผิด​บาป ของ​เรา​ทุก​คนลง​บน​ตัว​ท่าน”

– พระเยซู จอมกษัตริย์แห่งฟ้าสวรรค์ ผู้ที่บรรดาเหล่าทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์ทั้งสิ้นยังต้องเกรงกลัวและยำเกรงอย่างที่สุด ยอมให้มนุษย์คนบาป ผู้เป็นเพียงแต่ผงคลี เยาะเย้ย ถากถาง กระทำการดูหมิ่นพระองค์ ทำให้พระองค์เป็นกษัตริย์ตัวตลก เหตุผลที่พระองค์ทรงยอมเช่นนั้นก็เพราะ พระองค์ทรงรักเรา

เพลง รอยระลึก ท่อน 2https://bre.is/aV7UdLvmn

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:3) { ลบหลู่พระเยซู }

แนวคิด :

– เมื่อพวกทหารจับพระเยซูแต่งตัวเป็นกษัตริย์ตัวตลก สวมมงกุฏหนามแทนมงกุฏทองคำ สวมเสื้อเก่าซอมซ่อแดงซีดจนออกม่วงแทนผ้าคลุมสีม่วงของกษัตริย์ ถือไม้อ้อแทนคฑาเพชร

– แล้วพวกเขาบางคนก็ เล่นตลกด้วยการ​คุก​เข่า​ลง(มธ. 27:29) ​เฉพาะ​พระ​พักตร์​พระ​องค์แล้ว​เยาะ​เย้ย​ว่า “ข้า​แต่​กษัตริย์​ของ​พวก​ยิว ขอ​ทรง​พระ​เจริญ”

– แล้วเขาก็ตบหน้าพระองค์

– ใน มธ. 27:30 อธิบายเพิ่มเติมว่า แล้วเขา​ก็​ถ่ม​น้ำ​ลาย​รดหน้าพระองค์และเอา​ไม้​อ้อ​นั้น​ตี​พระ​เศียร​พระ​องค์

– ซึ่งทำให้หนามที่พระเศียรนั้นทะลวงลึกเข้าไปในพระเศียรของพระองค์ สร้างความเจ็บปวดอย่างสุดจะบรรยายแก่พระองค์

การประยุกต์ใช้ :

– เขาตบหน้าและถ่มน้ำลายรดกษัตริย์ของเรา

– พระเยซูเต็มใจถูกลบหลู่เกียรติและยอมถูกทำร้าย เพื่อรับโทษให้สาสมกับความผิดบาปของเรา

– สมควรที่เราจะเลิกสนใจเกียรติเล็กๆน้อยๆของเรา แล้วหันมาเชื่อฟัง ทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:4) { ไม่มีความผิด }

แนวคิด :

– หลังจากพระเยซูถูกพวกทหารของปีลาต ทรมาน ซ้อม และเยาะเย้ย ถากถาง ล้อเลียน แล้ว ปีลาตของนำพระเยซูผู้สะบักสะบอมออกมาพบพวกยิวอีกครั้ง โดยที่พระองค์ยังคงสวมเสื้อสีม่วงและมีมงกุฏหนามติดอยู่บนศรีษะ

– ปีลาตพาพระเยซูออกมาด้วยสภาพเช่นนั้น เพื่อจะบอกกับพวกยิวว่า เขาสอบสวนพระเยซูแล้ว ทั้งด้วยการซักถามและด้วยการทรมาน ดูสิโดนหนักขนาดนี้เลย เขาก็ไม่พบว่า พระเยซูมีความผิดอะไรเลย

การประยุกต์ใช้ :

– หลังจากที่พระเยซูอยู่ในกอง​บัญ​ชา​การ​ปรี​โท​เรียมเป็นเวลานานพอสมควร เจ้าเมืองก็ออกมาพร้อมกับพระเยซูผู้ถูกทรมานอย่างสะบักสะบอม แล้วสรุปว่า พระเยซูไม่มีความผิด

– เป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า เหตุการณ์การประหารชีวิตพระเยซู ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมานั้น พระเยซูถูกสั่งประหารโดยปราศจากความผิด

พระเจ้าทรงทำให้พระองค์ที่ไม่มีบาปต้องรับความบาปทั้งหมดไป ทรงทำให้พระองค์ผู้ไม่มีความผิดต้องรับความผิดทั้งหมดไป เพื่อช่วยเราให้รอดพ้นการลงโทษ

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:5) { คนนี้ไง }

แนวคิด :

– เมื่อปีลาตพาพระเยซูออกมาพบพวกยิว ในสภาพที่ถูกซ้อมยับเยิน พร้อมกับสวม​มงกุฎ​ทำ​ด้วย​หนามที่ศรีษะ​และ​สวม​เสื้อ​สี​ม่วง ​ปีลาต​จึง​พูดกับพวกเขา​ว่า “คน​นี้​อย่างไร​ล่ะ”

– ปีลาตพยายามบอกกับพวกยิวว่า นี่ไงละ คนที่พวกท่านบอกว่า ผู้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ของพวกท่าน ที่พวกท่านเรียก พระมาซีฮา ดูไม่เหมือนเลยใช่ไหม เหมือนตัวตลกที่ถูกซ้อมยับเยินมากกว่า

– ดังนั้น แค่นี้ก็น่าจะพอแล้ว สำหรับการลงโทษ ชายผู้ที่เราหาความผิดในเขาไม่ได้

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซู ผู้ทรงสง่าราศีในสวรรค์ กษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย ถูกลบหลู่จนดูไม่เป็นผู้เป็นคน จนแม้แต่คนต่างชาติอย่างปีลาต ยังสรุปว่า แบบนี้เป็นกษัตริย์ของยิว ไม่ได้หรอก

– อสย. 53:3 “…​ดัง​ผู้​หนึ่ง​ซึ่ง​คน​ทน​มองดู​ไม่ได้ ท่าน​ถูก​ดู​หมิ่น และ​เรา​ทั้ง​หลาย​ไม่ได้​นับ​ถือ​ท่าน”

พระเยซูทรงถูกลบหลู่ดูหมิ่น เพื่อเราจะได้รับเกียรติเข้าส่วนในพระเจ้าใหญ่ยิ่งสูงสุด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:6) { ตรึงเขาเสียๆๆ }

แนวคิด :

– เมื่อพวกมหาปุโรหิต เห็นพระเยซูในสภาพถูกทรมานและถูกลบหลู่อย่างยิ่ง

– พระเยซูนี้ เป็นผู้ที่พวกเขารู้ว่าทรงเป็นพระมาซีฮา (ยน. 11:48) เป็นผู้ที่พวกเขารู้อย่างชัดเจนว่า ทรงรักษาชายตาบอดแต่กำเนิดให้มองเห็นได้ ทรงทำให้ลาซารัสผู้ตายไป 4 วันแล้ว เป็นขึ้นมาจากความตาย

– สิ่งที่พวกเขาตอบสนองเมื่อเห็นพระองค์เช่นนั้น แทนที่จะสงสารพระเยซู (อย่างที่ปีลาตคาดหวัง) หรือสำนึกผิดที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องตกในสภาพเช่นนี้

– พวกเขากลับสำแดงความชั่วร้ายให้ออกมาเด่นชัดยิ่งขึ้น ด้วยการร้องตะโกนว่า “ตรึง​เขา​เสีย ตรึง​เขา​เสีย”

– แปลเป็นภาษาเข้าใจง่ายๆคือ “ฆ่ามัน ๆๆ ฆ่ามันให้ตายอย่างทรมานที่สุดและน่าอับยศที่สุด ฆ่ามัน ๆ ๆ”

– เมื่อปีลาตเห็นท่าทีของพวกเขาแล้วว่า อยากให้พระเยซูตายจริงๆ แต่ขณะเดียวกันปีลาตก็ ไม่พบความผิดในพระเยซูเลยจึงไม่ค่อยเต็มใจอยากฆ่าพระเยซู

– ปีลาต จึงพูดกับพวกเขาว่า อยากฆ่า ก็เอาไปฆ่าเองละกัน เพราะตามการวินิจฉัยของเขา พระเยซูไม่น่าจะต้องถูกประการเนื่องจากไม่พบข้อหาใดๆที่จะประหารพระเยซูได้เลย

– ที่ปีลาตพูดเช่นนั้น ก็เพื่อปัดความรับผิดชอบของการฆ่าพระเยซู ให้แก่พวกยิว

การประยุกต์ใช้ :

– แม้พวกมหาปุโรหิตจะรู้พระคำของพระเจ้า และได้มีประสบการณ์ในฤทธานุภาพของพระเจ้า ด้วยการรับรู้สิ่งที่พระเยซูทรงกระทำ แต่ด้วยใจแข็งกระด้างต่อพวกเขา จึงทำให้พวกเขายิ่งถลำลึกในความเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ

– หากคนที่ถูกปีลาตพาออกมาไม่ใช่พระเยซู แต่เป็นโจรชั่วร้ายคนหนึ่ง คนธรรมดาทั่วไปเมื่อเห็นสภาพแล้ว อย่างน้อยคงต้องเมตตาสงสารชายคนนั้นบ้างเป็นแน่

– แต่สำหรับพวกมหาปุโรหิต ทั้งที่รู้ว่าพระเยซูไม่มีความผิดและเป็นผู้ที่พระเจ้าส่งมา ไม่เพียงไม่เมตตาหรือสำนึกผิด แต่กลับทำสิ่งชั่วร้ายยิ่งกว่าเดิม

แม้รู้พระคำของพระเจ้า และมีประสบการณ์ในการอัศจรรย์ของพระเจ้า แต่ก็อาจไม่ปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อพระเจ้า ก็ได้ หากยอมให้ความบาปครอบงำจิตใจ จนกระทั่งจิตใจแข็งกระด้าง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว (ยน.19:7) { สมควรตาย }

แนวคิด :

– เมื่อปีลาตบอกกับพวกมหาปุโรหิตว่า เขาสอบสวนแล้ว พระเยซูไม่มีความผิด ปีลาตจึงจะไม่ลงโทษประหารพระเยซู ถ้าพวกเขาอยากลงโทษ ก็เอาพระเยซูไปลงโทษเองก็แล้วกัน(ข้อ6)

– พวกเขาจึงตอบปีลาตว่า พวกเขาคิดว่าพระเยซูสมควรตาย แต่พวกเขาฆ่าพระเยซูไม่ได้ เพราะผิดกฏหมายโรม ท่านช่วยฆ่าให้หน่อยสิ

– เหตุผลที่เขาให้แก่ปีลาตว่า พระเยซูสมควรตาย ก็คือ พระเยซูทำผิดกฏหมายของพวกเขา ด้วยการบอกว่า พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นการเหยียดหยามพระเจ้า

– ตามบัญญัติของโมเสส ใน ลนต. 24:16 “ผู้ใดที่เหยียดหยามพระนามของพระเจ้าจะต้องถูกโทษถึงตาย ให้ชุมนุมชนขว้างเขาเสียให้ตาย…”

– ดังใน ยน. 5:18 อธิบายว่า ​พวก​ยิว​หา​โอกาส​ที่​จะ​ฆ่า​พระ​เยซู เพราะพระองค์ได้​เรียก​พระ​เจ้า​ว่า​เป็น​บิดา​ของ​ตน​ด้วย ซึ่ง​เป็น​การ​กระทำ​ตน​เสมอ​กับ​พระ​เจ้า​

– ช่วงที่มหาปุโรหิตสอบสวนพระเยซูในบ้านของตน ใน มธ. 26:63 ​มหา​ปุโรหิต​ถามพระเยซูว่า “​ท่าน​เป็น​พระ​คริสต์​ ​พระ​บุตร​ของ​พระ​เจ้า​หรือ​ไม่”

– พระเยซูจึงตอบว่า ​ “ท่าน​ว่า​ถูก​แล้ว และ​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก​เรา​บอก​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ว่า ใน​เวลา​เบื้อง​หน้า​นั้น ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​ได้​เห็น​บุตร​มนุษย์​นั่ง​ข้าง​ขวา​ของ​ผู้​ทรง​ฤทธานุภาพ และ​เสด็จ​มา​บน​เมฆ​แห่ง​ฟ้า​สวรรค์” มธ. 26:64

– และใน มธ. 26:65 มหา​ปุโรหิต​จึง​ฉีก​เสื้อ​ของ​ตน แล้ว​ว่า “เขา​พูด​หมิ่น​ประมาท​พระ​เจ้า​แล้ว เรา​ต้อง​การ​พยาน​อะไร​อีก​เล่า ท่าน​ทั้ง​หลาย​ก็​ได้​ยิน​เขา​พูด​หมิ่น​ประมาท​พระ​เจ้า​แล้ว​”

– ดังนั้นนี่เป็นข้อสรุปว่า ทำไมพวกเขาคิดว่าพระเยซูสมควรตาย

– ดูเหมือนจะถูกแต่ผิดมหันต์ เมื่อพระเยซูประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แทนที่พวกเขาจะพิสูจน์ให้รู้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ แต่พวกเขากลับสรุปทันทีเลยว่า พระองค์สมควรตาย

– นั่นก็คือ ต่อให้เป็นพระบุตรของพระเจ้าจริงก็สมควรตายอยู่ดี ที่มาแย่งความนิยมของประชาชนไปจากพวกเขา

การประยุกต์ใช้ :

– พวกมหาปุโรหิต คิดว่า พวกเขากำลังกระทำตามพระเจ้า แต่ความจริงพวกเขาเพียงแต่ใช้พระคำของพระเจ้ามาเป็นเครื่องแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองเท่านั้นเอง

เราควรระมัดระวังในการใช้พระคำของพระเจ้า ไม่ใช้เพื่อประโยชน์ของเราเอง แต่เพื่อทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:8) { ปีลาตตกใจกลัว }

แนวคิด :

– เมื่อปีลาตได้ยินพวกมหาปุโรหิตบอกว่า พระเยซูสมควรตายเพราะพระเยซูตั้งตัวเป็นบุตรของพระเจ้า ปีลาตก็ตกใจกลัวมากยิ่งขึ้น

– นั่นคือ ก่อนหน้านี้ปีลาตก็กลัวอยู่แล้ว แต่พอได้ยินว่าพระเยซูอาจจะเป็นบุตรของพระเจ้าก็ได้ ยิ่งตกใจกลัวเข้าไปอีก

– ผู้เขียนพระธรรมยอห์นไม่ได้บอกรายละเอียดว่า ก่อนหน้านี้ปีลาตกลัวอะไร

– แต่คงไม่ได้กลัวพระเยซู เพราะถ้ากลัวคงไม่ได้ให้ทหารทรมานและซ้อมพระเยซูหนักถึงขนาดนั้น

– เป็นไปได้ว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มัทธิว บรรยายไว้ ใน มธ. 27:19 ใน​ขณะ​ที่​ปีลาต​นั่ง​ว่า​ราช​การ​อยู่​นั้น ภรรยา​ของ​ท่าน​ใช้​คน​มา​เรียน​ว่า “อย่า​พัว​พัน​กับ​เรื่อง​ของ​คน​ชอบ​ธรรม​นั้น​เลย เพราะ​ว่า​วัน​นี้​ดิ​ฉัน​ไม่​สบาย​ใจ​มาก​เนื่อง​ด้วย​ความ​ฝัน​ที่​เกี่ยว​กับ​คน​นั้น”

– คือ ไม่สบายใจเกี่ยวกับการจะตัดสินคดีพระเยซู เพราะมีลางร้ายบางอย่าง

– รวมถึงอาจจะกลัวเกี่ยวกับการตัดสินของเขาที่ไม่เป็นธรรม เขาจึงพยายามบอกว่า หาความผิดของพระเยซู ไม่พบ ดังนั้นทรมานพระเยซูเสร็จแล้ว ก็ปล่อยพระองค์ก็แล้วกัน

– โดยอาจกลัวว่า ลูกศิษย์ของพระองค์จะมาแก้แค้นเขา หรือไปหาทางฟ้องร้องต่อโรมถึงการตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมของเขา แล้วเขาอาจจะเดือดร้อนได้

– แล้วความไม่สบายใจ และความกลัวของเขา ก็ยิ่งเพิ่มทวีขึ้นเมื่อได้ยิน พระเยซูบอกว่า พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า

การประยุกต์ใช้ :

– ปีลาตเมื่อได้ยินว่า พระเยซูอาจจะเป็นพระบุตรของพระเจ้าก็ได้ เขาตกใจกลัวมาก ทั้งที่เขาไม่ใช่ประชากรของพระเจ้า ก็ยังรู้เลยว่า หากพระเยซูเป็นพระบุตรของพระเจ้าจริง การกระทำของเขาคงจะนำภัยมหันต์มายังเขาเป็นแน่

– แต่ส่วนพวกมหาปุโรหิต ผู้รู้พระคำของพระเจ้าเป็นอย่างดี เป็นคนอิสราเอล ผู้ได้ชื่อว่าเป็นประชากรของพระเจ้า กลับไม่เกรงกลัวเลยแม้แต่น้อย ดูเหมือนเขาไม่แคร์ด้วยซ้ำไปว่าพระเยซูจะเป็นพระบุตรของพระเจ้าจริงหรือไม่

– ในความคิดของพวกเขา ไม่ว่าพระเยซูจะเป็นอะไรก็ตาม ก็สมควรตายอยู่ดี ที่บังอาจมากดังกว่าพวกเขา

– เพราะความเกรงกลัวพระเจ้า จึงทำให้ปีลาตหยุดคิดเมื่อกำลังทำสิ่งที่ผิด แต่ความไม่เกรงกลัวพระเจ้าของพวกมหาปุโรหิตทำให้พวกเขามุ่งหน้าสู่การทำผิดร้ายแรงยิ่งกว่าเดิมแบบไม่ยั้งคิด

– หากวันนี้ เราทำบาปแบบไม่มียั้งคิด เป็นไปได้ว่าความเกรงกลัวพระเจ้าได้จางหายไปจากชีวิตของเราเสียแล้ว

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:9) { พระเยซูไม่ตอบ }

แนวคิด :

– เมื่อปีลาตได้ยินจากพวกยิวว่า พระเยซูประกาศว่า พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า ปีลาตจึงพาพระเยซูเข้ามาในกอง​บัญ​ชา​การ​ปรี​โท​เรียม​อีกเพื่อพวกยิวจะได้ไม่ตามเข้าไป​

– ด้วยความสงสัยปีลาต​ถาม​พระ​เยซู​ว่า พระองค์​มา​จาก​ไหน?

– คำถามนี้ ไม่ได้ถามถึง ชนชาติของพระองต์ เพราะปีลาตรู้อยู่แล้วว่า พระเยซูเป็นชนชาติยิว

– ไม่ได้ถามถึง เมืองที่พระองค์มา เพราะปีลาตรู้แล้วว่าพระเยซูเป็นชาวกาลิลี (ลก. 23:6)

– แต่เป็นการถามถึงที่มาของพระองค์ ว่าเป็นเชื้อสายของใครกันแน่ แล้วมาจากสวรรค์จริงๆหรือเปล่า หรือมาจากเทพเจ้าองค์ไหน

– พระ​เยซู​ไม่​ตรัส​ตอบ​อะไรเขาเลย

– เหตุที่ไม่ตอบน่าจะเป็นเพราะ พระองค์ได้บอกสิ่งที่ควรบอกแก่ปีลาตไปแล้ว (ยน. 18:34-37) และอาจเป็นไปได้ว่า หากพูดอะไรไปในตอนนี้ อาจทำให้ปีลาตลังเลในการตัดสิน โดยอาจจะเลื่อนการตัดสินออกไปก่อนก็เป็นได้

– ขณะนั้น เป็นช่วงเวลาหลังจากที่พระเยซูไม่ได้หลับ เพราะถูกสอบสวนตลอดคืน และเพิ่งถูกรุมทรมานโดยกองทหารของปีลาต มาถึงตอนนี้บาดแผลตามหลัง ตามตัวและบนศรีษะ คงเริ่มอักเสบแล้ว ตอนนี้พระเยซูคงกำลังมีไข้สูง และอ่อนเพลียอย่างยิ่ง จึงไม่ประสงค์จะตอบอะไรแล้ว พร้อมแล้วสำหรับการเดินไปสู่แดนประหาร

– อสย. 53:7 “ท่าน​ถูก​บีบ​บัง​คับ​และ​ถูก​ข่ม​ใจ ถึง​กระ​นั้น​ท่าน​ก็​ไม่​ปริ​ปาก เหมือน​ลูก​แกะ​ที่​ถูก​นำ​ไป​ฆ่า และ​เหมือน​แกะ​ที่​เป็น​ใบ้​ต่อ​หน้า​ผู้​ตัด​ขน​ของ​มัน​เช่นใด ท่าน​ก็​ไม่​ปริ​ปาก​ของ​ท่าน​เลย​เช่น​นั้น”

การประยุกต์ใช้ :

– เมื่อปีลาตพยายามหาคำตอบว่า พระเยซูมาจากไหน มาจากสวรรค์จริงๆหรือเปล่า พระเยซูกลับไม่ตอบปีลาตสักคำเดียว

– ดูเผินๆ พระเยซูน่าจะตอบปีลาตนะ เพราะเขาเริ่มสนใจแล้ว แต่พระเยซูเลือกไม่ตอบ เพื่อให้แผนการแห่งน้ำพระทัยของพระเจ้าจะสำเร็จ

– วันนี้ หากดูเหมือน พระเจ้ายังคงเงียบ ไม่ตอบคำร้องทูลของเรา ไม่ใช่พระองค์ไม่ฟังเรา แต่เพราะพระองค์ทรงมีแผนการแห่งน้ำพระทัยของพระองค์สำหรับชีวิตของเรา ที่จะเปิดเผยออกในเวลาของพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:10) { คิดว่ามีสิทธิ }

แนวคิด :

– เมื่อพระเยซูไม่ตอบคำถามของปีลาต เขาจึงโน้มน้าวให้พระเยซูตอบคำถามของเขา โดยหยิบยื่นความกลัวและความหวังให้แก่พระเยซู

– เขาภาคภูมิใจและอวดอ้างในตำแหน่งของเขา เขาคิดว่ามีสิทธิอำนาจในการควบคุมเรื่องราวทั้งหมด

– เขาถามพระเยซูว่า พระองค์ไม่รู้หรือว่า เขามีสิทธิอำนาจนี้

การประยุกต์ใช้ :

– ปีลาตคิดว่าเขามีสิทธิอำนาจ แต่เขาไม่รู้ว่า ความจริงแล้วเขาไม่มี

– เขาคิดว่า พระเยซูไม่รู้ แต่ความจริงแล้ว เขาต่างหากที่ไม่รู้ ว่าพระเยซูต่างหากที่มีสิทธิอำนาจเหนือเหตุการณ์นี้ พระเยซูมีสิทธิที่จะสละชีวิตของพระองค์เอง ไม่มีใครสามารถมาบังคับหรือกำหนดได้

– ปีลาตเข้าใจผิดในสิทธิอำนาจของเขา บ่อยครั้ง เราก็เหมือนกับปีลาต ที่เข้าใจผิดสิทธิของเรา เราคิดว่าเรามีสิทธิทำนี่หรือทำนั่น แต่ความจริงแล้วเราผู้เป็นของพระคริสต์แล้ว เราไม่มีสิทธิในตัวเองอีกต่อไป สิทธิทุกอย่างในชีวิตของเราเป็นของพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงประทานชีวิตของพระองค์ทั้งสิ้นเพื่อเรา

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:11) { บาปที่หนักที่สุด }

แนวคิด :

– ปีลาตคิดว่า สิทธิอำนาจที่จะฆ่าหรือจะปล่อยพระเยซู อยู่ในมือของเขา เพราะเขามีตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง(ข้อ10)

– พระเยซูจึงบอกให้เขารู้ว่า ความจริงแล้วสิทธิอำนาจที่จะฆ่าพระเยซูที่เขามีนั้น ก็เพราะพระบิดาประทานสิทธินั้นให้แก่เขา เนื่องจากความจริงแล้วต่อให้กองทัพของประชาชาติทั้งโลกรวมกันก็ยังเล็กน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับฤทธิ์อำนาจของพระเยซูคริสต์

– อสย. 40:15 “นี่แน่ะ บรร​ดา​ประ​ชา​ชาติ​ก็​เหมือน​น้ำ​หยด​หนึ่ง​จาก​ถัง และ​ถือ​ว่า​เป็น​เหมือน​ฝุ่น​บน​ตา​ชู ดู​สิ พระ​องค์​ทรง​หยิบ​เกาะ​ทั้ง​หลาย​ขึ้น​มา​เหมือน​ผง​คลี”

– ด้วยเหตุนี้ คิดหรือว่า สิทธิอำนาจกระจ้อยร่อยที่ปีลาตมีนั้น จะสามารถฆ่าพระเยซูได้

– พระเยซูบอกปีลาตว่า บาปของเขา น้อยกว่า บาปของพวกมหาปุโรหิตที่จับพระเยซูมามอบให้ปีลาต

– บาปของปีลาต คือ การให้ทหารลงโทษและทรมานพระเยซูทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าพระเยซูไม่มีความผิด และเขากำลังจะทำบาปยิ่งขึ้นกว่านั้นอีกคือการสั่งประหารชีวิตพระเยซู ผู้ไร้ความผิด

– แต่บาปของพวกยิว พวกมหาปุโรหิต หนักยิ่งกว่าของปีลาต เพราะบาปของพวกเขา คือ ทั้งที่รู้ ทั้งที่เห็น และมีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่า พระเยซูทรงเป็นพระมาซีฮา แต่พวกเขาก็ยังปฏิเสธพระเยซูและพยายามจะฆ่าพระเยซูโดยใช้ปีลาตเป็นเครื่องมือ

การประยุกต์ใช้ :

– วันนี้สิ่งที่เรามี สิทธิต่างๆที่เป็นของเราในวันนี้ ล้วนแต่เป็นการประทานจากพระเจ้า เพื่อเราจะใช้สิทธิที่มีนั้นกระทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ไม่ใช่ตามใจปรารถนาของตนเอง

– บาปที่หนักที่สุด ที่ทำให้มนุษย์คนนั้นไม่สามารถรอดพ้นการลงโทษได้ คือ บาปแห่งการปฏิเสธพระเยซู พระผู้ช่วยให้รอดของเขา

– ฮบ. 12:25 “จง​ระวัง​ให้​ดี อย่า​ปฏิ​เสธ​พระ​องค์​ผู้​ตรัส​อยู่​นั้น เพราะ​ถ้า​เขา​เหล่า​นั้น​ไม่​พ้น​โทษ​เพราะ​ปฏิ​เสธ​พระ​องค์​ผู้​ทรง​เตือน​พวกเขา​บน​โลก พวก​เรา​ผู้​เมิน​หน้า​จาก​พระ​องค์​ผู้​ทรง​เตือน​จาก​สวรรค์ ก็​จะ​ไม่​พ้น​โทษ​มาก​กว่า​นั้น​อีก”

– เขาจะรอดได้อย่างไร ในเมื่อเขาปฏิเสธ ไม่ยอมให้พระเยซู ผู้เป็นทางรอดเดียวของเขา ช่วยเขาให้รอด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:12) {มืดบอดสนิท }

แนวคิด :

– หลังจากที่ปีลาตได้คุยกับพระเยซู ก็ยิ่งมั่นใจมากขึ้นๆทุกที ว่าพระเยซูไม่มีความผิดจริงๆ และเขาทั้งสงสัยและทั้งกังวลเมื่อทราบว่าพระเยซูประกาศตัวว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า(ข้อ8)

– เขาจึงพยายามหาโอกาสที่จะปล่อยพระเยซู แบบที่จะไม่เกิดปัญหากับเขา

– ความจริงแล้วเขามีสิทธิปล่อยพระเยซูเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เขากลัวว่าพวกยิวจะสร้างปัญหาก่อความวุ่นวายในเมือง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น เขาในฐานะเจ้าเมืองที่โรมส่งมาปกครองเมืองนี้ อาจจะตกที่นั่งลำบากได้

– ดูเหมือนพวกยิวจะรู้จุดอ่อนของปีลาต คือ กลัวสูญเสียอำนาจ หากทำให้โรมไม่พอใจ

– พวกยิวจึงร้องตะโกนว่า ปล่อยไม่ได้ ห้ามปล่อย ถ้าปีลาตขืนปล่อยพระเยซู จะถือว่าเป็นการทรยศซีซาร์จักรพรรดิแห่งโรม

– ความจริงแล้วพวกยิวเกลียดโรมมาก แต่บัดนี้พวกเขากล่าวราวกับ เป็นประชาชนผู้แสนภักดีต่อซีซาร์จักรพรรดิแห่งโรม โดยกล่าวว่า ทุก​คน​ที่​ตั้ง​ตัว​เป็น​กษัตริย์​ก็​ต่อ​ต้าน​ซีซาร์

– เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ แม้พวกเขาเกลียดโรมอย่างมากก็ตาม แต่เกลียดพระเยซูมากยิ่งกว่า จนกระทั่งเพื่อจะให้พระเยซูถูกฆ่าตาย พวกเขายอมแสดงความจงรักภักดีต่อโรมเป็นการชั่วคราวก็ยังได้

– พวกเขาเกลียดพระเยซูมากกว่าเกลียดโรม เพราะโรมก็แค่เขามายึดครองบ้านเมืองของเขา กดขี่ข่มเหงเขา รีดนาทาเร้นภาษีจากพวกเขา เอารัดเอาเปรียบพวกเขา และฆ่าพวกเขาบางคน แต่พระเยซูนั้น ดันไปรักษาคนเจ็บป่วยให้หายมากมาย ดันทำให้คนตาบอดแต่กำเนิดมองเห็น และหนำซ้ำดันไปทำให้คนที่ตายไป4 วันแล้วเป็นขึ้นมาจากความตายอีก จนประชาชนหันไปนิยมชมชอบพระเยซูมากมาย ด้วยเหตุนี้สำหรับพวกเขา พระเยซูสมควรถูกเกลียดมากกว่าโรม

การประยุกต์ใช้ :

– เพราะความริษยาของพวกยิว ทำให้ตาของเขามืดบอด เห็นถูกเป็นผิด เห็นพระเยซูผู้ไม่มีความผิดว่าสมควรตาย และ เห็นผิดเป็นถูก เห็นโรมผู้ข่มเหงพวกเขานั้น สมควรยกย่องเทิดทูนภักดี

– หากเราปล่อยให้บาปแห่งการทำตามใจปรารถนาของตนเองเข้าครอบงำ และให้มันอยู่ในจิตใจของเรานานพอ มันจะทำให้ตาฝ่ายวิญญาณของเรามืดบอดไป มองไม่เห็นความจริงแห่งพระคำของพระเจ้า จนเห็นว่าวิถีแห่งพระคำของพระเจ้านั้นล้าสมัย โง่เขลา ไม่ได้เรื่อง  และมองว่าวิถีแห่งโลกนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง น่าปรารถนา ซึ่งถ้าใครไปถึงที่จุดนั้น เขากำลังยืนอยู่ในจุดที่อันตรายอย่างที่สุด

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:13) { ถูกพิพากษา }

แนวคิด :

– เมื่อปีลาตได้ยินพวกยิวพูดว่า หากปีลาตไม่จัดการพระเยซู พวกเขาก็จะกล่าวหาปีลาต ว่ากำลังทำตัวเป็นศัตรูกับซีซาร์(ข้อ12)

– เมื่อเห็นว่าไม่ได้การ เขาเองอาจเดือดร้อยเพราะพระเยซูก็ได้ ดังนั้นปีลาตจึงตัดสินใจ นำพระเยซูเข้าสู่บัลลังก์พิพากษา

– ซึ่งช่างไม่ยุติธรรม เขาได้ลงโทษพระเยซูด้วยการให้ทหารทรมานและซ้อมพระเยซูแล้ว ซึ่งไม่ใช่การซ้อมผู้ต้องหาด้วยซ้ำไป แต่เป็นการลงโทษนักโทษ

– นั่นคือ พระเยซูถูกลงโทษด้วยการทรมาน ก่อนมีการพิพากษาเสียด้วยซ้ำ

– และการพิพากษาครั้งนี้ ไม่ได้มีเพื่อจะหาข้อตัดสินว่า พระเยซูเป็นผู้มีความผิดจริงหรือไม่ เพราะปีลาตก็รู้ชัดเจนแล้วว่าพระเยซูไม่มีความผิด แต่มีเพื่อจะตัดสินลงโทษพระเยซู ผู้ปราศจากความผิด

– ลานปูศิลา เป็นบริเวณด้านหน้าวังของปีลาต มักใช้เพื่อตัดสินคดีของชาวยิว เพราะชาวยิวจะไม่ยอมเข้าไปในบ้านพักของคนต่างชาติ

การประยุกต์ใช้ :

วันนั้นพระเยซู พระเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์ ผู้ทรงยุติธรรม พระผู้พิพากษาทั้งบรรดาเหล่าทูตสวรรค์และมนุษย์ทุกคนในโลก พระองค์ทรงยอมให้เจ้าเมืองของเมืองเล็กๆ คนหนึ่ง พิพากาษาพระองค์อย่างไม่เป็นธรรม เพื่อให้เราทั้งหลายรอดพ้นการพิพากษา ด้วยความเป็นธรรม อย่างชอบธรรม

– ขอบคุณพระเยซู

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:14) { กษัตริย์ของฉัน }

แนวคิด :

– เมื่อปีลาต​พา​พระ​เยซู​ออก​มา แล้ว​นั่ง​บัล​ลังก์​พิ​พาก​ษา(ข้อ13) เขาจึงพูด​กับ​พวก​ยิวอย่างถากถาง​ว่า “นี่​คือ​กษัตริย์​ของ​พวก​ท่าน”

– คำพูดวลีนี้ ปีลาตจงใจพูดถากถาง พวกยิว ไม่ใช่พระเยซู

– คือ บอกว่า นี่ไง ดูสารรูปคนนี้สิ ที่พวกท่านหาว่า ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ สารรูปอย่างนี้เนี่ยนะ

– พวกยิวคิดฆ่าพระเยซู เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ของพวกเขา แต่พวกเขาไม่ต้องการให้พระองค์เป็นกษัตริย์ของพวกเขา

– ในข้อนี้ มีวลียากอันหนึ่ง คือ “เวลา​ประ​มาณ​เที่ยง”(ฉบับ2011)

– เพราะใน มก. 15:25 กล่าวว่า “ขณะ​ที่​พวก​เขา​ตรึง​พระ​องค์​นั้น​เป็น​เวลา​สาม​โมง​เช้า”(ฉบับ2011)

– แล้วจะตัดสินตอนเวลาเที่ยง เป็นไปได้อย่างไร มันดูเหมือนขัดแย้งกัน

– การนับเวลาของยิว จะแบ่งออกเป็น กลางวัน และ กลางคืน กลางวันเริ่ม 6:00 น. ดังนั้น 6:00-7:00 น. จะเรียกว่า ชั่วโมงที่1 ส่วนกลางคืน เริ่มตอน 18:00 น.

– ในพระคัมภีร์ภาษากรีก , ฉบับ King James , ฉบับNASB และอีกหลายฉบับ ใน ยน. 19:14 ใช้คำว่า “เวลาชั่วโมงที่ 6” (sixth hour) และ ใน มก. 15:25 ใช้คำว่า “ชั่วโมงที่ 3” (third hour)

– ในหนังสือ Word Pictures in the New Testament ของ Robertson, Archibald Thomas อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า ใน มก. 15:25 นั้น น่าจะเป็นการนับเวลาแบบยิว คือนับตั้งแต่ 6:00 น. ดังนั้น ชั่วโมงที่ 3 จึงน่าจะหมายถึง 9:00 น. ส่วนใน ยน. 19:14 ยอห์นเขียนให้ผู้อ่านที่ส่วนใหญ่เป็นชาวกรีก และชาวโรม และคนต่างชาติ ยอห์นน่าจะใช้การนับเวลาแบบสากล คือ 1:00 น. เป็น ชั่วโมงที่ 1 ดังนั้น ชั่วโมงที่ 6 ในที่นี้น่าจะหมายถึง ช่วง 6;00 -7:00 น. หรือหลังจากนั้นเล็กน้อยเนื่องจาก ยอห์นใช้คำว่า “เวลาประมาณ”

– อย่างไรก็ดี เรื่องเวลานี้ หากท่านใดสนใจ คงต้องเจาะลึกและศีกษาเพิ่มเติมเองต่อไปครับ

การประยุกต์ใช้ :

– ปีลาต ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพระเยซู คือ พระองค์ประกาศตัวเป็นกษัตริย์ แต่แม้แต่ชนชาติของพระองค์เอง ยังไม่ยอมรับพระองค์เลย แล้วพระองค์จะเป็นกษัตริย์ได้อย่างไร

– ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซู เป็นเรื่องฝ่ายวิญญาณ ไม่อาจสังเกตเห็นได้ด้วยสายตาแห่งโลกนี้ ใครก็ตามที่ต้อนรับพระเยซูให้เป็นกษัตริย์ของเขา พระเยซูจะทรงเป็นกษัตริย์ของเขา แต่ส่วนคนที่ไม่ยอมรับให้พระองค์เป็นกษัตริย์ แม้เขาจะเป็นชนชาติที่เรียกว่า ชนชาติของพระเจ้าก็ตาม พระเยซูก็ไม่ใช่กษัตริย์ของพวกเขาอยู่ดี

– แม้บางคนเรียกตนเองว่า เป็นคริสเตียน แต่ไม่ได้ยอมให้พระเยซูเป็นกษัตริย์ เป็นเจ้านายในชีวิตของเขาจริงๆ เขาเป็นเจ้านายของตัวเอง คนนั้นพระเยซูก็ไม่เป็นกษัตริย์ของเขา

วันนี้ เราต้อนรับพระเยซูเป็นกษัตริย์ของเราจริงๆหรือยัง โดยยกสิทธิในชีวิตของเราทั้งหมดให้พระองค์เป็นผู้กำหนดและตัดสิน?

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:15) { ขนาดนั้นเลย }

แนวคิด :

– เมื่อปีลาต นำพระเยซูผู้ถูกเฆี่ยนจนเละไปทั้งตัว ออกมา พร้อมกับสวมมงกุฏหนามบนศรีษะ แล้วบอกพวกยิวว่า นี่ไงคือกษัตริย์ของพวกเขา(ข้อ14)

– พวกยิวจึงร้องตะโกนว่า ให้เอาพระเยซูไปฆ่าเสีย ด้วยการตรึงให้ตายอย่างทรมานบนไม้กางเขน

– ปีลาตจึงบอกพวกเขาว่า แต่พระเยซูเป็นกษัตริย์ของพวกเขาไม่ใช่หรือ จะให้ตายอย่างทรมานด้วยการตรึงกางเขนเชียวหรือ

– พวกมหาปุโรหิต ซึ่งอยู่ท่ามกลางฝูงชน และเป็นผู้นำในฝ่ายวิญญาณของชาวยิว กลับตอบข้อแย้งของปีลาต โดยกล่าวว่า “เรา​ไม่​มี​กษัตริย์​อื่น​นอก​จาก​ซีซาร์”

– ตลอดหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่โรม เข้ายึดครองปาเลสไตน์ พวกยิวก็เกลียดโรมเข้ากระดูกดำ และมีการก่อกบฏต่อต้านโรมหลายต่อหลายครั้ง

– วันนี้ เพื่อจะฆ่าพระเยซู พวกมหาปุโรหิตกลับกล่าวว่า กษัตริย์เดียวของพวกเขาก็คือ ซีซาร์ ผู้ที่พวกเขาเกลียดชังมาโดยตลอด

การประยุกต์ใช้ :

– เหตุการณ์นี้ทำให้นึกถึงใน 1ซมอ. เมื่อคนอิสราเอลปฏิเสธพระเจ้า ไม่ต้องการให้พระเจ้าเป็นกษัตริย์ของเขา แต่ขอตั้งกษัตริย์ขึ้นมาปกครองพวกเขาแทนพระเจ้า

– บัดนี้พวกมหาปุโรหิต ได้ปฏิเสธพระเยซูกษัตริย์แห่งฟ้าสวรรค์ แล้วกล่าวว่า พวกเขามีกษัตริย์แค่องค์เดียว คือซีซาร์ จักรพรรดิแห่งโรม

– เพราะเหตุการทำตามใจปรารถนาชั่วของตน พวกเขาจึงปฏิเสธพระเจ้า ไม่ให้พระองค์เป็นกษัตริย์ของเขา แล้วรับเอาศัตรูมาเป็นกษัตริย์ของเขาแทน

– เหมือนชีวิตของคริสเตียนหลายคน เพราะเขาอยากทำตามใจปรารถนาของตนเอง เขาจึงปฏิเสธไม่ให้พระเยซูเป็นพระเจ้าของเขา  แต่หันไปยกย่องเทิดทูนเงินทอง หรือสิ่งของ หรือระบอบแห่งโลกนี้ เป็นเจ้านายของเขาแทน แล้วทำทุกอย่างเพื่อปรนนิบัติเจ้านายนั้น

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:16) { ถูกนำไปฆ่า }

แนวคิด :

– หลังจากได้ยินคำขู่ของพวกมหาปุโรหิต ว่า ถ้าไม่ฆ่าพระเยซู จะถือว่าเป็นศัตรูกับซีซาร์ท่ี่พวกเขารักเคารพ

– ปีลาตจึงตัดสินใจ ตัดสินสั่งประหารชีวิตพระเยซู ผู้ไม่มีความผิด ด้วยข้อหา โทษฐานทำให้พวกมหาปุโรหิตอิจฉา และทำให้ตำแหน่งของเขาอาจสั่นคลอนได้

– ปีลาตจึงให้ทหารนำพระเยซูไปตรึงให้ตายที่กางเขน ตามความประสงค์ของพวกยิว

– เรื่องชุดที่พระเยซูสวมใส่นั้น หลังจากถูกเฆี่ยนแล้วพระเยซูถูกนำกลับมาพบปีลาต ใน ยน. 19:5 “… ทรง​สวม​มง​กุฎ​ทำ​ด้วย​หนาม​และ​ทรง​สวม​เสื้อ​สี​ม่วง…”

– ใน มก. 15:20 และ มธ. 27:31 อธิบายเพิ่มเติมว่า “… พวก​เขา​ก็​ถอด​เสื้อ​สี​ม่วง​นั้น​ออก แล้ว​เอา​เสื้อ​ผ้า​ของ​พระ​องค์​มา​สวม​ให้ และ​นำ​พระ​องค์​ออก​ไป​เพื่อ​ตรึง​ที่​กาง​เขน”

– นั่นคือ ก่อนที่จะเอาไปตรึงที่กางเขน เขาถอดเสื้อสีม่วงออกก่อน เพราะเสียดายของ แม้จะเป็นผ้าเก่าๆก็ตาม แต่ก็น่าเสียดาย เจ้านักโทษคนนี้ไม่ควรที่จะใส่มัน

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูถูกนำไปฆ่า ดูเผินๆเป็นไปตามความประสงค์ของพวกยิว แต่ความจริงแล้วเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ก่อนแล้วล่วงหน้าของพระบิดา ที่จะให้พระเยซูสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปมนุษย์ทุกคน

– การตัดสินประหารพระเยซู ดูเหมือนเป็นการกำหนดของปีลาตและพวกมหาปุโรหิต แต่ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ภายใต้การกำหนดของพระเจ้า

– ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรานั้น ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของพระเจ้า ในแผนการนิรันดร์ของพระองค์

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:17) { กลโกธา }

แนวคิด :

– เมื่อปีลาตตัดสินประหารชีวิตพระเยซูด้วยการตรึงกางเขนแล้ว (ข้อ16) พวกทหารก็ให้พระเยซูแบกกางเขนของพระองค์ไปยังแดนประหาร

– การประหารชีวิตโดย​การ​ตรึง​กางเขนนั้น ​นักโทษ​​​จะต้อง​แบก​กางเขน​ซึ่ง​หนัก​ประมาณ ​20 ​กก. ​ไป​ยัง​สถานที่​ที่​จะ​ถูก​ตรึง (ไม้นี้ เป็น​ไม้​แนว​ขวาง​ที่​ใช้​ตรึง​ฝ่า​มือ​ทั้ง​สอง​ข้าง ​ส่วน​ไม้​แนวตั้ง​ที่​ใช้​ปัก​กับ​ดิน​นั้น​ทหารจะนำไป​ไว้​ตรง​แดน​ประหาร​ก่อน​แล้ว​) ​

– ตอนแรกพระเยซู​ทรง​แบก​กางเขน​ด้วย​พระองค์​เอง (ยน. ​19:17​) ​แต่​เมื่อเดินไปได้สักระยะหนึ่ง พระองค์​ทรง​​แบก​ต่อไป​ไปไม่ไหวแล้ว  ไม่ว่าทหารโรมจะเฆี่ยนตียังไงก็ดูเหมือนไม่สามารถทำให้พระเยซูแบกต่อไปได้ เนื่องจากพระเยซูอดนอนมาตลอดคืน แล้วถูกทรมานอย่างสาหัสด้วยการเฆี่ยน และบาดแผลคงเริ่มอักเสบแล้ว พิษไข้เริ่มส่งผลออกมาแล้ว

– ​พวก​ทหาร​โรมัน​จึง​เกณฑ์​คน​หนึ่ง​ชื่อ​ซีโมน​ชาว​ไซ​รีน ให้​แบก​กาง​เขน​ของ​พระ​องค์​ต่อ​จนถึง​จุดหมาย (มก. 15:21)

– ​เชื่อ​กัน​ว่า​ต่อมาภายหลัง​ซี​โมน​ผู้​นี้​ ได้​กลับ​ใจ​เชื่อ​พระเยซู สังเกตจาก​ชื่อ​ของ​เขา​ปรากฏ​ใน​พระธรรมมัทธิว​และ​มาระโก เนื่องจากเป็นพี่น้องคริสเตียนผู้เขียนพระธรรมทั้งสองจึงอ้างถึงชื่อของเขา

– ใน ลก. 23:28-31 บรรยายเพิ่มเติมว่า ระหว่างไปยังกลโกธานั้น พระเยซูพยากรณ์ได้ถึงกรุงเยรูซาเล็มว่า จะถูกทำลายโดยโรม ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นจริงๆ ใน ค.ศ.70 หรือ ประมาณ 37 ปีหลังจากวันที่พระเยซูตรัสนั้น

– กล​โกธา ​เป็น​เนิน​เขา​ที่​มี​ลักษณะ​คล้าย​กับ​หัว​กระโหลก ​เหตุที่เรียกว่า กระโหลกศรีษะ​อาจ​เพราะ​เป็น​สถานที่​สำหรับ​ประหาร​ชีวิต และเต็มไปด้วยกระโหลกศรีษะของนักโทษ

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซูผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ไม่มีแรงแม้กระทั่งแบกกางเขนของตน ก็เพราะพระองค์ทรงรักเรา

– ที่กลโกธา เป็นสถานที่น่าสยดสยองและน่ารังเกียจ แต่ที่นั่นกลับที่ที่พระเยซูทรงสำแดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในกัลปจักรวาลแก่เรา

เพลงกลโกธา :  https://youtu.be/eIQhKLnYFYI

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:18) { ตรึงกางเขน }

แนวคิด :

– เมื่อพวกทหารพระเยซูมาถึงกลโกธา(ข้อ17) พวกเขาก็ตรึงพระเยซูบนไม้กางเขน ที่นั่น

– และตรึงโจร(มธ. 27:38) 2 คน​ตรึง​ไว้​พร้อม​กับ​พระ​องค์ ข้าง​ขวา​คน​หนึ่ง​ข้าง​ซ้าย​คน​หนึ่ง เป็นไปได้ว่า ทั้งสองน่าจะเป็นแก๊งเดียวกับ บารับบัส(ยน. 18:40) เพราะปีลาตปล่อยตัวเขา แล้วเอาพระเยซูมาตรึงแทน แซงคิวนักโทษรอประหารอีกหลายคน

– เป็นจริงดังคำพยากรณ์ ใน อสย. 53:12 ที่กล่าวถึงพระมาซีฮา ว่า “…​ถูก​นับ​เข้า​กับ​พวก​คน​ทร​ยศ…”

– ก่อนที่จะตรึงพระเยซูนั้น ใน มก. 15:23 อธิบายเพิ่มเติมว่า “แล้ว​พวก​เขา​เอา​เหล้า​องุ่น​ผสม​กับ​มด​ยอบ​ให้​พระ​องค์​เสวย แต่​พระ​องค์​ไม่​ทรง​รับ”

– เพราะเหตุว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับนักโทษผู้ที่จะถูกตรึงนี้หฤโหดสุดจะทน จนกระทั่งทหารโรมผู้เหี้ยมโหดยังต้องเมตตา โดยพวกเขาจะเอาเหล้าองุ่นผสมมดยอบ มาให้นักโทษดื่ม แล้วนักโทษก็จะมึนเมา ความเจ็บปวดสุดแสนสาหัสที่กำลังจะพบนั้นจะได้ไม่สุดแสนสาหัสเกินไป

– แต่พระเยซูไม่รับสิ่งนี้ พระเยซูเต็มใจจ่ายราคาเต็มขนาด ไม่ต้องลดราคาแม้แต่นิดเดียวพระองค์เต็มใจรับโทษอย่างสาสมกับความบาปชั่วของผม….ขอบคุณพระเยซู

– ใน มก. 15:25 อธิบายเพิ่มเติมถึงเวลาที่พวกเขาตรึงพระเยซูว่า เป็นเวลาประมาณ 9:00 น. พระเยซูถูกตรึงตั้งแต่ 9:00-15:00 น. ครอบคลุมช่วงเวลาถวายเครื่องบูชา ทั้ง 3 รอบ 9:00 น. , 12:00 น. และ 15:00 น. พระเยซูถวายเครื่องบูชาชำระบาปของผม ครบเต็มจำนวน

– การตรึงกางเขนนั้น เป็นการประหารชีวิตที่สุดเหี้ยมโหด จนมีกฏที่ใช้กันในสมัยนั้นว่า ให้ใช้กับนักโทษการเมือง หรือนักโทษชั่วช้าเลวทรามทำผิดข้อหาอุกฉกรรจ์เท่านั้น และเนื่องจากมันโหดเหี้ยมมาก โรมจึงมีกฏว่า ห้ามใช้ประหารคนโรมด้วยวิธีนี้เด็ดขาด (คนตั้งกฏคนคงสะพรึงกลัวเสียเอง จึงตั้งกฏนี้กันไว้ก่อน)

– ความเหี้ยมโหดของการตรึงกางเขนนั้น ความเจ็บปวดอย่างยิ่ง ไม่ได้อยู่ที่การเอาตะปูตัวมหึมาตอกผ่านข้อมือ ข้อเท้า ให้ไปยึดติดท่อนไม้ นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นของความสุดแสนทรมานอย่างที่สุด

– ความเจ็บปวดแสนสาหัสเกิดขึ้นเมื่อนักโทษถูกแขวนขึ้น แล้วข้อมือทั้งสองที่ถูกยึดด้วยตะปูนั้น ก็ถูกดึงลงด้วยน้ำหนักตัวทั้งหมดของนักโทษ สร้างความเจ็บปวดอย่างที่สุด

– แต่นั่นยังเป็นแค่บางส่วนของความทรมานที่สุดหฤโหด

– เมื่อนักโทษถูกแขวนอยู่นั้น จะไม่สามารถหายใจได้เพราะปอดถูกรั้งเอาไว้ หากจะหายใจต้องใช้ข้อมือที่ยึดด้วยตะปูนั้น ดึงตัวเองให้อกยืดขึ้นมา มาถึงตอนนี้ความปวดร้าวสุดจะทนก็เริ่มขึ้น ข้อมือจะเจ็บปวดเกินบรรยาย

– แต่ไม่เพียงแค่นั้นมือ ตัวถูกยกขึ้นนั้น ตะปูตัวที่3 เพชรฆาตสุดอำมหิตก็เริ่มสำแดงฤทธิ์ของมัน ด้วยการดึงรั้งข้อเท้าเอาไว้ไม่ให้ตัวถูกยกขึ้น

– มาถึงตอนนี้ นักโทษจะรู้สึกร่างกายเหมือนถูกฉีกกระชากเป็นเสี่ยงๆ

– แล้วเมื่อหายใจแล้ว นักโทษจะทิ้งตัวลงแล้วข้อมือก็ถูกกระชากอีกครั้ง

– มาถึงตอนนี้ ก็ครบ 1 รอบ ของการหายใจ และการทรมานอย่างสุดเหี้ยมโหดครั้งต่อไปก็กำลังรออยู่ สำหรับการหายใจของนักโทษในรอบต่อไป

– พระเยซูที่รักของฉัน อยู่บนไม้กางเขนเพื่อฉัน ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง บ่าย 3 โมงเย็น

การประยุกต์ใช้ :

ขอบคุณพระเยซู ขอบคุณพระเยซูที่รัก ขอบคุณพระเยซูอย่างที่สุด

เพลงไม้กางเขนโบราณ : https://youtu.be/BRWq6w42oqY

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:19) { กษัตริย์ของพวกยิว }

แนวคิด :

– เมื่อพวกทหารตรึงพระเยซูบนไม้กางเขนแล้ว (ข้อ18) ปีลาตก็ให้เขียนป้ายว่ากษัตริย์ของพวกยิว แล้วเอาไปติดไว้บนกางเขนเหนือพระเศียรของพระองค์ไว้(มธ. 27:37)

– ป้ายนี้ติดไว้ เพื่อให้คนผ่านไปผ่านมา เห็นว่า ข้อหาที่พระเยซูถูกประหาร ก็เพราะ พระองค์เป็นกษัตริย์ของพวกยิว พวกยิวจึงจับพระเยซูมาให้ปีลาตประหาร

การประยุกต์ใช้ :

– พระเยซู พระผู้ช่วยให้รอด มาบังเกิดในชนชาติยิว เป็นกษัตริย์ของยิว แต่พวกยิวปฏิเสธความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ จึงจับพระองค์ไปตรึงที่กางเขน

– ที่กางเขนนั้น จึงเป็นการประกาศการปฏิเสธของพวกยิวที่ไม่ยอมให้พระองค์เป็นกษัตริย์

– ในขณะเดียวกัน คนต่างชาติอย่างเราทั้งหลาย ผู้ได้รับรู้ต้อนรับพระองค์เป็นกษัตริย์ในชีวิตของเรา ที่กางเขนนั้น เป็นการประกาศว่าพระเยซูทรงเป็นกษัตริย์ของเรา ผู้ยอมตายเพื่อเรา

– วันนี้ เมื่อเรามองดูที่กางเขน เราจะตอบสนองอย่างไร? ให้ตนเองเป็นเจ้านายของตนเหมือนพวกยิว หรือ ให้พระเยซูเป็นกษัตริย์เป็นเจ้านายของเราอย่างแท้จริง

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:20) { กษัตริย์ของบรรดาประชาชาติ }

แนวคิด :

– ป้ายที่บอกว่า พระเยซูเป็นกษัตริย์ของพวกยิว ที่ปิลาตให้ติดบนกางเขนนั้น(ข้อ19) เขียนเป็นภาษาฮีบรูซึ่งเป็นภาษาสำหรับยิว และภาษาละตินซึ่งเป็นภาษาราชการในช่วงเวลานั้น และภาษากรีกซึ่งเป็นภาษาพูดและเขียนของคนทั่วในสมัยนั้น

– เนื่องจากที่ที่ตรึงพระเยซูนั้น ใกล้กับกรุงเยรูซาเล็ม ผู้คนที่ผ่านไปมา จึงเห็นป้ายนี้และอ่านเข้าใจได้

– เป็นภาพเล็งถึง การที่พระเยซูจะทรงเป็นกษัตริย์ของบรรดาประชาชาติ

– เนื่องจากยิวปฏิเสธความเป็นกษัตริย์ผู้ช่วยให้รอดของพระองค์ ความเป็นกษัตริย์ผู้มาช่วยให้รอดของพระองค์นี้ จึงแพร่ไปยังบรรดาประชาชาติที่ยินดีต้อนรับพระองค์

– รม. 11:11 “… พวก​อิสราเอล​สะดุด​จน​หก​ล้ม​ทีเดียว​หรือ หา​มิได้ แต่​การ​ที่​เขา​ละเมิด​นั้น เป็น​เหตุ​ให้​ความ​รอด​แผ่​มาถึง​พวก​ต่างชาติ …”

– รม. 11:22 “เหตุ​ฉะนั้น​จง​พิจารณา​ดู​ทั้ง​พระ​เมตตา​และ​ความ​เข้มงวด​ของ​พระ​เจ้า คือ​พระ​องค์​ทรง​เข้มงวด​กับ​คน​เหล่า​นั้น ที่​หลง​ผิด​ไป​แต่​พระ​องค์​ทรง​พระ​เมตตา​ท่าน ถ้า​ว่า​ท่าน​จะ​ดำรง​อยู่​ใน​พระ​เมตตา​นั้น​ต่อไป มิฉะนั้น​ก็​จะ​ทรง​ตัด​ท่าน​ออก​เสีย​ด้วย​”

– รม. 11:20 “ถูก​แล้ว เขา​ถูก​หัก​ออก ​ก็​เพราะ​เขา​ไม่​เชื่อ แต่​ที่​ท่าน​อยู่​ได้​ก็​เพราะ​ความ​เชื่อ​เท่านั้น อย่า​เย่อหยิ่ง​ไป​เลย​แต่​จง​เกรง​กลัว​”

การประยุกต์ใช้ :

– เหตุนี้คนยิวจำนวนมาก ไม่ได้รับผลแห่งความรอด ที่พระเยซูทำมาให้พวกเขาก็เพราะพวกเขาไม่เชื่อ ความรอดจึงแผ่มาถึงเรา และเราได้รับก็ด้วยความเชื่อ

ดังนั้นสมควรอย่างยิ่งที่เราจะยึดมั่นความเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์ไว้ ตลอดวันคืนชีวิตของเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอย่ายอมปล่อยมือจากความเชื่อวางใจในพระเยซู

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:21) { อย่าเขียนเช่นนั้น }

แนวคิด :

– เมื่อพวกมหาปุโรหิตได้เห็นป้ายซึ่งปีลาตติดไว้ที่กางเขนเป็นภาษาต่างๆว่า พระเยซูกษัตริย์ของพวกยิว(ข้อ20)

– พวกเขาจึงไปบอกกับปีลาต ให้ช่วยแก้ประโยคใหม่เป็น คนนี้บอกว่า เราเป็นกษัตริย์ของยิว

– เหตุที่พวกเขาทำเช่นนั้น คงเป็นเพราะป้ายนั้นเหมือนเป็นการเยาะเย้ยพวกเขา ที่กษัตริย์ของพวกเขา ต้องถูกตรึงอย่างน่าอับอายอย่างนั้น

– ป้ายนั้นเป็นการประกาศให้ทั้งยิวและชนชาติอื่นรับรู้ว่า พระเยซูเป็นกษัตริย์ของพวกเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเขารับไม่ได้

การประยุกต์ใช้ :

– ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า พวกมหาปุโรหิต ละอายที่จะให้คนเรียก พระเยซู ว่าเป็นกษัตริย์ของพวกเขา พวกเขาคิดว่า การเรียกเช่นนั้นเป็นการเยาะเย้ยพวกเขา

– คนที่ละอายที่จะให้คนอื่นเรียก พระเยซูว่ากษัตริย์ของพวกเขา พระองค์จะไม่เป็นกษัตริย์ของพวกเขา

– คนที่ภูมิใจและบอกให้โลกนี้รู้ว่าพระเยซูเป็นกษัตริย์ของเขา พระเยซูจะทรงเป็นกษัตริย์ของผู้นั้น

วันนี้ เราละอายที่จะบอกให้คนอื่นรู้หรือไม่ว่า พระเยซูทรงเป็นกษัตริย์ของเรา?

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:22) { ใครคุมเกม? }

แนวคิด :

– เมื่อพวกมหาปุโรหิตได้ไปเจรจาขอให้ปีลาตแก้ข้อความที่ติดบนไม้กางเขน(ข้อ21) ปรากฏว่าเกิดเรื่องประหลาดเกิดขึ้น คือ ปีลาตไม่ยอมทำตามทำขอของพวกเขา

– ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ปีลาตค่อนข้างไม่อยากขัดใจพวกเขา เพราะไม่อยากมีปัญหากับพวกยิวซึ่งปีลาตปกครองอยู่ ถึงขนาดปีลาตยอมตัดสินว่าให้ประหารชีวิตพระเยซู ทั้งที่ปีลาตเองประกาศว่าพระเยซูไม่มีความผิด

– และในเวลาต่อมา ใน มธ. 27:62-66 หลังจากที่พระเยซูสิ้นพระชนม์และถูกฝังไว้ในอุโมงค์ พวกมหาปุโรหิตมาขอให้ปีลาตสั่งให้มีการเฝ้าอุโมงค์ไว้อย่างแข็งแรง เอาหินปิด ตีตราประทับ และให้ทหารเฝ้า ปีลาตก็ยังทำตามคำขอเช่นกัน

– ชี้ให้เห็นว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ปีลาตกลับไม่ยอมทำตามคำขอของพวกมหาปุโรหิต ในเรื่องเล็กน้อย แค่เปลี่ยนคำบนป้ายนั้น

 – ดูเผินๆ สถานการณ์ตรึงพระเยซู พวกมหาปุโรหิตเป็นผู้คุมเกม แต่จากข้อนี้ปีลาตชี้ให้เห็นว่าเขาต่างหากเป็นผู้คุมเกม

– แต่เมื่อมองให้ลึกซึ้งจริงๆ จะเห็นว่า ทั้งหมดพระเจ้าต่างหากเป็นผู้คุมเกม

– พระเจ้าประสงค์ให้ป้ายที่ติดบนกางเขน เขียนเป็นภาษาต่างๆว่า พระเยซูเป็นกษัตริย์ของพวกยิว

– ต่อให้ปีลาตจะเกรงใจพวกมหาปุโรหิตเพียงใดก็ตาม พระประสงค์ของพระเจ้าก็จะสำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์อยู่ดี

การประยุกต์ใช้ :

– เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น ดูเผินๆอาจเป็นเพราะอิทธิพลของใครบางคน หรือการเล่นไม่ซื่อของใครบางคน

แต่ความจริงแล้วทุกอย่างที่เกิดขึ้นยังอยู่ภายใต้การควบคุมของพระเจ้า เฉพาะสิ่งที่พระเจ้าอนุญาตเท่านั้น มันจึงจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าใครจะมีอิทธิพลมากเพียงใดก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าอย่างไรแผนการของพระเจ้าก็จะสำเร็จเป็นจริงอยู่ดี

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:23) { สละทุกสิ่ง }

แนวคิด :

– เมื่อพวกทหารตรึงพระเยซูที่กางเขนแล้ว ก็เอาเสื้อคลุมชั้นนอกของพระเยซูมาแบ่งเป็น 4 ส่วน คาดว่า ทหารที่คุมการประหารพระเยซูน่าจะมี 4 คน

– โดยปกติ​เสื้อ​ชั้นนอก​ของยิวจะ​ยาว​ถึง​พื้นดิน​ ทอ​จาก​วัสดุ​ชนิด​เดียว​เท่านั้น ไม่มีการปนด้วยขนสัตว์ (ฉธบ. ​22:11) ​

-​ ​ตามธรรม​เนียม​ของ​การ​ตรึง​นักโทษ​ใน​สมัย​นั้น ทหาร​จะ​ถอด​เสื้อผ้า​ของ​นักโทษ​ออก​ก่อน​ตรึง ​และ​ถือ​ว่า​เสื้อผ้า​ของ​นักโทษ​เป็น​กรรมสิทธิ์​ของ​ทหารเหล่านั้น

– พระเยซูสิ้นพระชนม์แบบยิ่งกว่าจน เพราะแม้แต่เสื้อผ้าของพระองค์ก็ไม่เหลือ ถูกเอาออกไป ฉีกแบ่งกัน

– ขนาดสมบัติชิ้นเดียที่พระองค์มีก็ถูกเอาไป แล้วทำมันอย่างไร้ค่า ฉีกแล้วคงทำเสื้อไม่ได้อีก อาจจะเอาให้ภรรยาทำผ้าขี้ริ้วหรืออะไรบางอย่างได้

การประยุกต์ใช้ :

– พระองค์ผู้เป็นเจ้าของสวรรค์ พระองค์กลับทรงสละทุกสิ่ง ถือว่าการครอบครองทั้งสวรรค์ไม่เป็นสิ่งที่ต้องยึดถือ

– ฟป. 2:6-7 “ผู้​ทรง​สภาพ​เป็น​พระ​เจ้า ไม่​ทรง​ถือ​ว่า​ความ​ทัด​เทียม​กับ​พระ​เจ้า​เป็น​สิ่ง​ที่​จะ​ต้อง​ยึด​ไว้ แต่​ทรง​สละ​พระ​องค์​เอง​และ​ทรง​รับ​สภาพ​ทาส …”

พระเยซูสละการครอบครองทุกสิ่งเพื่อเห็นแก่เรา วันนี้เรายอมสละการครอบครองอะไรเพื่อพระองค์บ้าง?

แบ่งปันเฝ้าเดี่ยว ( ยน.19:24) { ตามคำพยากรณ์ }

แนวคิด :

– หลังจากพวกทหารที่ตรึงพระเยซูฉีกเสื้อชั้นนอกของพระเยซูออกเป็น 4 ส่วนแบ่งกันแล้ว(ข้อ 23) พอมาถึงเสื้อในเนื่องจากเป็นเสื้อทอติดกันเป็นชิ้นเดียว ครั้นจะฉีกก็เสียดาย ก็เลยใช้วิธีจับสลากกันว่าใครจะได้ไปแบบไม่ต้องฉีกให้เสียของ

– ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ถูกพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วใน สดด. 22:18 “พวก​เขา​เอา​เสื้อ​ผ้า​ของ​ข้า​พระ​องค์​มา​แบ่ง​กัน ส่วน​เครื่อง​นุ่ง​ห่ม​ของ​ข้า​พระ​องค์​นั้น​เขา​ก็​จับ​ฉลาก​กัน”

– เหตุการณ์ดูเผินๆเป็นการที่พระเยซูถูกลบหลู่ดูหมิ่น แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ เหตุการณ์ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพราะพระเยซูพลาดท่าเสียศัตรูจึงถูกจับมาฆ่า แต่เป็นแผนการของพระเจ้า ที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้นานแล้ว

– จาก สดด.22:18 จะเป็นไปได้อย่างไร ที่บอกว่า เสื้อผ้าของพระองค์จะถูกแบ่งและถูกจับสลาก แบ่งก็แบ่งไปเลยสิ แล้วทำไมต้องมีจับสลากอีก

– แต่เหตุการณ์ในวันนั้นเกิดขึ้นเป็นจริงตาม สดด.22:18 ทุกประการ มีทั้งการฉีกแบ่งกันและ และการจับสลากแบ่งกัน

การประยุกต์ใช้ :

– ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น อยู่ภายใต้การควบคุมของพระเจ้า

แม้คนชั่วร้ายจะทำสิ่งชั่วร้ายตามวิถีชั่วร้ายของเขา พระเจ้าก็ทรงฤทธิ์ที่จะทำให้การกระทำที่ชั่วร้ายของเขานั้น กระทำให้แผนการอันดีเลิศของพระเจ้าสำเร็จ